xs
xsm
sm
md
lg

ค่านิยมใหม่สังคมไทย “เบนโล” ไม่ว่า ขอแค่ “อย่าโกหก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ท้องก่อนแต่ง” ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ยอมรับได้ เห็นว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล มันหมดยุคสมัยของค่านิยมเดิมๆ ไปแล้วจริงๆ อย่างกรณีการประกาศแต่งงานสายฟ้าแลบของ “กาย” กับ “ฮารุ” ขอแค่ออกมารับความจริงและรับผิดชอบ แค่ “อย่าโกหก-อย่าทำแท้ง” ดรามาเบนโลแบบเดิมๆ ก็สามารถจบสวยได้เหมือนกัน



อย่าโกหก อย่าทำแท้ง ก็พอ
“โอ๊ย! ช่างเขาเถอะค่าา เดี๋ยวนี้ ท้องก่อนแต่งเป็นเรื่องปกติ ท้องแล้วได้แต่ง ดีกว่าท้องแล้วเขาเฉดหัวทิ้งบ้าง ท้องแล้วทำแท้งบ้าง ท้องแล้วเขาไม่รับบ้าง ไม่ใช่หรือคะ มาดีใจกับพวกเขากันกว่านะ”

“ท้องก่อนแต่งหรือแต่งแล้วท้องมันก็ไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่หรอกค่ะ บางคนแต่งอย่างหรูหรา พอไม่นานแล้วก็เลิก ถ้ามีลูก ลูกก็มีปัญหาได้เช่นกัน บางคนเขาท้องก่อนแต่ง แต่เขาขยันทำมาหากิน เลี้ยงดูครอบครัวก็มี ดังนั้น ไม่ว่าท้องก่อนแต่งหรือท้องหลังแต่งก็ไม่ได้เสียหายอะไร ก็ยังดีกว่าบางคนชอบว่าคนอื่นว่าไม่ดีอย่างโน้นอย่างนี้ ท้องแล้วแอบไปทำแท้งก็เยอะแยะ

“โอยยย คบมา 4 ปี แต่งงานเป็นเรื่องธรรมดามาก สังคมสมัยใหม่เขารับได้ ขออย่างเดียว เลี้ยงลูกให้ดี เป็นคนดีก็พอ

“รับได้ อย่างน้อยก็ไม่โกหก และรับผิดชอบกับอีก 1 ชีวิตที่เกิดมา

“ไม่มีใครผิดหรือถูกหรอกค่ะ จะดาราหรือปุถุชนทั่วไป ในเมื่อเขายอมรับและรับผิดชอบต่อกันและกัน สังคมจริงมันยิ่งกว่านี้อีก ไอ้ประเภททิ้งภาระให้ฝ่ายหญิงรับผิดชอบแต่ผู้เดียว อย่าเอาความผิดในเรื่องนี้ไปโยนให้เขาเลยค่ะ คนเขารักกัน และกำลังจะมีเด็กผู้บริสุทธิ์เกิดขึ้น”

ทั้งหมดนี้คือความคิดเห็นที่ได้รับการกดโหวต-เห็นด้วยมากที่สุด ต่อการแถลงข่าวแต่งงานอย่างเป็นทางการระหว่างคู่นักแสดง “กาย-รัชชานนท์ สุขประกอบ” กับ “ฮารุ ยามากุจิ” หลังคบหาดูใจมาได้ 4 ปี โดยออกมายอมรับว่าฝ่ายหญิงตั้งครรภ์จริง พร้อมยืนยันด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่าไม่ใช่ความผิดพลาดอย่างที่ลือกัน แต่ได้วางแผนหมั้นและวางอนาคตเอาไว้ โดยมีผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายรับรู้อยู่ก่อนหน้านี้

ที่น่าสนใจคือผลตอบรับของคนส่วนใหญ่ไม่ได้ออกมาตีโพยตีพาย แต่แสดงความคิดเห็นไปในเชิงเข้าใจ เห็นใจ และพร้อมอวยพรให้แก่ข่าวดีของทั้งคู่มากกว่า ด้วยเหตุผลที่ว่าในเมื่อออกมายืดอกยอมรับความจริงและรู้จักรับผิดชอบแล้ว ก็ไม่ควรมานั่งตำหนิกันให้เสียขวัญ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่แสดงความคิดเห็นต่อต้านบอกว่าผิดทำนองคลองธรรมอันดีแต่เดิมมา สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ค่านิยมเดิมๆ ต้องแต่งงานกันก่อนแล้วถึงร่วมหมอนนอนเตียง ความคิดแบบนั้นแทบไม่มีความหมายแล้ว



เรื่องส่วนตัว อย่าไปยุ่ง!
“ใครจะคบ จะแต่ง จะท้องกับใคร ก็ช่างเขา” คืออีกหนึ่งมุมคิดที่คนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันในกรณีข่าวการท้อง-ไม่ท้องของคนในวงการบันเทิงทุกวันนี้ ลองเปรียบเทียบรอยอดีตในกรณีคลาสสิกเมื่อครั้งเกิดเหตุเบนโลดูอีกที เห็นได้ชัดว่าผลตอบรับของผู้คนวันนี้กับวันนั้น ช่างต่างกันราวฟ้ากับเหว

ให้อาจารย์ผู้สอนวิชาจิตวิทยากับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่าง ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลองวิเคราะห์ดู จึงได้คำตอบว่า ทุกวันนี้คนในสังคมเปิดกว้าง เคารพพื้นที่ส่วนตัว และรับความแตกต่างได้มากขึ้นแล้ว ขอเพียงแค่ “อย่าโกหก”

“กรณีเบนโล ปัญหาจริงๆ มันไม่ใช่เรื่องท้องหรือไม่ท้องนะคะ ที่มันลุกลามเป็นเพราะไม่พูดความจริงตั้งแต่แรกมากกว่า คนไทย sensitive ต่อความรู้สึกว่า มาทำให้ฉันรู้สึกโง่ทำไม อารมณ์ที่ตอบกลับมามันก็เลยรุนแรง ยกตัวอย่างง่ายๆ กรณีพระมิตซูโอะก็ได้ ถึงจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ขอแค่บอกความจริง ทุกคนก็พร้อมจะยอมรับในเรื่องของสิทธิของแต่ละคน สิทธิของการเลือกที่จะเป็น มีความเป็นปัจเจกมากขึ้น รู้ว่าเรื่องไหนควรเป็นเรื่องส่วนบุคคล และให้ความเคารพในการตัดสินใจ แต่ขอแค่อย่าหลอกลวง อย่าทำให้คนที่ได้รับข้อมูลรู้สึกว่าเราโง่ มารู้ความจริงทีหลังค่ะ”

เป็นเพราะไลฟ์สไตล์ของคนทุกวันนี้เปลี่ยนไป หญิงและชายสามารถแสดงความรู้สึกต่อกันได้อย่างเปิดเผย “ในมหาวิทยาลัย เด็กผู้ชาย-ผู้หญิงเดินกอดคอ กอดไหล่ เดินสวนกับครูบาอาจารย์เป็นเรื่องปกติเลยค่ะ เห็นบ่อยๆ ซึ่งเราก็เข้าใจ เพราะการที่เขากอดไหล่-ลูบหัว-ถึงเนื้อถึงตัวกันบ้าง ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไปมีเพศสัมพันธ์อะไรกัน แล้วในอีกแง่ ก็มีเด็กที่อยู่หอด้วยกันจริง มีอะไรกันจริงเหมือนกัน มหาวิทยาลัยดังๆ ระดับประเทศก็มีค่ะ เกือบจะทุกคณะ มันกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว เขารับรู้ว่าการอยู่ด้วยกัน มีความสัมพันธ์ กับการจดทะเบียนสมรส มันแยกกันคนละเรื่อง

เพราะฉะนั้น เมื่อมองเห็นข่าวอะไรแบบนี้ของดารา คนส่วนใหญ่จึงมองเห็นว่าไม่ใช่เรื่องน่าตกใจแต่อย่างใด แต่ถามกลับมายังสื่อมวลชนว่าจะหยิบยกเรื่องส่วนตัวมานำเสนอเพื่ออะไร เกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจารย์ปนัดดาได้แสดงความคิดเห็นเอาไว้ว่า ในเมื่อถือว่าเป็น “บุคคลสาธารณะ” เรื่องส่วนตัวของพวกเขา จึงกลายเป็นเรื่องสาธารณะไปโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อสังคมสงสัยก็ต้องออกมาตอบคำถาม เพียงแต่ขอให้พูดถึงอย่างสร้างสรรค์ หยิบประเด็นที่เกิดขึ้นมานั่งถกกัน ไม่อยากให้มองเผินๆ เป็นแค่ข่าวซุบซิบว่า ใครท้องหรือไม่ท้อง

“พอมีข่าวซุบซิบบ่อยๆ โดยที่ไม่ได้บอกเหตุผล ประเภทข่าวบันเทิงทั่วๆ ไป บอกว่าคนนั้นท้องกับคนนี้ เป็นข่าวโคมลอย คนเสพข่าว วัยรุ่นก็จะมองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา เห็นจนชิน คือนำเสนอกันแบบปล่อยผ่านแต่ไม่มีใครชวนคิดว่า ที่พูดถึงเรื่องท้องไม่พร้อมๆ กันเนี่ย ต้นเหตุมันคืออะไร และผลที่จะตามมาล่ะ จะเป็นยังไง อันนี้พูดถึงผลที่จะตามมาของตัวคนเสพข่าวเองนะ ถ้าจะคุยกัน อยากให้หยิบเรื่องนี้มาเป็นตัวอย่าง ให้ตระหนักว่าภาวะแบบนื้คือภาวะเสี่ยงนะ ใช้กระบวนการทางปัญญาเข้ามาวิพากษ์วิจารณ์กันดีกว่า”




อย่าโทษดารา อย่าเป็นเต่าล้านปี
ส่วนคนที่ออกมาโทษว่า พฤติกรรมแบบนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อเยาวชนนั้น อาจารย์ปนัดดาก็ขอให้ลองมองเสียใหม่ เพราะความคาดหวังที่สังคมมอบให้ บอกว่าดาราต้องเป็นตัวอย่างที่ดีของเด็กๆ นั้น แค่คิดก็ผิดแล้ว “เราไปให้คุณค่า คาดหวังกับดาราสูงเกินจริง เหมือนเราไปมอบบทบาทและหน้าที่ที่ใหญ่เกินกว่าเขาจะเป็นได้ ต้องยอมรับว่าคนในวงการบันเทิงบ้านเรา ใช่ว่าทุกคนจะมีการควบคุมวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่น่าเอาเป็นแบบอย่างได้ แล้วจะให้มาเป็นไอดอลของการใช้ชีวิต มันไม่ใช่นะ

การบ้านของกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพัฒนาสังคม ในวันนี้คือ ต้องจับมือกันทำงานและหาคนต้นแบบที่เหมาะสมให้เด็กให้ได้ เขาจะได้ไม่ต้องมายึดดาราเป็นต้นแบบอย่างทุกวันนี้ สำคัญกว่านั้นคือ ต้องหันมาเผชิญหน้ากับความจริงกันได้แล้ว อย่ามัวแต่พยายามสร้างกรอบห้ามท้องก่อนแต่งเอามาควบคุม เพราะทุกวันนี้มันเกินจุดๆ นั้นมานานมากแล้ว

ต้องยอมรับความจริงก่อนว่า เรื่องมีอะไรกันก่อนแต่ง ตอนนี้ เรายั้งไม่อยู่แล้ว จะให้มานั่งบอกว่าต้องแต่งงาน มีเพศสัมพันธ์หลังจากคุณพร้อมหมดแล้ว ทั้งที่ทุกวันนี้ ความจริงมันไม่ใช่แบบนั้น เพราะฉะนั้น เราต้องยอมรับความจริงและเปลี่ยนวิธีการเตรียมความพร้อมให้กับเด็ก เตรียมพร้อมในที่นี้ไม่ใช่แค่เตรียมแค่เรื่องการมีเพศสัมพันธ์นะ มันมาตั้งแต่เรื่องการปลูกฝังชุดความคิดเลย

เริ่มตั้งแต่การปลูกฝังทัศนคติในการใช้ชีวิต ควรหัดให้เยาวชนรู้จักยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง ไม่ใช่เลี้ยงกันแบบสปอยล์ “พ่อแม่ต้องไปส่งยันเรียนปริญญาตรี เห็นยังมีอยู่เลยค่ะ ผู้ปกครองต้องปล่อยให้เขาเรียนรู้ภัยต่างๆ การหลอกลวงบ้าง เพราะจริงๆ แล้ว การมีเพศสัมพันธ์ก็ถือเป็นการหลอกลวงอย่างหนึ่งได้เหมือนกันนะ ผู้ชายบางคนก็หลอก ทำให้เชื่อว่าเขารักเรามากเพื่อจะได้มีอะไรกัน เพราะฉะนั้น ผู้หญิงก็ต้องคิดดูให้ดีว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ จะยอมให้มีการกระทำเกิดขึ้นแค่ไหนที่จะดีต่อคุณภาพชีวิตของเรา จะให้เด็ก innocent ไม่มีวุฒิภาวะกับเรื่องนี้ ไม่พูดถึงเลยคงไม่ได้แล้ว

ถ้าปล่อยให้หัดคิดเอง ให้ได้ใช้สมองทั้งสองซีก ทั้งด้านอารมณ์และเหตุผล สุดท้าย แต่ละคนจะตัดสินใจเลือกได้ถูกต้องว่าควรจะมีเพศสัมพันธ์หรือไม่ เมื่อไหร่ แค่ไหน และมีแล้วจะเกิดผลกระทบอะไรขึ้นมาบ้าง จะเสียหรือได้จากการกระทำตรงนี้ของตัวเอง หากฝึกให้มีวุฒิภาวะด้านความคิด ก็จะสามารถตัดสินใจเรื่องเหล่านี้ได้

“แต่ถ้าไม่ได้ถูกฝึกให้มีวุฒิภาวะด้านนี้มา เขาจะมองแบบโรแมนติก หลบๆ ซ่อนๆ ไม่กล้าพูดคุย-แลกเปลี่ยนอะไรเรื่องเพศสัมพันธ์กับครอบครัว โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ต้องไปเรียนต่างที่ อยู่หอมากขึ้น มันเป็นโลกของการเดินทาง ผู้ปกครองจะไปเที่ยวนั่งเฝ้า-รับส่ง เหมือนสมัยก่อนมันคงไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องฝึกวุฒิภาวะ-วิธีคิด ให้เขารู้จักคิดเป็น ใช้ชีวิตยังไงที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตที่เหลือของเขาทั้งชีวิต”




พร้อม-ไม่พร้อม ท้องนี้ ใครตัดสิน?
“เราทั้งสองคนก็พร้อมทั้งหน้าที่การงาน ฐานะ วัยวุฒิ และ คุณวุฒิ รวมถึงพ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายพร้อมครับ ผมไม่คิดว่าเร็วไปที่จะแต่งงาน เพราะผมมีบ้าน มีรถ มีงานทํา และมีธุรกิจที่สามารถดูแลครอบครัวได้” ไม่ว่าสังคมจะตัดสินอย่างไร นี่คือคำยืนยันจากปากของว่าที่คุณพ่อ “กาย-รัชชานนท์”

ลองพิจารณาจากประสบการณ์ตรงของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมจำนวน 77 รายดูบ้าง จากรายงานวิจัยการศึกษาประสบการณ์ของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม ทำให้ ณัฐยา บุญภักดี ผู้ประสานงานมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง ได้ข้อสรุปว่า คู่ไหนจะท้องแบบพร้อมหรือไม่พร้อม ไม่มีสูตรสำเร็จ เพราะไม่มีทฤษฎีไหนตัดสินได้เลย

เราเป็นคนภายนอก เราอาจจะคิดว่า คนที่แต่งงานมีสามีเรียบร้อย ถ้าจะท้องก็ไม่น่าจะไม่พร้อมนะ แต่พอเอาเข้าจริงๆ ก็มีคนที่มีสามี แต่งงาน แต่ตั้งท้องไม่พร้อมเพราะสาเหตุอื่น เช่น ฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี มีลูกหัวปีท้ายปี ท้องนี้ท้องที่ 4 แล้ว ก็เลยไม่พร้อม บางคนมีปัญหาเรื่องสุขภาพ เป็นมะเร็งต้องฉายแสง แต่พอตั้งครรภ์จะมีผลกระทบเลยกลายเป็นความไม่พร้อม บางคนแต่งงานกันไป สามีอยากมีลูก แต่พอเริ่มตั้งท้องได้ไม่นาน สามีเจอผู้หญิงอื่น ทิ้งเลย เลยกลายเป็นไม่พร้อม

ในขณะเดียวกัน เราก็เจอคนที่ดูแล้วไม่น่าจะพร้อมเลย เรียนหนังสืออยู่ ปี 2 ปี 3 ยังไม่จบ งานก็ไม่มีทำ ครอบครัวก็ฐานะปานกลาง แต่ปรากฏว่าพอน้องเขาท้องกับแฟนเขาขึ้นมา คุยกันในครอบครัวตอนแรกเหมือนจะไม่พร้อม แต่พอคุยเสร็จ ได้ข้อสรุปว่าให้พ่อแม่เลี้ยงหลานให้ก่อน ลูกกลับไปเรียนหนังสือ เรียนจบก็กลับมาแต่งงานกับแฟนคนเดิม มาเลี้ยงลูกเหมือนเดิม ก็กลายเป็นความพร้อมไป จากตอนแรกที่ไม่น่าจะพร้อมเลย”

เพราะฉะนั้น ความพร้อมหรือความไม่พร้อมของการตั้งครรภ์ เป็นเรื่องที่บุคคลภายนอกไม่ควรเข้าไปตัดสินเลย เพราะทุกครั้งที่สังคมเข้าไปตัดสินเมื่อไหร่ จะทำให้เกิดปัญหาเมื่อนั้น

ตั้งกฎเกณฑ์กันไว้ก็ดีค่ะ แต่ควรจะมองข้อเท็จจริงของแต่ละคนด้วย โดยเอาผลประโยชน์ของเจ้าของปัญหาเป็นที่ตั้ง หรือไม่ก็ให้เห็นแก่เด็กน้อยเป็นหลัก ถ้าเขายังไม่แต่งงาน แต่เขาท้องขึ้นมา แล้วเขาบอกว่าเขาพร้อม แต่เราดันไปบอกว่านี่คือท้องที่ไม่พร้อม เป็นท้องที่สังคมไม่ยอมรับ เราก็จะกลายเป็นตัวกดดันให้เขาต้องไปทำแท้ง

อีกกรณีหนึ่ง ถ้าเกิดผู้หญิงเกิดพลาด ท้องกับผู้ชายคนนึงขึ้นมา แต่ไม่อยากแต่งงานกับผู้ชายคนนี้เลย เห็นว่าเขาไม่เหมาะจะเป็นพ่อคน แต่กลัวว่าสังคมจะประณาม หาว่าท้องก่อนแต่ง ถ้าผู้ชายไม่รับผิดชอบ ก็จะถูกหาว่าท้องไม่มีพ่อ สุดท้าย ก็ต้องแต่งกับผู้ชายคนนั้นเพื่อให้ครอบครัวสมบูรณ์ สังคมจะได้ไม่ประณาม ก็จะกลายเป็นปัญหาลูกโซ่ไม่จบไม่สิ้น”

จึงไม่มีใครเลยที่ควรมีสิทธิตัดสินได้ว่า นี่คือ “ท้องไม่พร้อม” ตัวคู่รักและครอบครัวของพวกเขาเองนั่นแหละ ที่จะตอบคำถามได้ดีที่สุด “เราต้องตั้งคำถามกับตัวเราค่ะว่า กฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ สุดท้าย ผลประโยชน์ของกฎเกณฑ์มันไปตกที่ใคร อย่าปล่อยให้คนอื่นตัดสินแทนเรา เพราะตัวเราเองที่จะรู้ดีที่สุด จะประเมินสถานการณ์ชีวิตได้ว่า ท้องของเราครั้งนี้ พร้อมหรือไม่พร้อม

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE









กำลังโหลดความคิดเห็น