xs
xsm
sm
md
lg

นับวันยิ่งร้าย+ดราม่า! "ไข้เลือดออก" รายต่อไปอาจเป็นคุณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นกระแสข่าวที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงมากนัก เมื่อเทียบกับข่าวอุ้มฆ่านักธุรกิจชื่อดังเจ้าของเว็บไซต์ไทยอินไซเดอร์ "เอกยุทธ อัญชันบุตร" ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับการระบาดหนักของ "ไข้เลือดออก" ในไทย ซึ่งมีข้อมูลพบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม- 11 มิถุนายน 2556 มีผู้ป่วย 43,609 ราย เสียชีวิตไปแล้ว 50 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปี พ.ศ.2555 กว่า 3 เท่าตัว

ยิ่งมาดูอัตราการระบาด และการป่วยในประเทศอาเซียนแล้ว ยิ่งพบความน่าตกใจ เมื่อสำรวจพบการป่วยเป็นไข้เลือดออกรวมกว่า 1.2 แสนราย ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีการป่วยมากสุด แม้จะไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่ "ไข้เลือดออก" กลายเป็นปัญหาเดิม ๆ ที่นับวันยิ่งร้าย และน่ากลัวมาก แถมยังมีเรื่องดราม่าถูกจุดให้มีการถกเถียงกันมากอีกด้วย

ไข้เลือดออก ชื่อก็บอกว่าน่ากลัว

ไม่ใช่ปัญหาใหม่ในสังคม แต่เป็นปัญหาที่นับวันยิ่งพบความน่าตกใจของการระบาด และการป่วยมากขึ้น เพราะในแต่ละปี โดยเฉพาะในปี 2556 นี้ คนไทยมีโอกาสจะเสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีการระบาดหนักกว่าทุก ๆ ปี เห็นได้จากข้อมูลล่าสุด นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ออกมาเปิดเผยว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเสียชีวิตแล้วรวม 50 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี มากถึง 60 เปอร์เซ็นต์

ไม่เพียงแต่ไทยเท่านั้น สถานการณ์การป่วยเป็นไข้เลือดออกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปีนี้ ค่อนข้างรุนแรงเช่นกัน จากข้อมูลพบว่า สิงคโปร์แม้จะเป็นประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ดี กลับมีผู้ป่วยไข้เลือดออกสูงกว่าไทยถึง 5 เท่า แต่มีผู้เสียชีวิตน้อยกว่าไทย

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ออกมาแสดงความเป็นห่วงถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในกลุ่มประเทศอาเซียนในปี 2556 เนื่องจากมีผู้ป่วยใน 6 ประเทศ รวมประมาณ 120,000 คน สำหรับไทยมีผู้ป่วยสูงขึ้นจากปีก่อนถึง 3 เท่า หากยังไม่ป้องกันและเร่งควบคุมใน 3 เดือนข้างหน้านี้อาจจะมีผู้ป่วยพุ่งสูงขึ้นถึง 150,000 คนเลยทีเดียว และจะมีผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 140 คน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย

มันมากับ "ยุงลาย" ถึงเวลาต้องกลัวจริงจัง

ไข้เลือดออก เป็นโรคประจำท้องถิ่นของประเทศในเขตร้อนอบอุ่น ซึ่งไทยอยู่ในพื้นที่ระบาดด้วย การป่วยด้วยโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกพื้นที่ และทุก ๆ ปีจะมีคนป่วย และคนตายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปีนี้ยิ่งหนักสุด นั่นแสดงให้เห็นว่า คนไทยส่วนมากไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจังเท่าที่ควร

เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Chertkiat Kleawkasikit" เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ประเทศไทยได้ดำเนินการควบคุมโรคนี้มานานกว่า 50 ปี แต่อัตราการติดเชื้อโรคไข้เลือดออกในบางปียังสูงอยู่มากกว่า 100,000 ราย แม้บางปีจะลดลงในระดับหลักหมื่น แต่ยังนับว่าเป็นอัตราที่สูงอยู่ อย่างในปี 2555 ที่ผ่านมาทั่วประเทศไทยก็ยังพบผู้ป่วย 78,075 ราย และเสียชีวิตมากถึง 81 ราย สำหรับในปี 2556 ขณะนี้มีการระบาดมากกว่าปีที่ผ่านมากกว่า 3 เท่าตัว

แม้หลาย ๆ จังหวัดจะมีการตื่นตัว และมีมาตรการป้องกันโรคดังกล่าว ไม่ว่าจะจัดเตรียมยาพ่นฆ่ายุงชนิดกระป๋อง ใช้พ่นในบ้านกำจัดตัวแก่ยุงลาย และเตรียมโลชั่นตะไคร้หอม ทาป้องกันยุงกัด สำหรับผู้ที่มีอาการป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ แต่การดูแล และป้องกันด้วยตัวเอง เป็นสิ่งที่ เภสัชกรเชิดเกียรติ บอกว่า จำเป็นมาก หากไม่เร่งตัดตอนวงจรชีวิตยุง ฆาตกรร้ายตัวนี้อาจนำไวรัสไข้เลือดออกมาสู่ตัวคุณ และสมาชิกในบ้านได้

สำหรับวิธีหลีกหนีให้ห่างไกลจาก "โรคไข้เลือดออก" เริ่มง่าย ๆ จากพฤติกรรม "3 เก็บ" ดังนี้

เก็บ 1 เก็บขยะ เศษภาชนะขังน้ำแหล่งเพาะพันธุ์ยุง วัสดุเหลือใช้นำไปขายเป็นรายได้เสริม เก็บแล้วรวย

เก็บ 2 เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่งยุงลายไม่เกาะพัก ขัดล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์ และ

เก็บ 3 เก็บน้ำ น้ำกินน้ำใช้เก็บให้มิดชิด โดยการปิดฝาโอ่ง ถัง ไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่

นอกจากนั้น ยังฝากไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา ศาสนสถาน สถานพยาบาล และผู้ประกอบการท่องเที่ยว ต้องเป็นตัวหลักในการร่วมรณรงค์จัดการกับสิ่งแวดล้อมไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ด้วยการตัดวงจรการเกิดยุงและการแพร่กระจายป้องกันควบคุมโรคด้วยวิธีปฏิบัติ "5 ป.+1 ข ปราบยุงลาย" ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ป 1 ปิด ปิดภาชนะขังน้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายลงไปวางไข่

ป 2 เปลี่ยน เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำ ทุก 7 วันที่ตรงกันทั้งชุมชน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง

ป 3 ปล่อย ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร เช่น ปลาหางนกยูง ปลากัด ปลากระดี่

ป 4 ปรับปรุง สิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง โล่ง สะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย

ป 5 ปฏิบัติ เป็นประจำจนเป็นนิสัย

ส่วน ข 1 นั้น เป็นการขัดล้างไข่ยุงลาย เพราะยุงลายจะไข่ตามผนังภาชนะขังน้ำ เหนือผิวน้ำประมาณ 1-2 ซม. ไข่ใหม่จะมีสีขาวนวล ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และดำ ลักษณะเป็นแพเรียงติดกัน หากไม่มีน้ำมาเติมจนท่วมถึง ก็จะแห้งติดผนังภาชนะอย่างนั้นได้นานเป็นปี และเมื่อมีน้ำมาท่วมถึงไข่เมื่อใด ไข่ก็พร้อมจะแตกตัวเป็นลูกน้ำภายในได้ใน 30 นาที และใช้เวลา 1-2 วันที่ฟักตัวเป็นลูกน้ำ โดยยุงตัวเมีย 1 ตัวจะไข่ครั้งละ 50-150 ฟอง ใน 4-6 ครั้งในช่วงชีวิต 60 วันของยุง ดังนั้นยุงตัวเมียหนึ่งตัวจึงมีลูกได้ราว 500 ตัวทีเดียว

เมื่อ "ยุง" ถูกจุดให้คนดราม่ากันเอง

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่ก็กลายเป็นเรื่องดราม่าขึ้นมาจนได้ เมื่อชาวพุทธกลุ่มหนึ่งในโลกออนไลน์มองว่า การฆ่ายุงลาย เป็นการทำบาป เห็นได้ชัดจากกรณีเพจ ชมรมรักษ์ธรรม ได้เอาวิธีฆ่าล้างเผ่าพันธ์ยุงลายที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกมานำเสนอเมื่อหลายเดือนก่อน ปรากฎว่า ถูกชาวเน็ตกลุ่มหนึ่งรุมวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการทำบาป กลายเป็นข้อถกเถียงต่าง ๆ นานา

"น่าสงสารคนที่ไม่ศึกษาธรรมให้ถ่องแท้แล้วมาพูดมั่ว ๆ จริง ๆ คงไม่อธิบาย จะเข้าใจอย่างไรก็เข้าใจไป บาปบุญ นรกไม่ได้ขึ้นกับความเชื่อของใคร อยากจะเชื่อก็เชื่อไป ยุงมันก็รักตัวกลัวตายมีหิวมีเจ็บป่วย ไม่ต่างจากเรา มันหิวถึงต้องออกมาหากิน มันรู้ว่ามันออกมา มันจะต้องตาย แต่ด้วยความหิว มันก็ต้องเสี่ยง สัตว์โลกเป็นแบบนี้หมดทั้งนั้น ลองเกิดสงคราม ใครออกนอกบ้านจะโดนยิงตาย ถามว่าคุณหิวแทบไส้จะขาด คุณยังจะนอนอยู่ในบ้านกลัวโดนลูกกระสุนตายเพราะหิว ถ้าคุณเป็นยุงก็ต้องทำอย่างที่มันทำเช่นกัน ถ้าอยากได้กรรมก็ทำได้เลยตามใจ จบ" คุณไอทีเวิร์กช็อป สาขาสามแยกตะวันแดง

"อย่าไปฆ่ามันเลยครับ บาปครับบาป" ไม่แสดงชื่อ

"ยุงกัดคน เป็นไข้เลือดออก ฆ่าไปเลย ไม่บาปๆ" คุณ Pum Pukpao Sirisaksomboon

"ชาวพุทธแตกต่างได้แต่ไม่แตกแยกครับ..ใครคิดว่าไม่บาป (บ้านไม่มีแอร์ไม่มีมุ้งลวด)..ทำเพื่อป้องกันตัวเองหรือลูกๆ ก็ทำไปครับ..ใครคิดว่าบาป (อยากได้บุญก็ถอดมุ้งลวดออกแล้วให้บริจาคเลือดให้ยุงเถอะครับ) อยู่ยากครับโลกใบนี้แม้แต่ยุงยังเบียดเบียนไม่ได้แล้ว..:โลกสวยด้วยมือเรา 55" คุณ Ed Tja

"ประเทศเจริญๆ เขาไม่ค้อยมียุงบินกันนะคะ ประเทศสิงคโปร์เขามีกฎหมายสุ่มตรวจเขตชุมชน ในเขตบ้านของใครมีลูกน้ำเค้าปรับตัว 25 ดอลฯ เลยนะคะ ตัวละนะคะ ขอย้ำ!! ละอีกอย่าง ยุงเป็นสัตว์จำพวกแมลงที่มีประชากรเยอะที่สุดในโลก เพราะงั้นยากแก่การสูญพันธุ์ค่ะ อย่าได้กังวลไปเลยนะคะ เรารักตัวเรา รักลูกหลานญาติพี่น้องเพื่อนสนิทเราที่จะโดนยุงกัดดีกว่าค่ะ อย่าทะเลาะกันเลย จุ๊บๆ" คุณ Yong Pairsuwan

"ลองนึกถึงเด็กๆ ที่เสียชีวิตจากไข้เลือดออกและมาลาเรียเนื่องจากยุงชุมนะคะ ว่าแบบไหนควรให้เกิดกว่ากัน ใครไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตแม้กระทั่งแมลงก็ขออนุโมทนาค่ะ แต่ท้ายที่สุดก็ต้องมีคนเสียสละทำ เพราะการกำจัดยุงปริมาณมหาศาลก็ส่งผลในการลดการเกิดโรคหลายๆ โรคให้กับทั้งคนและสัตว์ค่ะ" คุณ Lovely Clarin

ฆ่าอย่างไร..ไม่เป็นบาป?

หากมองในมุมของ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ว.วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย พระนักคิด นักเขียนท่านนี้ ได้เคยพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ ซึ่งทีมข่าว ASTVผู้จัดกการ Live ขอหยิบยกนำมาให้พิจารณากัน

"การฆ่าสัตว์ที่จะถือว่าเป็นการละเมิดศีล และเป็นบาปโดยสมบูรณ์ (ปาณาติบาต) ต้องประกอบด้วยเงื่อนไข 5 ประการ คือ 1. สัตว์มีชีวิต 2. รู้ว่าสัตว์มีชีวิต 3.มีจิตคิดจะฆ่า 4. พยายามฆ่า และ 5. สัตว์ตาย การฆ่าสัตว์จะถือว่า บาปมากบาปน้อย มีเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาก็คือ "เจตนา" ถ้ามีเจตนาฆ่ารุนแรง ในลักษณะตั้งใจหรือวางแผนไว้ก่อน บาปก็หนัก ผลกรรมก็รุนแรง

ส่วนในทางกฎหมายก็ถือเช่นเดียวกันโดยกล่าวว่า "กรรมย่อมส่อเจตนา" แต่การฆ่าที่ไม่มีเจตนา ก็ไม่ถือว่าเป็นบาป แต่เป็นเพียง "กิริยา" อย่างหนึ่งเท่านั้น เช่น พระรูปหนึ่งตาบอดเดินไปเหยียบแมลงเม่าตายเป็นเบือ มีคนไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสว่า ท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว เจตนาฆ่าไม่มี ก็ไม่ถือว่าเป็นบาป

การที่เราฆ่าสัตว์โดยอ้างเหตุผลว่า สัตว์นั้นเป็นอันตรายต่อเรา ถามว่าบาปไหม ก็ตอบได้ว่า "บาป" เหมือนกัน แต่จะบาปมากบาปน้อย ก็ขึ้นอยู่กับ "เจตนา" และองค์ประกอบสี่ประการดังกล่าวมาข้างต้น นอกจากนั้นยังต้องพิจารณาเกณฑ์ต่อไปนี้ร่วมด้วย เช่น เป็นสัตว์ใหญ่ หรือเป็นสัตว์เล็ก ถ้าเป็นสัตว์ใหญ่ ก็ถือว่า บาปมาก สัตว์เล็กก็บาปน้อย เป็นสัตว์มีคุณมาก หรือมีคุณน้อย ถ้ามีคุณมากอย่างคน ควาย วัว ก็มีบาปมาก แต่ถ้ามีคุณน้อย ก็บาปน้อยลงตามส่วน (ขออนุญาตไม่ยกตัวอย่างเดี๋ยวสัตว์เล็กๆ ทั้งหลายจะเดือดร้อน)

ดังนั้น การที่บอกว่า สัตว์บางชนิด เราจำเป็นต้องฆ่า เพราะเขาเป็นอันตรายต่อเรา นี่ก็เป็นทัศนะหนึ่งที่พอฟังได้ แต่หากมองในมุมกลับกันบางทีสัตว์ก็อาจพูดถึงคนในทางกลับกันว่า คนเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่เป็นอันตรายต่อเขา ดังนั้น เขาก็จำเป็นต้องฆ่าคน เช่น งูเห่า งูจงอาง เห็นคนมาก็กัดจนถึงแก่ชีวิต บางทีถ้ามองในมุมของสัตว์ ก็อาจกล่าวได้ว่า สัตว์ก็อาจมีความชอบธรรม ในการฆ่าคนเหมือนกัน

ฉะนั้น การที่เราจะอ้างว่า เราจำเป็นต้องฆ่าสัตว์ เพราะสัตว์เป็นอันตรายต่อเรา ก็ต้องพยายามมองในมุมกลับกันได้ อย่ามองในลักษณะ "เอาคนเป็นศูนย์กลาง" เสมอไป"

นี่เป็นเพียงบางส่วนบางตอนที่หยิบยกมานำเสนอให้เห็นในอีกมุม

แต่เวลานี้ คงไม่ใช่เวลามานั่งถกเถียง หรือทะเลาะกัน สิ่งที่ใหญ่กว่านั้น คือ เรา ๆ ท่าน ๆ จะช่วยกันลด และป้องกันการระบาดของโรคนี้อย่างไร เพราะไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ที่จะมองข้ามได้อีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากยังมัวแต่สร้างภาพมากกว่าให้ข้อเท็จจริง แนวโน้มสุขภาพของคนไทยอาจแย่ลงไปมากกว่านี้ แต่ถ้าไม่จริงอย่างว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องพิสูจน์ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมเสียที

ส่วนวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก คงต้องตามลุ้นกันต่อไป ซึ่งคาดกันว่าอีกประมาณ 4-5 ปีคนไทยอาจจะมีวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวออกใช้ ซึ่งป้องกัน 4 สายพันธุ์ได้ในเข็มเดียว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะให้การสนับสนุนงบประมาณมากน้อยแค่ไหน...

//////////////////////////

ข้อมูลประกอบข่าว

ทวนความรู้ "ไข้เลือดออก"

โรคไข้เลือดออกที่พบในประเทศไทย และประเทศใกล้เคียงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ จึงเรียกชื่อว่า เดงกี่ฮีโมราจิคฟีเวอร์ ( Dengue Haemorrhagic Fever, DHF) ซึ่งไวรัสเดงกี่นี้มี 4 ชนิด และมีภูมิคุ้มกันของกลุ่มบางชนิดร่วมกัน เมื่อมีการติดเชื้อชนิดใดชนิดหนึ่งแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสนั้นอย่างถาวรตลอดชีวิต แต่จะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเดงกี่อีก 3 ชนิด ในช่วงระยะสั้นๆ ประมาณ 6-12 เดือน หรืออาจสั้นกว่านั้น ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มียุงลายชุกชุมอาจมีการติดเชื้อ 3 หรือ 4 ครั้งได้

โรคนี้มักเกิดกับเด็กโตหรือผู้ใหญ่ หากมีไข้สูงนานเกิน 2 วัน ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึม เบื่ออาหาร หน้าแดง คอแดง ปวดศีรษะหรือปวดกระบอกตา อาจพบจุดเลือด ที่ผิวหนัง กดเจ็บชายโครงด้านขวา มักไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ให้สงสัยเป็นไข้เลือดออก และรีบไปรับการตรวจรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน อย่าซื้อยามารับประทานเอง เนื่องจากอาการช่วงแรกๆ จะคล้ายอาการไข้ปกติ และหากหมอนัดมาพบทุกวัน ต้องปฏิบัติตาม เพราะอาการจะเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ยิ่งไข้ลดยิ่งอันตราย เพราะอาจเกิดภาวะช็อกหรือเลือดออก หากมีโรคแทรกซ้อนอาจทำให้เสียชีวิตได้

ท่านใดมีข้อสงสัย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร 1422

ความรู้โรคไข้เลือดออก


อธิบายมาตรการ กำจัดลูกน้ำยุงลาย แบบเข้าใจง่าย


ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live 



หลากวิธีตัดวงจรยุงลาย ป้องกันโรคไข้เลือดออก
เพจจุดประเด็นดราม่าเรื่อง ยุง
กำลังโหลดความคิดเห็น