ถ้าจะถามอีกครั้ง...กับกรณีภาพหลุดดาราสาวเสพยา(อายุ 16) โดยมีข้อสันนิษฐานถึงขั้นว่าน้องเป็นระดับโปร
ไอ้ผมก็ยังอภัยให้น้องเขาอยู่ดีแหละครับ คำถามคือผมเป็นใคร...ในสังคมอันกว้างใหญ่ และเต็มไปด้วยการสื่อสารอันรวดเร็วอย่างปัจจุบัน ผมคงจะเป็นผู้พิพากษาคนหนึ่งของสังคมนี้กระมัง แต่ก็เป็นผู้พิพากษาที่ค่อนข้างจะใจดี โลกสวย มักจะมองหาทางลงดีๆ ไว้ให้แก่ผู้ต้องสงสัยเสมอ และพยายามจะเชื่อว่าคำให้การทั้งหมดของผู้ต้องสงสัยนั้นเป็นความจริง หรือหากจะโกหกก็คงเป็นไปด้วยความอ่อนแอ และความไม่เชื่อมั่นว่าสังคมนี้จะยอมรับความจริงได้
ดังนั้น ผมจึงสันนิษฐานแบบลองเชื่อพวกเขาดูนะ ตามลำดับเหตุการณ์ มีภาพหลุดน้องเสพยา - ทีมงานบอกเป็นภาพในแคมเปญ - พ่อยอมรับ...น้องเสพครั้งหนึ่ง - จีทีเอช(สิน - ยงยุทธกับย้ง - ทรงยศ)ออกมาอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด...เช็กภาพแล้วไม่ใช่ภาพในแคมเปญ เหตุที่บอกแบบนั้นเพราะเจ้าหน้าที่เห็นว่า น่าจะเป็นแบบนั้นจึงตอบไปก่อน ตกใจเพราะพ่อออกมาพูดความจริง และขอโอกาสน้องเพราะน้องเสพแค่ครั้งเดียว...ซึ่งทั้งหมดผมก็ว่ามันดูจะมีเหตุมีผลที่พอจะเชื่อได้
ทว่าความจริงที่ดูมีจะนัยสำคัญคือ น้องเสพครั้งเดียวจริงหรือเปล่า? น้องเป็นระดับโปรหรือเปล่า? สังคมได้รู้ความจริงหมดหรือยัง?
ผมเองรู้สึกว่า ในช่วงเวลาที่กระแสมันรุนแรงขนาดนี้ ทางที่ดีน่าจะให้โอกาสน้องเขาได้พักหายใจบ้าง ให้เวลาน้องได้ทบทวนอะไรต่อมิอะไรก่อนที่จะเปิดโอกาสให้น้องเขาหาทางลงเหมาะๆ
สำหรับบางคนที่มองว่า เด็ก 16 ยุคนี้มันไปไกลกว่ายุคก่อนมากแล้ว คำถามคือเราควรให้มาตรฐานผู้ใหญ่กับเด็กยุคนี้หรือ? สำหรับผมเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีก็คือเยาวชน (หลักสหประชาชาติให้ถึง 25 ปี) ก็ควรจะได้รับการปฏิบัติในมาตรฐานของเยาวชน ซึ่งถ้าจะตามหลักการเป๊ะๆ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 จริงๆ ต้องมีการปิดบังใบหน้าและตัวตนเพื่อให้น้องเขากลับไปใช้ชีวิตในสังคมต่อได้
ดังนั้น ประเด็นที่ว่าน้องโปรหรือเปล่า? ในทางหลักการมันก็ไม่ใช่สาระสำคัญเพราะจุดมุ่งหมายของการพิจารณาคดีทั้งหมด มันคือต้องปกป้องตัวตนของน้องเขาในฐานะเยาวชน เพื่อจุดมุ่งหมายที่จะให้เขากลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ
แต่ในทางปฏิบัติข้อเท็จจริงนี้มันก็คงจะส่งผลต่อชีวิตของน้องเขามาก ไม่ต้องพูดถึงชีวิตในวงการนะ เอาแค่กลับไปใช้ชีวิตแบบปกติในสังคมก็ไม่ได้แล้ว
ลองมโนล้วนๆ ถ้าน้องออกมาบอกว่า โปรค่ะ แต่เป็นช่วงที่หลงผิดไปจริงๆ...ผมว่าตายนะครับ ในประเทศไทยมีพ.ร.บ.ฟื้นฟูยาเสพติดพ.ศ. 2545 ที่ถือว่า ผู้เสพยาเป็นผู้เสียหายและผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาเยียวยา แต่คนไทยไม่ได้มองแบบนั้น เรามองว่าคนเสพยามันเป็นคนชั่ว (ซึ่งจริงๆถ้านิยามหยาบๆก็ชั่วแหละ ถือเป็นการก่ออาชญกรรมที่ไม่มีผู้เสียหาย (Victimless Crime))
สิ่งที่น้องเผชิญอยู่ตอนนี้อาจบอกได้ว่า ไม่ได้เกิดจากสถานะที่น้องเป็นเยาวชนเท่านั้น หากแต่เป็นสิ่งที่ต้องชดใช้ในฐานะดารา พูดให้ชัดคือกฎหมายจะลงโทษน้องในฐานะเยาวชน และสังคมจะลงโทษน้องในฐานะที่เป็นดารา
โดยพื้นฐานผมเชื่อว่า คนเรามันไม่ได้ชั่วมาตั้งแต่เกิด มันมีเงื่อนไขอะไรบางอย่างที่ทำให้คนคนหนึ่งเลือกที่จะกระทำความผิด (แต่ถ้าใครจะมองว่า บางคนเพียงแต่อยากเห็นโลกลุกเป็นไฟ อย่างอัลเฟรดในเดอะดาร์กไนต์ ก็เชื่อไปนะครับ ผมแค่ไม่เชื่อแบบนั้น)
คำถามมันจึงย้อนกลับมาที่สังคมเองด้วยว่า ไอ้ตัวสังคมเนี่ยมันควรจะมีส่วนร่วมรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือเปล่า? สุดท้ายนี้...ผมมองว่าสังคมไม่ได้เป็นแต่เพียงผู้พิพากษา หากแต่มีส่วนและอาจถึงขั้นเป็นต้นต่อของปัญหานั้นเองด้วย ดังนั้นมันคงจะไม่แย่หรอกนะ ถ้าเราจะทำตามหลักการทั่วไปที่ว่า พบเด็กหรือเยาวชนเสพยาก็นำไปสืบสวนและบำบัดฟื้นฟู(อย่างมาก 6 เดือน) จากนั้นต้อนรับเขากลับคืนสู่สังคมไม่ต้องวงการบันเทิงก็ได้
ทว่าเรื่องกลับไม่จบแค่นั้น...เมื่อผู้ใหญ่ในสังคม 2 คนอย่างพงศพัศกับท่านเฉลิมได้ออกโรงมาทำให้เรื่องมันดูจะวุ่นวายกว่าเดิมไปอีก
พงศพัศนั้นออกมาบอกจะให้น้องเป็นพรีเซ็นเตอร์ต่อต้านยาเสพติด ผมได้แต่ส่ายหน้าก่ายหน้าผากทันทีที่ได้ยินความคิดนี้ โอเค มันอาจจะเป็น “ท่าบังคับ” ของดาราติดยาที่ตำรวจต้องทำแบบนี้ แต่มันผิดกฎหมายนะครับ เพราะในขั้นสืบสวนพิจารณา คุณห้ามเอาน้องมาโฆษณา เพราะเขาเป็นเยาวชน อีกประเด็นคือกระแสสังคม แม้ส่วนใหญ่จะปกป้องน้อง แต่ก็ยังมีส่วนน้อยที่ยอมรับไม่ได้ โดยมองว่าน้องมีอิทธิพลต่อวัยรุ่น น้องต้องออกมาขอโทษ (ซึ่งจริงๆไม่ต้องเพราะมีพ.ร.บ.บอกไว้) สิ่งที่น่ากลัวคือ คนส่วนน้อยเหล่านี้เป็นนักแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์มากกว่าอีกฝ่าย
ส่วนท่านเฉลิมถึงขั้นปรากฏตัวในฐานะตัวละครที่พลิกคดีทั้งหมดแทบล้มโต๊ะ แม้พ่อของน้องจะออกมาย้ำถึงความจริงหลังการแถลงข่าว ซึ่งก็มีส่วนให้สังคมให้อภัยครอบครัวนี้ แต่ผมมองว่า การกระทำของท่านเฉลิมนั้นส่งผลเสียต่อน้องมากกว่า เพราะเขาเข้าไปขัดขวางกระบวนการยุติธรรม
และการลงโทษในกระบวนการยุติธรรมนั้น ส่วนหนึ่งก็มีขึ้นเพื่อเยียวยาสังคม มันจะทำให้สังคมยกโทษให้น้องเขา พอท่านเฉลิมทำแบบนี้...แล้วน้องเขาจะกลับมาใช้ชีวิตในสังคมอย่างชอบธรรมได้อย่างไรครับ? ตามกฎหมายน้องก็ไม่ได้ถูกลงโทษมาก ต้องเข้ากระบวนการบำบัดฟื้นฟู มันก็เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่ท้ายที่สุดแล้วจะช่วยเยียวยาทั้งความรู้สึกของสังคมและน้องเขาเองด้วย
ดีไม่ดี การที่น้องไม่ถูกลงโทษ...วันใดวันหนึ่งข้างหน้าสิ่งที่เกิดขึ้นกับน้องครั้งนี้ก็จะถูกหยิบยกมาพูดถึงในฐานะกรณีตัวอย่างของความเหลวแหลกในการจัดการปัญหายาเสพติดในสังคมไทยอีก และเมื่อถึงวันนั้นก็คงจะเห็นชัดว่า การกระทำของท่านเฉลิมไม่ได้เป็นไปเพื่อช่วยเหลือน้องเขาเลย
นอกจากนี้ ความสัมพันธ์กับหลานรูปหล่อของท่านเฉลิม ซึ่งเป็นภาพที่ว่ากันว่าถ่ายใน ibiza ผับซึ่งห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 20 เข้าไปก็กลายเป็นอีกประเด็นที่สังคมตั้งคำถาม ท้ายที่สุด...มันก็กลับมาลงเอยที่คำถามซึ่งตอกย้ำบาดแผลเดิมของสังคม - เหตุใดผู้คนที่สังคมมองว่าผิด จึงไม่ได้รับการลงโทษ?
โดย อธิเจต มงคลโสฬศ
ภาพประกอบจาก ซีรีส์ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น