xs
xsm
sm
md
lg

ไทยแลนด์เฟคทาเลนต์ ทำลาย “เอมเมอรัล” ทำร้าย “เด็กพิเศษ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สคริปต์หรือเปล่า? จัดฉากไหม? คงไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไป เพราะตอนนี้ สิ่งที่สังคมควรตั้งคำถามมากที่สุดคือ รายการที่หมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นคน จนทำให้ผู้ชมเสื่อมศรัทธา ซึ่งยังคงยืดอก-แหงนหน้าเผยแพร่รายการต่อไป แต่คงต้องเปลี่ยนชื่อเสียใหม่จาก “ไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์” เป็น “ไทยแลนด์เฟคทาเลนต์” อย่างที่หลายๆ คนมอบให้

หากมองเผินๆ ผู้ถูกทำร้ายจากโชว์เรียกเรตติ้งครั้งนี้อาจมีแค่ “สิทธัตถะ เอมเมอรัล” เจ้าของประโยคเด็ด “พอดีทางบ้านไม่เคร่งเรื่องมารยาท” และครอบครัวเท่านั้น แต่ความจริง ยังมีผู้ที่เจ็บปวดจากการเชือดผู้เข้าประกวดรายนี้อยู่อีก กลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “เด็กที่มีความต้องการพิเศษ”
เพราะการโห่ไล่ ลุกออกจากที่นั่ง และกรีดร้องแสดงความไม่พอใจในจอโทรทัศน์ ทำให้คนตัวเล็กๆ ในสังคมและครอบครัวของพวกเขา ขวัญหนีดีฝ่อไปหมดแล้ว...
 


 

พ่อแม่ใจสลาย ลูกถูกขับไล่อย่างน่าเกลียด
“ดูแล้วตกใจมากค่ะ ในฐานะที่เป็นแม่คน เรารู้สึกมาก รู้สึกเลยว่าถ้าเป็นลูกเราล่ะ แล้วถูกใครทำอะไรแบบนี้ เราจะรื้อฟื้นความรู้สึกของลูกเราได้ยังไง แค่จากประสบการณ์เก่าๆ ให้ลูกไปโรงเรียนแล้วถูกเพื่อนล้อว่าไอ้งี่เง่า ลูกกลับมาเล่าให้ฟัง เราก็อึ้งไปแล้ว ตอนนั้นต้องบอกให้ลูกพยายาม ตั้งใจเรียนแล้วแม่จะช่วยลูกเอง และเขาก็ผ่านมาได้
 
รู้สึกว่ารายการนี้ย่ำยีหัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่ที่มีลูกอย่างนี้มากเลยนะคะ อยากให้ทุกท่านในสังคมที่มาต่อว่าเด็กคนนี้หรือครอบครัวของเขา เห็นใจเขาบ้างเถอะ เพราะมันยากลำบากมากๆ เลยที่จะสร้างให้เด็กคนหนึ่งที่มีความต้องการพิเศษ ได้มีที่ยืนในสังคม แต่พอมาถึง คุณกลับขับไล่ไสส่งเขาอย่างน่าเกลียดมากเลย ตรงนี้มันเป็นความปวดร้าวของครอบครัวมากๆ เลยจริงๆ
จิตติมา ชัยประดิษฐ์พร เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ พูดในฐานะคุณแม่คนหนึ่งที่มีลูกเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ
 
ถามหัวอกคนเป็นแม่ของผู้เข้าประกวดจริงๆ ดูบ้าง แน่นอนว่าย่อมเห็นว่าพฤติกรรมของคณะกรรมการทั้ง 3 คนไม่เหมาะสม “เหยียดหยามศักดิ์ศรีลูกชายเกินไป คนเป็นคณะกรรมการควรมีความอดทนมากกว่านี้ ไม่ใช่ยังไม่ทันร้องเพลงก็กดเครื่องหมายไม่ให้ผ่านแล้ว ซึ่งแม่รู้สึกไม่พอใจแต่ไม่กล้าต่อว่า และเรียกร้องให้เปลี่ยนคณะกรรมการตัดสิน เพราะน้องไม่ได้มีเจตนาทำร้ายรายการเลย”
 
จากนั้นก็ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเป็นคนพาลูกไปออดิชั่นเอง เพราะสิทธัตถะเป็นคนชอบร้องเพลง “ตอนแรกก็สงสัยเหมือนกันว่าทำไมผ่านการคัดเลือก แต่ก็ไม่ได้ถามทีมงาน เมื่อวานก็มีทีมงานผู้หญิงจากเวิร์คพอยท์ฯ มาที่บ้าน พูดในทำนองขอร้องว่า อย่าไปเอาเรื่องเลย เห็นว่าพูดจาดีก็เลยยกโทษให้ เขาให้บอกว่ายอมรับว่าลูกชายเป็นปกติ ก็เลยเออออตามเขา เขาเลยลงข่าวว่าลูกชายเราปกติ


 

ปกติหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็น
“นายเอมเมอรัล เป็นคนปกติ มิได้ป่วยเป็นโรคประจำตัวใดๆ เพียงแต่เป็นคนที่มีบุคลิกตรงไปตรงมา พูดน้อย แต่ในวันนั้น กิริยาอาการที่เกิดขึ้น อาจเป็นเพราะความตื่นเต้น เนื่องจากไม่เคยขึ้นร้องเพลงบนเวทีไหนมาก่อน”

นี่คือท่าทีล่าสุดจากบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ผู้ได้รับลิขสิทธิ์ให้ผลิตรายการ แสดงอาการน้อมรับคำวิจารณ์และขออภัยต่อสังคม ผ่าน “คำชี้แจง กรณี Thailand's Got Talent Season 3 ออกอากาศเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน 2556”

 
พร้อมแสดงจุดยืนว่า “ไม่ได้มีเจตนาจะลดทอนหรือดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ดังมีผู้กล่าวหา หากเพียงแต่นำเสนอการแสดงที่หลากหลาย และเป็นเวทีที่เปิดกว้างให้แสดงความสามารถของทุกคนอย่างไม่ปิดกั้นเท่านั้น”
 
เมื่อพิจารณารวมกับคำพูดของคุณแม่ผู้ถูกพาดพิง ท่านบอกเอาไว้ว่าสิตธัตถะชอบอยู่คนเดียว ไม่สุงสิงกับใคร “คุณแม่ก็รู้ว่าน้องไม่ปกติจริง แต่ยังไม่เคยพาไปพบจิตแพทย์ เพราะน้องบ่ายเบี่ยงไม่ยอมไป แต่ยืนยันว่าน้องสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนคนปกติทั่วไป” จึงทำให้เข้าใจว่าประเด็นไม่ได้อยู่ที่ตัวผู้เข้าประกวดจะปกติหรือไม่ แต่อยู่ที่การเลือกปฏิบัติต่อเขาต่างหาก
 
ดิฉันไม่รู้หรอกค่ะว่าจริงๆ แล้วคุณสิทธัตถะ พื้นฐานเขาเป็นอะไร แต่ถ้ามองอย่างใจเป็นธรรม ภาพคนคนหนึ่งที่ตั้งใจมาแสดง เขายืนกรานทัศนคติของตัวเองว่า “มารยาทไม่สำคัญเท่าคุณธรรม” ได้รับการโต้กลับกะทันหันเลย แปลว่าเราไม่สนใจเรื่องคุณธรรมใช่มั้ย เราสนใจเรื่องมารยาทมาก่อนหรือเปล่า อันนี้ข้อแรกที่สังคมต้องตั้งข้อสงสัย ถัดมาคือกรรมการ 2 คนถึงขนาดเดินออกไปจากที่นั่ง นั่นแสดงว่ากำลังสื่อความหมายอะไร เขาไม่พอใจเสียงที่ร้องผิดโทน ไม่พอใจการไม่พูดครับ ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากกรรมการ

คนที่ดูเขาไม่ได้แยกแยะหรอกค่ะ อย่าลืมว่าเด็กจำนวนหนึ่งดูอยู่ เขาอาจจะคิดว่า โอ้โห! ขนาดคนที่มีหน้าที่ตัดสินยังรับไม่ได้ หรือการที่คุณพรชิตาหันหลังแล้วกรี๊ดให้ ดิฉันไม่รู้หรอกค่ะว่าเธอร้องกรี๊ดด้วยเรื่องอะไร แต่คิดในภาพคนคนหนึ่ง ต่อให้เขามีภาวะพิเศษหรือไม่มีภาวะพิเศษ เขายืนอยู่ตรงนั้นแล้วเนี่ย เรากำลังทำอะไรกับเขาอยู่?

พญ.สุวิมล ชีวมงคล กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและเด็กที่มีความต้องการพิเศษ แสดงวาทะอย่างตรงจุดไว้บนเวทีเสวนา “รายการทีวีกับการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ จัดขึ้น


“ถ้าเผื่อรายการไม่ได้ต้องการคนที่ร้องเพลงเพี้ยนขึ้นมา คุณก็สกรีนมาตั้งแต่ต้นก่อนดีมั้ย อย่ามาทำให้เกิดการตัดออกจากสังคมตรงนั้นดีกว่า ดิฉันมองว่าภาพเหล่านี้มันคือการหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต่อให้คุณสิทธัตถะมีความพิเศษหรือไม่มี แต่วันนั้นเขาได้ยืนกรานที่จะมีโอกาสได้แสดงออก และในเมื่อรายการเปิดโอกาสนั้นให้เขา รายการก็ควรจะเปิดโอกาสอย่างสวยงาม
หรือถ้าจะให้มันจบลง ก็ควรจะมีวิธีการที่จะช่วยเชื่อมโยงให้คุณสิทธัตถะเดินลงจากเวทีด้วยความรู้สึกดีหน่อย เพราะทุกคนที่ขึ้นมาเขายอมรับอยู่แล้วว่าไม่จำเป็นต้องได้ที่หนึ่ง แต่อย่างน้อยที่สุด เมื่อเขากล้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรายการคุณ คุณก็ควรตอบสนอง ให้เกียรติเขา เชิญลงจากเวทีอย่างสง่างาม


 

บูชาความสามารถ ตัดทิ้งคนด้อยโอกาสในสังคม
แพทย์หญิงผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กที่มีความต้องการพิเศษยังแสดงทัศนะต่อด้วยความเป็นห่วงว่า เด็กทุกวันนี้ถูกรายการโทรทัศน์ปลูกฝังให้บูชาความสามารถ จนอาจลืมเรื่องความดี และความงามไปเสียแล้ว
“รายการจำนวนมากฝังค่านิยมให้ต้องต่อสู้กับผู้เข้าแข่งขันคนอื่น ให้สามารถกลับมายืนผงาดให้อยู่ในตำแหน่งนั้นให้ได้ ทำให้เวลานี้จะเจอเด็กหลายคนมีลักษณะ ทำอะไรก็ได้เพื่อที่จะได้ขึ้นไปผงาดเป็นหนึ่งในตัวเลือก มองตัวเองเป็นหลักเกินไป บางทีต้องเข้มแข็งเพื่อให้ตัวเองยืนอยู่ได้ จนลืมอ่อนโยนต่อคนที่มีโอกาสน้อยกว่าไปแล้ว” และกลุ่มคนที่มีโอกาสน้อยกว่าในสังคมที่กำลังพูดถึงอยู่ในตอนนี้ก็คือ “กลุ่มคนที่มีความต้องการพิเศษ” นั่นเอง

อ.ชูศักดิ์ จันทยานนท์ นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึ่ม(ไทย) คืออีกคนหนึ่งที่จะช่วยสะท้อนให้เห็นว่าการออกอากาศเพียงเทปเดียวของรายการนี้ สร้างความเจ็บปวดให้กลุ่มคนกลุ่มนี้ขนาดไหน

“ผมได้รับอีเมลตลอด 2-3 วันที่ผ่านมาจากเพื่อนๆ และผู้ปกครอง ทุกคนพูดตรงกันว่ารู้สึกงง มึนไปหมดเลย สับสนว่าสังคมจะมองเด็กที่ไม่ว่าเขาจะเป็นหรือไม่เป็นนะครับ แล้วต้องออกมาเจออะไรแบบนี้ยังไงบ้าง สิ่งที่เราพยายามสร้างมา 20 กว่าปีเพื่อให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นจริง มันถูกทำลายไปมั้ย? ผู้ปกครองหลายคนวิตกมากหลังเกิดเหตุการณ์นี้ว่า ถ้าต่อไปพาลูกออกไปข้างนอกแล้วแสดงพฤติกรรมแปลกๆ คนเขาจะมองมั้ยว่าเป็นอะไร

ถามว่าผมเจ็บปวดมั้ย ผมเจ็บปวดนะ แต่ก็เข้าใจครับ แต่ถ้าพิจารณาจากเรื่อง “คุณธรรม” อย่างที่น้องพูด ผมว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตัดสินกันที่จิตใจที่บริสุทธิ์มากกว่า ผมมองไปถึงแววตาของเขาเลยนะครับ ตอนที่เขาตอบคำถาม เขาก็ตอบไปตามที่เขาคิด ถ้าเราเข้าใจเขาสักนิด เราก็จะไม่ต่อประเด็น เพราะลูกผมก็อายุ 28 แล้ว เป็นออทิสติกเหมือนกัน ยิ่งกลุ่มที่มีความใกล้เคียงกับคนปกติมาก ก็จะยิ่งยากต่อการทำความเข้าใจ แต่ถ้าเราไม่มาปรับตัว สร้างสังคมใหม่ เปลี่ยนความคิดใหม่ ผมว่ารายการทีวีและสื่อมวลชนอาจจะต้องหันมาใส่คอนเซ็ปต์ลึกๆ เรื่องพวกนี้เข้าไป

เราใส่เรื่องความรัก ความรู้สึกที่ดีต่อกันได้ไหมครับ คนเราแตกต่างกันได้ เหมือนดอกไม้ที่มีหลายสี ไม่ว่าเขาจะไปอยู่ตรงไหน มีการนั่งคุยกับผู้ปกครองเหมือนกันว่าถ้าเราเป็นคณะกรรมการ เราจะทำตัวแบบไหน ยังไม่ได้มองว่ารายการสดหรืออัดรายการนะครับ รายการสดก็ต้องทำ บันทึกเทปก็ยิ่งต้องกลับมาทบทวนว่าควรเผยแพร่ออกมาหรือเปล่า เป็นเรื่องของจริยธรรมครับ


 

คิดว่าเป็นพี่น้องคุณแล้วกัน!
ต้นตอของปัญหาคือเรายังตีประเด็นไม่แตกว่ากำลังเจอกับใคร ตัวพิธีกรยังไม่มีความชัดเจนในการโต้ตอบที่เหมาะสมทั้งคำพูดและกิริยาต่อบุคคลที่อยู่ตรงหน้า ผลที่ตามมาคือภาพที่ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่มันก็ส่งผลให้เยาวชนจำนวนหนึ่งเกิดทัศนคติขึ้นมาแบบไม่รู้ตัวว่า ไม่มีที่ว่างสำหรับคนไม่มีความสามารถ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากค่ะ
พญ.สุวิมล ช่วยย้ำให้เห็นชัดๆ อีกครั้งหนึ่งว่าปัญหาที่หลายฝ่ายมานั่งถกเถียงกันอยู่ เกิดจากคำเพียงคำเดียวคือ “ไม่เข้าใจ” นั่นเอง อาจเพราะไม่เคยมีประสบการณ์ข้องแวะกับกลุ่มคนเหล่านี้มาก่อน

แต่จริงๆ แล้ว เรื่องยากๆ จะกลายเป็นเรื่องง่ายทันที เพียงแค่คนทำสื่อรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา อย่างที่ วัชระ แวววุฒินันท์ กรรมการสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ บอกเอาไว้ว่า “ง่ายๆ ให้คิดว่าเป็นพี่น้องของตัวเอง”

“ทุกวันนี้เวลาผมสอนน้องๆ ผมจะบอกเลยว่า ไม่ต้องคิดอะไรมาก คิดเสียว่าคนที่มาออกรายการกับแก เป็นพี่น้องแก เป็นครอบครัวแก เป็นเพื่อนแก เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อยากให้ครอบครัวเราเจออะไร ก็อย่าทำอย่างนั้น อันนี้เป็นหลักคิดง่ายๆ เลย ก็จะทำให้คิดได้ว่า พิธีกรจะถามแบบนี้ดีมั้ย จะคอมเมนต์แบบนี้ดีหรือเปล่า หรือตัดต่อออกมาแบบไหนดี เขาก็จะฉุกคิด ทำให้กลั่นกรองได้มากขึ้น

ที่สำคัญคือให้รู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น “สิทธิเป็นเรื่องของคุณธรรม-จริยธรรม เป็นเรื่องการสำนึกในผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี ซึ่งเขียนกฎหมายออกมายังไง มันก็เขียนไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องหมั่นพิจารณาตัวเอง ในธุรกิจที่มีการแข่งขัน โดยเฉพาะสื่อที่ต้องอาศัยเงินเป็นตัวตั้ง ต้องรู้อยู่ 2 อย่างคือ 1.รอบรู้ ในเรื่องความเป็นคน 2.รู้เท่าทัน จะได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือ
และท่องเอาไว้ว่า สิ่งที่วิชาชีพทุกวิชาชีพต้องมีคือ “ความเป็นคน” ต้องเห็นคนเป็นคน ถ้าเห็นคนไม่ใช่คน คุณก็ไม่ใช่คน อันนี้คือคำโบราณเลยนะ และต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา” นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฝากเอาไว้ให้คิด


 

อย่าเป็น “สื่อขยะ”
สุดท้าย ถ้าทำพลาดไปแล้ว วิธีที่ดีที่สุดที่จะพอกอบกู้สถานการณ์ให้ดีขึ้นคือการออกมา “ขอโทษ” นั่นเอง ง่ายๆ เพียงคำเดียว

“ถ้าคุณต้องการแสดงโชว์เพื่อให้เห็นว่าสามารถสร้างสิ่งที่แย่ที่สุดได้เพื่อขายความมัน เพื่อให้เรตติ้งสูง อันนี้ก็ผิดแล้ว คนดูก็โห่ กรรมการก็ด่าว่าที่บ้านไม่สั่งสอน แบบนี้เป็นท่าทีที่ดูถูกศักดิ์ศรีเกินไป หรือแม้กระทั่งการทำท่าทางว่าทนไม่ได้ มันคือดรามาครับ เกมอย่างนี้มันเกินความเป็นคนไปแล้ว ผมว่ามันใช้ไม่ได้ หันหลังเปิดประตูออกไป ทำให้เห็นว่าเขาเป็นตัวตลก เป็นยาพิษต่อสังคมมากๆ แล้วจะไปโทษคนดูไม่ได้เลย เพราะเขากำลังถูกปลุกกระแสอารมณ์

ดีที่สุดต้องออกมาขอโทษครับ ขอโทษไม่ใช่สิ่งน่าอาย แสดงว่าเรารับผิดชอบ แต่เราจะไม่เห็นการแสดงความรับผิดชอบของนักการเมืองหรอกครับ แต่ว่าสื่อต้องดีกว่านักการเมือง ออกมาขอโทษ เป็นคำที่เอ่ยแล้วไม่ได้เสียหายอะไรเลย ไม่ได้เสียตังค์ด้วย แต่ทำให้เกียรติของคุณสูงขึ้น เพื่อให้เป็นสื่อที่มีคุณค่า อย่าลดราคาตัวเองให้ต่ำลง ความสำคัญของสื่อคือต้องมีคุณธรรม-จริยธรรม ไม่อย่างนั้น ท่านจะเป็นสื่อที่ไร้ค่า เป็นขยะในวงการ”

นอกจากนี้ ตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังได้เสนอแนะให้ช่อง 3 ได้สะดุ้งแรงๆ ว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับเปลี่ยนเสียที เลิกมอมเมา ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่แบบนี้ได้แล้ว

“ต้องประกาศตัวเองเลยว่าต้องปรับปรุงองค์กรใหม่ ให้ยึดหลักคุณธรรม-จริยธรรม อันนี้ผมไม่ได้สั่งนะครับ แต่เสนอแนะให้กลับมาทำตรงนี้ให้เป็นระบบ ให้ผู้ดำเนินรายการ ผู้ผลิต คำนึงถึงจุดนี้ด้วย ถึงช่อง 3 จะเป็นบริษัทธุรกิจ ถ้าทำได้ ก็จะเป็นบริษัทที่รับผิดชอบต่อสังคม

โรซาลีน่า อเล็กซานเดอร์ ตัวแทนมูลนิธิเดอะ เรนโบว์ รูม ศูนย์ความเข้าใจในเชิงบวกเกี่ยวกับความต้องการพิเศษ ขอปิดท้ายเอาไว้ “ในฐานะแม่คนหนึ่งดิฉันขอร้อง ขอให้พลังของสื่อถูกใช้ไปในทางสร้างสรรค์ ในทางที่ให้เกียรติ ให้ศักดิ์ศรีกับมนุษย์ ถ้าคุณไม่อยากถูกกระทำอย่างไร ขอความกรุณาค่ะ อย่ากระทำกับคนอื่นอย่างนั้น

เพราะในขณะที่คนเป็นพ่อเป็นแม่พยายามพัฒนาลูกๆ ของตัวเองให้สามารถออกไปสู่สังคม ต้องถามว่า สังคมเองมีความเข้าใจมากพอหรือยัง? ในฐานะสื่อ ในฐานะผู้ผลิตรายการทีวี ในฐานะผู้ร่วมเลี้ยงลูกคนหนึ่งในบ้านของคุณพ่อคุณแม่ เราได้นำเสนอเนื้อหาที่มีคุณภาพเพียงพอ ที่จะบ่มเพาะทัศนคติที่เป็นไปในเชิงบวกให้กับสังคมแล้วหรือยัง?”

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE

วาทะเด็ดจากงานเสวนา






ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทางบ้านไม่สอน "จรรยาบรรณ" TGT+ เสี่ยตาเรียกเรตติ้ง ฆ่า “เอมเมอรัล” ทั้งเป็นบนเวที
งามไส้ “แม่สิทธัตถะ” หัก เวิร์คพ้อยท์ ยืนยันลูกชายผิดปกติ

ล่าสุด เบนซ์ขอโทษ ผ่าน Instagram

เวิร์คพอยต์ แถลงการณ์

ทราย เจริญปุระ ร่วมแสดงความเห็น
หมอกัมปนาท อดไม่ไหว ออกโรง

กำลังโหลดความคิดเห็น