xs
xsm
sm
md
lg

คลายปม! ผลประโยชน์ “โพลรับใช้การเมือง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจากปรากฏการณ์พลิกโพล 4 สำนัก - ดุสิตโพล, กรุงเทพโพลล์, เอแบคโพลล์และบ้านสมเด็จโพลล์ ในการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครครั้งที่ผ่านมา เกิดเป็นข้อครหาต่อการทำโพลการเมืองในสังคมไทยที่มีความน่ากังขามาตลอด
 
ต้องยอมรับว่า การทำโพลนั้นมีความสำคัญในข้อมูลการตัดสินใจของคน ยิ่งกับโพลการเมืองท่ามกลางสมรภูมิการเลือกตั้งที่ดุเดือด มันอาจหมายถึงจุดเปลี่ยนของการลงคะแนนเสียงสำหรับหลายคน

จากข้อวิพากษ์ของคนในสังคมมากมาย ที่เริ่มไม่วางใจต่อโพลหลายสำนักว่าเป็น “โพลรับใช้การเมือง”

โพลเดียวที่ไม่พลาด

หลังจากปรากฏการณ์หน้าแตกของโพลหลายสำนัก มีนิด้าโพลเพียงแห่งเดียวที่ทำนายผลสวนกระแสกลายเป็นผลโพลที่ถูกต้องที่สุด ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความเห็นนิด้าโพลเผยว่า วิธีการทำของนิด้าโพลนั้นไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ เพียงเก็บข้อมูลตามระเบียบวิธีวิจัย แต่ทางทีมสามารถหาตัวอย่างที่ดีมาตอบโพลได้สำเร็จเท่านั้น

“ตัวอย่างในการสำรวจของเรา เราใช้วิธีสุ่มโทรศัพท์สอบถามตามบ้าน โดยในการสุ่มของเราจะเลือกตัวอย่างที่ครอบคลุมกลุ่มของประชากรในพื้นที่ทุกเขตทั่วกรุงเทพฯ มีการสุ่มเฉลี่ยตามปริมาณอย่างทั่วถึง ทำให้เราได้ตัวอย่างที่ดี เป็นตัวอย่างที่แท้จริง ใกล้เคียงกับประชากรทั้งหมดที่สุด”

โดยการเก็บข้อมูลดำเนินการช่วง 2 - 3 วันก่อนการเลือกตั้ง จากนั้นจะนำผลของข้อมูลมาประมวลใช้เวลา 1 วันและตรวจสอบประมวลซ้ำอีกครั้ง เมื่อได้ข้อมูลที่ชัดเจนถูกต้องแล้วจึงประกาศผลโพลออกไป

ในส่วนของผลประโยชน์นำมาสู่ข้อครหาของการเป็นโพลรับใช้การเมืองนั้น เขาไม่ทราบว่าโพลของสำนักอื่นเป็นอย่างไร รู้เพียงว่าจากผลสำรวจคนในสังคมเชื่อแบบนั้น

“เราเคยทำโพลมาระยะหนึ่งแล้ว ถามโดยรวมๆ ว่า คนเชื่อโพลแค่ไหน คำตอบที่ได้คือเชื่อแบบกลางๆ และเมื่อถามว่า คิดว่าโพลมีส่วนรับใช้การเมืองหรือไม่ คนส่วนใหญ่ในสังคมเชื่อว่าโพลรับใช้การเมือง”

ซึ่งในส่วนของสำนักนิด้าโพลนั้นมีการแยกส่วนของการทำโพลสาธารณะเพื่อให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชน กับส่วนธุรกิจโพลเพื่อให้บริการแก่หน่วยงานรัฐบาลและเอกชนในการทำสำรวจวิจัยให้แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง

“เงินที่นำมาทำโพลสาธาณะมาจากสถาบันโดยตรงทั้งหมด ไม่มีการสนับสนุน ถ้าจะทำเพื่อธุรกิจก็เป็นคนละส่วน ส่วนของธุรกิจก็หารายได้เข้าสถาบัน”

สาเหตุของความผิดพลาดนั้น ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความเห็นนิด้าโพลเผยว่า อาจอยู่ในขั้นตอนของการเก็บข้อมูล เป็นปัญหาด้านเทคนิคที่ทุกโพล ทุกสำนักที่ผิดพลาดต้องหาทางแก้ไข อุดรูรั่วที่เกิดขึ้นเพื่อให้ได้ผลที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นมากที่สุด แม้แต่ของนิด้าโพลเองที่มีความคลาดเคลื่อนในรายละเอียด ในฐานะสำนักจัดทำโพลก็ต้องตรวจสอบเพื่อดูว่า ความคลาดเคลื่อนเหล่านั้นเกิดจากอะไร

“ข้อผิดพลาดเกิดได้จากหลายสาเหตุ เยอะมาก ประชากรที่เก็บถูกกลุ่มหรือเปล่า ไปเก็บที่ไหน ที่หนึ่งกลุ่มหนึ่ง อีกที่ก็อีกกลุ่ม เกิดปัญหาเป้าตัวอย่างไม่กระจายหรือเปล่า อย่างเอ็กซิตโพลเก็บตอนเช้า ตอนบ่ายอีกกลุ่มแล้ว ผลที่ได้ผิดพลาดแน่นอน”

แต่ความรับผิดชอบของการทำโพลคือต้องทำให้ผิดพลาดน้อยที่สุด

“ทำโพลแล้วผลออกมาผิดก็คงไม่มีอะไรมากมาย ผมเชื่อว่าเขาคงทำโพลต่อไป แต่ว่าเขาคงต้องกลับไปตรวจสอบ ต้องยอมรับตัวเองนิดนึงว่าอาจมีข้อผิดพลาด”

ในส่วนของการรับข้อมูลโพลของคนในสังคมนั้น เขามองว่า ควรมองเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจและเป็นความรู้ แต่อย่าเครียดกับผลที่อาจผิดจากโพลที่สำรวจออกมา

“ต้องบอกอย่างนี้ว่า อยากให้คนไทยอย่าไปเครียดกับผลโพลมากจนเกินเหตุ มันเป็นข้อมูลหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจพิจารณา ในขณะเดียวกันขอให้ดูโพลด้วยความรู้สึกสนุกบันเทิงและเป็นแหล่งความรู้ เพราะโพลคือการวัดความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น อาจจะมีการเบี่ยงเบนบางอย่าง ปัจจัยที่ทำให้มันเปลี่ยนแปลงได้เสมอ”

โพลรับใช้การเมือง

โพลที่เต็มไปด้วยสีสันทันต่อเหตุการณ์และเป็นที่สนใจของผู้คนในสังคมมากที่สุดโพลหนึ่งคือ สวนดุสิตโพล และโพลที่ถูกครหามากที่สุดในสังคมก็คงหนีไม่พ้นโพลนี้ด้วยเช่นกัน จากหัวข้อประเด็นทำโพลที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในช่วงส่งท้ายปีที่แล้วที่มีการสำรวจที่มีคำถามว่า “7 นักการเมืองไทยที่คนไทยอยากให้รอดถ้าโลกแตกเป็นจริง”

กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้มานิจ สุขสมจิตร สื่อมวลชนอาวุโส และอดีตนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งที่อยู่มาตั้งแต่ 2530 ด้วยความเห็นที่มีต่อการจัดทำโพลของสำนักว่า ไร้สาระ

“นอกจากเรื่องที่ว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตรับจัดสานเสวนาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 108 เวทีของรัฐบาลซึ่งผมไม่เห็นด้วย ดุสิตโพลก็มีความไม่ชอบมาพากล ตั้งแต่การตั้งหัวข้อที่ไม่สร้างสรรค์แล้ว ผมก็ลาออกตั้งแต่ก่อนทำมีการทำโพลเลือกตั้งครั้งนี้”

ในส่วนของข้อครหามากมายที่มีต่อสวนดุสิตโพล เขาเห็นว่าเป็นส่วนที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ ตัวเขาเองยังไม่มีหลักฐานที่จะบอกได้ว่าสำนักโพลแห่งนี้รับใช้การเมือง เพียงสังเกตได้แต่พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น

“แต่ผมดูพฤติการณ์ในการทำโพล 1. ควรทำตามหลักวิชาการ 2. หัวข้อควรเป็นประโยชน์ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นหัวข้อในการรับรู้หรือในการนำไปปฏิบัติ 3. กลุ่มตัวอย่างควรเป็นกลุ่มที่สามารถแทนกลุ่มคนนี้ได้ ไม่ใช่ไปยืนตามศูนย์การค้า 4. คำถามไม่ควรบังคับให้เขาตอบในสิ่งที่ต้องการ”

โดยท้ายที่สุดของการทำโพลนั้นคือการตรวจสอบความน่าเชื่อถือ เพื่อจะได้ไม่เกิดความผิดพลาด

“ไม่ใช่ประกาศมาแล้วพอผิดพลาดก็โทษนั่นนี่ โทษว่าประชาชนพูดไม่จริงบ้าง มันไม่มีเหตุผล ไม่รู้หรือว่าทำโพลแล้วมีความยากลำบากอย่างไร โทษคนอื่นไปหมดแต่ไม่เคยโทษตัวเอง แม้แต่สื่อก็ถูกโทษว่าเสนอข้อมูลไม่ครบ”

พอผลโพลออกมาผิดก็ไม่แปลกที่จะเกิดปรากฏการณ์ที่คนในสังคมหันมาตั้งคำถามกับโพล นอกจากหัวข้อและผลโพลที่ค้านต่อความเห็นของสังคมมาแล้วหลายครั้ง ผลประโยชน์ที่ถูกตีแผ่ออกมาก็กลายเป็นข้อเท็จจริงที่รอวันมัดตัวให้ผู้คนรู้สึกถึงความไม่เป็นกลางของผู้จัดทำ

โดยเมื่อไม่นานมานี้ สำนักข่าวอิศราเปิดโปงถึงข้อมูลรายรับของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตตั้งแต่ 2547 - 2555 ที่ฟันรายรับจากค่าว่าจ้างเป็นที่ปรึกษา วิจัยเชิงสำรวจ และรับจ้างทำโพล ให้แก่หน่วยงานภาครัฐรวม 21 แห่ง 42 ครั้ง เป็นเงินกว่า 141 ล้านบาท!

นอกจากนี้ รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และในฐานะประธานดำเนินงานสวนดุสิตโพล ที่หลายคนตั้งฉายาว่า เจ้าพ่อดุสิตโพลนั้นก็มีฐานะร่ำรวย เป็นนักสะสมสิ่งของที่เกี่ยวกับอารยธรรมประเทศต่างๆ จากทั่วทุกมุมโลก โดยมีการเก็บของสะสมด้วยการสร้างเป็นปราสาทไว้ในพื้นที่กว่า 1 ไร่ที่หัวหิน แล้วนำของสะสมมาทำเป็นเครื่องประดับตกแต่ง จนกลายเป็นปราสาทที่มีการตกแต่งตามอายธรรมต่างๆ กว่า 14 อารยธรรมทั่วโลก ใช้เวลาสร้างปีเศษและตกแต่งกว่า 2 ปี

อย่างไรก็ตาม พฤติการณ์ที่ชวนสงสัยเหล่านี้ก็ยังคงไม่มีหลักฐานชัดเจนถึงการที่โพลมีส่วนรับใช้การเมือง มีแต่เพียงข้อบ่งชี้เท่านั้น ทั้งนี้ผลการดำเนินงาน รายได้ต่างๆ ในส่วนของสวนดุสิตโพลนั้น มานิจในฐานะอดีตกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เผยว่า ตนเองไม่เคยได้รับรู้ถึงที่มาแต่อย่างใด

“เขาไม่มารายงานให้ทราบว่ามีรายได้อะไรยังไง เขาไม่เคยมารายงานให้สภามหาวิทยาลัยทราบเลย ทีนี้คนเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่รู้เรื่องที่สังคมตั้งคำถามเลย เราไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ มีแต่มารายงานว่าเขาประสบความสำเร็จแค่นั้นเอง”

ท้ายที่สุดแล้วทางแก้ไขในเรื่องของการทำโพลในประเทศไทยนั้น มานิจเห็นว่า ควรเริ่มต้นใหม่และมีการให้ความรู้ประชาชนเพื่อให้ประชาชนมีส่วนช่วยตรวจสอบ ขณะที่คนทำโพลก็ควรทำอะไรให้จริงจังมากขึ้น

“หลังๆ มันกลายเป็นทำอะไรเล่นๆ มันกลายเป็นโพลทำเรื่อยเปื่อยแล้วแต่ลมเพลมพัด ประเด็น, การตั้งคำถาม, ตัวอย่างคนที่ไปถามและการประมวลผลการตรวจสอบ การทำโพลต้องให้ความสำคัญกับหลักวิชา หลักการอันถูกต้อง และความเป็นกลาง”

ทั้งนี้ มานิจทิ้งท้ายว่า การทำโพลยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นในสังคมไทย เพื่อแสดงให้เห็นทิศทางการเคลื่อนไปของสังคม สภาพความคิดความรู้สึกของคนที่เป็นอยู่ หากทว่าการจัดโพลจำเป็นจะต้องกลับมายึดมั่นในหลักการที่ถูกต้อง

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE








กำลังโหลดความคิดเห็น