ชีวิตของคนเรา หากเปรียบอย่างง่ายๆ ก็คงคล้ายกับต้นไม้ เจริญเติบโตจากหน่ออ่อน ค่อยผลิใบกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ “โด่ง-องอาจ สิงห์ลำพอง” ชายอีกหนึ่งคนที่ค่อยๆ เติบโตอย่างงดงามในเส้นทางเบื้องหลังสายบันเทิงจากผู้กำกับงานมิวสิกวิดีโอ ภาพยนตร์ ละคร จนวันนี้มานั่งตำแหน่งผู้บริหารช่อง 8 ค่ายอาร์เอส ช่องเคเบิลติดอันดับที่ตอนนี้ใครๆ ก็พูดถึง นอกจากนั้นเขายังแผ่กิ่งก้านให้ร่มเงาสร้างประโยชน์ด้วยบทบาทงานสอนหนังสืออีกด้วย
ก้าวเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่
ปฏิเสธไม่ได้ว่าตำแหน่งเก้าอี้ผู้บริหาร ใครๆ ก็อยากครอบครอง และ “โด่ง-องอาจ สิงห์ลำพอง” ชายหนุ่มผู้โชคดีคนนี้ก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารช่อง 8 ช่องเคเบิลที่กำลังติดตลาด ด้วยวัยเพียง 40 ปี แต่กลับได้ทำงานในตำแหน่งสูงเช่นนี้แสดงว่าตัวเขาคงมีดีซ่อนอยู่ในตัวไม่น้อย เราจึงเริ่มต้นบทสนทนาว่าหนทางชีวิตกว่าจะมาถึงวันนี้ของเขาเป็นเช่นไร
“ผมเรียนจบมาก็ทำที่อาร์เอสเลย แต่แรกเนี่ยๆ ทำมิวสิกวิดีโอก่อนแล้วก็ได้ทำกับพี่ปรัชญา ปิ่นแก้ว พอทำได้สักประมาณ 2 ปี ผมก็ย้ายไปทำหนัง เรื่องแรกของอาร์เอสฟิล์มเรื่อง ฝันติดไฟ หัวใจติดดิน แล้วก็ภายหลังจากทำหนังเสร็จ 2 เรื่อง ผมก็ย้ายมาทำละคร ทำไปได้สัก 2 ปีเหมือนกัน
พอดีตอนนั้นบริษัทอาร์เอสเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็ได้เข้าไปบริหารให้กับบริษัทในเครือ ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำโปรดักชัน เฮาส์ แล้วสักพักอาร์เอสขาดคนที่จะทำธุรกิจภาพยนตร์ ผมก็ย้ายมาอีกเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตกับการตลาด ช่วงนั้นก็จะทำด้านภาพยนตร์อย่างเดียวเลย หลังจากนั้นจึงได้มาเป็นผู้บริหารช่อง 8”
ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านการทำงานหลากหลายทั้ง มิวสิควิดีโอ ภาพยนตร์ ละคร ผลงานความภาคภูมิที่ประดับไว้ในห้องทำงานคงการันตีได้ว่าเขาเป็นคนที่มีความสามารถสร้างสรรค์ เป็นนักผลิตงานบันเทิงตัวฉกาจอีกคนหนึ่งของวงการเลยทีเดียว ซึ่งระยะเวลาการทำงานที่ล่วงเลยมากว่า 23 ปี พิสูจน์ให้เขาได้รู้ว่างานที่ตัวเขาหลงใหลที่สุดคือการทำมิวสิกวิดีโอ งานก้าวแรกของเขานั่นเอง
“ถ้าชอบจริงๆ ผมชอบทำมิวสิกวิดีโอ อาจจะเป็นเพราะว่าโตมากับมิวสิกวิดีโอ เรารู้สึกว่ายุคที่เราเรียนที่เราโตมา คนที่ทำมิวสิกวิดีโอมันเท่ เก่ง ถ้าเป็นสมัยนี้ก็เทียบได้กับคนทำหนังนั่นแหละ แต่ยุคนั้นภาพยนตร์ยังไม่บูมมากขนาดนี้ เราก็รู้สึกว่าความฝันของเราคืออยากทำครีเอทีฟ เป็นผู้กำกับมิวสิกวิดีโอ มันก็คงเป็นเรื่องฝังใจ เมื่อก่อนผมฟังเพลงแล้วจะคิดตามได้ตลอด ฟังเพลงอะไรก็ได้ ค่ายไหนก็ได้ ผมก็จะคิดเป็นภาพตลอด เป็นลักษณะอย่างนี้ติดตัวมา
แล้วพอช่วงที่ได้กลับมาทำภาพยนตร์เป็นผู้อำนวยการหนังก็มีโอกาสกลับไปช่วยเขาทำมิวสิกวิดีโอบ้าง คือผมทิ้งไปประมาณ 10 ปีเลย ไม่เคยแตะเลย พอกลับไปทำก็รู้สึกว่ามันเป็นความสุข คือหลังจากวันนั้นวันที่ผมได้กลับไปทำมิวสิกวิดีโอเนี่ย ด้วยความที่เราผ่านมาทุกจุด ทุกชิ้นแล้ว ก็เลยรู้ว่า อ๋อ สิ่งที่เราชอบที่สุดคือสิ่งนี้แหละ หลังจากที่เคยไม่แน่ใจว่าเราชอบทำอะไรมากกว่ากัน
ถามว่าที่ชอบเพราะอะไร ผมว่าการฟังเพลงแล้วคิดเรื่องตามมันเป็นการผ่อนคลายอย่างหนึ่งนะ เราได้จินตนาการ ถ้าเอางานทุกชิ้นมากองรวมกัน สิ่งที่ผมมักจะเอากลับมาดูบ่อยๆ ก็คือมิวสิกวิดีโอ เพียงแต่ว่ามันเป็นจุดที่ผ่านไปแล้ว เราโตเกินกว่าที่จะไปทำแล้ว แต่นั่นก็เคยเป็นความฝันเล็กๆ ที่เราทำแล้วรู้สึกมีความสุข”
ยิ่งสูง ยิ่งหนาว แต่ไม่หวั่น
เด็กหนุ่มไฟแรงเพิ่งเรียนจบหมาดๆ ก้าวกระโดดเข้ามาในบริษัทงานบันเทิงชื่อดังอย่างอาร์เอส จากผู้กำกับงานเล็กๆ ขยับขยายกลายมานั่งแท่นผู้บริหารบริษัทเครืออลาดิน เฮาส์ โตขึ้นมาเรื่อยๆ จนได้ครองตำแหน่งผู้บริหารช่อง 8 ช่องเคเบิลน้องใหม่ในเครืออาร์เอส
“มันเป็นนโยบายของทางอาร์เอสช่วงสัก 3-4 ปีที่ผ่านมา ที่เริ่มบุกตลาดแซตเทิลไลต์ เมื่อก่อนเราจะมีช่องสบายดี (Sabaidee TV) ช่องยู แชนแนล (You Channel) มันก็จะเป็นลักษณะของช่องซึ่งเป็นเซกเมนต์ จากนั้นนโยบายของอาร์เอสคืออยากจะทำช่องซึ่งเป็นลักษณะวาไรตี้ ดึงกลุ่มคนดูที่เป็นแมสจริงๆ เลยต้องหาคนเข้ามาบริหารซึ่งช่อง 8 คอนเทนต์ของมันอยู่กับงานละครเป็นหลัก ใช้ละครเป็นตัวเดิน พอดีเรามีประสบการณ์เกี่ยวกับละคร เขาจึงเห็นว่าเราน่าจะเข้ามาทำงานตรงจุดนี้ได้”
มีคำเคยกล่าวไว้ว่า “ยิ่งสูง ยิ่งหนาว” แต่สำหรับโด่งเรื่องนี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด เขากลับสนุกกับงานเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากงานบริหารที่ได้รับมอบหมายยังคงผูกเกี่ยวกับงานโปรดักชันที่เขาถนัด
“ต้องบอกก่อนว่าด้วยความที่เป็นอาร์เอส ลักษณะระบบการบริหารจะมี 2 รูปแบบง่ายๆ คือหนึ่ง คนที่เพียวบริหารเลย คุณไม่ต้องทำกับคน คุณก็บริหารตามหลักธุรกิจ แต่สำหรับผม ผมแค่บริหารงานในสิ่งที่ผมถนัด หมายถึงผมจะดูแลองค์กรในส่วนของงานโปรดักชันเป็นหลัก เพราะฉะนั้นเราก็ยังรู้สึกว่าเรายังใช้ทักษะในการทำงานโปรดักชันอยู่มากกว่าครึ่งด้วยซ้ำ
แต่อีกส่วนคือการบริหารคนอื่น การบริหารงบประมาณ การตลาด เข้ามาเพิ่ม แต่ว่าทั้งหมดถ้ามองย้อนกลับไปแล้ว เราก็ทำมาตั้งแต่เด็กแล้วล่ะ เพียงแต่ว่าเราคุมในสเกลเล็กๆ ก็เหมือนกันในแต่ละจ็อบ เพียงแต่ว่ามันใหญ่ขึ้น ใหญ่ขึ้นแค่นั้นเอง เลยรู้สึกว่ามันไม่ยากอย่างที่คิด มันไม่ได้ยากเกินไป”
คำตอบหนักแน่นว่าต่อให้งานยิ่งนาน ยิ่งยากขนาดไหน โด่งก็ไม่หวั่น ด้วยความโชคดีเรื่องของลักษณะการบริหารงานที่ไม่ได้ก้าวข้ามเปลี่ยนแนวทางการทำงานแบบพลิกขั้ว เขาจึงยังรู้สึกสบายกับตำแหน่งผู้บริหาร แต่สิ่งที่เขามองว่าเป็นเรื่องยากคือเรื่องของคน ต่างที่มา ต่างความคิด และเรื่องของการตลาดที่นับวันการแข่งขันยิ่งสูง
“พอโตขึ้นก็จะมีปัญหาเรื่องของการทำงานกับคนมากกว่า ลูกน้อง 100 คน มีความต้องการ 100 แบบ เรารู้สึกว่าเราก็ต้องจัดการคนเหล่านี้ให้ได้ แล้วอีกอย่างคือเรื่องของการตลาด เราต้องทำงานในส่วนนั้นค่อนข้างเยอะ ส่วนธุรกิจแซตเทิลไลต์ การแข่งขันค่อนข้างเร็วและสูง ก็เลยต้องทำงานกับสองส่วนนี้เยอะ ส่วนด้านโปรดักชันเราน่าจะพอเอาอยู่”
นาทีนี้ต้องยกให้ ช่อง 8
ตอนนี้ นอกเหนือจากฟรีทีวีทั่วไป ช่องเคเบิลที่มาแรงแซงทางโค้งคงต้องยอมให้ ช่อง 8 ด้วยระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี แต่กลับเป็นที่รู้จักของผู้คน ชื่อติดตลาดและเติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้บริหารยิ้มแก้มปริ ช่อง 8 ประสบความสำเร็จอย่างเหนือความคาดหมาย
“ตัวช่อง 8 จริงๆ เกิดขึ้นมาได้เกือบจะ 2 ปีแล้ว ก็ถือว่าประสบความสำเร็จจากที่มีคนรู้จักเราค่อนข้างเยอะ ในตอนแรกๆ ต้องบอกว่าเราเป็นคนบุกเบิกความเป็นเอนเตอร์เทนเมนต์ วาไรตี้ (Entertainment Variety) เพราะนโยบายของช่องคือการทำให้เป็นเหมือนฟรีทีวี เหมือนได้ดูรายการโทรทัศน์ทั่วไป ทีนี้พอเราเริ่มทำคนยังไม่ค่อยเข้าใจ ยังงงว่าช่องนี้มันจะเป็นยังไง เราก็พยายามจนคนดูเริ่มเข้าใจว่า รูปแบบ สไตล์ช่องมันเป็นแบบนี้ แล้วคนดูก็เห็นการเติบโตของช่อง คู่แข่งก็เริ่มจับทางเราออก”
จุดขายของช่อง 8 ที่โด่งภูมิใจนำเสนอคือเรื่องของละครเฟิร์สรัน ที่ไม่มีช่องไหนกล้าลงทุนทำเนื่องจากต้องใช้งบประมาณสูง แต่ที่อาร์เอสยอมทุ่มไม่อั้น พร้อมเนื้อหาละครตอบโจทย์คนดู แรง แซบถึงใจ แบบที่ฟรีทีวีทำให้ไม่ได้
“เราก็ยอมรับว่าเราเป็นกลุ่มแรก ไม่เคยมีใครทำละครเฟิร์สรันแบบเรา เพราะมันต้องใช้งบประมาณสูง เราใช้งบไม่แพ้ฟรีทีวีเลย แต่อนาคตต่อๆ ไป บางทีฟรีทีวีอาจทำไม่เท่าเราได้ด้วยซ้ำ ทีนี้ตลาดแซตเทิลไลต์ เกิดรายการบันเทิงวาไรตี้ค่อนข้างเยอะ เยอะขึ้นเรื่อยๆ ทุกช่องก็ต้องปูนโยบายออกมาให้ชัดเจนว่าจะทำรายการอย่างไร การแข่งขันในตลาดตอนนี้จึงสูงมาก ช่องเราก็พยายามที่จะหาจุดแตกต่างให้คนเข้ามาดูแล้วก็จดจำและเป็นแฟนของช่อง
ส่วนใหญ่แฟนของช่องเราเนี่ยเป็นกลุ่มแมสจริงๆ แล้วก็ 60% เป็นผู้หญิง ผมว่าคนกลุ่มนี้สิ่งที่เขาติดคือละคร ซึ่งละครในปัจจุบันเนี่ยก็จะมีอยู่ 3-4 ช่อง ในฟรีทีวี ช่องหลักเหล่านี้จะมีข้อแม้เรื่องการนำเสนอละเอียดอ่อนในการนำเสนอ เรื่องของเนื้อหา เรื่องของสังคม ที่พูดนี่ไม่ได้หมายความว่าช่อง 8 ไม่มีนะครับ เราก็ระมัดระวังในเรื่องเหล่านี้ เพียงแต่ว่าเราฟรีกว่าในเรื่องกลไกของการเซ็นเซอร์ เราก็มีระบบการจัดการของตัวเอง ทีนี้ในมุมมองของเรารู้สึกว่า คนดูขาดอะไรจากการดูละครทั่วไปในช่องฟรีทีวี ซึ่งเราก็คิดว่าเราหาเจอในช่วงปีนี้ว่าคนดูเขาขาดอะไร ช่อง 8 จึงเหมือนทางเลือกให้กับคนดูละครอีกแบบหนึ่งที่อาจชอบดูละครแบบนี้แต่ไม่มีที่ให้ดู”
ทุ่มงบ ปรับผัง เอาใจคนดู
ปีนี้เหลืออีกแค่ไม่กี่วันก็จะผ่านผลัดเป็นปีใหม่ หลายสถานีเตรียมปรับผัง เพิ่มรายการ เหมือนเป็นธรรมเนียมสร้างความสดใหม่ให้กับช่องตัวเอง ช่อง 8 ก็เตรียมการไว้ไม่ให้น้อยหน้าเช่นกัน โดยคาดว่าจะอัดละครให้ผู้ชมได้รับชมกันแบบเต็มอิ่ม
“สิ่งที่เราน่าจะเพิ่มเข้าไปคือเรื่องของละคร จากปกติเราจะผลิตปีละ 6-7 เรื่องต่อปี เพราะช่วงการฉายละครที่คุ้นๆ กันจะแบ่งเป็น 3 ก้อน จันทร์-อังคาร, พุธ-พฤหัสฯ, ศุกร์-อาทิตย์ ผมคิดว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคไม่เปลี่ยน เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องทำตามโมเดลนั้น เราก็เลยคิดว่าจะเพิ่มการออกอากาศ จากตอนนี้เราฉายแค่ จันทร์ อังคาร พุธ ปีหน้าเราก็จะฉายเพิ่ม ศุกร์ เสาร์ และปลายปีหน้าคาดว่าคนดูจะได้ชมละครครบทั้ง 7 วัน เหมือนดูฟรีทีวีทั่วไป
ส่วนเซอร์ไพรส์ครบ 2 ปี น่าจะเป็นเรื่องของละคร ก็คิดว่าเราจะมีโปรเจกต์ใหญ่เป็นละครฟอร์มใหญ่ที่ระดับฟรีทีวีกล้าทำบ้าง ไม่กล้าทำบ้าง แต่เราก็จะทำ ถามว่ามันเป็นการลงทุนที่สูงไหม ก็สูงกว่าทุกครั้งที่เราเคยลง แต่เราคิดว่าถ้าเราจะยืนบนพื้นที่ตรงนี้ให้ได้ การลงทุนและเนื้อหาสาระเป็นสิ่งสำคัญ ผลกำไร ขาดทุน มันเป็นเรื่องที่ตามมาทีหลัง ถ้ามันดีจริงเดี๋ยวส่วนนั้นก็ตามมา เราเลยเลือกว่าจะเซอร์ไพรส์คนดูด้วยคอนเทนต์ใหญ่ๆ”
อีกส่วนที่ได้จัดเตรียมไว้คือเรื่องของข่าว ที่หวังเสริมเข้าไป เพื่อตอบสนองผู้ชมให้ครบถ้วนทั้งสาระและความบันเทิง เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับใครหลายคนที่อิ่มตัวกับฟรีทีวีเดิมๆ
“เรื่องข่าว น่าจะช่วงกลางปีครับ คือการจะทำให้พฤติกรรมคนดูอยู่กับช่องได้ทั้งวัน ผมว่ามันก็ต้องมีความหลากหลาย ไม่มีใครมานั่งดูละครทั้งวันโดยที่ไม่ไปรับข่าวสารอื่น มันต้องมีครบ คนดูช่องเราต้องไม่ตกประเด็น ตกข่าว ได้รับความบันเทิงครบ ผมว่าข่าวมันเป็นข้อมูลสำคัญที่คนปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ เพราะฉะนั้นการจะทำให้ครบวงจรเราต้องมีพวกนี้อยู่ ซึ่งข่าวคือสิ่งที่เราขาดอย่างเดียว แต่จะทำรายการข่าวในรูปแบบไหน อันนี้คือสิ่งที่เราต้องมองหา”
ก้าวตามฝัน ทำตามใจ
อีกบทบาทหนึ่งที่โด่งภาคภูมิใจ และเป็นความใฝ่ฝันในชีวิตคือการเป็นอาจารย์สอนหนังสือ หลังจากมีเรื่องประทับใจกับอาจารย์ที่เคยสอนภาษาอังกฤษให้กับเขา การได้ให้ความรู้ แนวความคิดกับนักศึกษาถือเป็นความสุขอีกอย่างหนึ่งของโด่ง เขาหัวเราะเบาๆ ก่อนจะพูดอย่างมีความสุขว่า มันน่าดีใจที่ไปไหนก็มีแต่คนร้องทักตัวเขาว่า “อาจารย์”
“ชอบมาก คือด้วยความที่อยากเป็นอาจารย์อยู่แล้วตั้งแต่เด็กเลย อยากสอนภาษาอังกฤษ เราเลยชอบบทบาทการเป็นอาจารย์ตรงนั้น พอเรียนปริญญาโทจบ มีคนมาชวนไปสอนก็ตกลง สอนที่แรกที่ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ พอเข้าไปสอนการได้อยู่กับเด็กๆ ซึ่งเขามีคำถามตลอดเวลา แล้วเราเอาประสบการณ์ของเรา เอาสิ่งที่เราเคยเรียนมาไปช่วยเขาแก้ปัญหา ถ้ามองแบบน้ำเน่าเลยนะ เหมือนเราสร้างบุคลากรเข้ามา
ทุกวันนี้เวลาผมไปออกงาน หรือไปตามสื่อ คนส่วนใหญ่เป็นลูกศิษย์ทั้งนั้น ไม่รู้ทำไม เยอะมาก งานนึงเป็นสิบๆ คนเลย เรารู้สึกว่าความเป็นอาจารย์กับศิษย์เนี่ย มันจะอยู่กับเราไปจนตาย ต่อให้เราเจอลูกศิษย์ที่เป็นลูกน้อง เขาก็ยังจะเรียกเราว่าอาจารย์ ไม่มีมาเรียกพี่ หรืออะไร ผมว่ามันเป็นสรรพนามที่ศักดิ์สิทธิ์นะ ความสัมพันธ์ ความรู้สึกระหว่างกันมันเป็นความรู้สึกที่ดีมาก”
เวลาหนึ่งสัปดาห์ของโด่งดูน้อยลงไปถนัดตาหากเทียบกับคนอื่น จันทร์-ศุกร์ เป็นผู้บริหาร เสาร์เป็นอาจารย์สอนหนังสือ อาทิตย์เป็นนักศึกษาปริญญาเอก ถึงแม้ไม่มีเวลาได้พักแต่โด่งก็บอกว่าเขามีความสุขในแบบที่เป็นและไม่ได้ต้องการอะไรมาเพิ่มเติม
“ถามว่าเหนื่อยมั้ย ก็ใช่ ทำงานจันทร์-ศุกร์ วันเสาร์สอนหนังสือเต็มวัน วันอาทิตย์ผมก็ไปเรียน (ปริญญาเอก) แทนที่เราจะเอาเวลาไปอยู่กับครอบครัว ซึ่งผมเนี่ยทำงานเริ่มสิบโมง วันนั้นทั้งวันก็ทำงาน พอกลับถึงบ้านประมาณ 3 ทุ่ม ผมก็จะปิดสวิตช์งานหมดเลยไม่เอางานกลับมาทำที่บ้าน แต่จะเปิดคอมพ์ทำวิทยานิพนธ์ต่อถึงตี 2
เพราะเหลืออีกครึ่งปีก็จะจบแล้วเลยอยากรีบทำให้เสร็จ พอวันศุกร์ก็มาเตรียมการสอน วันเสาร์เราก็ไปพูด 6 ชั่วโมง มันเหนื่อยนะ ต้องใช้พลังงานเยอะมาก คนเดียวพูดกับคนทั้งห้อง พอวันอาทิตย์ก็ไปเรียน ชีวิตก็จะวนเป็นลูปอยู่อย่างนี้ มันดูเหมือนไม่ได้พักนะ แต่ทั้งหมดที่เราทำเรามีความสุข เลยไม่ต้องไปเที่ยวอะไรเยอะแยะ เราอยู่ตรงนี้เราก็มีความสุขได้”
คนอื่นคงสรุปให้โด่งได้ว่า เขาเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว การงานได้เป็นถึงผู้บริหาร มีความสุขกับการเป็นอาจารย์สอนหนังสือ เพิ่มความรู้ความสามารถด้วยการเรียนปริญญาเอกซึ่งกำลังจะคว้าตำแหน่งด็อกเตอร์มาครองในไม่ช้า แต่ตัวเขาเองรีบชิงปฏิเสธก่อนบอกว่า ในชีวิตเขายังเหลืออะไรที่ต้องทำอีก
“ไม่เลย ยังแน่ๆ เพราะผมยังต้องทำอะไรอีกเยอะ ในหน้าที่การงานยังต้องทำอะไรอีกหลายอย่าง เพราะอาร์เอสก็โต แตกแขนงไปเยอะ เราก็ต้องช่วยกันไป ส่วนหน้าที่การสอน ผมก็ยังรู้สึกว่ายังไม่โอเค เพราะเราไม่ได้เป็นอาจารย์ประจำ คือตัวผมเนี่ยใจฝันไว้ว่าอยากมีตำแหน่งทางวิชาการเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ เป็นรองศาสตราจารย์ แต่คุณจะได้ตำแหน่งก็ต่อเมื่อเป็นอาจารย์ประจำ ซึ่งในชีวิตคงไม่มีโอกาสที่จะเป็นแบบนั้น เราเลยรู้สึกว่าต่อให้เป็นด็อกเตอร์ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จทางด้านวิชาการ ผมจึงมองว่าตอนนี้ชีวิตยังไม่ประสบความสำเร็จ ยังไม่ถึงจุดที่ตัวเองพอใจ”
ถึงปากบอกว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ และยังมีอะไรให้ทำอีกมากมาย แต่ตัวเขาเองก็หวังเพียงแค่ได้ทำงานในสายงานที่รักต่อไปจนกว่าจะถึงเวลา และสุดท้ายคงไปอยู่กับบทบาทที่รักอย่างการเป็นอาจารย์
“ไม่น่าจะมีแล้วครับ คิดไว้ในใจวันนึงถ้าสมมติเราไม่ได้ทำงาน ก็คงจะออกไปเป็นอาจารย์จริงๆ อันนี้คือจุดมุ่งหมายในชีวิตอยู่แล้ว คือคิดว่ามันเหลือแค่นั้นแล้ว เหลือแค่การที่จะได้ออกมาทำงานส่วนอื่นถ้าเราไม่ได้ทำตรงนี้ มองง่ายๆ คือการทำงานตรงนี้มันก็จะมีเวลาของมันสำหรับธุรกิจแบบนี้ เราก็ต้องมองอนาคตว่า ถ้าเราผ่านจุดนี้ไปแล้วจะทำอะไร ผมก็ตอบตัวเองว่าอยากจะสอนหนังสือจนกระทั่งเกษียณไป”
เรื่องโดย ทีมข่าว m-lite
ภาพโดย วรวิทย์ พานิชนันท์