xs
xsm
sm
md
lg

“3 ปีราชประสงค์” พวกคุณรำลึก...พวกเรารำคาญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ความสูญเสียจากการชุมนุมทางการเมืองในปี 2552 จวบจนถึงวันนี้ หลายสิ่งหลายอย่างได้เปลี่ยนแปลงไป จากการชุมนุมเรียกร้องให้ยุบสภาในช่วงของรัฐบาลอภิสิทธิ์ รัฐบาลเปลี่ยนชุดเปลี่ยนมือ มุ่งสู่มาตรการเยียวยาเต็มรูปแบบ จนถึงตอนนี้ดูเหมือนเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองกำลังจะผ่านพ้นไปอีกครั้ง มวลชนกลายเป็นกลุ่มสนับสนุนรัฐบาล

3 ปีผ่านไป กลุ่มคนเสื้อแดงที่เงียบหายไปพร้อมกับอำนาจที่มั่นคงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังคงกลับมาชุมนุมรำลึกเหตุชุมนุมทางการเมืองที่แยกราชประสงค์

มุมหนึ่งอาจเป็นการรำลึกถึงโศกนาฏกรรมทางการเมือง ทว่าในความขัดแย้งที่เข้มข้น ประชาธิปไตยของคนเสื้อแดงอาจไม่ตรงนิยามกับกลุ่มคนที่เห็นต่าง เพราะอีกมุมหนึ่งการชุมนุมก็กลายเป็นการตอกย้ำซ้ำเติมความเสียหายที่ร้าวลึกมากขึ้น ผู้ชุมนุมคนหนึ่งต้องเสียชีวิต ห้างสรรพสินค้า 2 แห่งต้องปิดทำการ

การชุมนุมที่มีขึ้นหลายครั้งมีเพียงแต่จะสร้างความเสียหาย และนับวันความชอบธรรมของชุมนุมก็ยิ่งจะลดลง เมื่อรวมกับการทำงานของรัฐบาลที่ยังคงไปไม่ถึงไหน กลุ่มคนเสื้อแดงที่ยังผูกโยงกับพรรคการเมือง ท้ายที่สุดแล้ว การชุมนุมครั้งนี้หรือจะเป็นเพียงการเมืองนอกสภาที่นำเอามวลชนจำนวนมากกว่าคุกคามแย่งชิงเอาสิทธิของผู้อื่นเท่านั้น

รวมพลคนเผาเมือง

ตั้งแต่ก่อนการชุมนุมรำลึกวันที่ 19 พฤษภาคม 2556 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ผู้ประกอบการร้านค้าย่านราชประสงค์กว่า 30 คน เข้าพบ พล.ต.ต. ปริญญา จันทร์สุริยา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แสดงความไม่พอใจต่อการชุมนุมที่สร้างความเดือดร้อน โดยร้องเรียนว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีการชุมนุมกว่า 20 ครั้ง!!

พร้อมกันนั้นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไฟไหม้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเอสเอ็มอี 300 - 500 ราย ยังไม่ได้รับการเยียวยา ทั้งนี้ยังระบุว่า หากการรำลึกจัดเพียง 2 - 3 ชั่วโมงก็พอรับได้

แม้เจ้าหน้าที่จะยืนยันว่าจะทำงานให้ดีที่สุด โดยไม่ให้มีการปิดทางจราจรแต่การชุมนุมที่ก็ยังคงมีขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงจำเป็นต้องปิดช่องทางการจราจร
สิ่งหนึ่งที่คนเสื้อแดงอาจจะหลงลืมไปคือ ความเจ็บปวดและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุวุ่นวายทางการเมืองในพื้นที่ราชประสงค์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ชุมนุมเพียงฝ่ายเดียว หากแต่เกิดกับทุกส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ หรือประชาชนทั่วไปที่ต้องการเพียงทำมาหากิน

1.1 หมื่นล้านบาทคือตัวเลขความเสียหายของเศรษฐกิจที่ผู้ค้าย่านราชประสงค์ประเมินไว้ โดยที่ผ่านมากลุ่มผู้ค้ายังคงไม่ได้รับการเยียวยา ทั้งที่กลุ่มคนเสื้อแดงนั้นได้รับการเยียวยาไปแล้วด้วยเงิน ความเสียหายที่เกิดขึ้นเหล่านี้ยังคงสะท้อนออกมาจากความคิดเห็นบนโลกไซเบอร์ แสดงให้เห็นว่า การชุมนุมนั้นสร้างความเดือดร้อนทั้งยังละเมิดสิทธิคนอื่นซึ่งขัดต่อหลักประชาธิปไตยซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องเสียเอง

"ก่อนจะรำลึกกันไปกราบเท้าคนทำงานแถวนั้นก่อนดีกว่านะ สร้างความเดือดร้อนได้ทุกเดือน” Marchz Kal

"พวกคุณรำลึกถึงพวกพ้องพวกคุณกัน พวกฉันก็รำลึกได้ว่า พวกคุณเผาบ้านเผาเมืองเหมือนกัน แล้วฉันก็คิดว่า ความเจ็บปวดของพวกคุณ คงเทียบไม่ได้กับความเจ็บปวดของคนไทยทั้งประเทศหรอก” Supansa Sapsee

"พวกจัญไร ละเมิดสิทธิ์ของคนอื่น แล้วอ้างว่าเป็นสิทธิ์ของตน ผู้รักษากฎหมายก็ไม่เคร่งครัด ชาติจะสงบสุขได้อย่างไร?” Jesada Luckanatinakorn

“ค่าแรง เงินทอง ค่าใช้จ่ายที่ขนกันมา....ใช้เงินภาษีคนในประเทศทั้งนั้น เอาไปบำรุงบำเรอ เลี้ยงอันธพาลไว้ระรานคนที่เห็นต่าง หรือใครจะเถียงว่าครอบครัวชินวัตรควักจ่ายเอง” Espresso Pink


เสื้อแดงจะเดินไปไหน?

หลังจากเหตุการณ์ที่เป็นเสมือนจุดเปลี่ยนจุดหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เวลาที่ผ่านมา 3 ปี ทำให้เห็นทิศทางการเคลื่อนไปของกลุ่มคนเสื้อแดง นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคนมองว่า ท้ายที่สุดแล้วก็ยังคงไปไม่ถึงอุดมการณ์ที่แท้จริง และยังคงยึดโยงอยู่กับพรรคการเมืองอย่างไม่สามารถเป็นอิสระได้

"พลังเสื้อแดงยังห่างไกลจากความสำเร็จในการผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงของโครงการสร้างเมืองแบบเดิม" ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการเสื้อแดง ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต เห็นว่ากลุ่มคนเสื้อแดงนั้นยังขาดผู้นำที่น่าเชื่อถือ ทำให้อุดมการณ์ส่งเสริมประชาธิปไตยยังไม่เด่นชัด ทั้งยังผูกยึดโยงกับพรรคเพื่อไทยอย่างเหนียวแน่น จนทำให้กลุ่มเสื้อแดงไม่กล้าที่จะคัดค้านหรือวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลได้

ขณะที่ทางด้านสุริยะใส กตะศิลา อดีตผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มองว่า ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา แกนนำคนเสื้อแดงได้มีตำแหน่งทางการเมืองแต่ก็ไม่ได้ใช้ตำแหน่งนั้นขับเคลื่อนหรือปฏิรูปทางการเมืองใดๆ ส่วนมวลชนก็ถูกมอมเมาด้วยประชานิยม จนทำให้ขบวนอ่อนเปลี้ยเพลียแรง คำว่า ประชาธิปไตยถูกย่อส่วนลงกลายเป็นเรื่องชะตากรรมของทักษิณ ชินวัตร เท่านั้น แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปนโยบายใหม่ๆ ทั้งที่ในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวใหญ่ก็ชูธงเรื่องความเสมอภาค ต่อต้านความเหลื่อมล้ำ แต่พอมีอำนาจก็ไม่ได้ทำสิ่งนั้น

แกนนำการชุมนุมอีกคนอย่าง นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำเสื้อหลากสี กล่าวว่า อยากให้กลุ่มคนเสื้อแดงนั้นเรียกร้องสิ่งที่มันเป็นปัญหาชีวิตจริงๆ ดีกว่ามาเป็นเครื่องมือทางการเมือง เขาสังเกตว่า ตั้งแต่ปี 2553 ถึง 2556 เขาแทบไม่เคยเห็นเสื้อแดงเรียกร้องเพื่อปากท้องของกลุ่มตนเองจริงๆ เลย

“เสื้อแดงเรียกร้องเพื่อการเมืองของพรรคที่เขาชื่นชอบอยู่ โดยหวังว่าถ้าเกิดทักษิณได้กลับมาแล้ว ชีวิตเขาจะดีขึ้น ผมอยากเห็นเสื้อแดงเรียกร้องอะไรที่เป็นเนื้อนาบุญของชีวิต ผมเชื่อว่า 80-90% ของเสื้อแดง เป็นเกษตรกร ซึ่งน่าจะอยากให้ลูกหลานมีการศึกษา มีน้ำ มีปุ๋ย มีเงินกู้”

ในส่วนของ สุริยันต์ ทองหนูเอียด เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และแกนนำพันธมิตรภาคเหนือ มองว่าการเคลื่อนไหวในประเด็นก้าวหน้ายังไม่มีให้เห็นนักภายหลังจากการเรียกร้องประชาธิปไตย จากการที่กลุ่มคนเสื้อแดงตกเป็นเครื่องมือของพรรคการเมืองมากกว่า

“การชุมนุมของคนเสื้อแดงก็จะมีการบอกว่าอย่าเพิ่งชุมนุม เพราะรัฐบาลกำลังอยู่ในอำนาจ เดี๋ยวจะกลายเป็นเครื่องมือของอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งมันดูแล้วตลก หรือหากเป็นกลุ่มอื่นที่เป็นคนจนแต่สมมติว่าเป็นคนละฝั่งกันก็จะถูกมองว่าพวกนี้เมื่อก่อนมันอยู่คนละสีกับเรา เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นว่ารัฐบาลไม่ได้เป็นรัฐบาลของคนทั้งประเทศ”

ไม่ลืม...ประชาธิปไตย

การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งคือการปิดถนนซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผศ.ดร.ทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เห็นว่า การชุมนุมรำลึกวีรชนของกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น ถือว่าละเมิดสิทธิของผู้อื่น

“มันก็มีกฎหมายบางส่วนอย่างกฎหมายจราจร สิทธิเสรีภาพที่จะไม่รบกวนคนอื่น ไม่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายในที่สาธารณะ แต่มันก็ละเมินผู้ค้า คนก็ไม่ไปย่านนั้น ยิ่งย่านนั้นเป็นย่านธุรกิจมันก็ยิ่งกระทบ อาจจะส่งผลระยะยาวในแง่ที่ไม่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งก็เข้าใจว่ามีผู้ค้าฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย บางส่วนก็ได้ไป แต่คิดว่ามันคงสงบเรียบร้อย และการชุมนุมรำลึกแบบนี้มันก็จะมีต่อไปอีก แต่มันก็ลดพลังลงไปเรื่อยๆ เอง”

ความเดือดร้อนตรงนี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า กลายเป็นการชุมนุมที่ไม่จำเป็น เพราะไม่ได้มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น แต่การชุมนุมก็ยังคงสร้างความเดือดร้อน เขามองว่า ในแง่นี้การชุมนุมจะส่งผลเสียต่อรัฐบาลเพราะทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ

“การทำแบบนี้ทำให้พรรคเพื่อไทยหรือรัฐบาลเสียหาย รัฐบาลต้องปากว่าตาขยิบ คือคนอื่นชุมนุมก็ว่าเขา พอเสื้อแดงชุมนุมก็ปล่อยได้ตามสบาย ถือว่าเป็นการทำ 2 มาตรฐาน เสียหายกับรัฐบาล ถ้าทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แล้วมีเลือกตั้ง คิดว่าพรรคเพื่อไทยอาจจะแพ้พรรคอื่นก็ได้”

โดยรัฐบาลเองก็ไม่สามารถทำอะไรผู้ชุมนุมได้เนื่องจากเป็นกลุ่มมวลชนที่สร้างเงื่อนไขทางการเมืองให้พรรคตัวเองได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาล ตั้งแต่การชุมนุมสร้างความไม่สงบให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ จนถึงการเป็นฐานเสียงสำคัญให้รัฐบาลชนะการเลือกตั้งเข้ามา

ทั้งนี้ เป้าหมายในการชุมนุมนั้นเขายังเห็นว่า คือการรำลึกถึงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองเมื่อครั้ง 19 พฤษภาคม 2552 แม้ว่าจะมีเหตุผลอื่นๆ ประกอบอยู่ด้วยก็ตาม

“ผมยังคิดว่า เป้าหมายหลักของเขาคือการระลึกถึงเหตุการณ์ที่เขาชุมนุมมา แต่รองลงมามันคือแสดงศักยภาพว่า กลุ่มเสื้อแดงยังต้องให้ความสำคัญอยู่ ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยมองข้ามหัวไป เขาต้องการเบ่งตัวตนของกลุ่มคนเสื้อแดงออกมาให้คนยอมรับ แต่การรำลึกมันก็ไม่ได้มีพลังเหมือนอย่างแต่ก่อน กลุ่มแดงนี้ก็เหมือนกลุ่มอื่นๆ ที่เชื่อมโยงไปกับเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง เขาจะต้องพยายามไม่ทำตัวให้สังคมรังเกียจ ถ้าสังคมรังเกียจเขาก็จะแย่เสียหายไปด้วย”

ในส่วนของการโฟนอินเข้ามาของผู้อยู่เบื้องหลังอย่าง ทักษิณ ชินวัตรนั้น เขามองว่า ยิ่งกลับทำให้การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงอ่อนแอลง

“คุณทักษิณเป็นพวกจมไม่ลง เป็นคนที่ไม่อยากจะสลายไปจากโลกนี้ ยังปรากฏตัวตนเพื่อให้คนรู้ว่ายังมีลมหายใจอยู่ เขาทนไม่ได้ว่าจะถูกลืมไป ก็ต้องแสดงตัวว่าเขายังอยู่ และอยู่อย่างยิ่งใหญ่ด้วย คนต้องเชื่อฟังเขา คนต้องให้ความสนใจเขา”

ทั้งนี้ เขาเผยว่า จากการได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักวิชาการฝั่งแดง มีการพูดคุยกันว่า ยิ่งคุณทักษิณเข้ามายุ่งมากเท่าไหร่ กลุ่มเสื้อแดงก็ยิ่งแย่มากขึ้นเท่านั้น กลุ่มเสื้อแดงจะขาดความเป็นตัวของตัวเอง เพราะต้องมีคนคอยสั่งกำกับ ไปด้วยตัวเองไม่ได้ กลายเป็นแดงเด็กอนุบาล คอยมีผู้ปกครองคอยรับส่ง

เขาให้ข้อแนะนำว่า กลุ่มเสื้อแดงจำเป็นจะต้องเรียนรู้บทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้น 1. คือสังคมก็ไม่ได้ให้ความสนใจการเคลื่อนไหวของพวกเขามากนัก 2. สังคมจะยิ่งเบื่อมากขึ้นกับสิ่งที่พวกเขากระทำ 3. คนเสื้อแดงต้องไม่เชื่อมโยงตัวเองกับรัฐบาล

“ถ้าเขาได้บทเรียนแล้ว เขาก็ควรจะปฏิรูปแดงต้องไปเป็นแดงที่มีคุณค่า สร้างประโยชน์ ผมคิดว่าตอนนี้ถ้ากลับเนื้อกลับตัวได้ ต้องสอนบทเรียนให้รัฐบาล ออกมานำ ชี้แนะ ควบคุมรัฐบาลบ้าง ไหนๆ ก็ตั้งรัฐบาลมาก็ต้องควบคุม ดูแล เสนอแนะ เรียกร้องอะไรบ้าง”

…..

การเรียกร้องประชาธิปไตยนั้นอาจเป็นสิ่งดีงามต่อการพัฒนาประเทศ หากทว่าการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง มาจนถึงตอนนี้ก็ยังคงพิสูจน์ไม่ได้ว่าพวกเขาเรียกร้องประชาธิปไตย กับช่วงเวลาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ได้โอกาสขึ้นมาปกครองประเทศ คำว่า “ไม่ลืม” ที่กลุ่มคนเสื้อแดงนำมาใช้นั้น ควรมีเพียงทวงถามต่อคู่ตรงข้ามทางการเมืองเท่านั้น หรือควรนำมาทวงถามต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยและความเท่าเทียมที่ตนเองเรียกร้องหาด้วยกันแน่

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE





กำลังโหลดความคิดเห็น