สธ.คาดไม่เกินปี 2559 จะมีผู้ป่วยเอดส์รายใหม่อีกราว 43,000 คน เป็นการติดจากชายมีเซ็กซ์กับชายถึง 41% ไม่รู้ว่าคู่ตัวเองมีเชื้อ 32% เร่งมาตรการเข้าถึงถุงยางอนามัยด่วน แม้ขณะนี้จะไม่เพียงพอ เตรียมขอหน่วยงานต่างๆ เร่งสนับสนุน
วันนี้ (26 มิ.ย.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กลุ่มวัยรุ่นมีความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มมากขึ้น จากการคาดประมาณจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ พบว่าในช่วงปี 2555-2559 จะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รวม 43,040 ราย เป็นการติดเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชาย ร้อยละ 41 จากระหว่างพนักงานบริการและลูกค้า ร้อยละ 11 ผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีฉีด ร้อยละ 10 จากคู่ของตนเองโดยไม่รู้ว่าอีกฝ่ายมีเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 32 และจากคู่นอนแบบฉาบฉวยหรือนอกสมรส ร้อยละ 6 จึงมอบหมายให้กรมควบคุมโรค (คร.) เร่งดำเนินการให้ไม่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ โดยเร่งรัดมาตรการเข้าถึงถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่ไม่ใช่คู่ของตนเองให้ได้ 100% และรณรงค์ให้ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีมาตรวจเลือด หากติดเชื้อจะได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ และไม่แพร่เชื้อสู่ผู้อื่นโดยไม่รู้
ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดี คร.กล่าวว่า จากการคาดประมาณความต้องการใช้ถุงยางอนามัยของประชากรไทยทั่วประเทศ พบว่า มีความต้องการใช้ปีละ 230 ล้านชิ้น ซึ่งที่ผ่านมา สธ.และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สามารถสนับสนุนได้เพียง 40 ล้านชิ้นเท่านั้น ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลการป้องกันตนเองโดยใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ของเด็กและเยาวชนครั้งล่าสุด พบว่า ปี พ.ศ.2552 ใช้ร้อยละ 65.27 ปี พ.ศ.2553 ร้อยละ 66.10 ปี พ.ศ.2554 ร้อยละ 63.73 และปี พ.ศ.2555 ร้อยละ 68.55 ส่วนผู้ใช้แรงงานพบว่า ปี พ.ศ.2552 ใช้ร้อยละ 74.10 ปี พ.ศ.2553 ร้อยละ 60.30 ปี พ.ศ.2554 ร้อยละ 48.00 และปี พ.ศ.2555 ร้อยละ 75.00
นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า มาตรการสำคัญของการลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ คือ 1.รณรงค์การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ 2.การเข้าถึงกลุ่มที่มีภาวะเปราะบางและมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อด้วยมาตรการที่มีประสิทธิผลและครอบคลุม 3.ดูแลรักษาผู้ติดเชื้อไม่ให้ไปแพร่สู่คู่ของตนเองหรือผู้อื่น 4.รณรงค์ให้ผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงมาตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจ และ 5.บริหารจัดการให้กลุ่มประชากรเป้าหมายเข้าถึงถุงยางอนามัยได้ง่าย เพียงพอ และครอบคลุม ซึ่งขณะนี้งบประมาณที่จะจัดซื้อถุงยางอนามัยไม่เพียงพอกับความต้องการ อย่าง คร.สามารถสนับสนุนถุงยางอนามัยได้เฉพาะเพียงบางส่วนของกลุ่มพนักงานบริการ กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย กลุ่มเยาวชน กลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงและไม่เปิดเผยสถานะเท่านั้น ส่วน สปสช.สนับสนุนถุงยางอนามัยให้แก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มารับยากับบุคคลที่มีพฤติกรรมเสี่ยง และมาขอตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจ
“กรมควบคุมโรคจำเป็นต้องหาเครือข่ายสนับสนุนถุงยางอนามัยเพิ่มเติมจากองค์กรภาครัฐ และเอกชน โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดหาถุงยางอนามัยแก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงในท้องที่ของตน และขอความร่วมมือประชาชนซื้อถุงยางอนามัยใช้เองทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์และอย่าอายที่ต้องซื้อ เพราะงบประมาณการลงทุนด้านถุงยางอนามัยเป็นการลงทุนที่น้อยมาก หากติดเชื้อเอชไอวีต้องใช้เงินมากในการรักษาตนเองไปตลอดชีวิต รัฐบาลต้องเสียงบประมาณเพื่อการรักษามากมายหลายเท่าเมื่อเทียบกับงบประมาณด้านถุงยางอนามัย” อธิบดี คร.กล่าว
นพ.พรเทพ กล่าวด้วยว่า สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่น่าเป็นห่วงมาก เพราะอัตราป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ซึ่งเป็นตัวเลขบอกทิศทางการติดเชื้อเอชไอวีมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ในปี พ.ศ.2551 มีอัตราป่วยต่อแสนประชากร เท่ากับ 31.76 ปี พ.ศ.2552 เท่ากับ 37.22 ปี พ.ศ. 2553 เท่ากับ 40.12 และในปี พ.ศ.2554 เท่ากับ 45.10 โดยเฉพาะในประชากรอายุ 15-24 ปี มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรในปี พ.ศ.2551 เท่ากับ 62.79 ปี พ.ศ.2552 เท่ากับ 76.49 ปี พ.ศ.2553 เท่ากับ 79.75 และปี พ.ศ.2554 เท่ากับ 90.06 ซึ่งเป็น 2 เท่าของอัตราป่วยของประเทศ คร.จึงมีโครงการให้ความรู้ในการใช้ถุงยางอนามัยแก่เด็กนักเรียนชาย ส่วนกลุ่มเสี่ยงและประชาชนก็มีบริการเข้าถึงถุงยางอนามัยโดยง่าย เช่น ตั้งจุดรับถุงยางอนามัยในสถานบันเทิง คลินิกกามโรค และเพิ่มขนาดถุงยางอนามัยเป็น 3 ขนาด คือ 49 52 และ 54 รวมถึงพัฒนาบริการสุขภาพที่เป็นมิตรสำหรับเยาวชนชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และพนักงานบริการในโรงพยาบาล เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายเข้ารับบริการโดยง่าย