xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายพุทธิกาเสนอกิจกรรมสุขแท้ด้วยปัญญาเข้าสถานศึกษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายพุทธิการุกใช้กิจกรรมสุขแท้ด้วยปัญญา สร้างหลักสูตรพ่อแม่อาสาดูแลเด็กในชุมชน เด็กอาสาดูแลผู้สูงอายุ ดูแลผู้ฟอกไต เสนอเข้าให้เป็นหลักสูตรสถานศึกษา

นายธวัชชัย โตสิตระกูล กรรมการบริหารเครือข่ายพุทธิกา กล่าวว่า จากการที่เครือข่ายพุทธิกา ได้จัดทำโครงการสุขแท้ด้วยปัญญา ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นั้น พบว่า โครงการในระยะที่ 4 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2555 ได้สร้างทักษะและกระบวนการชุมชนที่สามารถลดช่องว่างที่มีในชุมชนได้ อาทิ ในภาคอีสานมีอัตราประชาชนวัยทำงานย้ายถิ่นสูง โครงการจึงเน้นการสร้างชุมชนเพื่อรองรับสถานการณ์ เช่น เกิดกิจกรรมแม่อาสาที่มีผู้สูงอายุในชุมชนอาสาดูแลเด็กและร่วมอบรมผ่านประวัติศาสตร์ชุมชน ขณะเดียวกันก็เกิดเครือข่ายเยาวชนร่วมดูแลผู้สูงอายุอีกทางหนึ่ง หรือในพื้นที่เขตเมืองที่เกิดปัญหาเยาวชนติดเกมคอมพิวเตอร์ ชุมชนจึงร่วมสร้างกิจกรรมเพื่อดึงเยาวชนเหล่านั้นมาทำสิ่งที่สร้างสรรค์ว่า เกิดประโยชน์กับส่วนร่วมมากกว่า เป็นต้น ซึ่งโครงการดังกล่าวจะสิ้นสุดในเดือนเมษายน 2556 ทั้งนี้ก่อนที่จะสิ้นสุดโครงการโดยเฉพาะในช่วงส่งท้ายเก่าก้าวเข้าสู่ปีใหม่ ทางเครือข่ายพุทธิกาและสสส.เปิดรับสมาชิกใหม่ๆให้มาเข้ามามีส่วนร่วมในการทำความดีให้แก่ชุมชนในช่วงปีใหม่นี้ด้วย

นายธวัชชัย กล่าวว่า ส่วนโครงการต่อเนื่องที่ใช้เวลาพัฒนากิจกรรมมามากกว่า 2-3 ปี เช่น โครงการกลับสู่ต้นน้ำที่ให้เยาวชน 3 ศาสนา คือ พุทธ คริสต์ อิสลาม แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องศาสนา โครงการสุขแท้แม้ฟอกไตที่ให้กระบวนการชุมชนเป็นพี่เลี้ยงผู้ป่วยโรคไต และโครงการวิถีชีวิตไตรสิกขา เด็กปัญญาอ่อนทำได้ ซึ่งได้ร่วมพัฒนาศักยภาพเยาวชนที่มีปัญหาทางสมองนั้น พบว่า นอกจากกิจกรรมจะผสานเครือข่ายจิตอาสาในชุมชนมาร่วมกันได้แล้ว ยังได้สร้างบุคลากรจิตอาสาหน้าใหม่ที่พร้อมจะเป็นต้นแบบในงานพัฒนามิติอื่นๆ ทั้งนี้ ในช่วงท้ายปีที่ 4 และระยะต่อไปโครงการจะพยายามนำแนวคิดสุขแท้ด้วยปัญญาไปขยายผล และประสานงานร่วมกับหน่วยสังคมที่มีอยู่มากกว่าเดิม ทั้งการนำไปพัฒนาเป็นหลักสูตรกิจกรรมในสถาบันศึกษา การร่วมกับองค์กรพัฒนาต่างๆ เพื่อประยุกต์หาเครื่องมือที่เหมาะสมในการขับเคลื่อนงานให้เกิดสังคมสุขแท้ด้วยปัญญาต่อไป

“ทักษะและแนวคิดสุขแท้ด้วยปัญญา ที่ต้องคิดถึงผู้อื่นมากกว่าตัวเอง ไม่พึ่งพิงความสุขทางวัตถุ เชื่อมั่นในความเพียรของตน ไม่หวังลาภลอยรอโชค และรู้จักคิดอย่างมีเหตุผล ไม่ได้จำกัดที่รูปแบบกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่าง 4-5 ปีที่ทำงานมา อธิบายได้ว่า แนวคิดนี้สามารถเข้าไปร่วมได้กับทุกกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นในงานอาสา ในหลักสูตรการเรียน ในกระบวนการชุมชน โดยที่ทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อสร้างประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนต่อส่วนรวมและผู้ปฏิบัติก็มุ่งพัฒนาตัวเองไปพร้อมๆกัน”กรรมการบริหารเครือข่ายพุทธิกา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น