พอจะกู้หน้าประเทศขึ้นมาได้บ้าง หลังจากกรมศุลกากรแถลงข่าวจับกุมตำรวจทั้ง 3 นาย ในข้อหาร่วมขบวนการค้าสัตว์ป่า-นอแรด ได้คาสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ทำให้การประชุมไซเตส ซึ่งดูแลเรื่องกระบวนการค้าสัตว์ป่าโลก สามารถปล่อยให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมได้อย่างไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจเกินไปนัก
แต่ใครจะรู้บ้างว่า การจับกุมที่เห็นในครั้งนั้น เป็นเพียง “การจัดฉาก” หลอกๆ เพื่อลบภาพ “ประเทศที่อ่อนแอเป็นอันดับหนึ่งในการควบคุมการค้างาช้าง-นอแรด” เพราะโฉมหน้าของ “เจ้าหน้าที่เลว” ผู้ลักลอบค้าตัวจริง กำลังจะถูกเปิดเผยที่นี่เป็นครั้งแรก!!
เชือดไก่ให้ “ไซเตส” ดู
“ตำรวจเลว” คือคำพาดหัวหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ หลังจากทางผู้บังคับการกองปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ผบก.ปทส.) จับตัวตำรวจทั้ง 3 นายมาประณามกลางงานแถลงข่าว ด้วยข้อหาร่วมกระบวนการค้านอแรด 4 นอ มูลค่า 12.7 ล้านบาท โดยถูกจับกุมได้อย่างคาหนังคาเขา คาสนามบินสุวรรณภูมิ ระหว่างพยายามแสร้งตีหน้าซื่อ นำกระเป๋าใบหนึ่งเข้าผ่านด่านตรวจและไม่ยอมให้เปิดกระเป๋า อ้างว่าเป็นสิ่งของของผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เมื่อเปิดออกดูจึงพบของกลางอยู่ภายใน สอบสวนพบว่า กระเป๋าใบดังกล่าวเป็นของชายสัญชาติเวียดนาม ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นผู้หิ้วของลักลอบเข้ามาทิ้งไว้ เพื่อส่งไม้ต่อให้นายตำรวจกลุ่มดังกล่าว
หลายคนปรบมือแปะๆ ให้กับการจับกุมในครั้งนี้และต่างกล่าวชมการทำงานที่เข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าเข้า-ออกภายในประเทศของทางกรมศุลกากร แต่หากรู้กระบวนการทำงานจริงภายในสนามบินสุวรรณภูมิแล้ว จะรู้ว่าผลงานยิ่งใหญ่ในครั้งนี้เป็นเพียงการจัดฉากจับหลอก จับได้แค่ตัวหมากตัวเล็กๆ ที่ถูกต้อนเข้ามาในเกมเพื่อฆ่าให้ตายเท่านั้น นายตำรวจทั้ง 3 เป็นเพียงเหยื่อหน้าใหม่ที่หลงเข้ามาในกระบวนการการค้าที่ใหญ่ยักษ์ มือมืดที่แท้จริงไม่ใช่เจ้าหน้าที่ในชุดกากี แต่เป็นเจ้าหน้าที่ในชุดน้ำเงินต่างหาก
“ถ้ารู้การทำงานในนั้น จะรู้เลยว่า กลุ่มที่จะสามารถหิ้วของ ลักลอบค้าอะไรพวกนี้ได้สะดวกที่สุด ไม่ใช่ตำรวจหรอก แต่เป็นกรมศุลกากรนั่นแหละ เพราะถึงตำรวจจะมีสิทธิเข้าไปตรวจได้ทุกพื้นที่ของสนามบิน แต่ส่วนใหญ่จะคุมอยู่ด้านนอกมากกว่า จะไม่เข้าไปจุ้นจ้าน จะเข้าไปเฉพาะตอนที่นายท่าแจ้งว่า เกิดเหตุผู้โดยสารทะเลาะกัน หรือตรวจพบวัตถุต้องสงสัย ตรวจจับยาเสพติดหรืออาวุธเถื่อนได้ นอกนั้น พื้นที่ภายใน ใครล่ะที่ดูแลระบบสิ่งของเข้า-ออกภายในประเทศ ตอบได้อย่างง่ายๆ เลยว่ามีอยู่แค่หน่วยเดียว ถามว่าใครเป็นคนตรวจ ใครเฝ้าด่าน ใครเป็นคนอนุญาตให้เอาของเข้ามาได้ ก็มีแค่เจ้าหน้าที่ศุลกากร นั่นแหละ เรื่องแบบนี้ของขี้ๆ สำหรับเขา” แหล่งข่าวผู้คลุกวงในบอกเล่าจากประสบการณ์ตรง
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่างานนี้ นายตำรวจกลุ่มที่ถูกจับมีเอี่ยว ตั้งใจเข้าร่วมกระบวนการจริงๆ เพราะถ้ามีเจตจำนงบริสุทธิ์ อย่างที่กล่าวอ้างหลังถูกจับกุมว่า “ไม่ได้กำลังลักลอบขนของ แต่ตั้งใจจะนำกระเป๋าเข้ามาให้ด่านตรวจสอบ เพราะคิดว่าเป็นกระเป๋าต้องสงสัย” พวกเขาจะต้องแสดงตัวว่าต้องการนำกระเป๋ามาเอกซเรย์อย่างโจ่งแจ้ง แต่นี่กลับปิดเงียบ
“หลายคนอาจจะมองว่าเดินถือของกลางเข้าไปโต้งๆ ให้ด่านตรวจแบบนั้น โง่มากๆ แต่ส่วนตัวคิดว่าพวกเขาไม่ได้โง่หรอก แต่เขาแค่ทำตามแผนที่นัดกันไว้แล้ว!! เพราะปกติแล้ว จุดตรวจของเข้าประเทศหรือด่านศุลกากร จะแบ่งออกเป็น 2 ช่อง คือช่องสำแดงหรือเรียกว่า “ช่องแดง” กับอีกช่อง ช่องไม่สำแดง หรือที่เรียกกันว่า “ช่องเขียว” คนส่วนใหญ่ซึ่งไม่มีของผิดกฎหมายหรือต้องเสียภาษี จะเข้าช่องเขียว ให้เขาสุ่มตรวจเอา ถ้ามีของหนีภาษี ถูกจับได้ก็ปรับ 4 เท่า ถ้าไม่ถูกตรวจ ก็โชคดีไป
แล้วถามว่า ในเมื่อกระเป๋าใบนั้นมันมีนอแรดอยู่ข้างใน ทำไมนายตำรวจกลุ่มนั้นถึงไม่เดินเข้าช่องเขียว เผื่อฟลุคก็ไม่ต้องถูกตรวจ แต่นี่กลับเดินโต้งๆ เข้าไปในช่องแดง ช่องที่ไม่ว่ายังไงก็ต้องเปิดให้ตรวจ ตามชื่อที่บอกว่า ต้อง “สำแดง” หรือเปิดแสดงของออกมาให้ดู ก็เพราะเขานัดฮั้วกับเจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำช่องนั้นเอาไว้แล้วไง แต่ถึงเวลาจริง อาจจะเปลี่ยนคนตรวจ โดนหักหลัง จากที่ตกลงกันว่าจะให้ผ่านไปได้พออ้างว่าเป็นกระเป๋าของผู้ใหญ่ กลับไม่ให้ผ่าน
เพราะทางศุลกากรได้รับคำสั่งมาอีกทีแล้วว่า ต้องจับใครก็ได้มาเชือดโชว์ไซเตส เพราะกำลังจะมีการประชุมในประเทศไทยและเราเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ด้วย และจริงๆ แล้ว คดีนี้ เขาจับกุมกันไปได้ก่อนหน้าแถลงข่าวมาเกือบ 2 เดือนแล้ว แต่ยื้อเวลามาแถลงข่าวเอาหน้าเอาตอนใกล้เปิดประชุม”
แฉกระบวนการ เจ้าหน้าที่เลว!!
ส่วนสาเหตุที่ต้องจับกุมผู้ลักลอบค้านอแรดในครั้งนี้โชว์ไซเตส มีเหตุผลชัดเจนในตัวมันเองอยู่แล้ว เพราะประเทศไทยเป็นประเทศในบัญชีดำติดอันดับหนึ่งในเรื่องการลักลอบค้าสัตว์ป่า โดยเฉพาะงาช้างและนอแรด โดยเฉพาะภาพลักษณ์ของกรมศุลกากร ผู้ตรวจสอบการนำสิ่งของเข้าภายในประเทศ ยิ่งติดลบในสายตาของไซเตส (ภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์: CITES CoP)
ลองกลับไปค้นข่าวเมื่อเดือน ก.ค. 2 ปีที่แล้วดู จะพบว่าเคยทำงามหน้าเอาไว้แค่ไหน หลังออกมาแถลงข่าวว่าจับงาช้างจากแอฟริกาล็อตใหญ่ได้ไม่นาน ก็มีข่าวออกมาว่าของกลาง ซึ่งประกอบไปด้วย งาช้าง 117 กิ่ง และนอแรดอีก 1 ชิ้น หายไปจากโกดังศุลกากรอย่างไร้ร่องรอย!! คำถามคือ ของมันจะหายไปได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่หนอนบ่อนไส้ คนวงในทำร่วมกันเป็นกระบวนการ อย่างที่คนในนั้นรู้กันดีว่า “จับที่ไหน เก็บที่ไหน ของกลางอยู่ที่ไหน มันก็จะหายที่นั่นแหละ เป็นเรื่องธรรมดา”
เส้นทางการทำงานของ “เจ้าหน้าที่เลว” จะเริ่มต้นทันที หลังจากเที่ยวบินของ “ผู้ถือกระเป๋านักล่า” เดินทางมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แต่โดยส่วนมากแล้ว เป้าหมาย กับ เจ้าหน้าที่เลว จะไม่ได้เจอกันโดยตรงที่สนามบิน แต่จะอาศัยกลยุทธ์ “ทิ้งกระเป๋า” เอาไว้ คือตัวเจ้าของกระเป๋าอาจจะนั่งเครื่องไปยังประเทศอื่นแล้ว แต่จะมี “เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลสัมภาระ” ซึ่งติดสินบนกันเอาไว้ ทำหน้าที่ดึงกระเป๋าเป้าหมายออกมาจากกองกระเป๋าอันมากมาย เพื่อไม่ให้เดินทางไปยังจุดหมายตามที่เขียนเอาไว้ แต่ให้เปลี่ยนเส้นทาง ขึ้นไปบนสายพานประจำท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแทน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เลวไปคว้ากระเป๋าที่มีงาช้าง-นอแรดมาเก็บไว้ คลาดสายตาเมื่อไหร่ก็นำออกสู่ตลาดมืด
“กระเป๋าพวกนี้จะมีลักษณะผิดสังเกตอยู่แล้ว คิดดูสิ คนที่เดินทางไปต่างประเทศไกลๆ ใครเขาโหลดกระเป๋าลูกเล็กไว้ท้ายเครื่องกัน เขาต้องเอาติดตัวขึ้นเครื่องด้วย แล้วที่สังเกตได้ง่ายอีกอย่างคือ แท็กกระเป๋าที่เดินทางขึ้นสายพานมาจะไม่ตรงกับเป้าหมาย คือมันควรจะตามเจ้าของกระเป๋าไป แท็กว่าไปเวียดนามก็ควรจะขึ้นสายพานไปเวียดนาม แต่นี่ดันมาอยู่บนสายพานของผู้โดยสารปลายทางกรุงเทพฯ รอให้คนที่นัดไว้มาหยิบไป และคนที่จะหยิบมันออกไปได้โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกตรวจเอกซเรย์หรือไม่ต้องผ่านด่านคือใครล่ะ ก็มีอยู่หน่วยเดียว เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร
ถามว่าตำรวจทำได้ไหม ก็ทำได้ เพราะมีบัตรผ่านเข้า-ออกพื้นที่ตรงนั้นเหมือนกัน แต่สุดท้าย ก็ต้องผ่านด่านตรวจอยู่ดี แต่ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ศุลกากร ออฟฟิศของเขาอยู่ในนั้น หยิบจากสายพานมาลากไปเก็บไว้ ก็ไม่ทันมีใครสังเกตเห็นแล้ว มันเป็นวัฒนธรรมคู่สนามบินมาตั้งแต่สมัยดอนเมือง ไม่ได้เพิ่งมาเป็นที่สุวรรณภูมิหรอก ทำมาตั้งแต่ไซเตสยังไม่เข้มงวด จนตอนนี้เข้มงวดมาก พอยิ่งเข้มงวดมาก ราคาก็ยิ่งสูงขึ้นมากตามความต้องการ”
ไม่ได้เหมารวมว่าเจ้าหน้าที่ทุกชุดจะเป็นเจ้าหน้าที่เลวทั้งหมด เพราะทั้งหมดมีอยู่ 3 ชุด ชุดละประมาณ 20 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจเป็น “ชุดขน” มากกว่าจะเป็น “ชุดตรวจ” ตามหน้าที่ ส่วนสาเหตุที่ประเทศไทยกลายเป็นทางผ่านสำคัญในการลักลอบค้าระดับโลกเช่นนี้ เป็นเพราะกฎหมายของประเทศจีนเข้มเรื่องนี้มาก จึงไม่อาจเดินทางด้วยเที่ยวการบินแอฟริกาไปยังจีน ตลาดผู้ซื้อรายใหญ่โดยตรง แต่เลือกมาลงประเทศไทย แล้วค่อยนำลักลอบเข้าตามชายแดนประเทศปลายทางอีกทีหนึ่ง ซึ่งส่วนมากแล้วจะสิ้นสุดลงที่เวียดนามและจีนนั่นเอง
ถูกจับ = ฟอกสินค้า
“งาช้างขายร้อนๆ โลละล้าน อย่างน้อยก็โลละ 5 แสน ส่วนนอแรด โลละล้าน-ล้านห้า นอแรดที่ล่าๆ กันที่แอฟริกา เป็นของไม่มีราคาเลย ราคาแค่ 2 แสนกว่าบาทเอง ราคาต่ำมาก ลองบวกค่าเครื่องบินไปกลับสำหรับคนขน ไม่เกินแสน นอแรด ส่วนใหญ่ขนกันทีละ 2 นอ มีนอหน้ากับนอหลัง ตีไปว่าหนัก 2 กิโล กำไรปาเข้าไปเท่าไหร่ น่าขายไหมล่ะ”
นี่คือสาเหตุที่ทำให้กระบวนการเหล่านี้ไม่หยุดลงเสียที นับวันมีแต่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และเหตุผลสำคัญอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะบทลงโทษในประเทศไทยช่างเบาเสียเหลือเกิน จนแทบไม่สะเทือนต่อมกลัวของผู้กระทำผิดแม้แต่นิดเดียว คือมีแค่โทษปรับและจำคุก แต่ส่วนใหญ่รอลงอาญา ความรุนแรงเทียบไม่ได้เลยกับการลักลอบค้ายาบ้าในน้ำหนักเท่ากัน ถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตเลยทีเดียว
และถึงแม้จะถูกจับได้ แต่กระบวนการยุติธรรมในบ้านเราก็ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดเป็นหลัก แต่ทางหนึ่ง กลับเป็นไปเพื่อฟอกสินค้า “พอเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ศาลจะสั่งให้เอาของกลางไปทำลาย และส่งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งถ้าหากเขียนระบุไว้ว่า นอแรดหรืองาช้างดังกล่าว เป็นประเภทซากพืชซากสัตว์ ตามพ.ร.บ.คุ้มครองโรคสัตว์ จะถูกส่งไปยังกรมปศุสัตว์
แต่ถ้าแจ้งว่าเป็น สัตว์ป่าคุ้มครองตามบัญชีต่างประเทศ ตามกฎไซเตส จะถูกส่งไปยังกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จากนั้นจะให้ตั้งกรรมการรับผิดชอบการทำลายทิ้ง แล้วถามว่าเขาจะกล้าทำลายทิ้งไหม โลละล้าน สุดท้ายก็กลายเป็นเผาหลอกหรือเผาทางเอกสาร หรือที่เรียกว่า “เผากงเตก” นั่นแหละ แล้วก็เอาไปขายในตลาดมืด”
แม้ปัจจุบัน จีนจะเป็นตลาดค้างาช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ก็มีท่าทีที่จริงจังกับเรื่องการตรวจจับงาช้างผิดกฎหมาย และมีมาตรการลงโทษทางกฎหมายที่รุนแรงมาก ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแก่ผู้กระทำผิดเรื่องงาช้างไปแล้วถึง 32 ราย ผิดกับประเทศไทยที่ดูเหมือนว่าจะเอาแต่จับหลอกและขายผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ ซึ่งก็ไม่ค่อยจะรอดสักเท่าไหร่ เพราะการประชุมไซเตสครั้งล่าสุด มีรายงานขององค์กรฐานข้อมูลการค้างาช้างและผลิตภัณฑ์จากช้างที่ผิดกฎหมาย (Elephant Trade Information System : ETIS) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ใช้ติดตามและควบคุมสถานการณ์การค้างาช้างระบุไว้ว่า ประเทศไทยถูกจัดให้เป็นอันดับหนึ่งของโลกในฐานะที่มีความอ่อนแอที่สุดในด้านการบังคับใช้กฎหมายและควบคุมงาช้างผิดกฎหมาย นำหน้ามาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และจีน ไปแล้ว
โซไลดา ชวาลา เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนช้าง เผยความคับข้องใจตลอดเวลาที่ทำงานอนุรักษ์ช้างไทยมาร่วม 21 ปีว่า “ประเด็นงามันต่อเนื่องกันมานานแล้วว่า งาในประเทศเราไม่ได้เหลือมากขนาดนั้น แต่ทำไมตลาดค้างาถึงมีเยอะ ก็เพราะเป็นงาของช้างแอฟริกาที่ส่งต่อไปในประเทศบ้างบางส่วน ประเทศเรากลายเป็นทางผ่านของทั้งการค้าสัตว์ป่าและงาช้างที่ผิดกฎหมายอยู่เรื่อยๆ จนเขาประณามไปทั่วโลก เราจึงอยากให้รัฐบาลจริงใจกับการแก้ปัญหามากกว่านี้ ปัจจุบันก็ไม่มีเจ้าภาพเรื่องช้างเร่ร่อนเลย พอบอกว่าช้างเลี้ยงก็ต้องอยู่ในอำนาจของกระทรวงมหาดไทยในฐานะของนายทะเบียน พอมาเป็นช้างป่าก็ขึ้นอยู่กับกระทรวงทรัพยากร
ทางกลุ่มได้เสนอให้ยกเลิกช้างจากการเป็นสัตว์พาหนะ ตั้งแต่ปี 2536 ตอนนี้ก็ขึ้นปีที่ 21 ช้างก็ยังอยู่ที่เดิม งาก็ยังขายได้ตามพ.ร.บ.สัตว์พาหนะ เจ้าของสามารถขายซากได้ ขายงา ขายอะไรก็ได้ ตัวเป็นๆ ก็ได้ เลยได้เรียกร้องให้มีพ.ร.บ.ช้างเป็นการเฉพาะ ให้เหมาะสมกับปัจจุบันที่ช้างไม่ได้ใช้เป็นสัตว์พาหนะแล้ว”
เห็นทีว่า ตราบใดที่กฎหมายของประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานจะเอาผิดกับผู้ขายงาช้าง นอแรด รวมถึงสัตว์ป่าสงวนชนิดอื่นๆ ให้ชัดเจนกว่านี้ และไม่อาจเปลี่ยนแปลงทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐผู้เกี่ยวข้องได้ ประเทศเราก็จะมีแต่กระบวนการ จับหลอก-เผาหลอก แบบนี้อยู่เรื่อยไป สิ่งที่ “จริง” ที่ยังหลงเหลือให้เห็นอยู่ เห็นจะมีแค่เงินตอบแทนจากการกระทำชั่วของเจ้าหน้าที่เลว ที่ได้รับกันไปหัวละหลายแสน... ช่างเปรมปรีดิ์กันจริงๆ
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE