เพียง 1 อาทิตย์ที่ผ่านมา มีข่าวโศกนาฏกรรมรักถึง 3 ข่าว ตั้งแต่ข่าวการฆ่าตัวตาย ทำร้ายอีกฝ่ายอย่างรุนแรง และข่าวฆ่าอีกฝ่ายก่อนฆ่าตัวตายตามโดยมีเหตุปัจจัยเกี่ยวกับความรักทั้งสิ้น
เกิดอะไรขึ้นกับความสัมพันธ์รักของคนยุคปัจจุบัน เมื่อความรักแปรเปลี่ยนรวดเร็ว ยุคสมัยผันผ่าน สื่อ ละคร ภาพยนตร์ เกม หลายปัจจัยถูกเพ่งเล็ง หรือเหตุที่เกิดขึ้นจะเป็นเพียงเรื่องบังเอิญเท่านั้น คนฆ่ากันตายทุกวันอยู่แล้ว หากแต่ไม่เป็นข่าว
แต่หากทั้งหมดไม่ใช่เรื่องบังเอิญ? ปัจจัยใดที่ชักโยงอยู่เบื้องหลังบทละครเศร้าของโศกนาฏกรรมข่าวเหล่านี้ แล้วเราจะแก้ไขสิ่งที่เป็นอยู่นี้ได้อย่างไร?
ฉนวนเหตุโศกนาฏกรรมรัก
จาก 3 เหตุการณ์ที่ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างได้แก่ เหตุอดีตนักศึกษาป.โททะเลาะกับแฟนด้วยเหตุมึนเมาก่อนกระโดดตึกฆ่าตัวตาย เหตุชายหนุ่มอายุเพียง 19 บุกห้องแฟนสาวก่อนราดน้ำมันเผาร่างจากความหึงหวง และเหตุนักศึกษาคู่เกย์หึงโหดก่อเหตุยิงคู่ขาก่อนฆ่าตัวตายตามกลางมหาวิทยาลัย จะพบได้ว่าทั้ง 3 เหตุการณ์ผู้ก่อเหตุยังอยู่ในช่วงวัยรุ่น
ทั้งนี้ชนวนก่อเหตุในภาพรวมของโศกนาฏกรรมเหล่านี้ พ.ต.ต.ดร.กฤษพงค์ พูตระกูล ผู้ดูแลหลักสูตรอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต เผยว่าธรรมชาติของช่วงวัยนี้ที่เป็นช่วงวัยที่ยังขาดประสบการณ์ และมีอารมณ์อ่อนไหว
“มันเป็นความอ่อนแอตามวัย ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่เฉพาะในสังคมไทยเป็นเหมือนกันทั่วโลก ฉะนั้นเราเองหรือผู้ใหญ่จะเข้ามาจัดการดูแลปัญหาเหล่านี้อย่างไร?”
จุดสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือหนึ่งใน 3 กรณีนี้ มีกรณีของความรักในเพศเดียวกัน ซึ่งมีงานวิจัยบอกว่า ความรักในเพศเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นชายรักชาย หรือหญิงรักหญิงนั้นมีแนวโน้มที่จะมีการใช้รุนแรงมากกว่าความรักระหว่างชาย - หญิงทั่วไป
“ถ้ารักเพศเดียวกันอย่างหญิงรักหญิง มีการวิเคราะห์กันแล้วว่า ถ้าหึงหวงหรือทะเลาะอะไรกันมา มีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงมากกว่า”
แม้ในสังคมไทยจะยังไม่พบกรณีฆ่ากันจากความรักของเพศเดียวกันมากนักก็ตาม ทั้งนี้การสื่อสารของเทคโนโลยีที่เข้าถึงกันได้อย่างรวดเร็วก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ความสัมพันธ์ของคนยุคก่อนกับคนยุคนี้มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน
“ย้อนกลับไป 10 ปีที่แล้ว การติดต่อสื่อสารมันยังไม่ดี หญิง - ชายจะเจอกันก็เจอกันตามงานวัด เรียกว่าอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ แต่ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตแปบเดียวมีเบอร์โทรศัพท์ก็ติดต่อถึงกันได้โดยตรงแล้ว สิ่งนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ฉาบฉวยและทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้”
อีกด้านหนึ่งของปัญหา พ.ต.ต.ดร.กฤษพงค์ เผยว่ามีงานวิจัยหลายตัวบ่งชี้ว่า การมีความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดีจะช่วยเยียวยาแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นได้ ทว่าในสังคมไทยทุกวันนี้ ครอบครัวมีขนาดเล็กลง ขณะที่อยู่ร่วมกันอย่างแปลกแยกมากขึ้น จากครอบครัวขยายที่มีปู่ ย่า ตา ยาย และเครือญาติอยู่กันพร้อมหน้า กลายเป็นครอบครัวเดี่ยวที่มีเพียงพ่อ แม่ ลูก เมื่อมาเจอกับภาวะเศรษฐกิจที่มีปัญหาซึ่งมาพร้อมกับความเจริญทางด้านวัตถุ ไม่แปลกที่จะทำให้พ่อแม่ไม่มีเวลาให้กับลูก และส่งผลให้ไม่เกิดความผูกพันทางสังคมในด้านนี้
“ครอบครัวยุคใหม่มักจะปล่อยให้เด็กเผชิญโลกเอง ซึ่งเขาอาจจะคิดว่าสมัยก่อนก็เลี้ยงดูกันมาแบบนี้ ปล่อยๆให้โตเองก็โตมาได้ แต่สมัยนี้มันไม่เหมือนกันแล้ว ถ้าเด็กไม่อยู่ในสายตาผู้ใหญ่แล้วเนี่ย เขาต้องมีภูมิคุ้มกัน คือเขาต้องคิดเองได้ แต่เรายังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับเด็กและเยาวชนของเราได้เลย”
สื่อ - ละคร - เกม ตัวปัญหาบ่มเพาะความรุนแรง !!?
เหตุโศกนาฏกรรมรัก หลายครั้งเกิดจากอารมณ์ชั่ววูบ ตามหน้าหนังสือพิมพ์จึงพบว่า ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยรุ่นหรือวัยรุ่นตอนปลาย เมื่อมองถึงปัจจัยที่จะทำให้เกิดเหตุรุนแรงเหล่านี้ หลายครั้งจึงมีการกล่าวโทษไปถึงสิ่งที่มีอิทธิพลเหนือวัยรุ่น
สื่อ - ละคร (ภาพยนตร์) - เกม มักถูกโยนให้เป็นผู้ร้ายหลายกรณี
สื่อจะถูกหยิบยกมาพูดในแง่มุมของการนำเสนอข่าวที่รุนแรงจนทำให้สังคมชาชิน ขณะที่ฝ่ายของละครตบจูบก็มักจะถูกทวงถามถึงความรับผิดชอบ เมื่อมีเหตุรุนแรงที่มีลักษณะเลียนแบบละครเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเด็กฆ่าตัวตาย หรือเด็กตบกันแย่งแฟนกันเลียนแบบละคร และเมื่อพบว่าผู้ก่อเหตุเป็นเด็กอายุน้อย เกมส์จะตกเป็นจำเลยของสังคมทันที
พ.ต.ต.ดร.กฤษพงค์ เผยว่ามีงานวิจัยหลายตัวบอกว่า ความก้าวร้าวของมนุษย์นั้นไม่ได้มีจุดเริ่มมาจากสื่อ ภาพยนตร์ หรือเกม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อบุคลิกของคนที่รับเสพสื่อนั้นๆ
“แม้ว่าทั้ง 100 รายจะไม่ได้กระทำความผิด แต่มันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมของเด็กที่ก้าวร้าวเหมือนกัน ตรงนี้เราก็ต้องดูว่า เรามีการควบคุมเกมเหล่านี้มากน้อยเพียงใด หรือว่าละครบ้านเรายังมีฉากความรุนแรงอยู่โดยที่ผู้ปกครองไม่ได้ให้คำแนะนำกับลูกหลาน”
ระบบการเรตติงทั้งละครและภาพยนตร์ที่มีการจำกัดอายุ เมื่ออายุไม่ถึงควรได้รับคำแนะนำจากผู้ปกครองระหว่างการรับชม ในความจริงก็ไม่สามารถทำได้ ขณะที่เกมซึ่งมีการจำกัดอายุและเวลากลับไม่มีการควบคุมโดยคนในสังคมเอง
“ทีนี้พอปัญหาเกิดขึ้น รูปแบบการแก้ปัญหาของภาครัฐก็มีปัญหาอีก เพราะไม่ได้แก้ไขตามกรณี แต่เน้นภาพรวม และแก้ที่ปลายเหตุ พอเห็นว่าเกมเป็นปัญหา เป็นข่าวก็ไล่ปิดร้านเกม ตรงนี้ทำไม่ถูก มันต้องมีการแก้ปัญหาในระยะยาว และทำอย่างต่อเนื่องเป็นกระบวนการ”
ครอบครัว - ความหวังอันเลือนราง
เมื่อทางรอดอยู่สถาบันครอบครัว แต่ครอบครัวยุคใหม่ก็ไม่สามารถฝากความหวังไว้ได้ ด้วยข้อจำกัดหลายๆอย่าง และเด็กอ่อนแอตามช่วงวัย สิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อแก้ไขปัญหาตรงนี้ พ.ต.ต.ดร.กฤษพงค์ มองว่า จุดเริ่มคือผู้ใหญ่ที่ควรปรับเปลี่ยน และเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเด็ก
“เราอาจจะต้องค่อยๆ ปรับเปลี่ยนจากครอบครัว ต้องค่อยๆ พูดคุยกัน ไม่ใช่ทั้งอาทิตย์ไม่เคยคุยกันเลย อยู่ๆ มาซักไซ้ถาม เด็กเขาก็ไม่อยากตอบ ผู้ใหญ่ต้องค่อยๆปรับเรียนรู้ไปกับวัยรุ่นที่เขาก็เรียนรู้ในทุกวันอยู่แล้ว”
ทั้งนี้ ในต่างประเทศการแก้ไขปัญหาโดยภาครัฐจะมีการทำเป็นกระบวนการและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเปลี่ยนรัฐบาลอย่างไร มาตรการตรงนี้ก็จะไม่เปลี่ยน ซึ่งแตกต่างจากในประเทศไทย เขามองว่า เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล นโยบายเปลี่ยน การลำดับความสำคัญของปัญหาและกระบวนการแก้ไขก็จะเปลี่ยนไปด้วย
“ในต่างประเทศจะมีการส่งนักจิตวิทยาลงไปพูดคุยกับเด็ก วิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้น ศึกษาพื้นหลังของครอบครัว ครอบครัวมีปัญหาหรือเปล่า ไม่มีเงินหรือเปล่า แล้วแก้ปัญหาเป็นรายกรณี ขณะที่ในประเทศไทยบางรัฐบาลให้ความสำคัญกับเยาวชนก็มีจะมาตรฐานจับเยาวชนกันเยอะ ส่งนักจิตวิทยาลงไปดู แต่พอเปลี่ยนรัฐบาลแล้วกลับหันไปให้ความสำคัญกับการจับยาเสพติด มาตรการตรงนี้ก็จะหายไป ตรงนี้ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง”
ดังนั้นสิ่งที่พอจะยึดมั่นได้ที่สุดในสังคมไทยคงจะหนีไม่พ้นครอบครัว หรือสังคมไทยที่จะต้องช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชน อย่างน้อยเพื่อกำจัดตัวแปรหนึ่งที่อาจเกิดเป็นเหตุโศกนาฏกรรมขึ้นมาได้
….....
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเป็นเพียงภาพรวมของปัญหา เพราะปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุนั้นแท้จริงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนซึ่งอาจมีความเฉพาะของแต่ละกรณีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
บางกรณีผู้ก่อเหตุอาจไม่ใช่วัยรุ่น บางกรณีอาจไม่ได้มาจากการขาดความผูกพันกับครอบครัว บางกรณีอาจจะมาจากสภาพจิต ทว่าปัจจัยทั้งหมดในที่นี้ก็เป็นสิ่งที่สังคมกำลังเผชิญอยู่ และอาจนำมาซึ่งหนทางในการระมัดระวังป้องกันปัญหาก่อนที่โศกนาฏกรรมจะเกิดขึ้นได้
ข่าวโดยทีมข่าว Live
ภาพจากเดลินิวส์