กลายเป็นประเด็นเดือดที่สุดบนโลกออนไลน์ตลอดปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และขยายความดรามาออกสู่สื่อหลักอย่างกว้างขวาง หลังจากจดหมายสื่อสารภายในของบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด(มหาชน) หลุดออกมาว่อนโลกออนไลน์ ชี้ชัดว่าไม่ต้องการ “วรรณกรรมที่มีลักษณะของชายรักชาย หญิงรักหญิง เป็นลักษณะของการรักร่วมเพศ” ให้มาวางจำหน่ายภายในร้าน
จุดประเด็นให้ชาวสีรุ้งหรือกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ยกโขยงกันมาลงชื่อต่อต้านนับพันคนภายในวันเดียว และถกเถียงกันอย่างดุเด็ดเผ็ดมันจนถึงตอนนี้ แม้ล่าสุดทางซีเอ็ดจะออกมาขอโทษขอโพย ชี้แจงผ่านจดหมายหลังเกิดเหตุ แต่ดูเหมือนว่าเรื่องนี้จะไม่จบลงง่ายๆ เสียแล้ว
ประวัติศาสตร์ความดรามา
เรื่องราวความไม่เข้าใจกันทั้งหมดเริ่มต้นมาจากจดหมายที่มีชื่อเรื่องว่า “มาตรฐานการรับจัดจำหน่ายหนังสือวรรณกรรมโรแมนติก อีโรติก” ซึ่งเขียนขึ้นโดยหัวหน้าแผนกรับจัดจำหน่ายของทางซีเอ็ด ส่งถึงผู้ฝากจัดจำหน่ายหรือสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่ทำงานร่วมกัน โดยเนื้อหาภายในระบุชัดเจนว่าให้ผู้ฝากจัดจำหน่าย ตรวจสอบ คัดกรอง ปรับแก้เพื่อไม่ให้หนังสือมีเนื้อหาสื่อไปในลักษณะ 6 ข้อดังนี้
1. วรรณกรรมที่มีลักษณะของชายรักชาย หญิงรักหญิง เป็นลักษณะของการรักร่วมเพศ 2. สื่อไปในทางขายบริการทางเพศ เช่น นักเรียน, นักศึกษา, Sideline 3. ภาษาและเนื้อหาที่ใช้ หยาบโลนไม่สุภาพ ลามก, สัปดน, ป่าเถื่อน, วิปริต, ซาดิสต์, หยาบคาย ฯลฯ 4. เนื้อหามีการบรรยายถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างโจ่งแจ้ง และในที่สาธารณะ วิปริต ผิดธรรมชาติที่มนุษย์พึงเป็น เช่น ลิฟต์, น้ำตก, ลานจอดรถ ฯลฯ
5. เนื้อหาที่มีการทารุณกรรมทางเพศทั้งที่เป็น ภรรยาและมิใช่ภรรยา หรือ ทารุณต่อเด็ก, เยาวชน, สตรีและเครือญาติ อันบ่งบอกถึงการขัดต่อกฎหมาย ศีลธรรมอันดี 6. เนื้อหาที่บรรยายขั้นตอนการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นภาพ และบรรยายให้เห็นภาพทางกายภาพของอวัยวะเพศอย่างชัดเจน จนทำให้สามารถเป็นเครื่องมือยั่วยุทางเพศ ทำให้เกิดความต้องการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ถูกคน ไม่ถูกที่ และไม่ถูกเวลา ซึ่งหากตรวจพบภายหลังว่ามีเนื้อหาเช่นทั้ง 6 ทางซีเอ็ดจะไม่ดำเนินการกระจายสินค้า จนถึงเก็บหนังสือคืน ยกเลิกการจัดจำหน่าย
จากเนื้อความในจดหมายทั้งหมดข้างต้น ชวนให้คนกลุ่มหนึ่งไม่อาจทนนิ่งเฉยอีกต่อไปได้ เพราะไม่เข้าใจว่า “เพศที่สามผิดตรงไหน?” เหตุใดต้องแบนหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย จึงรวมตัวกันตั้งคณะรณรงค์คัดค้านร้านขายหนังสือขนาดใหญ่อย่างซีเอ็ด ด้วยการตั้งอีเวนต์บนเฟซบุ๊กในนาม “ร่วมลงชื่อกรณีคัดค้านข้อกำหนดห้ามจำหน่ายหนังสือ ชายรักชาย/หญิงรักหญิง ในร้านหนังสือซีเอ็ด” ชักชวนทุกเพศทุกวัย ทั้งหญิง ชาย กะเทย ทอม ดี้ ฯลฯ ให้เข้ามาร่วมลงชื่อและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยใช้เวลาแค่เพียงวันเดียว ก็มีผู้ร่วมลงชื่อทะลุหลักพัน และถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง
หลังเกิดเหตุ หนึ่งในคณะรณรงค์ “การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์” เดินทางไปคืนบัตรที่ซีเอ็ดเชียงใหม่ พร้อมเรียกร้องให้ผู้ต่อต้านทุกคนเปลี่ยนภาพโปรไฟล์เฟซบุ๊กมาใช้รูปเครื่องหมายห้ามเข้าพาดทับโลโก้ร้านซีเอ็ด เพื่อแสดงการต่อต้านร้านซีเอ็ดอย่างเปิดเผย ยิ่งเพิ่มอุณหภูมิการโต้กลับครั้งนี้ให้ยิ่งเดือด เป็นที่สนอกสนใจของสื่อแขนงต่างๆ ร้อนไปถึงบริษัทซีเอ็ด ผู้สร้างประเด็นในครั้งนี้ให้ต้องออกมาชี้แจง ไขความเข้าใจผิดต่อสังคมด้วยจดหมายอีกฉบับ อธิบายว่าจดหมายฉบับแรกที่ถูกเผยแพร่ออกไปเป็นเพียงการสื่อสารที่ผิดพลาดภายในองค์กรเท่านั้น ขอให้เชื่อเถิดว่าทางซีเอ็ดไม่มีเจตนาแบ่งแยกทางเพศแต่อย่างใด
เพื่อแสดงมิตรจิตรมิตรใจต่อการแสดงความใส่ใจของทางซีเอ็ด ทางแกนนำจึงประกาศ “ยุติการร่วมลงชื่อกรณีคัดค้านข้อกำหนดไม่จำหน่ายหนังสือ ชายรักชาย/หญิงรักหญิง และวรรณกรรมโรแมนติก อีโรติก ในร้านหนังสือซีเอ็ด” เอาไว้ก่อน แต่ถึงแม้จะยุติการลงชื่อแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะหยุดเคลื่อนไหว ขณะนี้ คณะผู้รณรงค์จึงตั้งกลุ่มใหม่ขึ้นบนเฟซบุ๊กในนาม “คณะรณรงค์คัดค้านกรณีจดหมายจาก SE-ED Book” เพื่อรอฟังคำตอบที่ชัดเจนจากคนต้นเรื่อง รอให้ซีเอ็ดออกมาประกาศยกเลิก 6 ข้อที่ระบุไว้อย่างเต็มปากเต็มคำ
ซีเอ็ดกราบขออภัย
ถึงวินาทีนี้ หลายคนคงสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทจำหน่ายหนังสือยักษ์ใหญ่อย่างซีเอ็ดกันแน่ อะไรดลใจให้จู่ๆ ก็ออกมาประกาศเจตนารมณ์และให้รายละเอียดเป็นข้อๆ ได้ขนาดนี้ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กร ในฐานะผู้ดูแลนโยบายทั้งหมดของบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด(มหาชน) จึงขอเปิดใจ อธิบายทุกข้อสงสัยเอาไว้ตรงนี้
“จดหมายฉบับนั้น มันไม่ใช่เจตนารมณ์ของบริษัทนะครับ แต่เป็นหนังสือของแผนกหนึ่งที่ชื่อว่าแผนกรับจัดจำหน่าย ออกถึงสำนักพิมพ์ที่เป็นคู่ค้ากับเขาโดยตรง สำนักพิมพ์ที่เขาดูแล และแผนกรับจัดจำหน่ายก็เป็นคนละส่วนกับร้านหนังสือซีเอ็ดบุ๊คส์เซ็นเตอร์ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ร้านหนังสือซีเอ็ดต้องรับผลกระทบไปด้วย ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วร้านหนังสือของเรารับขายหนังสือทุกเพศทุกวัย เราไม่เคยกีดกันเลย
เจตนารมณ์จริงๆ ที่เราอยากสื่อสารมีแค่ 2 ประเด็นเท่านั้นเองครับ ประเด็นแรกคือเรื่องวรรณกรรมเยาวชน ว่าเราจะจัดหมวดหมู่วรรณกรรมอย่างไรเพื่อที่จะให้วรรณกรรมเยาวชนมีเนื้อหาข้างในเล่มที่เหมาะกับเยาวชนจริงๆ เพราะที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มันยังไม่ชัด ปกหนังสือของวรรณกรรมทุกประเภทจะเป็นรูปการ์ตูนหมดเลย ทำให้ผู้ปกครองที่พาบุตรหลานมาซื้อหนังสือไม่สบายใจ เพราะเคยมีจำนวนหนึ่งที่มาซื้อ ตัดสินจากปกที่ดูหวานแหวว ปรากฏว่าพอซื้อไปให้ลูกอ่าน มาเห็นทีหลังว่าข้างในมีฉากบรรยายการมีเพศสัมพันธ์ที่โจ๋งครึ่มแบบนั้นอยู่ ทำให้เกิดการร้องเรียนมายังทางเราอยู่เป็นระยะๆ
บวกกับประเด็นที่สองคือวรรณกรรมทั่วไป เราพยายามเน้นย้ำอยู่ตลอดกับทางคู่ค้าของเรา ซึ่งมีอยู่ไม่ถึงสิบรายว่าอยากให้ใส่ใจในเรื่องของข้อความในหนังสือ การทำรูปภาพ และสาระทั้งหมดที่อยู่ในตัวหนังสือ ไม่ให้สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายต่างๆ เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 287 เรื่องของการเผยแพร่สื่อลามกอนาจาร หรือพ.ร.บ.ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น เกี่ยวกับสื่อยั่วยุให้เกิดความรุนแรง
เพราะฉะนั้น ซีเอ็ดในฐานะที่เป็นผู้จำหน่าย เราก็ต้องแสดงอะไรบางอย่างออกไปให้สังคมได้รับรู้ว่า เราได้พยายามอย่างที่สุดแล้วที่จะป้องกันปัญหาเหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่อย่างนั้น เวลามีปัญหาเกิดขึ้นมา ตรวจพบหนังสือผิดกฎหมาย เราก็จะไม่มีอะไรบ่งบอกได้เลยว่าเราจริงจังกับการป้องกันแล้วจริงๆ”
ส่วนเรื่องความคิดจะแบนวรรณกรรมเกี่ยวกับเพศที่สามนั้น เขายืนยันด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า ขอให้คลายความกังวลลงไปได้เลย
“ที่ซีเอ็ดเอง เราก็มีคนทำงานทุกเพศทุกวัย ทั้งคนพิการ คนปกติ ทุกคนทำงานร่วมกัน ได้รับการดูแลจากบริษัทอย่างเป็นปกติ เท่าเทียมกัน ถ้าใครทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพก็สามารถเติบโตขึ้นมาเป็นหัวหน้างานได้ เราเองก็มีหัวหน้างานที่เป็นเพศที่สามเยอะแยะ ระดับผู้บริหารก็มีครับ เพียงแต่ผมคงบอกไม่ได้ว่าใคร เพราะฉะนั้น ถ้ามีนโยบายของบริษัทเกี่ยวกับเรื่องกีดกันทางเพศออกมา กลุ่มคนเหล่านั้นเขาไม่มีวันยอมแน่นอน
แล้วเราก็ไม่ได้ต้องการจะคัดกรอง เซ็นเซอร์เลย เพียงแต่ต้องการจัดหมวดหนังสือให้ถูกต้องน่ะครับ ทุกคนที่เดินเข้าร้านหนังสือทุกร้าน ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกอ่านได้ตามรสนิยมของตัวเอง แค่จัดหมวดหมู่ได้อย่างถูกต้อง ทุกอย่างจบ”
ต้องการเพศสัมพันธ์นอกกรอบ
ถึงแม้ทางซีเอ็ดจะพยายามออกมาอธิบายเพื่อปิดประเด็นให้รีบจบขนาดไหน แต่ดูเหมือนคำตอบที่ได้รับ จะยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้คัดค้านอยู่เหมือนเดิม “ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่” หนึ่งในแกนนำ “คณะรณรงค์คัดค้านกรณีจดหมายจาก SE-ED Book” และผู้ทำงานเกี่ยวกับสิทธิความหลากหลายทางเพศ ขอฝากความคิดอีกมุมเอาไว้บ้าง
“ซีเอ็ดเป็นร้านหนังสือขนาดใหญ่มาก ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ การส่งต่อข้อความว่าจะไม่รับหนังสือแบบนี้มาขาย มันมีนัยไปในทางลบนะ เป็นการผลิตซ้ำอคติที่มีต่อคนรักเพศเดียวกันเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสังคม มีลักษณะอย่างนี้ตลอด เช่น สภากาชาด ใช้วิธีไม่รับเลือดคนที่เป็นกะเทย เป็นเกย์ เพราะรู้สึกว่าไม่อยากคัดกรองเลือด ทั้งๆ ที่ความจริง เขาต้องใช้มาตรฐานเดียวกับทุกคนไม่ว่าคุณจะมีเพศสัมพันธ์แบบไหน
กรณีของซีเอ็ดก็เหมือนกันค่ะ สิ่งที่เขาทำ มันบ่มเพาะความเกลียดชังต่อคนที่เป็นเพศที่สาม ถามว่าในเมื่อกฎหมายก็กำหนดเรื่องสื่อลามกเอาไว้ครอบคลุมอยู่แล้ว ทำไมคุณจะต้องมาเขียนกำหนดเพิ่มอีกล่ะคะ นั่นก็แสดงว่าคุณเลือกปฏิบัติไง”
ฉันทลักษณ์ หรือ “มน. รักแต่แมว” ตามชื่อรณรงค์ในเฟซบุ๊กบอกว่า เธอไม่ได้เดือดร้อนเพราะเนื้อหาในจดหมายกระทบเรื่องเพศที่สามเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงการกีดกั้นจินตนาการของงานเขียนด้วย “นอกจากข้อ 1 แล้ว เราก็ไม่เห็นด้วยกับข้อ 2-6 ที่เขาพูดถึงด้วยค่ะ ทั้งเรื่องการใช้ภาษาไม่สุภาพ ฉากมีเพศสัมพันธ์ คิดว่าถ้ากำหนดกันขนาดนี้ มันจะไปตีกรอบการเขียนเกินไป ทำให้นักเขียนต้องเซ็นเซอร์ตัวเองอยู่ตลอดว่าจะต้องเขียนให้อยู่ในกรอบ สุดท้ายคนอ่านก็จะได้อ่านงานเขียนแค่ไม่กี่อย่าง ได้อ่านแค่งานเขียนที่เรียบร้อย ได้อ่านแค่เนื้อหาที่อยู่ในกรอบความดีงามที่ร้านซีเอ็ดกำหนดเอาไว้ ตามร้านหนังสือสีขาวที่อยากจะเห็นแต่ความดีงามทั้งหลายทั้งปวงที่เขานิยามเอง
อะไรอยู่นอกกรอบ เพศสัมพันธ์นอกกรอบ ไม่ใช่เพศสัมพันธ์บนเตียง ไม่ได้ร่วมเพศกันตามวันเวลาที่เขากำหนดไว้ มันจะไม่สามารถเขียนได้ ซึ่งในชีวิตจริงๆ ของมนุษย์ มันไม่ใช่อย่างนั้นเลย ข้อกำหนดที่ทางซีเอ็ดออกมาจึงเป็นข้อห้ามที่ตลกมาก ไม่รู้ออกมาได้ยังไง ถ้าทำงานด้านหนังสือจริงๆ คุณจะรู้ว่าคุณไม่สามารถไปตีกรอบเรื่องอะไรแบบนี้ได้ และน่าสนใจที่ว่าทางซีเอ็ดจะทำยังไงกับงานวรรณกรรมของนักเขียนผู้ใหญ่หลายๆ คนที่มีลักษณะดังกล่าว มีตัวละครดังกล่าว เขาจะจัดการยังไง สิ่งที่เขาเขียนมามันทำให้เราตีความได้ว่า แค่คุณเป็นเกย์ เป็นเพศที่สาม คุณก็ผิดแล้ว”
พูดจากใจแกนนำคณะรณรงค์ เธอยอมรับว่านิยายของชาวสีรุ้งบางประเภทก็ค่อนข้างบรรยายเรื่องเพศสัมพันธ์กันอย่างโจ๋งครึ่มจริงๆ จึงเห็นด้วยที่ทางซีเอ็ดระบุไว้ในจดหมายให้หนังสือประเภทดังกล่าว ต้องระบุโลโก้ 18+ ที่ปกหน้า และระบุหมวดตรงบาร์โค้ดว่า “หมวดววรรณกรรมผู้ใหญ่” หรือ “คำเตือน : วรรณกรรมผู้ใหญ่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชน” และนี่คือมุมคิดที่น่าสนใจอีกมุมหนึ่ง
“ถ้าพูดถึงนิยายชายรักชายจะค่อนข้างเขียนกันฮาร์ดคอร์หน่อย มีบางประเภทที่พูดถึงเพศสัมพันธ์ที่รุนแรงจริงๆ แต่นั่นเป็นเพราะเขาเขียนขึ้นมาจากแรงขับเคลื่อนที่อยากจะปลดปล่อยไงคะ ไม่ได้เขียนเพื่อจะนำเสนอความเป็นจริงในชีวิตหรอก ก็เหมือนเวลาเราอ่านหนังสือแฟนตาซี ทุกอย่างก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง และนิยายชายรักชายที่พูดถึง เขาก็ไม่ได้วางขายในซีเอ็ดอยู่แล้วนะคะ หนังสือประเภทนี้เขาขายกันใต้ดินค่ะ แล้วกลุ่มคนอ่านหนังสือก็เฉพาะกลุ่มมากๆ แทบจะไม่มีวางขายตามร้านหนังสือทั่วไปกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น คุณไม่จำเป็นต้องออกกฎว่าจะไม่รับวางหรอกค่ะ เพราะมันก็ไม่มีที่จะวางอยู่แล้ว (หัวเราะ)
ส่วนนิยายหญิงรักหญิงที่ทำอยู่ จริงๆ แล้วมีฉากเพศสัมพันธ์น้อยมากนะคะเมื่อเทียบกับนิยายรักต่างเพศ ส่วนใหญ่จะเป็นฉากกุ๊กกิ๊กมากกว่า บางทีตัวเราเองยังรู้สึกเลยว่าทำไมนิยายหญิงรักหญิงถึงไม่เขียนฉากเหล่านั้นให้เยอะกว่านี้ เพราะพวกเราก็อยู่นอกกรอบการเป็นผู้หญิงทั่วๆ ไปอยู่แล้ว”
โปรดติดตามตอนต่อไป
สิ่งที่คณะรณรงค์อยากได้ยินมากที่สุดตอนนี้คือ คำประกาศยกเลิก “มาตรฐานการรับจัดจำหน่ายหนังสือวรรณกรรมโรแมนติก อีโรติก” ทั้ง 6 ข้อในจดหมายฉบับนั้น และนี่คือคำตอบของทางซีเอ็ด
“ถ้าให้ตีความกันเป็นข้อๆ เลย เริ่มตั้งแต่ข้อ 1 เกี่ยวกับเนื้อหาที่พูดถึงเรื่องเพศ จริงๆ แล้วเราหมายถึงทุกเพศแหละครับ ไม่ว่าจะเป็นชาย-ชาย หญิง-หญิง หรือชาย-หญิงที่มีเนื้อหาพูดถึงความสัมพันธ์ทางเพศที่ลึกซึ้งแบบโจ่งแจ้ง ก็ไม่สามารถจัดให้อยู่ในหมวดวรรณกรรมเยาวชนได้ทั้งนั้น เราอยากให้มันอยู่ในหมวดโรแมนติก-อีโรติก เจตนารมณ์ของข้อ 1 คือ เราแค่ต้องการดูแลหมวดวรรณกรรมเยาวชนเท่านั้น
แต่ถ้าเกิดตัวละครในเรื่อง จะเป็นชาย หญิง หรือเพศที่สาม ทุกรสนิยมทางเพศ แต่ไม่มีการพูดถึงหรือบรรยายเรื่องเพศสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งก็สามารถอยู่ได้ทุกหมวดอยู่แล้วครับ มันเป็นเรื่องธรรมดา เราไม่กีดกันอยู่แล้ว อาจจะจัดให้อยู่ในหมวดวรรณกรรมทั่วไป ส่วนเรื่องจะรับเป็นสายส่งให้สำนักพิมพ์ไหนได้บ้าง ก็ต้องดูเงื่อนไขทางการค้าด้วย แต่ถ้าเป็นเรื่องเพศ ผมยืนยันครับว่าไม่มีประเด็นเรื่องเพศที่ 3 เพศที่ 2 เพศที่ 1 เข้ามาเกี่ยวข้องแน่นอน
ถ้าเป็นไปได้ ถ้าให้ทางซีเอ็ดเขียนหนังสือชี้แจงจริงๆ เราไม่เขียนแบบข้อ 1-6 นั่นหรอกครับ ถามว่าเราจะประกาศยกเลิกจดหมายฉบับนั้นไหม คงไม่ต้องยกเลิกหรอกครับ เพราะการยกเลิกหมายถึงมันเคยมีผลบังคับใช้ แต่นี่ มันเป็นโมฆะตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะทั้ง 6 ข้อที่เขียนไปในจดหมายฉบับนั้น มันลงลึกรายละเอียดเกินไป เป็นการเขียนจากการพูดคุยและใส่อคติลงไปเป็นตัวอักษร ทำให้เจตนารมณ์ของบริษัทถูกบิดเบือน
ออกมาพูดแบบนี้ หลายคนถามว่าทางซีเอ็ดจะเสียหน้าไหม ผมบอกเลยครับว่าซีเอ็ดเป็นบริษัทที่ไม่มีหน้าตาครับ ถ้าเราผิดก็ต้องยอมรับผิดและต้องแก้ไข สำหรับคนที่งอนเรา น้อยใจเรา ผมคิดว่าถ้ารับทราบถึงความจริงใจของเราและการสำนึกผิดของเรา ผมเชื่อครับว่าสังคมไทยของเราเป็นสังคมที่ให้อภัย และทุกเพศทุกวัยก็จะค่อยๆ ให้โอกาสเรา ผมว่าความจริงใจมันพิสูจน์อยู่กับตัวได้ สุดท้ายจริงๆ ซีเอ็ดก็อยากจะขอโอกาสทุกท่าน และต้องกราบขออภัยจริงๆ หวังว่าทุกท่านจะให้โอกาสเราได้แก้ตัว เพราะเราไม่ได้มีความคิดเรื่องกีดกันทางเพศจริงๆ ครับ”
ส่วนคนที่ไม่เข้าใจว่าทำไมเพศที่สามต้องออกมาเรียกร้องเรื่องราวต่างๆ ในสังคมอยู่บ่อยๆ ด้วย แกนนำคณะรณรงค์คัดค้านก็อยากชี้แจงเอาไว้ให้ได้ลองคิดกัน
“คนที่ไม่เข้าใจอาจจะมองว่าเรื่องมาก ออกมาเรียกร้องกันบ่อยมาก นั่นก็เพราะเราไม่ได้รับสิทธิที่ควรจะได้รับค่ะ และสิ่งที่ออกมาเรียกร้องก็ไม่ใช่เรื่องสิทธิพิเศษอะไรเลยนะ แต่เป็นการเรียกร้องจากสิ่งที่เราถูกลิดรอนออกไปต่างหาก จริงๆ แล้วน่าจะถามคนรักต่างเพศมากกว่าด้วยซ้ำว่า คุณไม่รู้สึกอะไรเลยเหรอที่เพื่อนมนุษย์ของคุณ เขาไม่ได้รับสิทธิเท่ากันกับคุณ ก็อยากให้เข้าใจค่ะว่าเราไม่ได้ต้องการสิทธิที่เหนือกว่าคนอื่นเลย อย่างครั้งนี้ เรื่องการอ่านหนังสือก็เป็นสิทธิอีกข้อหนึ่งที่เราควรจะได้รับอย่างเท่าเทียมเหมือนกัน”
“ยังไม่เลิกรณรงค์ หากซีเอ็ดไม่ยกเลิกข้อกำหนดที่ 1” คือคำประกาศอัพเดทล่าสุดจากกลุ่มผู้ต่อต้าน... สุดท้าย เรื่องนี้จะยุติลงหรือไม่ หรือสังคมจะพัดให้คำตัดสินเอนเอียงไปในทางไหน คงต้องติดตามตอนต่อไปกันเอาเอง...
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE