xs
xsm
sm
md
lg

อนาถ... สุสาน-ซ่องสุม “เด็กติดเกม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พูดกันมาแล้วกี่ครั้ง ตั้งโต๊ะประชุมกันมาแล้วกี่หน แต่ปัญหา “เด็กติดเกม” ก็ยังคงเรื้อรัง เป็นแผลเน่าส่งกลิ่นในสังคมไทยมายาวนาน แถมอาการเยาวชนที่เข้าข่ายป่วยด้วยโรคดังกล่าวยังหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นมีปากเสียงกับครอบครัว ประชดด้วยการฆ่าตัวตาย บางรายอารมณ์เดือด หันไปฆ่าผู้บังเกิดเกล้า เพียงเพราะถูกห้ามไม่ให้เล่น
 

บวกกับร้านเกมเอง ทุกวันนี้ก็กลายเป็นเหมือน “แหล่งซ่องสุม” วัยรุ่นไปนั่งรวมตัวกันหน้าคอมพ์ จ้องๆ จิ้มๆ ไม่กินข้าวกินปลา พอถึงเวลาซวยก็มีคู่อริเดินเข้ามาแก้แค้น-รุมกระทืบ-จ้วงแทงจนตายคาที่ เปลี่ยนร้านเกมให้กลายเป็น “สุสาน” แก่ผู้เคราะห์ร้าย ก็มีให้เห็นมาแล้วเหมือนกัน...
ถึงเวลาหรือยัง? ที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจะจริงจังกับการนำทางเยาวชน-ความหวังของชาติ ให้ออกจากแหล่งเสื่อมโทรมประเภทนี้เสียที!


สุสานร้านเกม
นอกจากจุดเสี่ยงตามผับตามบาร์ ตามป้ายรถเมล์ และโรงเรียนช่างกลบางแห่งแล้ว ปัจจุบันนี้ จุดที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ตีรันฟันแทงกันเพิ่มมากขึ้นอีกหนึ่งแห่งก็คือ “ร้านอินเทอร์เน็ต-ร้านเกม” โดยเฉพาะระยะหลังๆ ที่มีกลุ่มวัยรุ่นบุกเข้าทำร้ายคู่อริอย่างอุกอาจ โดยไม่เกรงกลัวต่อกล้องวงจรปิดที่ติดอยู่ภายในร้านแม้แต่นิดเดียว
 

ย้อนกลับไปยังคลิปสะเทือนขวัญ “ยกพวกรุมแทงอริตายคาร้านเกม” ที่เคยสร้างกระแสฮือฮาครั้งใหญ่ในสังคม ภาพจากคลิปเผยให้เห็นโจ๋ทั้ง 9 รายตรงเข้าบุกดึงตัวคู่ผู้เคราะห์ร้ายรายหนึ่งขึ้นมาจากเบาะนุ่มๆ ขณะเล่นเกม แล้วเริ่มลงไม้ลงมือปฏิบัติการแก้แค้น ต่อย-เตะ-จ้วงแทง อย่างไม่ปรานีปราศรัยจนอีกฝ่ายมีสภาพเละคาที่ นั่นเป็นครั้งแรกที่สะท้อนให้สังคมเห็นความดิบเถื่อนของกลุ่มวัยรุ่น และความไม่ปลอดภัยในชีวิต-ทรัพย์สินในร้านเกมอย่างเป็นรูปธรรม
  

ปัจจุบันมีร้านเกม-ร้านเน็ต เปิดให้บริการในกรุงเทพฯ ที่ขออนุญาตประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ทั้งหมด 1,790 ร้าน ทางตำรวจนครบาลเองก็พยายามตรวจตราอย่างเข้มงวด โดยใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาช่วยด้วย  
โดยเฉพาะข้อที่ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการ บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กเล่นกีฬาหรือให้กระทำการใดเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้า อันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็ก หรือมีลักษณะเป็นการทารุณกรรมต่อเด็ก” แต่ก็ต้องยอมรับว่าการป้องกันพฤติกรรมทะเลาะเบาะแว้งของกลุ่มวัยรุ่นเป็นเรื่องทำได้ยากยิ่ง เพราะพวกเขาแสดงอาการเลือดร้อนกันแทบทุกที่อยู่แล้ว
  

“ทางเราก็พยายามกระจายกำลังไปทุกที่ครับ โดยเฉพาะวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ แถวฝั่งธนฯ ที่จะมีคดีเกิดขึ้นเป็นประจำ ส่วนใหญ่ก็เป็นพวกเดียวกับเด็กแว้นนั่นแหละครับ พอทางตำรวจวางกำลังเข้มงวดเข้า เขาก็แข่งรถไม่ได้ ก็จะเปลี่ยนเป็นรวมกลุ่มกันอย่างน้อย 5-6 คน ไปเที่ยวเล่น เข้าร้านอาหาร ร้านเกม พอเขม่นกันก็ไปมีเรื่องกันในนั้น
จะบอกว่าเขาเจาะจงไปทะเลาะกันในร้านเกมเลยไหม ไม่ใช่เลยครับ แต่เขาทะเลาะกันทุกที่ ไม่มีการวางแผน บันดาลโทสะปุ๊บก็เอาเลย แต่ที่เกิดเหตุในร้านเกมคงเพราะคู่อริของเขาอยู่ในนั้นพอดีด้วย” พล.ต.ต.มานิตย์ วงศ์สมบูรณ์ รอง ผบ.ตร.นครบาล เผยข้อมูล
  

ด้วยเหตุที่ว่านี้เอง จึงส่งให้ร้านเกมกลายเป็น “สุสาน” สำหรับผู้เคราะห์ร้ายอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ทั้งยังมีบางรายติดเกมขั้นหนักกระทั่งยอมขุดหลุมฝังศพให้ตัวเอง อย่างล่าสุด เพิ่งมีนักศึกษาหนุ่มวัย 22 จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ยิงตัวตายเพราะน้อยใจที่ถูกแม่ดุด่าเรื่องติดเกม เช่นเดียวกับข่าวคราวในทำนองเดียวกันนี้ที่มีให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
  
อาการติดหนักหน่อยก็เลยเถิดไปจนถึงขั้นบันดาลโทสะ เช่นเดียวกับกรณีที่เด็กชายวัย 14 คนหนึ่งใช้มีดสปาต้าฟันแม่ของตัวเองเสียชีวิต ซ้ำยังแทงพี่สาวจนได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุเพราะโมโหที่ถูกห้ามไม่ให้ไปเล่นคอมพ์ในร้านเกมอย่างที่เคยทำ และถูกแม่ปิดคอมพิวเตอร์กลางดึกขณะกำลังเล่นอย่างเมามัน




แหล่งซ่องสุมความโรคจิต!
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าบางคนจะติดจนสามารถทำร้ายคนรอบข้างได้ หลายรายยอมทำร้ายแม้กระทั่งตัวเอง นั่งเล่นมาราธอนจนร่างกายทนไม่ไหว ช็อกตายคาที่ก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่างมาแล้ว เขาคนนั้นคือเด็กชายอายุ 15 ปี เล่นเกมต่อสู้ไปด้วย กินข้าวผัดไปด้วย ด้วยความตื่นเต้นและไม่มีสติในการกลืน ข้าวจึงเข้าไปอุดหลอดลม เสียชีวิตคาเบาะนิ่มๆ ในร้าน
 

ยังมีผู้ป่วยติดเกมขั้นหนักถึงขนาดยอม “อึหน้าคอมพ์” ด้วย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เผยข้อมูลให้ฟังว่า “เขาเป็นเด็กผู้ชายอายุประมาณ 20 กว่าๆ ครับ ติดเกมมาตั้งแต่ตอนเด็กๆ พอโตขึ้น ไปทำงานก็มีปัญหาจนต้องออกมาอยู่บ้านและเล่นเกมตลอดเวลา ยายต้องคอยส่งข้าวส่งน้ำให้ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หนักจนยอมอึหน้าคอมพ์ ยายเลยต้องพามาพบแพทย์ แต่ผู้ป่วยกลับไม่รู้สึกว่าตัวเองป่วย ไม่ยอมเข้ารับการรักษา กว่าจะเกลี้ยกล่อมกันได้ก็นานพอสมควร
  

สรุปแล้วอาการติดเกมก็คือ “โรคจิต” ชนิดหนึ่งนี่เอง อ.ดร.วัลลภ ปิยมโนธรรม ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาความสุขมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บอกเอาไว้อย่างนั้น เพราะฉะนั้นร้านเกมจึงไม่ต่างไปจาก “แหล่งซ่องสุมความโรคจิต”
  

“ถ้าเป็นสมัยก่อน คนที่เป็นโรคจิต อาจจะชอบนั่งอยู่คนเดียว หมกมุ่นอยู่กับโลกส่วนตัว อาการเขาก็จะดูง่ายหน่อย แต่สมัยนี้มันมีเกมให้เล่น คนมาหมกมุ่นกับเกม เขาก็จะไม่รู้ตัวว่าเขากำลังเป็นโรคจิตติดเกม เพราะสมองเขาทำงานตลอดเวลา ไม่มีเวลาคิดพิจารณาตัวเอง ก็เลยไม่รู้ตัวเลยว่าตัวเองป่วย ผมเคยเห็นมากับตาเลย บางคนเล่นไปด้วย น้ำตาไหลไปด้วย ตาแดง แสบตา ก็ยังไม่ยอมหยุดเล่น ข้าวปลาไม่กิน ตัวก็ผอมเอาๆ แต่เขาก็ไม่รู้ตัว แบบนี้ต้องบำบัดอย่างเดียว”
 

เคี้ยง-เอกภพ คุณากรไพบูลย์ศิริ หนุ่มนักเรียนนอกจากเมืองผู้ดี เปิดใจเอาไว้ในรายการตีสิบว่า เคยติดเกมขั้นหนักตอนไปเรียนต่อ จนคุณแม่ต้องขึ้นเครื่องไปช่วยดึงลูกกลับมา
 

"แม่ไปถึง ถามผมว่าอยู่ไปได้ยังไงในห้องสภาพแบบนี้ ทุกอย่างมันกระจัดกระจายเต็มไปหมด ที่นอน หมอน ผ้าห่ม เลอะเทอะไปหมด ส่วนตัวผมเคยไม่อาบน้ำสระผมนานที่สุดถึง 7 วัน แต่อาจจะมีแปรงฟันบ้าง (หัวเราะ) ตอนนั้นผมโฟกัสแค่ว่า ขอมีชีวิตเพื่ออยู่เล่นเกมต่อก็พอ ยอมอดหลับอดนอนเพื่อเล่นเกม เคยเล่นติดๆ กันสามวันแบบไม่ลุกไปไหน เวลาหิวก็สั่งพวกจังก์ฟูดมากิน พวกพิซซ่า ไก่ทอด แฮมเบอร์เกอร์ อะไรที่กินง่ายๆ เร็วๆ
 

ตอนนั้นคิดแค่อยากเล่นเกมอย่างเดียว ถ้าถามว่าอยากเลิกไหมคืออยากเลิกมาก แต่มันทำไม่ได้ แล้วก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองติดเกมอะไรขนาดนั้น ผมก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่าอานุภาพของเกมมันทำให้ผมติดได้ขนาดนี้เลยหรือ คงเพราะผมเป็นคนอยากเอาชนะอยู่แล้วด้วยมั้งครับ ในโลกของเกม ผมเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ มีแต่คนรู้จัก เป็นเบอร์หนึ่งขั้นเทพที่ใครๆ ก็ยอมรับ เล่นชนะทุกคนในมหาวิทยาลัย เอาชนะคนเล่นเกมขั้นเซียนจากเกาหลีใต้ได้ จากคนที่อยู่อันดับ 20 สามารถขึ้นนำพวกเขาจนเป็นอันดับ 1 ได้ด้วยการทุ่มเทหาวิธีการเอาชนะอยู่หลายเดือนเลย
แต่ตอนนี้ พอเลิกได้แล้ว มานั่งเล่นเกมก็จะเห็นเลยว่าเล่นไปมันไม่ได้อะไรขึ้นมา เลิกเล่นแล้วชีวิตดีขึ้นจมเลยครับ" เขาปิดท้ายด้วยรอยยิ้มภาคภูมิใจ



บำบัดอาการติดเกม
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนติดเกมทุกคนต้องลงท้ายด้วยการเลิกเล่นโดยเด็ดขาดอย่างคุณเคี้ยงแต่เพียงอย่างเดียว เพราะ ดร.วัลลภ บอกว่าแค่ตั้งสติในการเล่นให้อยู่ในอัตราที่พอเหมาะพอสม เล่นครั้งละไม่เกิน 1 ชั่วโมงครึ่ง วันละไม่เกิน 2 ครั้ง ที่สำคัญ ต้องคอยระมัดระวัง “5 ส” ต่อไปนี้ให้ดีๆ เพราะ “ถ้ามีพฤติกรรมตรงกับ 2 ใน 5 ข้อนี้ ถือว่าคุณแย่แล้วล่ะ”
 

ทั้ง “5 ส” ที่ว่าคือ เสียเวลา, เสียสุขภาพ, เสียความรู้สึก, เสียความสัมพันธ์ และ เสียความตั้งใจ “ถ้าจะเล่นก็ต้องไม่เสียเวลาชีวิต เล่นอยู่ในอัตราที่พอดี, ต้องไม่เสียสุขภาพ ไม่ใช่วันๆ นั่งอยู่แต่หน้าคอมพ์, ต้องไม่เสียความรู้สึก อันนี้ตอนที่เล่นอยู่ คนป่วยจะไม่รู้สึกหรอกครับ แต่พอเลิกเล่นแล้ว ถึงจะคิดได้ว่า ไม่น่าเลย เสียเวลาจัง ทำให้ตัวเองเสียความรู้สึก แล้วก็คิดว่าจะไม่ทำอีก แต่พอไปเล่นอีก ก็เป็นอีกอยู่ดี,
ต้องไม่เสียความสัมพันธ์ คือหัดอยู่กับครอบครัวบ้าง พูดคุยหากิจกรรมทำ ไม่ใช่อยู่แต่ร้านเกมไม่กลับบ้าน บางคนนอนมันที่นั่นเลยก็มี สุดท้ายคือ อย่าให้เสียความตั้งใจ ถ้าตั้งใจว่าอยากเป็นหมอ เป็นตำรวจ ฝันเรื่องอะไรเอาไว้ก็ต้องทำให้ได้ ต้องรู้จักคิดว่า ถ้าเล่นเกมอยู่แบบนี้ต่อไป มันไม่มีวันจะทำได้อย่างที่ฝันเอาไว้แน่นอน
 

สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่คิดไม่ออกว่าจะเริ่มต้นช่วยเหลือลูกหลานของตัวเองยังไงดี ดร.แนะนำว่าให้ใช้วิธีตีเนียน ห้ามใช้ไม้แข็งอย่างเด็ดขาด
 

อย่าไปพูดว่าห้ามเล่นครับเพราะมีแต่จะทะเลาะกัน เดี๋ยวอาจจะบันดาลโทสะตามที่เป็นข่าวอีก ถ้าเป็นเด็กผู้ชาย ให้คุณพ่อเข้าไปถามตอนลูกเล่น ลองเข้าไปเล่นกับเขา ให้เขาสอน แล้วก็ทำเป็นเพลินไปกับการเล่นเกม บอกว่ามันสนุกดีเหมือนกันนะเนี่ย พอเล่นไปสักพัก เด็กเขาก็จะรำคาญเพราะว่าเขาติดเกม เขาจะอยากเล่น มันก็จะทำให้เขาได้นั่งรอคุณพ่อเล่นแล้วเขาก็จะค่อยๆ รู้สึกว่าเวลาคนเล่นเกมมันดูหมกมุ่นขนาดไหน ขนาดพ่อเขายังหมกมุ่นจนลืมลูกตัวเองเลย ถ้าเป็นลูกผู้หญิงก็ให้คุณแม่เข้าหาครับ ก็น่าจะช่วยได้”
 

ระหว่างนั้นก็ต้องออกกฎอย่างเคร่งครัด ไม่ให้เด็กไปเล่นเกมตามร้าน ให้เล่นอยู่ในบ้านดีกว่า เพราะควบคุมดูแลง่ายกว่า หรือถ้าบ้านไหนไม่มีคอมพิวเตอร์เป็นของตัวเอง ก็ต้องระบุเวลากลับบ้านให้ชัดเจน ผู้ปกครองต้องใจแข็ง ถ้ากลับบ้านไม่ตรงเวลาก็ต้องไม่ให้เข้าบ้าน ให้เขารู้ว่าแหกกฎแล้วมีแต่จะลำบาก
 

เหนือสิ่งอื่นใด ถ้าต้องการให้ปัญหา “เด็กติดเกม” ได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน ภาครัฐต้องเอาจริงเอาจังกับการควบคุมร้านเกม จัดโซนในการตั้งร้านที่แน่ชัดเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ ไม่ใช่ปล่อยให้ผุดขึ้นตามตรอกซอกซอยโดยไม่สนอกสนใจ ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะเท่าที่ผ่านมา ดูเหมือนจะยอมทุ่มทุนไปกับนโยบายด้านเศรษฐกิจและการเมืองมาตลอด หรือไม่ก็มุ่งปราบปรามการเสพติดยา จนอาจลืมไปแล้วว่า เสพติดเกมก็น่ากลัวไม่แพ้กัน...

น่ากลัวว่าถ้าปล่อยไว้ให้รอยแผลแห่งปัญหานี้ยิ่งเรื้อรัง อนาคตของชาติอาจค่อยๆ ล้มหายตายจากไปและถูกฝังกลบใน “สุสานความบันเทิง” ชนิดนี้โดยไม่ทันได้รู้ตัว

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE







ฆ่าตัวตาย น้อยใจแม่ห้ามเล่น
ช็อคคาเกม
อันธพาลในร้านเกม
สุสานเด็กติดเกม
เคี้ยง ขณะติดเกม (ซ้าย) หลังเลิกเกมได้ (ขวา)
กำลังโหลดความคิดเห็น