xs
xsm
sm
md
lg

ภาพลักษณ์ป่นปี้! นักอนุรักษ์ยี้ ปตท. ขอตบเท้าคืนรางวัล!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฟางเส้นสุดท้ายขาดผึง! หลังรอแล้วรอเล่าให้ บริษัทยักษ์ใหญ่ “ปตท.” ออกมายืดอกแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ท่อรับน้ำมันดิบรั่วกว่า 50,000 ลิตรบนผิวทะเลระยอง แต่ข้อเท็จจริงก็ยังคลุมเครือ พลิกลิ้น ปกปิดสถานการณ์จริง กลุ่มนักอนุรักษ์ผู้เคยได้รับรางวัล “ลูกโลกสีเขียว” จาก ปตท. จึงทนละอายแทนไม่ไหว รวมตัวคืนรางวัล ไม่ขอตกเป็นเครื่องมือในการ “สร้างภาพสีเขียว” ของบริษัทนี้อีกต่อไป!!




นพ.รังสฤษฎ์ คืนรางวัล-คืนเงิน 1 แสน!
“ผมต้องกราบขออภัยและด้วยความเคารพอย่างสูงต่อ ฯพณฯ ท่าน อานันท์ ปันยารชุน และคณะกรรมการรางวัลลูกโลกสีเขียว ปตท.ผมมีความจำเป็นต้องคืนรางวัลดังกล่าวที่ได้รับมาแก่ทางบริษัท ในปี พ.ศ.2550 ผมรู้สึกขอบพระคุณเป็นอย่างสูงที่ทางคณะกรรมการได้ให้กำลังใจและเกียรตินี้แก่ผม แต่ด้วยพฤติกรรมของบริษัท ปตท.ที่ผ่านมา ผมไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างภาพสีเขียวของบริษัทฯ ได้จริงๆ โดยผมจะนำไปส่งคืนพร้อมเงินหนึ่งแสนที่ได้รับมาในวันศุกร์นี้ครับ ขอกราบขออภัยอีกครั้งครับ”

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประธานชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา เชียงใหม่ เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 9 ประจำปี 2550 คือนักอนุรักษ์รายแรกที่ตัดสินใจโพสต์ข้อความนี้ลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว “Rungsrit Kanjanavanit” เมื่อช่วงเย็นวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าไม่ขอข้องแวะกับบริษัทยักษ์ใหญ่รายนี้อีกแล้ว ปฏิกิริยาตอบโต้ดังกล่าวส่งผลให้เรื่องนี้กลายเป็น Talk of the town หลายคนมองว่านี่คือดราม่าชั้นสูง แต่หลังยกหูโทรศัพท์ไขข้อข้องใจแล้ว เจ้าตัวยืนยันว่าไม่ได้ต้องการสร้างกระแส เพียงแต่ทนมานานแล้วกับบริษัทนี้ และนี่คือฟางเส้นสุดท้ายที่ขาดผึง!

“มันไม่ใช่เฉพาะเหตุการณ์นี้เหตุการณ์เดียวนะครับ แต่เป็นความรู้สึกของผมที่มีต่อองค์กรนี้มาตลอด ตั้งแต่เรื่องปัญหาท่อแก๊ซ การวางท่อแล้วมีผลกระทบต่อคนพื้นเมืองทั้งหลาย ท่อแก๊สไทย-มาเลย์ ท่อแก๊สไทย-พม่า ก็มีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้ามาเกี่ยวข้อง เทียบกับรายได้อันมากมาย กำไรมหาศาลของเขา ก็เกิดเป็นคำถามว่ามันยุติธรรมหรือไม่อย่างไร การที่เข้ามาใช้ทรัพยากรของคนทั้งชาติ แต่ดูเหมือนว่าประโยชน์จะไม่ได้ตกไปที่รัฐเท่าที่ควร อันนี้ก็เป็นคำถามที่สังคมสงสัยมาตลอด

ปัญหาที่หนักมากที่สุดสำหรับผมคือ กิจกรรม CSR ของบริษัทนี้ ที่ผ่านมา บริษัท ปตท. จะมีปัญหาค่อนข้างมากเกี่ยวกับการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และ CSR ที่บริษัททำก็ไม่ใช่ CSR จริงๆ แต่ส่วนใหญ่เขาทำในลักษณะสร้างภาพเสียมากกว่า เช่น การปลูกป่า ทำฝายชะลอน้ำ มันเป็นการโฆษณาครับ เพราะ CSR จริงๆ ต้องอยู่ในเนื้องาน มาจากจิตสำนึกของการกระทำ ตระหนักว่ามันกระทบต่อสังคมยังไงบ้าง คุณเอาทรัพยากรของชุมชน แผ่นดิน ดึงมาใช้ แล้วคุณให้กลับคืนยังไงบ้าง ความรับผิดชอบไม่ใช่แค่การลงทุนในเรื่องเครื่องจักรกลเฉยๆ นะครับ แต่นี่เป็นการนำเอาสมบัติของชาติมาใช้ การตอบแทนตรงนี้ก็ต้องสมน้ำสมเนื้อกัน”

ถ้าเหตุการณ์เดียวกันนี้เกิดขึ้นในต่างประเทศ ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างญี่ปุ่น ปฏิกิริยาของบริษัทผู้กระทำผิดจะผิดกันราวฟ้ากับเหว เขาต้องรีบออกมายืนแถว โค้งคำนับ ยอมรับผิด และรีบแก้ไขตั้งแต่แรก แต่สิ่งที่ ปตท. ทำคือ “เขาบอกว่ามันไม่เป็นปัญหา เป็นเรื่องเล็กน้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลยครับ ท่าทีแบบนี้ของบริษัทมันเกิดขึ้นซ้ำซากครับ เอาเป็นว่าพูดง่ายๆ ไม่เห็นหัวคนไทย ไม่แสดงความรับผิดชอบและยังพยายามสร้างภาพ ออกข่าวว่าทุกอย่างสามารถควบคุมได้ มันคือการทำ PR ครับ มันไม่ใช่การเสนอความจริง

ส่วนเรื่องการคืนรางวัล นายแพทย์ไม่ได้ต้องการสร้างประเด็นอะไร แค่ทำตามความต้องการของตัวเอง “ผมไม่ได้คาดหวังเลยครับ ผมทำในนามของผมเอง ผมพยายามทำในแบบที่สุภาพที่สุด ในฐานะที่เขาให้เกียรติให้รางวัลกับเรา เราก็ไม่อยากจะแสดงออกในลักษณะเนรคุณน่ะนะครับ เพียงแต่ผมต้องการจะทำตัวให้ห่างออกไปจากบริษัทนี้ให้มากที่สุด เกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด เพราะไม่อยากจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือการสร้างภาพสีเขียวของเขาแล้ว เท่านั้นเอง”




อดข้าว เขียนประท้วง “องค์กรอนุรักษ์จอมปลอม”
เมื่อมีผู้ริเริ่ม ย่อมมีผู้เดินตามมา เข็มทอง โมราษฎร์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มเด็กรักป่า คือคนหัวใจสีเขียวรายต่อมาที่ประกาศคืนรางวัลซึ่งเคยได้รับมาในปี 2546 ผ่านทางหน้าเฟซบุ๊ก “Thaithong Thongthai” ของตัวเอง ส่วนเรื่องเงินรางวัลนั้น เจ้าตัวให้เหตุผลสั้นๆ เอาไว้ว่า “ผมใช้ซื้อน้ำมัน ปตท.ท่านไปหมดแล้ว”

หลังจากความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นไม่นาน นักอนุรักษ์รายนี้ก็ตั้งกลุ่ม “คืนรางวัลลูกโลกสีเขียว ปตท.” ขึ้นมาบนเฟซบุ๊ก เป็นกลุ่มเปิดที่ใครก็สามารถเข้าร่วมได้ โดยให้นิยามเอาไว้ว่า “เป็นห้องเปิดสำหรับทุกๆ ท่านที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย ในการประท้วงปตท.กรณีน้ำมันดิบเจิ่งนองท้องทะเลที่เสม็ด” ซึ่งขณะนี้มีนักอนุรักษ์และผู้สนใจเป็นสมาชิกกว่า 700 รายแล้ว

ความคืบหน้าล่าสุดในกลุ่มคือการชักชวนให้คนในกลุ่มเขียนความรู้สึกลงกระดาษและถ่ายภาพสื่อสารไปยัง ปตท. เริ่มด้วยคำว่า “องค์กรอนุรักษ์จอมปลอม” และยังมีการนัดหมายรวมตัวเพื่อคืนรางวัลลูกโลกสีเขียวที่ ปตท.สำนักงานใหญ่วันนี้ เวลา 15.00 น. โดยบอกเอาไว้ว่าจะส่งถ้วยรางวัลคืนพร้อมกับภรรยานักอนุรักษ์ (อาริยา โมราษฎร์) และจะอดข้าวอดอาหารเป็นเวลา 9 ชั่วโมง ก่อนคืนรางวัล เพื่อเรียกร้องให้ ปตท.รับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ รวมถึงการฟื้นฟูในอนาคตด้วย

ด้านองค์กรผู้ถูกกล่าวถึง ขณะนี้ ยังไม่มีการออกมาแสดงความรับผิดชอบอย่างเป็นทางการ มีเพียงประกาศภายในองค์กร “รับสมัครผู้มีจิตอาสา ร่วมฟื้นฟูสภาพทะเลอ่าวพร้าว จากวิกฤตน้ำมันรั่ว” ตั้งแต่วันที่ 1-6 ส.ค. แม้จะมีการประกาศให้อาสาสมัครแต่งกายด้วยชุดมิดชิด รองเท้าบูท หมวก พร้อมปลอกแขน และดูมีท่าทีว่าจะเป็นกิจกรรมกู้สถานการณ์ให้ดีขึ้น แต่ก็ยังมีเสียงห่วงใยสะท้อนกลับมาว่า อาจกลายเป็นความอันตรายของอาสาสมัครรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะอุปกรณ์ที่ระบุไว้ไม่ค่อยปลอดภัยเท่าใดนัก สำหรับการกู้น้ำมันดิบออกจากหาด ต้องใช้ชุดหมีป้องกันน้ำมัน, ถุงมือแบบหนาพิเศษ, แว่นตานิรภัยป้องกันไอน้ำมันระเหยเข้าตา ฯลฯ มิเช่นนั้น กลิ่นน้ำมันอันคละคลุ้งและอุบัติเหตุระหว่างงานอาสา อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้โดยไม่รู้ตัว

เกี่ยวกับเรื่องการระดมอาสาสมัครนั้น แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา ผู้ได้รับรางวัลดีเด่น ประเภทงานเขียนสารคดี ปี 2550 หนึ่งในนักอนุรักษ์ผู้ตัดสินใจคืนรางวัลแก่ ปตท. อีกราย มองว่าถือเป็นความเคลื่อนไหวที่ดี แต่เมื่อเทียบกับองค์กรขนาดใหญ่ระดับประเทศแล้ว “ปัญหาใหญ่ขนาดนี้ แต่ภาพที่เห็นมาหลายวันตั้งแต่เกิดเหตุการณ์มันแสดงให้เห็นถึงความบกพร่องเกินกว่าที่จะทำให้เชื่อมั่นได้ว่า องค์กรใหญ่ขนาดนี้ ดำเนินธุรกิจที่อาจส่งผลร้ายแรงต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมถึงขนาดนี้ มีองค์ความรู้ มีขั้นตอน มีอุปกรณ์ มีจำนวนคน ที่จะใช้ในการแก้ไขสถานการณ์แค่นี้เองเหรอ

“ความรับผิดชอบ” คือสิ่งที่สังคมต้องการจาก ปตท.มากที่สุดขณะนี้ คือควรให้ข้อมูลที่แท้จริงเรื่องจำนวนน้ำมันที่รั่วไหล ชนิดและจำนวนสารเคมีที่ใช้ อธิบายขั้นตอนอย่างละเอียดว่าจะแก้ไขสถานการณ์อย่างไร ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพราะทุกอย่างที่ออกมันทำให้เชื่อไม่ได้อีกแล้ว

“ยังคงมีอีกมากมายหลายเรื่องที่ ปตท. ต้องทำ ทุกภาคส่วนจะเรียกร้องให้เขาต้องทำ ไม่ว่าจะมาจากการฟ้องร้องตามกฎหมายหรือการกดดัน ในเมื่อคุณเป็นธุรกิจที่สะท้อนภาพของการทำลาย ทำให้เกิดความเสียหาย คุณก็ต้องพร้อมที่จะปรับปรุงจนกว่าสังคมจะเชื่อมั่นได้และพอใจ นี่คือเหตุผลของการแสดงออกในครั้งนี้ ส่วนตัวแล้วรู้สึกละอายที่เคยมีส่วนร่วมในการสร้างภาพการเป็นองค์กรธุรกิจที่มีความห่วงใยเรื่องสิ่งแวดล้อมของ ปตท. ค่ะ





หมดศรัทธา เลิกเติมน้ำมัน
“ผม จารุพงษ์ จันทรเพชร ผู้ได้รับรางวัลดีเด่นด้านงานเขียน ปี 2549 ขอประกาศร่วมคืนรางวัล ลูกโลกสีเขียว ของ ปตท. เพื่อแสดงความเสียใจและผิดหวังหน่วยงาน ปตท.ที่ไม่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และสังคม” เขาประกาศเอาไว้บนเฟซบุ๊กส่วนตัว “Jarupong Juntarapech”

ลองถามจากปากเจ้าตัวเอง เขาบอกว่าไม่ได้ต้องการจะดราม่า “แต่ผมแค่คิดว่าเรามีสิทธิจะแสดงออกในฐานะคนคนหนึ่งที่ได้รางวัล ตัวผมเองก็ได้รางวัลจากสถาบันอื่นมาเยอะเหมือนกันครับ ไม่เอารางวัลนี้สักรางวัลนึงก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เรารู้สึกเฟลกับรางวัลที่เราเคยได้รับ มันทำให้เราหมดความภาคภูมิใจ เพราะแม้แต่คนที่ให้รางวัลเอง เขายังไม่ดูแลกิจกรรมของเขาเลย ตอนนี้ผมก็ยังไม่เห็นเขาออกมาขอโทษประชาชนเลยนะ มันน่าแค้นตรงนี้แหละ ให้คนอื่นมาช่วยกำจัด ช่วยกันทำอยู่เนี่ย แต่คนที่ทำให้เกิดขึ้นยังลอยตัวอยู่เลย”

ลองย้อนรอยความหลังก็พบว่า เท่าที่มีการแจกรางวัลตรงนี้จาก ปตท.มา ก็เป็นแค่กิจกรรมสร้างภาพลักษณ์อย่างหนึ่ง “อย่างอื่นผมก็ไม่เห็นว่าเขาจะติดต่อหรือติดตามผู้ได้รับรางวัล หรือมาสนับสนุนกิจกรรมอย่างต่อเนื่องอะไรเลย อย่างเดียวที่เขาทำประจำคือการส่งบัตรเชิญในงานของเขา หรืองานเสวนา ซึ่งผมคิดว่าความจริงใจในการมอบรางวัลเขายังมีน้อยมาก หลายๆ คนที่ขึ้นไปร่วมรับรางวัล ส่วนใหญ่ก็จะประชดประชันเรื่องนี้ไว้พอสมควร เท่าที่ผมเคยไปมา แจกรางวัลทีก็โดนด่าที เป็นเหมือนการทำพีอาร์ให้องค์กรเขาเท่านั้นเอง ไม่ได้สนใจว่ามันคือการทำงานเพื่อสังคมจริงๆ”


ถ้าครั้งหน้ามีการมอบรางวัลลูกโลกสีเขียวอีก นักอนุรักษ์รายนี้ประกาศกร้าวเอาไว้เลยว่าไม่ขอรับ “ผมคงไม่ส่งชื่อเข้าร่วมแล้วครับ ความรู้สึกมันไปแล้ว ไม่รู้คนอื่นว่ายังไง แต่ผมรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ ไม่รู้สิ ตอนนี้ผมเปลี่ยนที่เติมน้ำมันแล้ว (หัวเราะ) มันเป็นสิ่งที่เราทำแล้วสบายใจ ในฐานะที่ผมมีส่วนร่วมกับตรงนี้ ผมว่าการรวมตัวกันออกมาคืนรางวัลแบบนี้ก็น่าจะส่งผลต่อสังคมนะ ให้ผู้คนได้เห็นว่าอย่างน้อยก็มีคนกลุ่มนึงที่เป็นคนสาธารณะและมีชื่อเสียงพอสมควร ออกมาพูดถึงเรื่องนี้กัน


ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่ได้รับรางวัลเป็นรายบุคคลเท่านั้นที่ยอมคืนรางวัล กลุ่มเยาวชนอาสาสมัครกว่า 50 คนที่เคยได้ประกาศเกียรติคุณเอาไว้เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วก็ตกลงใจอย่างพร้อมเพรียง ขอคืนรางวัลแก่เจ้าของเดิมดีกว่า


“พวกเราทุกคนไม่ได้มองว่าการคืนรางวัลเป็นเรื่องใหญ่ มองว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่งของกลุ่มเราต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่าค่ะ แต่จริงๆ แล้วจะคืนหรือไม่คืน ก็ไม่ได้มีผลต่อพวกเราเท่าไหร่ เรายังไงเราก็ยังทำงานของเราต่ออยู่ดี เพียงแต่การคืนพร้อมกันตอนนี้ น่าจะช่วยให้สังคมเห็นการแสดงพลังของพวกเราได้บ้าง เผื่อสังคมหรือทาง ปตท. จะหันมาฉุกคิดได้บ้าง อย่างน้อยขอแค่แถลงการณ์จาก ปตท. ที่ตรงไปตรงมาค่ะ บอกการแก้ไขปัญหาที่จริงจัง” ชัชชญา พงษ์โสภา ตัวแทนเยาวชนอาสาสมัครค่ายปางแฟน ผู้เคยได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวประเภทกลุ่มเยาวชนผู้ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม เปิดใจให้ฟัง


“อย่างแรก อยากให้เขาประเมินสถานการณ์ที่เป็นจริงออกมาค่ะ เพราะข้อมูลที่นำเสนอออกมาผ่านสื่อมี 2 แบบ แบ่งแยกกันอย่างชัดเจนมาก คือสื่อหลักส่วนใหญ่ เสนอภาพว่าเหตุการณ์ดีขึ้นแล้ว แต่สื่อรอง ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย หรือข้อมูลจากการถ่ายภาพของส่วนบุคคล จะเห็นว่ามันยังไม่เรียบร้อยเลย ตอนนี้อยากเห็นภาพรวมทั้งหมดที่เป็นสถานการณ์จริง อยากให้แถลงการณ์ให้คนทั้งประเทศรับรู้พร้อมกัน


ปริมาณน้ำมันที่ลงไปในท้องทะเลก็ไม่มีการออกมาชี้แจง ตกลงมัน 50,000 ลิตรจริงหรือเปล่า หรือมากกว่านั้น ถ้าเป็นต่างประเทศ ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ประชาชน หรือใครก็ได้ จะออกมาฟ้องร้องต่อเหตุการณ์แบบนี้เลยค่ะ เพราะเขาเห็นว่ามันเป็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมวลรวม ต้องมีค่าปรับ ชดเชยค่าเสียหาย และค่าฟื้นฟูระยะยาวที่จะต้องจ่าย แต่ว่า ปตท. ไม่มีการแสดงความรับผิดชอบที่ชัดเจนให้เรารับรู้ นอกจากการให้ข้อมูลที่คลุมเครือ ตอบไม่ตรงคำถามตลอดเวลา ส่วนรัฐบาลเองก็ดูเหมือนไม่ได้เดือดร้อนต่อเรื่องที่เกิดขึ้นเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่รัฐบาลในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชน ควรจะต้องช่วยเรียกร้องเพื่อสมบัติของชาติด้วยซ้ำ


หวังเอาไว้เล็กๆ ว่าการตบเท้าเข้าคืนรางวัลของนักอนุรักษ์ครั้งใหญ่ครั้งนี้ จะช่วยให้คนใน ปตท.สำนักงานใหญ่ เห็นว่าปัญหาที่ตัวเองก่อขึ้นเป็นเรื่องใหญ่ “ถ้ามีเสียงดังมากพอ เราอาจจะได้นั่งโต๊ะกลม พูดคุยกับผู้บริหารของทาง ปตท.ก็ได้”

แต่ถ้าไม่ คงต้องอาศัยพลังมวลชนทั้งประเทศช่วยเขย่าให้เรื่องนี้ขยับครั้งใหญ่ เพื่อให้ผู้บริหารตัวใหญ่ๆ เปิดพจนานุกรมเจอคำๆ นี้แล้วรู้สึกอะไรบ้าง... “สามัญสำนึก”

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ขอบคุณภาพ: กลุ่ม "คืนรางวัลลูกโลกสีเขียว ปตท." บนเฟซบุ๊ก



ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
ทะเลสีดำ ทำคนกลัว-หมดศรัทธา! เมื่อ ปตท.เปิดความตายสู่ทะเล
พลิกลิ้น! น้ำมันรั่ว 'ปตท.' บอกไม่เป็นไร..ยังไงก็ 'เอา(ไม่)อยู่'
“หมอหม่อง”สุดทน ปตท.สร้างภาพ เตรียมคืนรางวัลลูกโลกสีเขียวพร้อมเงิน 1 แสน
นพ.รังสฤษฎ์ พร้อมคืนรางวัลและเงินแสน
ผู้ก่อตั้งกลุ่ม คืนรางวัลลูกโลกสีเขียว ปตท. บนเฟซบุ๊ก
จารุพงษ์ อีกหนึ่งนักอนุรักษ์พร้อมคืนรางวัล

กลุ่ม คืนรางวัลลูกโลกสีเขียว ปตท.
คนในกลุ่มเริ่มเคลื่อนไหว




กำลังโหลดความคิดเห็น