ในวันที่เด็กหนุ่มคนหนึ่งต้องเผชิญกับความผิดหวังครั้งใหญ่ ผลเอนทรานซ์ที่ประกาศออกมาไม่มีรายชื่อของเขาปรากฏอยู่ ความคาดหวังที่พังทลาย ฉุดให้กีตาร์คู่ใจกับคนวัย 19 ปีนขึ้นไปอยู่บนชั้นดาดฟ้าตึกแถวชั้นที่ 5 มองดูท้องฟ้า ในหัวเปลือยเปล่า ชั่ววูบนั้น บทเพลงแห่งห้วงคำนึงก็ลอยล่องออกมา “มากมายปัญหาที่เกิดขึ้นมา โยนไปบนท้องฟ้า เราก็แค่ลูกหมาตาดำๆ เอาอะไรกันมาก อีกไม่นานก็ตาย...”
เมื่อเสียงกีตาร์และคำรำพันผ่านท่วงทำนองของตัวเองสงบลง “พิสุทธิ์ เกรียงบูรพา” เด็กหนุ่มคนเดิมจึงก้าวลงจากชั้นบนสุดของคอนกรีตทรงสูง เก็บความมุ่งมั่นเอาไว้ในใจ กระทั่งทำมันสำเร็จได้ในอีก 20 ปีต่อมา ทำให้ “เพลงธรรมะ” ที่จะช่วยเยียวยาผู้คนให้หลุดพ้นจากความทุกข์ ซึ่งเป็นความทุกข์ชนิดเดียวกับที่ทำให้พี่ชายของเขาตัดสินใจจบชีวิตลงด้วยน้ำมือของตัวเอง...
ไม่เข้าใจเลยว่าทำไมพี่ชายต้องฆ่าตัวตาย
รู้สึกคาใจมาตลอดว่า เฮ้ย! ทำไมต้องทำแบบนี้ด้วย สงสัยว่าทำไมคนที่เรียนเก่ง เป็นคนดี เป็นต้นฉบับเรื่องความเป็นลูกผู้ชาย การป้องกันตัวเองจากการถูกรังแก เขาสอนผมไว้หมดเลย พอเขามาทำแบบนี้ ผมก็... คงเป็นเพราะเขาเป็นคนดีเกินไป รับกับกลไกสังคมไม่ค่อยได้ พอเป็นคนดีมากๆ ความรู้สึกก็เปราะบาง เจอคนไม่ดีก็รับไม่ได้ ทำไมคนนี้เห็นแก่ตัว ทำไมคนนั้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ สุดท้าย เขาก็ตัดสินใจไปเลย ตอนนั้นอายุเขาเพิ่ง 21 ปีเอง เป็นเรื่องที่เสียใจที่สุดในชีวิตผมเลย เพราะเราสนิทกันมาก (แม้เรื่องจะผ่านมาแล้วถึง 20 กว่าปี แต่น้ำเสียงคนพูดยังมีแววสั่นเครืออยู่)
พอเจอเรื่องเอนฯ ไม่ติดกับตัวเองตอนนั้นด้วย ก็เลยหยิบกีตาร์ขึ้นไปชั้นดาดฟ้าเลย ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรเลยว่าขึ้นไปทำอะไร เอากีตาร์ขึ้นไป ดีดไปดีดมา มองท้องฟ้า เปรียบเทียบความทุกข์ของเรากับโลกอันกว้างใหญ่ มันเป็นเรื่องขี้ปะติ๋วมากเลย แต่ถ้าเราไปโฟกัส เอาแว่นขยายไปส่อง เรื่องที่เราเจอมันก็จะใหญ่ขึ้น ทั้งที่จริงๆ แล้ว ชีวิตคนเราไม่มีเรื่องอะไรใหญ่เลย ทุกอย่างแก้ปัญหาได้หมด ไม่มีเรื่องอะไรที่ศาสนาพุทธแก้ไม่ได้ ก็เลยกลายมาเป็นเพลง “เรื่องนิดเดียว” เป็นเพลงธรรมะเพลงแรกที่แต่งตอนที่ยังไม่ได้ศึกษาเรื่องธรรมะเลย แต่งมาจากธรรมะที่มาจากก้นบึ้งของตัวเองจริงๆ
แต่งเพลงรักไว้เยอะมากแต่ไม่ทำ เพราะมันกระตุ้นกิเลส
มันเป็นอกุศลมากกว่ากุศล นอกเสียจากว่าจะเป็นเพลงให้กำลังใจ แต่ถ้าเป็นรัก กระตุ้นให้คิดถึงกัน เราไม่อยากทำ พอปี 2545 ก็เลยหยิบเพลงที่แต่งๆ เอาไว้ตลอดมาปัดฝุ่นตามคำยุของเพื่อน คิดว่ามันน่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่น ก็เลยลองเริ่มโทร.หาค่ายเพลงวันละค่าย และเขาปฏิเสธเราทุกค่ายเลย (หัวเราะ) เขาไม่ทำอยู่แล้ว ที่เมตตาที่สุดก็บอกให้เอาเดโมมาทิ้งไว้แล้วกัน แต่เราก็ไม่ส่งไปครับ เพราะคิดว่าจะทำเพลงธรรมะ ถ้าอีกฝ่ายไม่ศรัทธาก็อย่าเลยดีกว่า เพราะงานนี้ (อัลบั้ม เรียนเชิญผู้มีจิตศรัทธา ชุด เกาะบันไดวัด) เราไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ เงินทุกบาทที่ลงไปเป็นเงินเราหมด ขาดทุนก็รับเอง ถ้ากำไรบริจาควัด
โชคยังดี สุดท้ายเจอโปรดิวเซอร์ใจบุญ (เทอดศักดิ์ จันทร์ปาน) ขายไอเดียให้เขา เขาก็ช่วยรวบรวมนักดนตรีมา ตอนแรกศิลปินนึกว่าให้มาร้องเพลงสวดมนต์ เขาก็แปลกใจกัน ทุกคนจิตใจดีมาก บอกว่าถ้าเป็นเพลงธรรมะจะทำให้ฟรี แต่ผมมองไกล บอกว่าอย่าเลย เอาเป็นค่าตัวแบบงานวัดแล้วกัน จ่ายครึ่งนึง พอทำเพลงเสร็จ ไปฝากไว้ที่คลื่นแฟตเรดิโอ (104.5 ในสมัยนั้น) ปรากฏวัยรุ่นชอบ เพลงติดหู ขึ้นชาร์ตอันดับหนึ่ง แล้วก็ได้รับรางวัล แฮมเบอร์เกอร์ อวอร์ด กับ คมชัดลึก อวอร์ด ก็เลยได้แจ้งเกิดจากตรงนั้น
ที่แต่งให้โดนตลาดวัยรุ่น เพราะท่านพุทธทาสฝากฝังไว้
บอกว่าเป็นวัยที่เกลี้ยกล่อมได้ง่ายที่สุดและเป็นวัยที่เสี่ยงอันตรายที่สุดด้วย สิ่งเร้าต่างๆ ที่เข้ามามันเยอะมาก เราต้องรีบฉีดภูมิให้เด็กก่อน ถ้าเด็กมี “ภูมิธรรม” นะ ส่งไปเรียนเมืองนอกเมืองนา ส่งเขาไปอีกฟากของโลก ยังไงเขาก็ไม่ฆ่าตัวตาย แต่ถ้าเด็กไม่มีภูมิธรรม คลาดสายตานิดเดียวก็เกิดขึ้นได้
เห็นในข่าวกันบ่อยๆ เลย สอบไม่ติดคณะแรกที่เลือก อยากได้วิศวะ จุฬาฯ แต่ได้ วิศวะ ม.เกษตร แทน กลับบ้าน พ่อแม่นั่งดูทีวีอยู่บนบ้าน ลูกขึ้นข้างบน แขวนคอตายได้ ภูมิธรรมก็เหมือนภูมิคุ้มกันในร่างกายของเรานั่นแหละครับ ถ้าภูมิคุ้มกันเราดี เราก็ไม่ป่วย ต้องฉีดภูมิธรรมให้บ่อยๆ จิตใจจะได้เข้มแข็ง
มีเยอะนะ คนที่อีคิวดี เรียนเก่ง แต่ไอคิว การจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง ไม่ค่อยดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอยู่กับเทคโนโลยีกันมากขึ้นจนอาจจะลืมสนใจเรื่องตัวเอง เรื่องจิตใจไป ผมเองก็มีลูก 2 คน เราก็ฉีดภูมิธรรมให้เขาตั้งแต่ยังเล็กๆ เล่านิทานก่อนนอนให้ฟังตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 10 ขวบ นิทานธรรมะเป็นหลักเลย ทั้งนิทานจากพระไตรปิฎก นิทานเซน เล่าให้ฟังก่อนนอนแล้วปิดไฟ เป็นกุศโลบายที่ดีที่สุด เด็กจะสร้างจินตนาการ ได้ความอบอุ่น และเราก็ใส่ธรรมะเข้าไปแบบเนียนๆ ทำให้ภูมิธรรมซึมเข้าไปในใจเขาได้ดีที่สุด
วิธีรักษาการฆ่าตัวตายได้ดีที่สุดคือการป้องกันครับ ต้องฉีดภูมิธรรมให้เขา อีคิว (Emotional Quotient) จะสูงได้ ต้องมี ดีคิว (Dhamma Quotient) คือธรรมะครับ ธรรมะดี อารมณ์ดี มีสติ รู้เท่าทันทุกอารมณ์ จะโกรธก็รู้ จะร้อนก็เท่าทัน
มีเด็กผู้ชายคนหนึ่ง คอมเมนต์ทิ้งไว้ว่า “เพลงนี้ ช่วยชีวิตผมไว้”
แค่นี้ก็พอแล้วครับ (ประกายในตาบ่งบอกถึงความรู้สึกอิ่มเอมภายในใจอย่างชัดเจน) และเพลงก็ยังวิ่งต่อไปของมันเรื่อยๆ เหมือนงานศิลปะที่อยู่ได้เป็นร้อยๆ ปี มีคนเอาเพลงผมไปทำเป็นเอ็มวีเหมือนกันนะ ผมก็ยินดีครับ เอาเลย ไม่ฟ้องด้วย ไม่มีลิขสิทธิ์เลยครับ เหมือนก๊อบปี้หนังสือสวดมนต์นั่นแหละครับ เผยแพร่ไปเยอะเท่าไหร่ยิ่งดี แต่ลงเครดิตให้วงให้หน่อยก็ดีนะ (ยิ้ม) ผมยังเคยคุยกับโปรดิวเซอร์รายการทีวีเลย บอกว่าถ้าคุณเก่งจริง คุณทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายสิ คุณทำละครหลังข่าว คุณอย่าใช้สูตรสำเร็จสิ “ผี กะเทย ตลก ตบ-จูบ” เลิกใช้ได้มั้ย ถ้าเก่งจริง ทำเรื่องที่น่าเบื่อให้สนุกเหมือนตบจูบได้มั้ย แทรกธรรมะเข้าไป
ปี 2547 ปีที่อัลบั้มชุดแรกออก ผมเขียนเอาไว้เลยว่า งานเพลงชุดนี้เหมือนโยนหินลงไปในบ่อ หวังว่าวงน้ำที่กระเพื่อมออกไปจะทำให้คนหันมาทำเพลงธรรมะกันมากขึ้นๆ ซึ่งมันก็มากขึ้นจริงๆ นะ ท่าน ว. ยังเคยพูดถึงว่า เพลงของผมมันดังแบบอื้ออึงอยู่ในหมู่ชาวพุทธ (หัวเราะ) คือเราไม่รู้หรอกว่ามีคนฟังอยู่เท่าไหร่ เพราะเขาคงไม่ได้มายกป้ายไฟให้เห็น แต่มารู้อีกทีตอนที่เขาหาเบอร์แล้วโทร.มาบอกว่า ภรรยาผมเป็นมะเร็ง 2 จุดในร่างกาย ต้องไปฉายแสงต่างๆ นานา เขาบอกว่า เขาอยู่ได้เพราะอัลบั้มชุดที่ 2 ของพี่ เพลง “สั้นหรือยาว” ตอนที่นอนในอุโมงค์ฉายแสง เขาฮัมเพลงนี้ไปด้วย แค่นี้ ผมพอแล้วครับ ช่วยเขาได้
คนที่ส่งฟีดแบ็กมาให้แบบนี้ นานๆ จะโผล่มาที ผมยังสงสัยอยู่ว่าเขาไปหาเบอร์เรามาจากไหน สามีของผู้หญิงที่ต้องเข้าฉายแสงคนนี้บอกว่า พี่แอ๊ดอย่าหยุดทำนะ เพราะว่ามันช่วยคนได้จริงๆ คนที่ฟังงานนี้มันมีอยู่ แต่อยู่อย่างเงียบๆ พี่ไม่รู้หรอก (หัวเราะ) แต่พี่อย่าหยุดทำ
จริงๆ ผมกะจะเลิกทำ เขียนไว้บนปกซีดีเลยว่าจะเป็นอัลบั้มสุดท้ายแล้ว
ลองไปเปิดดูได้ครับถ้าใครมี อัลบั้มที่ออกมาปีที่แล้ว “เรียนเชิญผู้มีจิตศรัทธา 2,600” ในวาระฉลองพุทธชยันตี ครบ 2,600 ปี พระพุทธเจ้าตรัสรู้ อัลบั้มนั้น เขียนไว้บนปกซีดีเลยว่า Finlay เพราะกว่าจะทำออกมาได้แต่ละอัลบั้มมันยากครับ มันไม่เหมือนเขียนหนังสือ พิมพ์เอง ตรวจเอง ส่งโรงพิมพ์ ทำคนเดียวยังพอไหว แต่ทำเพลงธรรมะทั้งอัลบั้มแบบนี้ ผมแต่งเองเป็นเดโมออกมา ต้องส่งให้โปรดิวเซอร์ เขาส่งต่อให้ศิลปิน ขอให้คนมาร้อง บางเพลงรอนาน 8 ปี เพราะแต่ละคนติดงานกันเยอะแยะ เราก็ไม่อยากจะรบกวนคนอื่นเยอะ เป็นคนขี้เกรงใจด้วย ก็รอไปสิ 8-9 ปี เก็บสะสมเพลงไว้จนเต็มอัลบั้ม มีเพลงแล้วไม่ได้ปล่อย มันอึดอัดนะ ตอนนี้ก็ยังมีเพลงค้างอยู่เยอะเลย
จะให้ผมร้องแต่งเอง เล่นกีตาร์โปร่งเอง ออกอัลบั้มเอง มันก็ไม่ตอบโจทย์ที่คิดไว้ เพราะผมไม่มีสตูดิโอ ผมมีหน้าที่เขียนสูตรอาหาร แต่ต้องหาพ่อครัว หาโปรดิวเซอร์มาปรุงให้ครับ เพลงมันถึงจะกลมกล่อม แต่ถ้าเขียนสูตรเสร็จปั๊บ ไม่มีคนปรุง อาจจะทำเพลงออกมาได้ครับ แต่จะออกมาเป็นเพลงสตริงยุคกลาง ไม่ตอบโจทย์วัยรุ่น
หลายอย่างครับ กระบวนการมันค่อนข้างยากด้วย จะทำอัลบั้มนึง จ้างโปรดิวเซอร์คนนึง เราเหมาจ่ายให้เขาไปเลย คิดเพลงละสามหมื่นบาท เสร็จเราก็โอนเงินให้เขา เขาจะไปเรียบเรียงเสียงประสาน เสียงสังเคราะห์ และเสียงดนตรีสด หานักร้องมาช่วยร้อง จ่ายแบบเหมาเลย สมมติว่าอัลบั้มหนึ่งมี 10 เพลง เพลงละสามหมื่น ก็ไม่ใช่น้อยๆ นะ ผมเองก็ไม่ใช่คนรวยด้วย แต่ก็ยังอยากทำอยู่ครับ เพียงแต่ว่ามันไม่มีคนมาช่วยทำ ตอนนี้เลยขอพักไว้ก่อน ถ้าเจอคนมาช่วย ผมก็ทำต่อได้เรื่อยๆ ครับ
จริงๆ แล้ว ก็มีศิลปินดังๆ หลายท่านครับที่ถือว่าทำเพลงธรรมะ ไม่ใช่ว่าผมเป็นคนแรกที่เริ่ม เพียงแต่เขาอาจจะทำแค่อัลบั้มละเพลงสองเพลง เช่น เพลง “ทำดีได้ดี” ของ อัสนี-วสันต์ เพลง “ก้อนหินก้อนนั้น” ของ โรส-ศรินทิพย์ แต่คนที่จะออกมาทำแบบเต็มอัลบั้มเลย ไม่ค่อยมีครับ เพราะจะทำแบบนี้ได้ต้องห้าวหาญ ต้องทำแบบไม่กลัวเจ๊ง (ยิ้ม)
มีอยู่เพลงหนึ่ง ชื่อว่า “พวกเราชาวพุทธ”
ได้รับแรงบันดาลใจมาจากพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) ครับ ท่านบอกไว้ว่า สังคมไทยเป็นสังคมใฝ่เสพแต่ไม่ผลิต คืออยากจะซื้อแต่ไม่หาเงิน แล้วก็เป็นลัทธิ “ร้องขอ” ไหว้พระก็จะขอนู่นขอนี่ แต่ไม่ลงมือทำ ก็เลยอ่อนแอ ผมก็เอาไอเดียเพลงมาแต่ง กลายเป็นเพลงที่พูดถึงนิสัยส่วนใหญ่ของพวกเราชาวพุทธ อยากจะสอบเอนทรานซ์ แต่ไปกราบไหว้บูชาเทพเจ้า มันก็ไม่น่าจะใช่นะ ก่อนอื่นเลย ชาวพุทธต้องใจนักเลง สร้างเหตุต้องทำเอง เนื้อเพลงก็จะประมาณนี้ครับ
ผมว่าพวกเราชาวพุทธยึดติดกับเรื่องพิธีกรรมกันเยอะเกินไป รู้สึกว่าอยากตักตวงบุญ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเรายังยึดความมีตัวตนกันอยู่เยอะ เวลาแผ่เมตตา เอ่ยชื่อเยอะไปก็กลัวว่าคนรับส่วนบุญจะแย่งบุญกัน ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดนะ แผ่เมตตาให้แก่กัน แผ่ยังไงก็ไม่หมดครับ มันเหมือนการต่อเทียนไข เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกลัวหมด ยิ่งกลัวบุญหมด ยิ่งหมด ยิ่งไม่กลัวบุญหมด ยิ่งไม่หมด มีความเชื่อผิดๆ อยู่เยอะมากครับ แผ่เมตตา ถ้าไม่ต่อตัวกันจะไม่ได้บุญ ถ้าไม่กรวดน้ำบุญจะส่งไปถึง จริงๆ มันไม่ใช่นะ มันเป็นเรื่องของจิตล้วนๆ
หรืออย่างเรื่องทำบุญพระพุทธรูป ไม่ต้องสลักชื่อก็ได้ แต่ถ้าใครสบายใจจะทำก็แล้วแต่ครับ เพราะเรายังอยู่ในโลก ถ้าพ่อแม่ใครสบายใจให้ต้องมีชื่อติดไว้ เราก็ทำตามใจโลกไป แต่ลึกๆ ในใจขอให้เรารู้ว่าเราไม่ยึดติดก็พอแล้ว ถ้าเขาไหว้เจ้ากัน ต้องเอาส้มไปวางแล้วกราบไหว้ เราก็ทำตามนั้นก็ได้ ทำแบบ “ปากอย่างใจอย่าง” ท่านพุทธทาสสอนไว้ครับ หมายความว่าเราทำตามโลกไป แต่ใจเราไม่ยึด ผมชอบธรรมะของท่านอาจารย์ครับ เป็นธรรมะที่เน้นเรื่องการหลุดพ้น ไม่แม้แต่จะติดดี คือทำดีมันได้ดีอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนทำดีแล้วต้องคิดอยากตักตวงบุญกุศล
ง่ายๆ เลย พอเจอทุกข์ ให้ใช้ “ทุกข์สัมพัทธ์” รับรองรอด
เป็นทฤษฎีที่ผมตั้งขึ้นมาใหม่ เลียนแบบไอสไตน์ ที่มีทฤษฎี “สัมพันธภาพ” เขาบอกว่า เวลาจับกาน้ำร้อนที่ร้อนมากๆ เป็นเวลา 1 นาที เหมือน 1 ชั่วโมง แต่เวลาคุยกับผู้หญิงที่เขารัก 1 ชั่วโมง เหมือน 1 นาที มันเป็นการเปรียบเทียบโดยอาศัยความสัมพันธ์ของสิ่งที่พูดถึง เหมือนกับ การขับรถ 60 กม./ชม. เทียบกับคนเดินแล้ว ถือว่าขับเร็ว แต่ถ้าเทียบกับเครื่องบิน จะถือว่าช้าทันที
เราก็เลยเอาทฤษฎีตรงนี้มา จับมาเทียบกับทุกข์สัมพัทธ์ ไหนมาดูซิว่าทุกข์ของเราคืออะไร ลองเทียบกับเรื่องอื่น-คนอื่นดูซิ เพราะถ้ามองจากตัวเราเองคนเดียว เราจะคิดว่าปัญหาของเรามันใหญ่มากเลย ลูกสาวที่หาสมุดการบ้านไม่เจอ เขาร้องไห้ใหญ่เลย ถือว่ามันเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขาแล้ว วัยรุ่นอกหัก จะเป็นจะตายให้ได้ เธอคือลมหายใจของฉัน อยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีเธอ มันก็เป็นเรื่องใหญ่คราวนี้มาเทียบกับ คนทำงาน ถูกไล่ออก ไม่มีเงินเดือน รถจะถูกยึด อะไรใหญ่กว่ากัน แล้วนักธุรกิจร้อยล้านที่ทำธุรกิจล่ม ถูกฟ้องล้มละลายอีก สเกลมันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ นะ
แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไปตัดสินว่าความทุกข์ของอีกคนใหญ่กว่าอีกคนนะ ทุกคนก็ทุกข์ใจเท่าๆ กันแหละครับ แต่แค่ให้ “โยนิโสฯ” น้อมนำปัญหาคนอื่นเข้ามาใส่ในใจเรา แล้วจะเห็นว่าจริงๆ แล้วปัญหาของเราไม่ใหญ่เลย อันนี้ระดับเด็กๆ นะ แต่ถ้าระดับแอดวานซ์ ขั้นสูงกว่านี้คือ มองแล้วเห็นว่า “ความทุกข์ไม่มี” ความทุกข์ทำอะไรเราไม่ได้เลย ถ้าเราไม่แบกมันขึ้นมา
ความทุกข์เกิดขึ้นเมื่อเราแบกรับมันเข้ามาในใจครับ ผมชอบเปรียบเทียบเหมือน “กับดักลิง” ของแอฟริกาสมัยก่อน มันรูปทรงเหมือนแจกันที่ปากกว้างแล้วแคบลงมาเรื่อยๆ ลองเอาถั่วใส่เข้าไปในนั้นเป็นกับดักล่อลิง ลิงมันจะสอดมือเข้าไปได้ แต่พอกำถั่วปั๊บ ลิงจะเอามือออกจากกับดักไม่ได้ละ ซึ่งทุกครั้งที่ทดลองกับทุกตัว ไม่มีตัวไหนเลยที่ปล่อยมือ กำมันอยู่อย่างนั้น อยู่จนคนมาจับมันได้ทุกที
แล้วอย่าเพิ่งมองว่าลิงโง่นะ เพราะชีวิตมนุษย์ก็คล้ายๆ อย่างนั้นแหละครับ บางทีเพื่อนมาหาเรา คนที่มีความทุกข์มาหาเรา เราก็บอกให้เขาปล่อยถั่วสิ แค่ปล่อยถั่วมือคุณก็หลุดออกจากกับดักแล้ว แต่เขาบอกว่าไงรู้มั้ย ยังไงซะฉันก็จะไม่ปล่อยถั่ว แต่ฉันอยากจะหลุดออกจากกับดัก แล้วมันจะเป็นไปได้มั้ย ก็เหมือนกับความทุกข์นั่นแหละครับ บางคนยึดมั่นถือมั่นว่า เธอจะต้องเป็นแฟนฉัน ดีกับฉัน พอถึงวันหนึ่งที่เธอเปลี่ยนแปรไป เราก็เลยรับไม่ได้ ทำใจไม่ได้ เกิดทุกข์ แบบนี้ก็แสดงว่ายังไม่เข้าใจเรื่องอนิจจัง
ฉะนั้น ถ้าไม่อยากให้วัยรุ่นฆ่าตัวตายก็ต้องฉีด “ภูมิธรรม”
ให้เขาเชื่อเรื่องกรรม ต้องบอกว่ากรรมไม่ได้จบแค่ชีวิตนี้ ถ้าดับตัวเองวินาทีนี้ มันไม่ได้จบแค่นั้น ยังต้องรับกรรมที่ตัดสินใจคิดสั้นต่อไปอีก เพราะฉะนั้น อย่าไปหนี ต้องเผชิญกับความทุกข์ให้ได้ ใช้หลักอริยสัจ 4 เลย ปัญหาหรือทุกข์คืออะไร เหตุแห่งทุกข์คืออะไร สภาพพ้นทุกข์คืออะไร และสุดท้าย ทางดับทุกข์คืออะไร โครงสร้างนี้แก้ปัญหาได้ทุกรูปแบบ
จริงๆ แล้ว ศาสนาพุทธมี Road Map นำทางเอาไว้ให้แล้วว่า เดินทางนี้จะช่วยดับทุกข์ได้ แต่เรากลับไม่ค่อยเดินตาม พอมีปัญหาก็ไปไหว้วอนตามที่ต่างๆ แต่ไม่ได้กลับมามองตัวเองเลย พระพุทธเจ้ายังตรัสเลยว่า ถ้าท่านยังอยู่ ถึงเกาะชายผ้าเหลืองท่านก็ยังไม่เห็นธรรมนะ แต่ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา
ถ้าเห็นสาเหตุของการเกิดทุกข์ เราดักทางมันได้ ความทุกข์ก็จบแล้วครับ เรื่องง่ายๆ ที่เราไม่ค่อยทำกัน หรือบางทีเราก็เผลอไป ผมเองก็เผลอ แต่เผลอปั๊บแล้วก็รู้ตัว ออกนอกเส้นทางปั๊บเราก็เลี้ยวกลับ แต่จะไม่หลงทางว่าจะไปเชียงใหม่แล้วไปโผล่สุไหงโก-ลก จะไม่เป็นอย่างนั้น อย่างมากสุด ออกนอกสาย 1 ไปโผล่สาย 3 ก็ยังไม่ห่างกันมาก ยังตั้งลำกลับทัน
ท่าน ว.บอกไว้ “ทุกข์กระทบ ธรรมกระเทือน” หรือไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา นั่นแหละครับ คนส่วนใหญ่เป็นแบบนั้นจริงๆ ถ้าไม่เจอทุกข์กับตัวเอง เราก็จะไม่เข้าหา จะบอกว่ารอไว้ก่อน แต่พอเจอทุกข์ก็จะเข้าใจเลย อ๋อ! มันเป็นอย่างนี้นี่เอง หรือบางคนอาจจะเรียนรู้จากประสบการณ์ได้ เห็นเพื่อนทุกข์จะเป็นจะตาย เราก็เรียนรู้จะเขาก็ได้ พระพุทธเจ้าทำได้แค่เป็นผู้ชี้ทาง ท่านยังบอกเลยว่าจะได้ผลหรือไม่ ต้องลงมือทำเองครับ เพราะฉะนั้น ชาวพุทธต้องใจนักเลงครับ ต้องลองเอง ทำเอง แล้วจะรู้
ถ้าไม่รู้จะเริ่มตรงไหน เริ่มจากร้องเพลง “Happy Birthday” ก่อนก็ได้ครับ แต่ให้ร้องเป็นเนื้อไทยที่ผมแต่งเอาไว้นะ ชื่อเพลง “HBD ล้ออายุ” ยืมทำนองฝรั่งมา แต่เอาหลักการของท่านพุทธทาสมาพูด ท่านบอกให้เลิกปักเทียนบนเค้กแล้วร้องเพลงตามก้นฝรั่งกันได้แล้ว แต่ลองร้องแบบนี้ดู
“วันเกิดของใครก็ไม่รู้ แต่ฉันไม่อยากเกิดมาอีกแล้ว จู้ฮุกกรู เกิดก็ต้องตาย ตายก็ต้องเกิด ทางประเสริฐอยู่หนใด ไม่มีใครเกิดหรือตาย หากเข้าใจในพระธรรม เกิดก็วุ่นวาย ตายก็เสียใจ ไม่มีใครเกิดหรือตาย... เกิดดับเป็นอยู่ของมัน ปรากฏการณ์ไม่ใช่ของฉัน ปล่อยมันว่างไป ไม่ยึดถือมัน ทางนิพพานอยู่ไม่ไกล”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LITE