ในสายตาประชาคมโลกประเทศไทย ณ ตอนนี้คงไม่สู้ดีนัก ล่าสุดเหตุการณ์เศร้าสลดกรณีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางโดยการปั่นจักรยานท่องรอบโลก แต่กลับมาจบชีวิตในเมืองไทยเพราะอุบัติรถปิกอัพพุ่งชน มิหนำซ้ำองค์การอนามัยโลก ยังจัดประเทศไทยติดอันดับ 6 การเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตบนท้องถนน ขณะที่หลายประเทศเริ่มเตือนประชากรของตน ก่อนออกเดินทางสู่ประเทศไทย
อุบัติเหตุเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แน่นอนครั้งแรกถือเป็นบทเรียนสำคัญจำต้องหาแนวทางป้องกันแก้ไขอย่าปล่อยให้มีเหตุการณ์ซ้ำรอย เป็นวัฎวัจรก่อความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินได้อีก
ไม่เพียงเท่านั้นกรณีการเกิดอุบัติเหตุในไทยด้วยเหตุซ้ำซากที่ยังไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง กำลังทำลายภาพลักษณ์เมืองไทย ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แม้กระทั่งชาวไทยเองตกอยู่ในภาวะประหวั่นพรั่นพรึ่ง
1 เดียวในอาเซียน ไทยแชมป์อุบัติเหตุ
ในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกากำลังจับตามองเรื่องอุบัติเหตุในประเทศไทยอย่างหนัก เพราะพบว่าพลเมืองของตนต้องมาเสียชีวิตในประเทศไทยแล้วหลายราย
นพ.ธะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยบนถนน เปิดเผยรายงานผลการสำรวจขององค์การอนามัยโลก ปี 2553 ผ่านเว็บไซต์ suthichaiyoon.com ระบุว่าประเทศไทยมีการตายจากอุบัติเหตุเป็นอันดับ 6 ของโลก จากประเทศสมาชิกทั่วโลก 182 ประเทศ ขณะที่ประเทศแถบอาเซียนแทบไม่ติดอันดับเลย
ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลกนั้นมีผู้เสียชีวิตมากถึง 29,778 คน แต่กลับขัดแย้งกับรายงานของหน่วยงานหลักในประเทศไทย ที่ระบุว่าตายเพียง 14,033 คน
ขณะที่ในปี 2554 อัตราการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนของประเทศไทย คิดเป็นอัตราการตายที่ 42.9 คนต่อประชากร 1 แสนคน ส่งผลให้ประเทศไทย เป็นรองเพียงประเทศมาลาวี สวาซิแลนด์ นามิเบีย อิรัก และอิหร่าน
เหตุการณ์นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต้องมาจบชีวิตลงในประเทศไทย กลายเป็นอุทาหารณ์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติพันธุ์อีกครั้ง อุบัติเหตุในครั้งนี้ไม่เพียงสร้างความสูญเสียต่อชีวิตแต่ยังส่งผลให้ประเทศไทยติดภาพลบ ถูกสื่อต่างชาติรวมถึงพลเมืองทั่วโลกรุมประฌามอย่างหนัก
13 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เหตุการณ์ชายไทยขับรถปิกอัพพุ่งชน ปีเตอร์ รูท และ แมรี่ ทอมป์สัน คู่สามีภรรยาชาวอังกฤษ นักเดินทางผู้ปั่นจักรยานท่องเที่ยวรอบโลกจนเสียชีวิต ที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา
เว็บไซค์ข่าวเดลิเมล์ ประเทศอังกฤษ เปิดเผยว่า ทั้งคู่เริ่มออกเดินทางรอบโลกด้วยการปั่นจักรยานมาตั้งแต่ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2554 เริ่มต้นจากอังกฤษ ปั่นผ่านมากว่า 23 ประเทศ ซึ่งทั้งคู่ยังบันทึกประสบการณ์การเดินทางผ่านเว็บไซต์ twoonfourwheels.com และมาเสียชีวิตในประเทศไทย
ข้อมูลยังเผยว่า ก่อนหน้านี้ก็มีกลุ่มวัยรุ่นชาวอังกฤษเข้ามาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งเป็นเหตุมาจากความประมาทของผู้อื่น
หรือกรณีรถทัวร์สายกรุงเทพฯ-ละแม พลิกคว่ำ เป็นเหตุให้คนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติชาวฝรั่งเศส เสียชีวิต 5 ราย แน่นอนว่าภาพที่ต่างชาติมองประเทศไทยในขณะนี้ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ
สวัสดิภาพคนไทยตกต่ำลงเรื่อยๆ
ไม่ใช่เพียงชาวต่างชาติที่ตื่นกลัวกับอันตรายจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อในประเทศไทย เพราะชาวไทยจำนวนไม่น้อยก็ต้องตกต้องเป็นจำเลยของความไม่ปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เพียงเพราะความละเลยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำรวจในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร แม้จะมีความเจริญด้านสาธารณูปโภคครบครัน มีมาตรการขั้นพื้นฐานดูแลความปลอดภัยของประชาชน แต่ก็ยังมีหลายจุดที่ผู้รับผิดชอบยังละเลยนำสู่เหตุการณ์ซึ่งพรากไปทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
ยกตัวอย่างอุบัติเหตุ กรณี หญิงสาวเคราะห์ร้ายรายหนึ่ง ตกคลองแสนแสบจมน้ำเสียชีวิต บริเวณทางเท้าปากซอยสุขุมวิท 39 ถึงบริเวณสะพานอโศก ญาติผู้เกี่ยวข้องร้องขอความเป็นธรรมตามกระบวนการกฎหมาย ด้าน ศาลปกครอง พิพากษาว่ากรณดังกล่าว กทม. มีความผิดละเลยดูแลรักษาทางเดินเท้าและทางจักรยานริมคลองแสนแสบ เป็นเหตุให้หญิงสาวตกคลองจมน้ำเสียชีวิต สั่งให้เร่งดำเนินซ่อมแซมด่วน และรายงานให้ศาลทราบทุก 6 เดือน
ดูจะเป็นอุบัติเหตุใกล้ตัวที่ไม่มีใครคาดคิด แต่ก็สะท้อนว่าเป็นความประมาทของหน่วยงานราชการที่นำความตายมาสู่ประชาชน
หรือกรณีการรื้อทางเท้าเพื่อวางอิฐใหม่ที่ทำเป็นประจำทุกปี ของ กทม. การก่อสร้างที่ไร้ระเบียบ วางอุปกรณ์ระเกะระกะก็อาจนำมาซึ่งอันตรายต่อประชาชนได้ ฯลฯ
เกรียงศักดิ์ วรมงคลชัย อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการสภาทนายความ อธิบายว่าสวัสดิภาพของประชาชน รัฐ เป็นหน่วยงานที่จะต้องดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพราะประชาชนเสียภาษี รัฐจึงมีหน้าที่ต้องดูแล
ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุที่สร้างความเสียหายต่อประชาชนก็ต้องพิจารณากันด้วยว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นๆ เกี่ยวข้องกับการกระทำของหน่วยงานรัฐหรือเปล่า ถ้าเป็นการกระทำของหน่วยงานรัฐก็สามารถฟ้องให้หน่วยงานรัฐรับผิดชอบ
ย้อนกลับไปที่กรณีของคู่รักนักปั่นที่มาจบชีวิตลงในประเทศไทย เพราะอุบัติเหตุรถปิกอัพพุ่งชน เกรียงศักดิ์ อธิบายว่า เบื้องต้นผู้ขับขี่รถปิกอัพต้องรับผิดชอบซึ่งทางกฎหมายก็มีระเบียบบังคับอยู่แล้ว คือหนึ่งคู่กรณีจะต้องรับผิดชอบ รัฐบาลไทยในฐานะเขาเป็นชาวต่างประเทศเขาต้องมีทูต คอยดูกฎหมายระหว่างประเทศคอยติดตามดูในขอบเขตของกฎหมาย อาจจะมีความร่วมมือระหว่างประเทศ ติดตามช่วยดำเนินการต่อไป
รณรงค์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า การที่ไทยติดอันดับ 6 การเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตบนท้องถนน รวมทั้งข้อเท็จจริงเรื่องที่ชาวต่างชาติเข้ามาเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุก็ล้วนตอกย้ำภาพลักษณ์แง่ลบในสายตาต่างชาติ
ส่วนนี้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลายๆ ฝ่ายต้องเร่งดำเนินงาน วางมาตรการเพื่อความปลอดภัย และปรับทัศนคติเรื่องความปลอดภัยในประเทศไทยต่อนานาประเทศ
ในเรื่องการจัดการความปลอดภัยบนท้องถนน ทนายท่านเดิม กล่าวว่า สำหรับกฎหมายนั้นมีข้อกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงในระดับหนึ่ง เพียงแต่ว่าการบังคับใช้ของเจ้าหน้าที่อาจยังไม่เต็มประสิทธิภาพ
“เราอาจจต้องมีกฎระเบียบ กฎกระทรวง ที่ต้องเข้มข้นในกรณีที่คอนโทรลคนขับ ขับรถด้วยความปลอดภัย เพื่อไม่ให้ก่อความเดือดร้อน หรือละเมิดทางกฎหมาย การออกฎหมายเป็นมาตรการเสริม และเป็นมาตรการที่จะช่วยรักษา ชีวิต ทรัพย์สิน ความปลอดภัยของประชาชน”
แน่นอน นอกจากการนำกฎหมายมาบังคับใช้ ตัวบุคคลเองก็เป็นเรื่องที่สำคัญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสร้างมาตรการเสริมที่ทำให้คนขับเคารพสิทธิกฎจราจร ระมัดระวังไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ามาตรการด้านวินัย
อีกอย่างมาตรการในส่วนของการรณรงค์อย่าทำแบบไฟไหม้ฟาง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง และมีการบังคับใช้อย่างเข้มงวด
“ต้องช่วยกันรณรงค์ให้เขามีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพียงตัวเขาเองที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่ยังรวมถึงตัวคนอื่นด้วย ทรัพย์สินคนอื่นด้วย ครอบครัวคนอื่นด้วย ตรงนี้เป็นเรื่องของจิตสำนึกที่ต้องมี มาตรการเสริมต่างๆ เราต้องบังคับใช้อย่างเข็มงวด สังคมต้องมีมาตรการตรวจสอบ หรือการบังคับใช้กฎหมาย
“ทุกส่วนต้องมีส่วนร่วมมือกันทำ ต้องมีการรณรงค์ปลุกกระแสสังคมให้ตระหนักอยู่เสมอ ควรจะมีหน่วยงานที่มาทำเรื่อยๆ มันต้องใช้เวลา แต่มันต้องเริ่มต้นทำ ถ้าจะบอกว่าให้ทุกคนมารู้สำนึกมันไม่มีไม่ใช่ มันต้องช่วยกัน เคร็งครัดกฎจราจรและดูแลบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ รณรงค์ให้รู้จักรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น”
หรืออย่างนโยบายที่ใช้หาเสียงขอคะแนนจากประชาชน สัญญาในเรื่องมาตราการความปลอดภัย คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนเมื่อท่านได้ตำแหน่งก็ควรรักษาคำพูด อย่างไรก็ตาม เกรียงศักดิ์ อธิบายว่าหากทำตามนโยบายที่หาเสียงไม่ได้ก็ยังไม่มีบทลงโทษทางกฎหมาย
“ประชาชนเป็นส่วนสำคัญเพราะประชาชนเป็นคนเลือกเขาเข้ามา ต้องรู้เท่าทัน มีความรู้ทางด้านการเมือง หูตาสว่าง มันขึ้นอยู่กับประชาชนเพราะเป็นการปกครองรูปแบบประชาธิปไตย”
ในส่วนการแก้ปัญหาเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน ดูท่ารัฐบาลยังไม่มีการจัดการอย่างจริงจัง ด้าน นพ.วิทยา เสนอแนะทิ้งท้ายว่า ควรต้องตั้งหน่วยงานเฉพาะที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง ขับเคลื่อนมาตรการ 5 ข้อ
1.รัฐบาลต้องจริงจังในเรื่องของการป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน 2.ต้องมีบุคลากรทำงานอย่างมืออาชีพ สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3.ถนนทุกพื้นที่ต้องมีความปลอดภัย 4.ต้องมีการตรวจเช็กสภาพรถ เพื่อให้ขับเคลื่อนอย่างปลอดภัยและ 5.ระบบดูแลหลังเกิดเหตุมีประสิทธิภาพ สามารถช่วยเหลือชีวิตผู้ประสบอุบัติเหตุได้ทันท่วงที
…...................
เป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะขณะนี้ต่างชาติกำลังรุมประฌามว่าเมืองเป็นเมืองอุบัติเหตุ ทั้งยังมีการย้ำเตือนพลเมืองของตนในการเดินทางมายังประเทศไทย
คงต้องพิจารณาถึงมาตรการความปลอดภัยให้เอื้อต่อประชาชนชาวไทย รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาสัมผัสวิถีสยามเมืองยิ้มให้มากยิ่งขึ้น อย่าสักแต่เพียงนโยบายลมปากแต่ต้องปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม หรือจะรัฐละเลยทิ้งให้ประเทศไทยถูกมองเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน?
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live