สืบเนื่องจากกรณี ปอท.เรียกตัวผู้ใช้เฟซบุ๊กที่โพสต์ข่าวลือปฏิวัติ พร้อมทั้งการออกข่าวจะควบคุมแอปพลิเคชันไลน์ เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างตื่นตัวของการคุกคามเสรีภาพของประชาชน
จนเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่งานเสวนาสาธารณะในหัวข้อ “เสรีภาพในสื่อสังคมออนไลน์กับประเด็นความมั่นคง” จัดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถกเถียงถึงปัญหานี้ในหลายแง่มุมที่เกิดขึ้น ทั้งในแง่มุมของภาครัฐอย่าง ปอท. นักกฎหมาย จนถึงผู้ใช้งานที่ตกเป็นจำเลยของสังคม
เสรีภาพในโลกออนไลน์มีความอ่อนไหวต่อความมั่นคงอย่างไร? ประเด็นใดอ่อนไหว ประเด็นใดควรนำมาถกเถียง ความหมายที่แท้จริงของความมั่นคงในสายตาของภาครัฐและประชาชนคืออะไร?
ข่าวลือ - ความคิดเห็นและความมั่นคง
หลังจาก เสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวการเมืองและความมั่นคงสถานีโทรทัศน์ทีพีบีเอสกับผู้ใช้งานเฟซบุ๊กอีก 3 คนถูกเรียกตัวโดย กองบัญชาการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(ปอท.) เกิดเป็นข่าวที่สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ประชาชน ส่วนหนึ่งที่น่ากลัวคือทั้ง 4 ตกเป็นจำเลยของสังคมไปแล้ว ทั้งนี้บรรณาธิการข่าวการเมืองและความมั่นคงได้เผยถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า มาจากการที่เขาโพสต์ข่าวลือเพื่อชี้แจงถึงความคิดเห็นด้วยสำนวนเหมือนคุยกับเพื่อน
“เพื่อนๆ หรือคนที่ติดตามผมในเฟซบุ๊กส่วนตัว เขาก็จะติดตามข่าวสารด้วย ดังนั้นเราที่ทำงานข่าวก็ต้องมีโพสต์เกี่ยวกับข่าวบ้าง หลายอย่างที่รายงานในข่าวไม่ได้ บางทีก็มาพูดคุยกันสนุกเพื่อแลกเปลี่ยนกันในเฟซบุ๊ก พอมีข่าวลือเรื่องปฏิวัติผมก็โพสต์ถึง และในโพสต์นั้นผมก็แสดงความคิดเห็นด้วยว่า ผมไม่เชื่อว่าจะมีการปฏิวัติเกิดขึ้น”
แต่เมื่อมองในมุมกฎหมายแล้ว ศิลป์ฟ้า ตันศราวุธ นักสื่อสารมวลชนอิสระและนักกฎหมาย เห็นว่าสิ่งหนึ่งที่จำเป็นคือการอยู่ร่วมกับกฎหมายอย่างรู้เท่าทัน เขายังมองด้วยว่า เสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทยนั้นถือว่ามีมากอยู่แล้ว
“ความเท็จกับการแสดงความเห็นเป็นคนละเรื่องกัน...ในกรณีนี้ผมไม่ได้มองว่ามันเป็นการแสดงความเห็นที่ชอบธรรม แต่มันเป็นการปล่อยข้อมูลเท็จ การอยู่กับกฎหมายอย่างฉลาดไม่ตกเป็นจำเลยนั้น การโพสต์ก็ไม่จำเป็นโพสต์ข่าวลือให้คนตระหนก ถ้าโพสต์แค่ว่า ข่าวที่ลือกันอยู่เกี่ยวกับการปฏิวัติ...มันไม่เป็นความจริงนะ แค่นี้ก็ไม่โดนแล้ว”
ในส่วนงานด้านการดำเนินคดี พ.ต.ท.สันติพัฒน์ พรหมะจุล รองผู้กำกับการกลุ่มงานสนับสนุนคดีเทคโนโลยี กองบัญชาการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(ปอท.) เผยว่าสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้คือการเรียกตัวมาสอบปากคำ ซักถามถึงเจตนายังไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาใดๆ
“เราเรียกคุยเพื่อที่จะขอทราบเจตนาในการโพสต์ก่อนเพื่อพิจารณาความผิด หากไม่มีเจตนาปลุกปั่นเพื่อกระทบต่อความมั่นคงก็คิดว่าไม่มีปัญหาอะไร มันมีกรณีของผู้หวังดีที่อาจจะโพสต์ข้อความหมิ่นหรือกระทบต่อความมั่นคงแล้วบอกว่า มันมีการโพสต์แบบนี้นะ มีเจตนาเพื่อเตือนหรือเพื่อแจ้งว่าข้อความนั้นเป็นเท็จ เราก็ต้องดำเนินการเรียกมาสอบเพราะผิดฐานโพสต์ข้อความเหมือนกัน แต่ต้องมาคุยว่ามีเจตนาอย่างไร”
ในส่วนของประเด็นความมั่นคง เขาเผยว่า ไม่ใช้เพียงความมั่นคงของประเทศ แต่รวมถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงของรัฐบาล และความมั่นคงในหลายๆด้านด้วย ซึ่งที่ผ่านมานั้นมีผู้ที่โพสต์ข้อความกระทบเศรษฐกิจทำให้หุ้นตกก็มีการดำเนินคดีแล้ว
ประเด็นอ่อนไหวของประเทศ
ต่อคดีหมิ่นสถาบันที่เป็นปัญหาพ.ต.ท.สันติพัฒน์ได้มีการดำเนินคดีอยู่ตลอดเวลาในการตรวจสอบและสั่งปิดเว็บไซต์ซึ่งต้องใช้เวลา ในการสั่งปิดนั้นเมื่อก่อนจำเป็นต้องใช้เวลานานถึง 3 เดือน โดยมีกระบวนการตั้งแต่ปอท.เสนอแก่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ให้รัฐมนตรีเห็นชอบแล้วส่งไปยังศาลก่อนจะมีคำสั่งปิดกั้น
“ปัจจุบันก็เร็วขึ้น เราส่ง URL ให้กับICT ทำการบล็อตเว็บไซค์ได้ แต่บางทีจะมีการหลุดบ้างจากที่ URL ในการเข้าเว็บไซค์จากมือถือและแท็ปเล็ตเป็นคนละตัวกัน”
เขาเผยว่า ถึงตอนนี้ก็มีการขอความร่วมมือจากเว็บไซต์อื่นจากทั่วโลกเพื่อสามารถดำเนินการได้ โดยการดำเนินคดีนั้นหากเป็นเว็บไซต์ที่เปิดในไทย ก็จะมีการเรียกตัวเจ้าของเว็บไซต์ที่เป็นปัญหามาดำเนินคดี แต่หากเป็นเว็บไซต์ที่มีเซิร์ฟเวอร์อยู่ต่างประเทศก็ต้องใช้เวลาในการติดต่อขอความร่วมมือ
“วิดีโอในยูทิวบ์ก็มีการเรียกร้องมากจนวิดีโอหลายตัวที่เข้าข่ายหมิ่นในประเทศไทยก็จะได้รับการบล็อกหรือบางทีก็ลบให้โดยอัตโนมัติ แต่วิดีโอที่บล็อกถ้าออกนอกประเทศไทยเขาก็จะดูได้ เพราะกูเกิ้ลที่เป็นเจ้าของยูทิวบ์เขาขึ้นกับกฎหมายของสหรัฐอเมริกา และที่นั่นไม่มีกฎหมายหมิ่น เขาถือเป็นสิทธิเสรีภาพ”
ในมุมของนักสื่อสารมวลชนและนักกฎหมายอย่าง ศิลป์ฟ้า แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า ทุกประเทศมีประเด็นอ่อนไหวของแต่ละประเทศ การแสดงความเห็นจึงยังคงต้องมีกรอบเกณฑ์ไม่ใช่ว่าจะมีเสรีภาพโดยจะทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น ประเทศที่เชิดชูเสรีภาพอย่างอเมริกาหากมีการพูดกลุ่มก่อการร้ายมันก็เป็นประเด็นที่กระทบต่อความมั่นคงเช่นกัน
สิทธิกับความมั่นคง
ปัญหาของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นั้นถูกพูดมาตลอด อาทิตย์ สุริยวงศ์กุล เครือข่าวพลเมืองเน็ต เล่าถึงปัญหาโดยสรุปว่า เกิดจากการตีความนำมาใช้ที่เป็นปัญหา เพราะแรกเริ่มของเจตนาที่ห้ามไม่ให้นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบนั้นคือการจัดการกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์อย่างการแฮกคอมพิวเตอร์ การทำหน้าเว็บปลอม หรือการใช้คอมพิวเตอร์ในการแทรกแซงคอมพิวเตอร์ของภาครัฐอย่างการทำให้ไฟแดงตามถนนทำงานผิดพลาด แต่พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์กลับถูกนำมาใช้เป็นกฎหมายหมิ่นประมาทซึ่งไม่ถูกต้องตามเจตนาเดิม
“ผมต้องอ้างรัฐธรรมนูญก่อน แม้จะรู้ว่ามันไม่ค่อยมีความหมายสักเท่าไหร่” เขาเอ่ยอย่างตลกก่อนชี้ว่า “รัฐธรรมนูญของประเทศไทยระบุให้บุคคลมีสิทธิ์ที่จะสื่อสารถึงกันโดยที่รัฐจะไปรับรู้หรือแทรกแซงไม่ได้ แต่แน่นอนว่า สิทธิเสรีภาพนั้นก็มีข้อยกเว้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ด้วย”
โดยเขาอ้างอิงถึงหลักปฏิบัติของสหประชาชาติที่มีด้วย 3 ข้อเพื่อให้ข้อยกเว้นในการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการละเมิดสิทธิ์ของประชาชน 1. คาดหมายได้โปร่งใส มีกฎหมายรองรับชัดเจน 2. ชอบธรรม มีเหตุให้ทำได้ 3. เป็นมาตรการสุดท้าย ก่อนหน้าที่จะทำแบบนี้อาจใช้วิธีอื่นอย่างเคาต์เตอร์อินฟอร์เมชันที่ศอฉ.เคยใช้ช่วงมีชุมนุมปี 56
“ผมเห็นว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เข้าหลัก 3 ข้อนี้เลย” เขาเอ่ยและพูดถึงประเด็นความมั่นคงต่อว่า “หากพูดถึงความมั่นคงในด้านอื่นๆ จริงๆก็มีกฎหมายอื่นที่จะมาจับ อย่างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจก็ควรจะใช้กฎหมายตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะมาจับมากกว่า”
ในส่วนของการเข้าไปขอความร่วมมือกับผู้ให้บริการแอปฯ ไลน์ของศอป.ที่หลายคนเป็นกังวลถึงสิทธิ์ความเป็นส่วนตัวในการสื่อสาร พ.ต.ท.สันติพัฒน์ อธิบายว่า การเข้าไปขอความร่วมมือครั้งนี้ไม่ได้ไปขอดูข้อความทั้งหมด แต่ขอเพียงรายละเอียดของผู้ใช้งานที่มีปัญหาเฉยๆ
“มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะตรวจสอบข้อความไลน์ของคนทั้งประเทศ เราคงทำงานกันไม่ไหวขนาดนั้น ที่เราขอความร่วมมือคือเมื่อมีผู้ร้องทุกข์อย่างถูกหลอกลวงผ่านทางแอปฯไลน์ เขาก็จะมีข้อความที่เป็นหลักฐานมาให้เราแล้ว ดังนั้นเราไม่ต้องไปขอดูข้อความ ที่เราขอคือรายละเอียดของผู้ใช้งานไลน์ที่มีปัญหาเพื่อจะได้ระบุตัวได้ เพราะบางคนอาจจะใช้รูปปลอม หรือข้อมูลปลอม”
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือการใช้อำนาจในการเรียกตัวของภาครัฐ อาทิตย์มองประเด็นนี้ในเชิงวัฒนธรรมว่า เป็นการใช้อำนาจในการปรามที่สร้างความหวาดหวั่นให้กับสังคม โดยประเด็นทำนองนี้เคยมีมาก่อนอย่างในกรณีซีรีย์ฮอร์โมนที่ผู้ผลิตถูกภาครัฐเรียกไปพบ เช่นเดียวกับกรณีโพสต์ข่าวลือปฏิวัติ
“มันอาจจะเป็นวัฒนธรรมของสังคมไทย เพราะการเรียกตัวก็เหมือนเป็นการใช้อำนาจอย่างหนึ่งของภาครัฐ และผู้ถูกเรียกตัวก็จะรู้สึกและถูกมองจากสังคมแล้วว่า ต้องทำอะไรผิดแน่ๆ มันก็ถูกสังคมตัดสินไปแล้วระดับหนึ่ง”
…...
มาถึงตอนนี้ประเด็นความมั่นคงกลายเป็นเรื่องอ่อนไหวในหลายประเด็น มุมหนึ่งเราอาจจำเป็นต้องอยู่กับกฎหมายอย่างเข้าใจและรู้เท่าทัน แต่อีกมุมที่ต้องก้าวต่อไป เราอาจต้องพิจารณาการใช้กฎหมายให้ตรงตามเจตนาที่ไม่เป็นปัญหาต่อไป