xs
xsm
sm
md
lg

“สุขุมพันธุ์” ฟุ้ง กทม.คุมไข้เลือดออกอยู่ เตือนอย่ากินแอสไพริน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สุขุมพันธุ์” โว กทม.คุมไข้เลือดออกอยู่ เตือนผู้ใหญ่เป็นไข้รีบพบแพทย์ ห้ามกินยาแอสไพริน

วันนี้ (17 มิ.ย.) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก พร้อมมอบนโยบายการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออกของ กทม.แก่เจ้าหน้าผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายและศูนย์บริการสาธารณสุข 20 ร่วมกันลงพื้นที่ในชุมชนปฏิบัติการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก เนื่องจากมัสยิดมหานาคเป็นชุมชนแออัด มีประชากรรวม 1,384 คน 225 หลังคาเรือน 402 ครอบครัว และพบการระบาดของโรคไข้เลือดออกเป็นอันดับที่ 2 ของพื้นที่เขต ปัจจุบันยังพบผู้ป่วยไข้เลือดออกเป็นระยะจึงต้องเร่งกระตุ้นเตือนและรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความตระหนัก ให้ความสำคัญ และร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่อย่างจริงจัง เพื่อให้ทุกพื้นที่กรุงเทพฯปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออก

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.2555 - 15 มิ.ย.2556 ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีจำนวนผู้ป่วยสะสมประมาณ 4,300 คน และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย อายุ 21 ปี ที่เขตหนองจอก เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ทั้งประเทศนั้น กรุงเทพฯ มีจำนวนผู้ป่วยอยู่อันดับที่ 24 ของทั้งประเทศ โดยสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกของทั้งประเทศ คาดว่าจะมีผู้ป่วยถึง 120,000-150,000 คน เพราะด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป มีฝนตกผิดฤดูกาล อีกทั้งวัฏจักรของยุงมีลักษณะที่เร็วขึ้น คือ การฝักตัวจากไข่จนถึงเป็นตัวยุงลายนั้นใช้เวลาเพียงแค่ 1 สัปดาห์ จากเมื่อก่อนที่ใช้เวลาถึง 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ ถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่ กทม.ประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคไข้เลือดออกได้ในระดับหนึ่ง แม้ว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ จะมีประชาชนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก มีชุมชนแออัด ซึ่งถือเป็นความสำเร็จในความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่มีสถิติของผู้ป่วยไม่มากเกินไปนัก แต่ทั้งนี้ตนก็ยังไม่พอใจ เพราะต้องการให้ไม่มีผู้ป่วยไข้เลือดออกเลย โดยทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือร่วมใจกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายต่อไป อย่างไรก็ตามปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่เป็นเด็กโตและผู้ใหญ่มากขึ้น ดังนั้นคนใดที่มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ให้รีบไปพบแพทย์ทันที และห้ามรับประทานยาแอสไพริน ควรรับประทานแค่ยาพาราเซตามอล

สำหรับแนวทางการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก 3 มาตรการ 4 กิจกรรมหลัก ดังนี้ 3 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการป้องกันโรคล่วงหน้า เน้นใน 5 พื้นที่เสี่ยง ได้แก่ ชุมชน โรงเรียน ศาสนสถาน สถานประกอบการ สถานพยาบาล ด้วยการควบคุมและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายต่อเนื่องระยะยาว มาตรการในระยะการระบาดของโรค เน้นควบคุมโรคเมื่อได้รับรายงานผู้ป่วยรายแรกภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อลดความรุนแรงการระบาดของโรคไข้เลือดออก มาตรการสร้างความร่วมมือและการติดต่อประสานงานกับพื้นที่รอยต่อ 6 จังหวัดปริมณฑล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วน 4 กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย สำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเป็นประจำทุกเดือน เผยแพร่ประชาสัมพันธ์และรณรงค์ป้องกัน ควบคุมและกำจัดยุงในชุมชน ปรับสภาพสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งแพร่โรคระบาด และควบคุมโรค ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดยุงในชุมชนที่มีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก นอกจากนี้กรุงเทพมหานครได้จัดกิจกรรม “สัปดาห์ฆ่ายุงลาย” ในพื้นที่ ทั้งหมด 4 ครั้ง ซึ่งครั้งต่อไปกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-30 มิ.ย. 2556











กำลังโหลดความคิดเห็น