กลายเป็นกระแสประหลาดที่ทำเอาหลายคนแปลกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น หลังจากมีการเปิดเว็ปไซค์กล่าวอ้างถึง “วิชาเคล็ดลับการมีเพศสัมพันธ์เพื่อความงาม” จุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการหลอกลวงให้มีเพศสัมพันธ์ ตามติดมาด้วยมหกรรมแฉในช่วงข้ามวันที่เปิดโปงจนท้ายที่สุด เว็ปไซค์ดังกล่าวต้องปิดตัวเองไปในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน
ปรากฏการณ์นี้บอกอะไรกับสังคมไทยบ้าง? หากสิ่งที่ทิ้งไว้เหมือนเพศสัมพันธ์แบบฉาบฉวยอย่างวันไนค์ - สแตน สังคมอาจไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย...แต่หากไม่เป็นแบบนั้น ปรากฏการณ์นี้อาจสะท้อนให้เห็นว่า สังคมตื่นตัวต่อเรื่องนี้และสามารถจัดการกับการหลอกลวงเหล่านี้ได้เร็วขึ้น
อาชญากามบนอินเทอร์เน็ต
กรณีหลอกให้มีเพศสัมพันธ์โดยให้ข้ออ้างว่าจะทำให้สวยขึ้นนั้น เคยมีขึ้นมาแล้วในสังคมไทย จนถึงตอนนี้แม้จะไม่มีรายงานถึงผู้ตกเป็นเหยื่อ ทว่ากรณีนี้อาจเป็นเสมือนยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหาที่ซ่อนตัวอยู่ในสังคมไทย เพราะเมื่อยังมีการทำเรื่องแบบนี้อยู่ ก็หมายความว่า ยังมีคนหลงเชื่อ
โดยกรณีล่าสุดกับ “วิชาเคล็ดลับการมีเพศสัมพันธ์เพื่อความงาม” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Meditation One By One Tantra Tantric Sex” ของผู้ที่ใช้ชื่อแทนตัวเองว่า “อาจารย์อมฤทธิ์ตา” ซึ่งแอบอ้างว่าฝึกเรียนวิชาดังกล่าวมาจากประเทศสหรัฐอเมริกามากกว่า 20 ปี เป็นเคล็ดวิชาที่ถ่ายทอดมาจากโยคี ลิทธิเต๋า จากประเทศอินเดีย นอกจากนี้ยังมีการอ้างว่า วิชาดังกล่าวเป็นที่นิยมมากในหมู่หญิงสาวชาวต่างชาติ
ยังมีการให้รายละเอียดด้วยว่า ในประเทศไทยมีเพียงอาจารย์อมฤทธิ์ตาเพียงคนเดียวเท่านั้นที่สามารถถ่ายทอดเคล็ดวิชานี้ได้ โดยการมีเพศสัมพันธ์เพียง 1 ครั้ง และสุขภาพจะแข็งแรง ผิวกายเปล่งปลั่งสดใสขาวเนียน
ทั้งนี้ ผู้สร้างเว็ปไซค์อ้างว่า ตัวเองชื่อ ไอรดา หรือ ไอร์ เป็นศิษย์เอกของอาจารย์อมฤทธิ์ตา ได้ผ่านมาฝึกมาแล้ว และรับประกันว่าได้ผลจริงๆ ผู้สร้างเว็ปไซค์ดังกล่าวได้มีการลงรูปตัวเองเป็นผู้หญิงที่ดูสวยซึ่งถูกแฉภายหลังจากชาวเน็ตว่า ผู้หญิงในรูปนั้นแท้จริงแล้วคือเน็ตไอดอลชาวเวียดนามชื่อ Lily Luta
นอกจากนี้ในเพจเฟซบุ๊กของไอรดาก็ยังมีข้อความชักชวนให้ไปมีเพศสัมพันธ์เพื่อความงามโดยอธิบายถึงหลักวิชาในการใช้สมาธิขั้นสูง เป็นการเติมพลังชีวิต โดยมีการตั้งหลักเกณฑ์ของผู้เข้าร่วมว่า ต้องเป็นผู้หญิงอายุไม่เกิน 40 หน้าตาดีพอสมควร ทั้งยังต้องมีผิวขาวอีกด้วย ยังมีกำกับไว้อีกว่าต้องมีเพศสัมพันธ์ด้วยความรักแบบศิษย์อาจารย์แต่ไม่ผูกพัน
อย่างไรก็ตาม กรณีแบบนี้เคยเกิดขึ้นก่อนแล้ว โดยใช้ชื่อการมีเพศสัมพันธ์เพื่อความงามนั้นว่า “ไบร์ทบริ้ง” เกิดเป็นเรื่องในช่วงปีที่แล้วจากการที่มีผู้หญิงหลายคนถูกชักชวนผ่านทางข้อความแชตในเฟซบุ๊ก
ผู้แอบอ้างถึงการทำ “ไบร์ทบริ้ง” บอกว่า ทำแล้วจะดูดีขึ้น ผิวจะสว่างใส รูปร่างจะดูดี หุ่นจะเป๊ะขึ้น สามารถเลือกสัดส่วนที่จะดูดีขึ้นได้อีกด้วย รายละเอียดของวิธีการคือ ให้ผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์กับนายแบบที่คัดมาแล้วว่าหล่อ โดยนายแบบจะมีการฉีดวิตามินที่อวัยวะเพศ จากนั้นวิตามินจากอวัยวะเพศของนายแบบจะถูกฉีดเข้าสู่ร่างกายของผู้หญิงผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์อีกทอดหนึ่ง
“ไม่มีท้องจ๊ะ ที่หลั่งเข้าร่างกายมีแต่สารวิตามินเข้มข้นล้วนๆ ที่หลั่งออกมาจะมีกลิ่นหอมเป็นวิตามินหมด ไม่มีอสุจิ” ผู้ใช้นามว่า เป็ง บอกกับผู้ถูกชักชวน
ทั้งนี้ ยังมีการพิมพ์หว่านล้อมถึงข้อมูลต่างๆ และอ้างว่า ทำมาหลายครั้งแล้วในหลายจังหวัด อย่างไรก็ตามนอกจากกรณีเหล่านี้แล้ว การหลอกให้เพศสัมพันธ์เพื่อความงามยังแอบแฝงในรูปแบบของความเชื่ออย่างการทำเสน่ห์ที่เคยมีมานานแล้วอีกด้วย
ผู้กระทำกับเหยื่อ
การหลอกลวงในลักษณะนี้ถือเป้นอาชญากรรม ยิ่งหากผู้ถูกหลอกเป็นเยาวชนก็ยิ่งจะผิดกฎหมายในหลายข้อด้วยกัน ตามหลักอาชญาวิทยาแล้ว รศ.ดร.สุณีย์ กัลยะจิตร ประธานคณะกรรมการบริหารงานหลักสูตรปริญญาเอก สาขาอาชญาวิทยาการบริหารงานยุติธรรมและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล มองได้ 2 มุมคือมุมของผู้กระทำ กับเหยื่อ โดยในมุมของผู้กระทำนั้นเธอเห็นว่า มักจะมองหาช่องทางในการกระทำความผิดต่อเหยื่ออยู่เสมอ โดยมีการเรียนรู้ในการกระทำนั้นตามหลักทฤษฎี ผลการเรียนรู้ ที่บอกว่า อาชญากรจะกระทำการแบบเดิมหากเคยทำสำเร็จมาแล้ว
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกรณีที่เกิดขึ้นก็จะเห็นว่า เป็นไปได้ที่การกระทำในลักษณะดังกล่าว สามารถทำได้สำเร็จมาก่อน นอกจากนี้ผู้กระทำยังมีแนวโน้มที่จะลงมือทำต่อไปได้เรื่อยๆ เพราะการกระทำที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตนั้น หลายครั้งไม่ต้องเจอหน้า ทำให้อาชญากรรู้สึกว่า ตนเองไม่ต้องเสี่ยงอะไร
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาไปถึงมุมของเหยื่อ เธอก็เผยอีกว่า อาจถูกหลอกด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซ้ำร้ายเมื่อถูกกระทำแล้วก็ไม่กล้าบอกใคร เพราะถูกข่มขู่ ทั้งยังอับอายอีกด้วย
“เหยื่ออาจเป็นเด็กหรือเยาวชนที่ใช้อินเทอร์เน็ต แล้วก็มีสิทธิ์ที่หลงเชื่ออะไรแบบนี้ได้ พอถูกกระทำก็อาจจะไม่กล้าบอก ดังนั้นปัญหานี้อาจจะมีอยู่แต่ไม่เป็นที่รับรู้ก็ได้”
โดยในส่วนของเทคนิคอย่างการใช้แอ็กเคาร์ผู้หญิงเข้าไปคุยหว่านล้อม เธอมองว่าเป็นการเรียนรู้ที่จะสร้างเทคนิคขึ้นเพื่อทำให้เหยื่อตายใจมากที่สุด
“การไม่ต้องแสดงตัวตนก็มีส่วนทำให้ผู้กระทำผิดย่ามใจที่สามารถลงมือได้โดยไม่ถูกจับ ทั้งที่จริงๆ แล้วพวกนี้กลัวความผิดมากๆ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องหันมาให้สืบสาว จับผู้ที่กระทำในลักษณะนี้บ้าง ไม่ใช่ว่า จะลงมือเมื่อไหร่ก็ได้แบบนี้ ต้องทำให้รู้ว่า เออ มันมีคนจับตาอยู่นะ”
แต่อย่างไรก็ตาม ตัวตนบนโลกอินเทอร์เน็ตที่ผ่านการปลอมแปลง ผู้ชายปลอมเป็นผู้หญิงเพื่อเข้าหาเหยื่อ แน่นอนว่า ผู้กระทำผิดต้องศึกษา รู้วิธีการสร้างความเชื่อถือมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และการตามจับก็เป็นไปได้ยากอีกด้วย
“ยุคนี้เป็นยุคที่อินเทอร์เน็ตมันมีอิสระในการสื่อสารมากๆ การรู้จักกันในเน็ต ถ้าเป็นเด็กบางทีมันก็มีมุมที่ท้าทาย แต่มันก็เปิดโอกาสให้อาชญากร สิ่งที่ควรทำคือผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเองต้องมีวิจารณญาณ ต้องรู้จักระวังตัว สังเกตท่าที ความผิดปกติให้มาก ท้ายที่สุดก็คือเราก็ต้องระวังตัวเองให้มากๆ ด้วย”
ในส่วนของสังคม เธอเห็นว่า อาชญากรรมในลักษณะนี้อาจมีอยู่ แต่ถูกฝังไว้ภายใต้ความกลัวของผู้หญิง ทำให้คนร้ายยังลอยนวล ทั้งยังทำให้หญิงสาวอีกหลายคนตกเป็นเหยื่อ หากหญิงสาวที่เคยพลาดพลั้งลุกขึ้นมาพูดถึงความจริงที่เกิดขึ้น ก็อาจจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้
“การกระทำผิดในลักษณะนี้มันอาจจะมีอยู่ ผู้หญิงต้องกล้าลุกขึ้นมาบอกเล่าว่าเจออะไร ลักษณะอย่างไร ไม่ต้องแสดงตัวก็ได้ แต่ขอให้บอกเล่าสิ่งที่เจอมา ถึงขั้นฟ้องร้องหาตัวคนร้ายได้ยิ่งดี เพื่อจะได้เป็นบทเรียนให้ทั้งผู้หญิง และคนร้ายด้วย จะได้ไม่ลงมือกระทำผิดในลักษณะนี้อีก”
ปัญหาฝังรากจากกระบวนคิด
จาก 2 กรณีดังกล่าวได้มีแพทย์ออกมายืนยันแล้วว่า ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผยว่า ไม่ทราบวัตถุประสงค์ของการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มารองรับได้
“การนำเสนอในเรื่องนี้คงเป็นเพราะเขารู้สัญชาติดิบของมนุษย์ และอาจนำมาบิดเบือน เพราะจากข้อมูลที่การสำรวจ พบว่า ผู้หญิงตะวันออกมีเพศสัมพันธ์แล้วถึงจุดสุดยอดต่ำกว่าทางตะวันตก ดังนั้นจึงมีการใช้เรื่องเพศเข้ามาเติมเต็มความตื่นเต้น ซึ่งขัดกับหลักศาสนาพุทธ ที่อยากให้ลด ละ เลิกเรื่องนี้
“การมีเซ็กส์เพื่อความงามจึงไม่เป็นเหตุผล โดยเฉพาะกับคนที่ไม่ได้รักและไม่รู้จัก ยกเว้นการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่เรารักจะมีความสุขมากกว่า สารเอ็นโดรฟินหรือสารแห่งความสุขก็จะหลั่งออกมามาก”
ขณะที่กับอีกกรณีในอดีต ด้าน รองศาสตราจารย์นายแพทย์นพดล นพคุณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และอดีตนายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวถึง กรณีที่มีผู้อ้างว่าสาวอยากสวยแล้วใช้วิธีการร่วมเพศกับนายแบบที่ฉีดวิตามินเข้าทางอวัยวะเพศนั้น ในทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์เป็นไปไม่ได้
“แต่การไปร่วมเพศกับคนอื่นที่ไม่ใช่คู่รักของตัวเอง อาจจะติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แทน โดยเฉพาะการได้รับเชื้อไวรัส HIV ทำให้ติดโรคเอดส์ และโรคอื่นๆ จากการมีเพศสัมพันธ์ได้ การมีเพศสัมพันธ์แนะนำให้มีการใส่ถุงยางอนามัย เพื่อป้องกันโรคติดต่อด้วย”
ความเชื่อที่ถูกสร้างโดยยึดคำอธิบายของวิทยาศาสตร์บ้าง ศาสตร์ของการทำสมาธิบ้าง หลายครั้งก็สร้างชุดความจริงให้ดูสมจริงมากขึ้น เมื่อมองในมุมสังคมศาสตร์ รศ.วิทยากร เชียงกูล คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต พบว่า ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นคือระบบการศึกษาที่ยังไม่สามารถสร้างกระบวนการคิดแบบองค์รวมให้ผู้คนในสังคมได้อย่างเท่าทัน
“จริงๆ การเชื่ออะไรง่ายๆ มันก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ ในการรับข้อมูล ยิ่งในรูปแบบที่ดูเป็นทางการอย่างตัวหนังสือในเว็ปไซค์ ซึ่งในต่างประเทศก็เป็น”
เขากล่าวว่า การไม่รู้จักค้นคว้าข้อมูลด้วยตัวเอง ทำให้คนที่จ้องจะหาประโยชน์จากช่องโหว่ตรงนี้สบโอกาส เมื่อพบว่า ผู้หญิงต้องการความสวยความงามก็ใช้โอกาสตรงนี้ในการหลอกลวง ทั้งนี้ชุดคำอธิบาย หรือสำนวนการเขียนที่ใช้รวมไปถึงหลักการต่างๆ ก็มีส่วนให้ผู้คนหลงเชื่อ
“ความเชื่อ ความไม่รู้มารวมกับคำอธิบายแบบวิทยาศาสตร์บ้าง ศาสตร์อื่นๆ ที่ดูน่าเชื่อถือ พอมารวมกับกระแสทุนนิยมแบบที่อยากได้อะไรเร็วๆ มันก็รวมกันเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์แบบนี้ได้”
อย่างไรก็ตาม เขายังมองว่า สังคมนั้นก็มีวิจารณญาณมากพอแล้วที่จะคัดกรองข้อมูลว่าจะเชื่อหรือไม่ หากทว่าโลกอินเทอร์เน็ตที่เข้าถึงได้เร็วและกว้างขวางก็เปิดโอกาสให้เด็กหรือเยาวชนเข้าไปถึงข้อมูลเหล่านี้ด้วย เขาจึงมองว่า เด็กหรือเยาวชนที่ใช้อินเทอร์เน็ตอาจตกเป็นเหยื่อได้ง่ายๆ มากกว่า
“ระบบการศึกษาต้องส่งเสริมให้คนเข้าใจ วิเคราะห์ปัญหาแบบรู้เท่าทัน ต้องรู้ข้อมูลที่เท่าทัน เพื่อให้สามารถคิดวิเคราะห์ได้”
ทั้งนี้ ระบบการศึกษาในปัจจุบันมีพื้นฐานที่แยกส่วน ทำให้คนขาดกระบวนการคิดแบบองค์รวม ทั้งยังมีการสอนด้านเทคโนโลยีมากขึ้นจนไม่ได้ให้ความสำคัญกับความรู้ด้านสุขภาพเท่าที่ควร ทำให้ไม่มีพื้นฐานความรู้ด้านคุณภาพมากพอ นอกจากนี้อุปนิสัยของการไม่ชอบแสวงหาความรู้เพิ่มเติม หรือไม่ค้นคว้าข้อมูลให้มากขึ้นก็มีส่วนทำให้ถูกหลอกได้มากขึ้นด้วย
“รู้ตัวกันเร็ว ถือเป็นเรื่องดี” เขากล่าวถึงกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้น “แต่มาเร็วก็ไปเร็ว พอเป็นข่าวมา วันเดียวคนก็ลืมแล้ว ไม่ได้จดจำบทเรียนกับกรณีที่เกิดขึ้นนี้”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE