xs
xsm
sm
md
lg

โพลหน้าแหก!! ประชาชนเอือม ไม่แม่น-ไม่ใกล้เคียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



ไม่ใช่แค่โพลเดียว แต่คลาดเคลื่อนถึง 4 โพล!! ทั้ง ดุสิตโพล, กรุงเทพโพลล์, เอแบคโพลล์ และ บ้านสมเด็จโพล ต่างมีผลการสำรวจการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ออกมาไปในทิศทางเดียวกันหมด คือ ให้ “พงศพัศ” ชนะ “สุขุมพันธุ์” มีเพียง นิด้าโพล เท่านั้นที่สวนกระแส ให้ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ชนะพรรคเพื่อไทย

จึงเกิดกลายเป็นเสียงก่นด่าดังกระหึ่มโลกออนไลน์ ประชาชนตั้งข้อสงสัยในความโปร่งใส-น่าเชื่อถือของโพลแต่ละสำนักว่ามีมากน้อยเพียงใด เพราะนอกจากจะไม่ช่วยชี้ทางให้เห็นอนาคตที่แท้จริงแล้ว โพลที่เห็นๆ กันอยู่ดูเหมือนจะตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง ชี้นำผลการสำรวจผิดๆ อย่างมีเบื้องลึกเบื้องหลังด้วย




เน้นเรตติ้งจึงคลาดเคลื่อน
ปัญหาข้อใหญ่ๆ ของโพลสมัยนี้คือ การแข่งขันกันเรื่อง “ความเร็ว” โพลแต่ละสำนักทำผลสำรวจออกมาโดยเน้นความรวดเร็วทันใจเป็นสำคัญ ยิ่งผลสำรวจออกมาได้เร็วมากเท่าไหร่ ยิ่งมีสื่อสำนักต่างๆ หยิบนำไปใช้เล่นเป็นประเด็นข่าวได้อย่างรวดเร็วเท่านั้น เพราะยิ่งมีคนพูดถึงมาก ชื่อของโพลสำนักนั้นก็จะเป็นที่จดจำ ช่วยสร้างชื่อเสียง สร้างเรตติ้งให้กลายเป็นกระแส
ผู้อยู่เบื้องหลังตัวเลขแต่ละสำนักส่วนใหญ่ จึงหวังแค่เพียงจะให้โพลของสำนักตัวเองได้ขึ้นเป็นโพลแถวหน้าของเมืองไทย จนลืมนึกถึงเรื่องคุณภาพ สุดท้าย ความน่าเชื่อถือจึงหล่นหายไปกับความฉับไวของข้อมูล
 

สิ่งที่ทุกคนพึงตระหนักก่อนหลงเชื่อโพลจากสำนักต่างๆ ก็คือ ผลโพล ไม่ใช่ความเห็นจากกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด เป็นเพียงการหยั่งเสียงประชาชนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งเท่านั้นเอง ซึ่งส่วนใหญ่มักสุ่มเลือกจากกลุ่มตัวอย่าง 1,500-2,000 คน เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนต่อเรื่องนั้นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
โดยเฉพาะการสำรวจการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ ที่ฝั่งนิด้าโพลออกมาให้ข้อมูลว่า สาเหตุที่ทำให้ผลจากหลายๆ สำนักออกมาคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไป ส่วนใหญ่เป็นเพราะนิสัยคนเมืองที่มักไม่ยอมเปิดปากบอกความจริงว่าจะเลือกใคร จนกว่าจะถึงวินาทีสุดท้ายของการเข้าคูหากาคนที่คิดว่าใช่ที่สุด
  
นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจจากโพลไม่ใช่มติมหาชน แต่มันเป็นเพียงข้อมูลประเภทหนึ่งที่ผู้อ่านหรือพบเห็นต้องมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ควรรู้จักนำผลสำรวจจากโพลไปประกอบกับแหล่งความเป็นจริงด้านอื่นๆ ด้วย โดยให้ระลึกอยู่เสมอว่า ผลโพลไม่ใช่กรรมการตัดสินชี้ขาด และนักทำโพลเองก็ต้องไม่ให้น้ำหนักกับผลโพลว่าเป็นเสมือนคำพิพากษา แต่ส่วนใหญ่แล้ว ค่าความคลาดเคลื่อนในการสำรวจจะตกอยู่ที่บวกลบ 5% ไม่มากไม่น้อยไปกว่านั้น




เบื้องลึกเบื้องหลัง จรรยาบรรณคนทำโพล
ความคลาดเคลื่อนของผลโพลที่เกิดจากการรวบรวมข้อมูลอย่างฉับไว นั่นยังเป็นเรื่องพอเข้าใจได้ แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่ชวนสงสัยและไม่น่าให้อภัย คือโพลจากบางสำนักที่จงใจยอมพลีกายเป็นเครื่องมือของนักการเมืองและพรรคการเมืองบางกลุ่ม หวังให้ผลโพลที่ออกมาล่วงหน้าวันเลือกตั้ง ช่วยชี้นำประชาชนหลายๆ คนที่กำลังชั่งใจ ยังตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเลือกใคร สุดท้ายจึงมีแนวโน้มจะเลือกคล้อยตามผลโพลง่ายๆ ตามกระแสนิยม ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว
 

ในยุคสมัยที่ทุกการเคลื่อนไหวมีความเกี่ยวข้องกับการเมืองเช่นนี้ เราทุกคนจึงควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน ให้รู้เบื้องลึกเบื้องหลังของแต่ละสำนักอย่างลึกซึ้ง จะได้ท่องจำให้ขึ้นใจว่า ถ้าเห็นโพลจากสำนักนี้-ชื่อนี้ อย่าไปหลงเชื่อ ตัวเลขที่เห็นเป็นผลพวงมาจากผลประโยชน์ใต้โต๊ะทั้งนั้น!!
 
รชตะ สาสะเน สำนักงานคดี เคยกล่าวถึงผลกระทบของโพลต่อการเมืองในเว็บไซต์ lawamendmentเอาไว้ว่า “สถาบันที่จัดทำโพลเพื่อความรู้ในประเด็นสาธารณะ ควรที่จะแยกเด็ดขาดจากสถาบันที่รับจ้างในการทำโพลเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ หรือเพื่อผลประโยชน์ของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อธำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของสถาบันที่ทำโพล เพราะบางครั้งสถาบันที่รับจ้างทำโพล อาจจำเป็นต้องปกปิดผลการสำรวจตามความต้องการของผู้จ้าง ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ประชาชนขาดความเชื่อถือ”
 

ตรงกับความคิดเห็นของ ศิรินทิพย์ ยุติกะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประมวลผลข้อมูลนิด้าโพล ที่เคยกล่าวไว้ว่า “จรรยาบรรณ” เป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดที่นักทำโพลทุกคนต้องมี คือต้องไม่บิดพลิ้วต่อข้อมูล ใช้ข้อมูลที่เป็นจริง ไม่เสริม-เติม-แต่งลงไปด้วยใจมีอคติ เข้าใจในเรื่องระเบียบวิธีวิจัย ขั้นตอนการทำโพล มีความรู้รอบตัว ติดตามข่าวสาร นำเสนอข้อมูลอย่างเป็นกลางและต้องไม่เอื้อประโยชน์ต่อคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง รวมทั้งจำเป็นต้องมีประสบการณ์ในทุกขั้นตอนของการทำโพลด้วย

“ทำโพลแล้วต้องให้ประโยชน์ในแต่ละเรื่อง ไม่ใช่เพื่อประโยชน์แก่ตัวเองฝ่ายเดียว ต้องมีองค์กรที่ดี มีงานวิจัยทางวิชาการเป็นแบ็กอัพ และที่สำคัญต้องบอกที่มาของตัวเลขผลโพลได้อย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการทำโพลตรงนั้น” อีกหนึ่งความคิดเห็นเพิ่มเติมจาก รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานดำเนินงานสวนดุสิตโพล และประธานที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต




เอือมผลโพล แต่งกลอนประชด
และนี่คือผลโพลจากสำนักใหญ่ๆ ที่ฝากตัวเลขชวนสงสัยเอาไว้ให้ประชาชนได้ตั้งคำถามเล่นๆ ว่าสรุปแล้ว ฝั่งไหนถูก ฟากไหนผิด ฝั่งไหนน่าเชื่อถือ ฝ่ายไหนมีเบื้องลึกเบื้องหลังแอบแฝง... แค่ลองเปรียบเทียบจากผู้สมัครเข้าชิงชัยหลักๆ เพียงแค่ 2 ชื่อ ระหว่าง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ตัวเลขจากโพลส่วนใหญ่ยังคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไกลโข
 
โดย ดุสิตโพล สำรวจให้ “พงศพัศ” ชนะ “สุขุมพันธุ์” 49.01% ต่อ 39.65% กรุงเทพโพลล์ ให้ชนะ 44.14 ต่อ 41.07 เอแบคโพลล์ ให้ชนะ 45.9 ต่อ 34.1 บ้านสมเด็จโพล ให้ชนะ 40.02 ต่อ 38.54 มีเพียง นิด้าโพล เท่านั้นที่สวนกระแส ให้สุขุมพันธุ์ ชนะ พงศพัศ 43.16 ต่อ 41.45
 

ปรากฏการณ์การสำรวจการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ในครั้งนี้ ทำเอาโพลจากหลายๆ สำนักหน้าแหกหมอไม่รับเย็บกันเป็นแถว ซ้ำยังทำให้ประชาชนเอือมระอา หมดความเชื่อถือ
และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งมุมมองจากแฟนเพจเฟซบุ๊ก P.khondee (พี่คนดี กวีสมัครเล่น) ที่ได้แต่งกลอน “เอ็กซิทโพล” จิกกัดเกี่ยวกับผลโพลครั้งนี้เอาไว้ เป็นที่ถูกอกถูกใจชาวไซเบอร์ กดไลค์กดแชร์กันไม่น้อย ถือเป็นเสียงสะท้อนแทนความรู้สึกของประชาชนในตอนนี้ได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว
 

“ฉันจะฟ้อง โพลเอ็กซิท ทำจิตตก
โพลไม่โดน โพลตลก ยกจากไหน
ควรยกเครื่อง จัดระเบียบ งานวิจัย
ก่อนจะทำ โพลต่อไป ให้ทบทวน
จะทำโพล ไปทำไม ไม่ใกล้เคียง
โพลมันเอียง กลับหัว กันทั่วถ้วน
โพลหน้าไหน ที่ผิดไป ไม่คู่ควร
โปรดจงรีบ เอ็กซิทด่วน บ้วนออกไป
ถ้าจะโยน ความผิด ให้คนตอบ
ยังมีความ รับผิดชอบ อยู่หรือไม่
ไม่นักเลง เมื่อตนเอง เก็งผิดไป
โพลไม่แม่น โพลไหน จำไว้เลย”





 

---ล้อมกรอบ---
โพล (Poll) หรือผลสำรวจของประชาชน มีมานานแล้วในต่างประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยการทำโพลระยะแรกถูกนำมาใช้เพื่อการวิจัยทางวิชาการ จนกระทั่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน สามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ โพลเลือกตั้ง (Election Poll) และโพลความคิดเห็น (Opinion Poll)

โพลสำรวจเริ่มเข้ามาใช้ในเรื่องการเลือกตั้งครั้งแรก โดย “นิด้าโพล” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 จนกระทั่ง 8-9 ปีที่ผ่านมา “สวนดุสิตโพล” ถูกตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการและมีผลสำรวจด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้น 3-4 ปีให้หลัง ได้มี “เอแบคโพลล์” และ “กรุงเทพโพลล์” ก่อกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน และยังปรากฏเป็นโพลชื่อดังมาจนถึงปัจจุบัน และบางครั้งโพลจากสถาบันต่างๆ เหล่านี้ก็กลายเป็นเครื่องชี้นำที่มีอำนาจต่อการตัดสินใจของคนทั่วประเทศเช่นกัน

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
 
ข้อมูลเพิ่มเติม
รายละเอียดผลโพลจากทุกสำนัก (คลิกที่นี่)  
 





เน้นไวเข้าว่า
ดีใจเก้อตามผลโพล
ผู้ว่าฯ กทม. แถลงข่าวขอบคุณ รักษาเก้าอี้ไว้ได้
แต่งกลอนประชด
กำลังโหลดความคิดเห็น