xs
xsm
sm
md
lg

เพลงเพื่อสันติภาพ... อย่าให้เป็นแค่กระแสไพรม์ไทม์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไม่อยากเห็น คนมาฆ่ากัน จับปืนถือมีดไล่ฟันกันอีกเลย อยากจะเห็น เหมือนดั่งเคย จับมือกอดคอกันเอยที่เคยผ่านมา จับมือกอดคอกันเอ๋ย เหมือนอย่างที่เคยผ่านมา...



เสียงปรบมือกึกก้องห้องส่ง สร้างแรงสะเทือนได้ทั้งด้ามขวานเมืองไทย เมื่อ ชาย-สมชาย นิลศรี ผู้เข้าประกวดไทยแลนด์ก็อตทาเลนท์ บรรเลงเพลงที่แต่งจากใจ เพลงเพื่อ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “อยากให้คนไทยรักกัน” จบลง พร้อมกับคำพูดลึกซึ้งกินใจในฐานะผู้สูญเสียคนหนึ่งซึ่งฝากเอาไว้ว่า
 

ผมไม่อยากจะให้หูต้องได้ยินเสียงปืน ตาผมต้องไปเห็นคนที่นอนห่อเสื่อมา ไม่ว่าจะซ้อนท้ายรถกระบะ ปิคอัพ หรือมอเตอร์ไซค์ ภาพมันยังอยู่ในตาของผมตั้งแต่ตอนตรุษจีนปีที่แล้ว แม้กระทั่งหลานของผม เพื่อน หรือพ่อของเพื่อนผม ที่จากไปโดยไม่หวนกลับคืนมา
  

ผม เด็ก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คนหนึ่งที่รู้ถึงความรู้สึกครอบครัวผู้ที่สูญเสีย ถึงแม้มันอาจจะไม่สามารถเรียกกลับคืนมา แต่อยากจะพูดถึงเพื่อนที่กำลังคิดไปในทางที่ไม่ดี ให้เพื่อนกลับมาเป็นเหมือนเดิม คนใต้บ้านเรา ยังไงก็ทำได้ ขอให้เพื่อนๆ คนใต้ทุกคนตั้งใจ ผม เด็ก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คนหนึ่งจะขอทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด
  

ถ้อยคำของผู้ชายแววตามุ่งมั่นคนนี้ทำให้เพลงเพื่อสันติภาพกลายเป็นกระแสเพียงชั่วข้ามคืน แต่คงเป็นกระแสที่ผ่านเข้ามาแล้วเลยผ่านไป หากไม่สานต่อ
 



“จริงๆ แล้ว เพลงแนวนี้ก็มีคนทำมาอย่างต่อเนื่องนะ แต่เพลงที่ดังที่สุดสำหรับคนทั่วไปคือ เพลง “ราตรีสวัสดิ์” (ฟักกลิ้งฮีโร่ Feat.ธีร์ ไชยเดช) และที่ดังได้ก็เพราะโซเชียลมีเดีย แต่ครั้งนี้ ที่เพลงของคุณชาย ผู้ประกวด TGT (Thailand's got talent) ดังได้เพราะเป็นช่วงไพรม์ไทม์ที่คนทั้งประเทศดู ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีเพลงทำขึ้นมามากมาย อย่าง เพลง “บันนังสตา” ที่ลูกชายจ่าเพียร (พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา) แต่ง หรือ อัลบั้ม ขวานไทยใจหนึ่งเดียว ก็มี, แอ๊ด คาราบาว, หงา คาราวาน เขาก็แต่งเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ตลอด แต่ไม่ส่งผลกระเทือนขนาดนี้
 







จุดนี้แหละที่สะท้อนให้เห็นว่าคือสิ่งที่สื่อต้องทำ สถานีโทรทัศน์ทุกช่องควรอุทิศช่วงเวลาไพรม์ไทม์ให้นักดนตรีพวกนี้ได้ปล่อยเพลงเพื่อสันติภาพลงในสื่อ อาจจะร่วมมือกันทำเพลงขึ้นมาชุดหนึ่ง แล้วทำมิวสิกวิดีโอมาออกอากาศดูซิ ดูว่ามันจะสร้างแรงสั่นสะเทือนขนาดไหนพรเทพ เฮง นักวิจารณ์ดนตรี ฝากเอาไว้ให้คิด
 

ถ้าพูดถึงเรื่องแก้ปัญหา เพลงคงไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรขนาดนั้น อาจช่วยได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น คือสามารถบันทึกประวัติศาสตร์ผ่านบทเพลงได้ ช่วยบอกเล่าความรู้สึกของคนที่อยู่ในพื้นที่ บอกกล่าวเรื่องราวที่กระทบต่อจิตใจ ทำให้คนอื่นๆ สามารถรับรู้ความรู้สึกร่วมกันได้ผ่านบทเพลง แต่คงไม่อาจช่วยเยียวยาปัญหาให้หายไปในพริบตาได้ แค่อาจจะกระตุ้นให้คนในสังคมและคนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมเท่านั้น

“บทเพลงนี้อาจจะทำให้เกิดการทำเพลงร่วมกันระหว่าง คนไทยพุทธ-คนไทยมุสลิม ผสมภาษาไทยกับภาษายาวี หรืออาจทำเพลงร่วมกันระหว่างดนตรีร็องแง็ง ซึ่งเป็นดนตรีท้องถิ่นของปัตตานีกับดนตรีสากล ซึ่งทำโดยคนในพื้นที่ที่ต่างศาสนากัน มันอาจจะไปถึงจุดนั้นได้ อาจจะมีการทำเพลงร่วมกันเพื่อเรียกร้องสันติภาพ เรียกร้องสันติสุข

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
















กำลังโหลดความคิดเห็น