xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเวทีมวย “ศึกชิงผัว” เรื่องจริงที่น่าหดหู่ !

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศิลปะแม่ไม้มวยไทยนั้นอยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างช้านาน เป็นศิลปะการต่อสู้ที่ถือว่าเป็นสมบัติของชาติ ทว่าไม่นานมานี้ก็ได้เกิดปรากฏการณ์แปลกประหลาดของวงการมวยเมื่อมีการจัดศึกมวยไทยงานชื่อว่า ศึกวันร่วมใจมหากุศล โดยความน่าแปลกประหลาดนั้นอยู่ที่ไฮไลท์เด็ดของวันคือ การปะทะกันระหว่างเมียหลวงกับเมียน้อยในชื่อ “ศึกชิงผัว”

เกิดอะไรขึ้นกับศิลปะการต่อสู้ประจำชาติ เมื่อคู่มวยดังกล่าวหยิบยกเอาประเด็นแย่งผัวขึ้นมาเป็นจุดขาย ทั้งยังได้รับความสนใจถึงขนาดโปรโมเตอร์ออกมาบอกว่า บัตรไม่พอขาย

จากเรื่องเมียน้อยที่ไม่เป็นที่ยอมรับ กลายเป็นสามารถออกมาขึ้นชกกับเมียหลวงได้อย่างหน้าตาเฉย หรือสังคมจะเปิดกว้างให้กับเรื่องแบบนี้เสียแล้ว หรือนี่จะเป็นเพียงการตลาดแบบจนตรอกของวงการมวยในสังคมไทยเท่านั้น

มวยคือสมบัติของชาติ

“ศึกชิงผัว” ดังกล่าวกำลังจะถูกจัดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของงานประจำปีครบรอบวันเกิด “พระครูบวรสาธุกิจ” หรืออาจารย์จิ้ม เจ้าอาวาสวัดศรีมโนภาสสถิตพร ในวันอาทิตย์ที่ 5 พ.ค.นี้ ซึ่งการแข่งขันชกมวยไทย “ศึกวันรวมน้ำใจมหากุศลถล่มเดิมพันเมืองระยอง” จะมีขึ้นในช่วงหัวค่ำโดยมีมวยหญิงคู่พิเศษเป็นไฮไลท์ของวัน เป็นนัดล้างตาระหว่างฝนเทียม ป.ฉัตรชัย(เมียหลวง)ฉายา เจ้าแม่บ่อนไพ่ มุมแดงน้ำหนัก 65 กก. กับดาวเจิดจ้า อ.มีคุณ (เมียน้อย) ฉายา ชอบเล่นเฟซหากิ๊ก มุมน้ำเงิน น้ำหนัก 60 กก.

ทั้งนี้ มวยหญิงคู่นี้เคยชกกันมาครั้งหนึ่งแล้วที่เวทีชั่วคราว อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ผลคือ ดาวเจิดจ้า (เมียน้อย) เป็นฝ่ายชนะทั้งที่ก่อนขึ้นเวทีเมียหลวงเป็นต่อ 5 - 1

อย่างไรก็ตาม ทางผู้จัดระบุว่า เงินรายได้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่ายจะมอบให้ทางวัดเพื่อใช้จัดซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอนให้โรงเรียนวัดศรีมโนภาส โรงเรียนวัดท่าเรือแกลง โรงเรียนวัดตะเคียนทองและโรงเรียนวัดเขายายชุม ต.แกลง นอกจากนี้ยังมีการถวายเงินให้ 100,000 บาท เนื่องในวันครบรอบวันเกิดพระครูบวรสาธุกิจพร้อมมอบรถจักรยานโรงเรียนละ 3 คัน

โปโมเตอร์มวยคู่ดังกล่าวออกมาให้ข่าวว่า มวยศึกดังกล่าวได้รับความสนใจมากจนบัตรแทบจะไม่พอขาย เพราะมีกองเชียร์ฝ่ายเมียหลวงเมียน้อยมาร่วมฝ่ายละ 100 คน พร้อมรับรองว่ามีการเพิ่มเงินเดิมพันแน่นอน

ทว่าศิลปะแม่มวยไทยนั้นก็ถือเป็นสมบัติของชาติ ทรงชัย รัตนสุบรรน โปรโมเตอร์ชื่อดัง ในฐานะเป็นผู้เผยแพร่ศิลปะมวยไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก มองว่า การจัดชกมวยแบบชิงผัวครั้งนี้ไม่ควรเกิดขึ้น

“ตอนนี้มันเป็นแค่กิจกรรมสนุกๆ กันหรือเปล่า? เป็นกิจกรรมหนึ่งในงานวัดหรือเปล่า? คงไม่ใช่มวยจริงๆหรอก” เขาเอ่ยอย่างแปลกใจ และไม่เชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะในปัจจุบันบางเวทีมวยยังคงมีธรรมเนียมเคร่งครัดถึงขนาดห้ามผู้หญิงขึ้นเวที แล้วตอนนี้นอกจากให้ผู้หญิงขึ้นชก ยังถึงขั้นแย่งชิงผัวกันบนเวที เขาไม่เชื่อว่ากิจกรรมที่จัดขึ้นจะเป็นการต่อยมวยกันจริงๆ

“ฟังแล้วอึ่งเลยครับ อย่าใช้คำว่ามวยไทยดีกว่า ผมไม่เห็นด้วยกับการจัดงานแบบนี้ มวยไทยเป็นสมบัติของทุกคนในชาติ ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม เราต้องช่วยกันปกป้อง อนุรักษ์คุณค่าของมันเอาไว้”

ในฐานะโปรโมเตอร์ชั้นนำของเมืองไทยนั้น เขาบอกว่า การเป็นโปรโมเตอร์ที่ดีควรจะคุณสมบัติสำคัญอยู่ 3 ข้อคือ มีเอกลักษณ์ มีใจรัก และมีอุดมการณ์

“หลักการเป็นโปรโมเตอร์ อยากให้เจริญรอยตามคนรุ่นเก่าๆ ตรงนั้นเป็นจุดที่จะทำให้เราเจริญรุ่งเรือง เพราะเราจะทำเพื่อประเทศชาติเพื่อส่วนรวมมากกว่า ต้องมีเอกลักษณ์ มีใจรัก มีอุดมการณ์ก็หมายถึงต้องเสียสละเพื่อสังคม ผมไม่มองว่าสิ่งนี้คือการตลาดเลย การเป็นโปรโมเตอร์มันก็ต้องมีคุณธรรมให้ความเป็นธรรมกับหัวหน้า นักมวย ไม่เอาเปรียบคนดู ใจรักศิลปะของแผ่นดิน เอาเรื่องผัวเมียมาขึ้นเวทีมวยมันไม่ใช่เรื่อง”

ปัญหาฝังรากสถาบันครอบครัว

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงภาวะสถาบันครอบครัวที่เดินมาถึงจุดวิกฤต ปัญหาหนึ่งผัวหลายเมียถูกนำมาวางไว้ในที่สาธารณะชนิดให้สังคมแบ่งกองเชียร์กันได้อย่างสนุกสนาน

เมื่อได้ยินข่าวครั้งแรก ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช นายกสมาคมครอบครัวอบอุ่นเป็นสุข เกิดคำถามขึ้นมากมายว่า เหตุใดจึงมีการจัดให้งานแบบนี้ได้ ยิ่งเมื่องานดังกล่าวถูกเชื่อมโยงเข้ากับวัดและการกุศล เธอมองว่าอาจมีตัวแปรอื่นหรือเปล่าที่ทำให้เกิดการจัดงานในลักษณะดังกล่าว

“มันก็เป็นครั้งแรกที่สังคมไทยที่ได้ยินเรื่องนี้ที่เมียน้อยจะมาเปิดตัวโดยท้ากับเมียหลวงใช้กีฬาเป็นตัวตัดสินเดิมพัน และเป็นเรื่องสนุกของคนรอบข้างเหมือนเล่นหัวล้านชนกัน ส่วนตัวดิฉันไม่เห็นด้วยเลย เพราะผู้หญิงไม่ใช่เครื่องเล่นที่จะมาแย่งชิงผู้ชายกัน แล้วมาประกาศว่าจนตรอกแล้วเหรอถึงมามีผัวคนเดียวกัน”

ทั้งนี้ เธอเองก็ยังไม่ได้ยินข่าวหรือรายละเอียดสาเหตุของเรื่องราวทั้งหมดโดยเห็นว่า อาจจะมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ซึ่งเธอมองว่า ถ้ามีเดิมพันเป็นสามี มันไม่มีคุณค่าเท่าไหร่ และเป็นเรื่องไม่งามในสังคมไทย แต่ถ้าเป็นการนึกสนุกแล้วทั้งคู่ที่ต่อยกันเป็นคนรู้จักมักคุ้นมาร่วมกันทำเพื่อการกุศลก็อาจจะวิเคราะห์ไปในอีกทาง

“สรุปแล้วไม่เห็นด้วยค่ะ รายละเอียดดิฉันไม่รู้ แต่โดยหลักการแล้วไม่เห็นด้วย มวยมันเป็นกีฬาที่มีผู้หญิงนิยม มีนักมวยหญิงก็เป็นได้ แต่นี่มันเกมชีวิต ไม่ควรมาประกาศผู้ชายภูมิใจมีเมียมาชกแย่งชิง ดิฉันว่าผู้ชายที่มีหลายเมียเป็นพวกปัญหาอ่อนดูถูกตัวเอง เมียน้อยก็ไม่มีเกียรติมาปะทะกับเมียหลวง ส่วนเมียหลวงก็ไม่น่าปัญญาอ่อนมาปะทะกับเมียน้อย”

ทางด้านของ วิทยากร เชียงกูล คณบดีกิตติคุณวิทยาลัยนวัฒกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิตมองปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า อาจเป็นนิสัยรักสนุกของคนไทยที่จับเอาเรื่องแบบนี้มาเล่น ทั้งที่ประเด็นเมียหลวงเมียน้อยก็ยังคงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและไม่สร้างสรรค์นักหากเอามาทำเพื่อการตลาด

“คนไทยพื้นเพก็ชอบอะไรสนุกสนาน และเมียหลวงเมียน้อยก็เป็นคู่ขัดแย่งกันอยู่แล้ว ซึ่งธรรมดามนุษย์เราชอบเสพความบันเทิงจากความขัดแย้งนะ ตรงนี้มันก็เป็นคู่ขัดแย้งซึ่งหากมองขำๆ มันก็ตลกดี ตัวผมก็อาจจะพูดอะไรมากไม่ได้ เพราะไม่ใช่คนในพื้นที่ที่จัดงาน มันอาจเป็นรสนิยมในท้องถิ่นนั้นที่จะจัดงานแบบนี้”

อย่างไรก็ตาม เขามองว่า หากการจัดมวยทำนองแย่งผัวแบบนี้ได้รับความนิยมและมีการจับเป็นวงกว้างขึ้น มีผู้ตอบรับให้ความสนใจ สังคมก็มีแนวโน้มที่จะมองว่า การที่สามีไปมีบ้านเล็กบ้านน้อยเป็นเรื่องปกติ

“มองขำมันก็ขำหรอก แต่ถ้ามองในเชิงสังคมมันดูไม่ดี ถ้าจัดบ่อยๆ มันก็จะทำให้สังคมยอมรับและมองว่า สิ่งนี้เป็นเรื่องปกติ การมีเมียน้อยก็จะเป็นปกติของสังคม ผมมองว่า การจัดงานแบบนี้มันไม่ได้มีอะไรสร้างสรรค์เลย ถ้าจะให้ผู้หญิงต่อยมวยมันก็ต้องเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่ผู้หญิงสามารถเล่นได้ เก่งในเชิงกีฬาเป็นความเท่าเทียม แต่ตรงนี้ผมเห็นว่า มันแปลกที่เอาผู้หญิงมาชกมวยโดยไม่ได้เน้นที่ว่ามันเป็นกีฬาแต่เน้นว่าชกเพื่อแย่งผัว”

ทั้งนี้ ผลเสียที่เขามองว่าจะเกิดขึ้นคือ หากมีการจัดขึ้นบ่อยครั้งและได้รับความนิยม มันจะทำให้สังคมมองว่า การมีเมียน้อยถือเป็นเรื่องปกติ

“แง่ดีไม่น่าจะมีนะ ถ้าเราส่งเสริมมวยผู้หญิงก็ว่าไปให้มีสิทธิเท่าเทียม ทำไมต้องอ้างเป็นเมียหลวงเมียน้อยด้วย มันไม่เกี่ยวกัน ชกเก่งแล้วผัวจะรักมันคนละเรื่อง ทำแบบนี้มันจะทำให้สังคมมองว่า มีเมียน้อยเป็นเรื่องปกติไป”

การตลาดไม่สร้างสรรค์

มุมหนึ่งของกรณีศึกชิงผัวครั้งนี้อาจมองได้ว่า เป็นสีสันทางการตลาดเพื่อดึงให้ผู้คนในสังคมสนใจ ทว่าสำหรับนักสังคมศาสตร์อย่าง วิทยากรแล้วเห็นว่า มันเป็นการตลาดที่ไม่สร้างสรรค์อะไรเลย

“มันฟังดูเป็นการตลาดนะ ความโกรธแค้นกันของเมียหลวงเมียน้อย ผมว่าส่วนหนึ่งมันคงหวังผลทางการตลาด ผมรู้สึกว่า ทุกวันนี้คนเรามันคิดอะไรกันไปเรื่อยเปื่อยทำแต่การตลาดมากเกินไปโดยไม่สนใจอะไร”

ขณะที่ทางด้านของ ผศ. เสริมยศ ธรรมรักษ์ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารแบรนด์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นการใช้ศาสตร์ด้านการตลาดแบบผิดวิธี สะท้อนภาวะสังคมที่ป่วยไข้ได้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้ การตลาดมักจะถูกมองเป็นตัวร้าย เขาเห็นว่า ตัวหลักการตลาดนั้นไม่ผิดแต่คนนำไปใช้ผิดวิธีเพราะการตลาดยุคใหม่จะมองถึงผลกระทบต่อสังคมด้วย

“เวลาทำการตลาด ตัวการตลาดจะถูกต่อว่าบ่อยมาก ตัวการตลาดมันไม่ผิด วิธีที่ถูกต้องมันมีเป็นศาสตร์ของมัน แต่ทุกวันนี้คนเอาการตลาดไปใช้ผิด ผมว่าสังคมจะป่วยมากขึ้น ถ้าเรามีคนที่คิด จะเรียกว่านักการตลาดหรือไม่ คือวิธีคิดที่มีต้นกำเนิดที่ป่วยมันก็จะยิ่งนำไปสู่สังคมที่แย่ขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเราปลูกฝังลงไป มันก็แย่ลง”

เขาเผยว่า ในการทำการตลาดนั้นยังมีอีกหลายวิธีที่จะสร้างสีสันทำให้คนหันมาสนใจ การนำประเด็นเมียหลวงเมียน้อยมาเล่น เขาเห็นว่า เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะสถาบันครอบครัวถือเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดและสำคัญที่สุดของสังคม ครอบครัวที่มีคุณภาพ แน่นอนว่าจะส่งผลให้สังคมมีคุณภาพมากขึ้น

“ประเด็นคือตอนนี้ปัญหาครอบครัวมันมีอยู่ ปัญหาชู้สาว สิ่งสำคัญอีกอย่างคือเอาประเด็นนี้มาโยงกับวัดด้วย ผมไม่รู้ว่าวัดเห็นด้วยหรือเปล่า แต่พอเอาเรื่องเมียหลวงเมียน้อยมาชู แม้ว่าจะเป็นครอบครัวเดียวกัน(หรือเปล่า?) แต่มันคือบทบาท จะบทบาทสมมติก็ตาม แต่เด็กๆ ที่เห็น หรือคนในสังคมที่เห็น เขาก็มองว่าเป็นเรื่องปกติเรื่องธรรมดา ว่าง่ายๆ คือมันกำลังเอาประเด็นผิดธรรมชาติมาทำเป็นเรื่องธรรมชาติ”

เมื่อมองไปถึงประเด็นที่ว่า งานนี้เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อนำเงินไปบริจาค เขาก็ตั้งคำถามว่า แล้ววัดที่ได้รับเงินจากการกระทำแบบนี้เป็นเรื่องที่สมควรแล้วหรือเปล่า?

“มันเป็นเรื่องน่าฉุกคิดแล้วแหละ ความบันเทิงมันมีได้หลายวิธีไม่ต้องเป็นวิธีนี้ก็ได้ ผมเข้าใจว่าต้องการหากุศโลบายต่างๆ เพื่อดึงคนเข้ามาบริจาคเงินให้วัด โอเค มันได้ผลแน่เพราะมันแปลก มันดึงดูด แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ยิ่งจัดกับวัดด้วย วัดก็ต้องพิจารณาแล้วว่าเหมาะหรือเปล่า ควรไม่ควร เมื่อสังคมมันป่วย ใช้การตลาดแบบป่วยๆ มันก็ยิ่งจะทำให้สังคมป่วยไข้มากขึ้น มันสะท้อนถึงวิธีคิดหลายๆ อย่างของสังคมด้วย”

…..

หากมองอย่างไม่จริงจัง ศึกชิงผัวอาจเป็นเพียงความบันเทิงหนึ่งซึ่งสังคมไทยคุ้นชินจากฉากตบตีบ่อยครั้งที่เกิดขึ้นในสื่อบันเทิงอื่นๆ ทว่าการจัดงานอย่างเป็นที่ยอมรับในสังคม ทั้งยังได้รับความนิยมเป็นที่สนใจ นัยหนึ่งคงเป็นการสะท้อนถึงความป่วยไข้ของสังคมในหลายด้านที่นับจะยิ่งล้มสลาย

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live
 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง มวยไทยศึกวันรวมน้ำใจมหากุศล จัดมวยคู่พิเศษระหว่างเมียหลวงกับเมียน้อยศึกชิงผัว




กำลังโหลดความคิดเห็น