xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบเสธ.อ้าย ระวัง! ตำรวจไทยเกียร์ว่าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจากเสธ.อ้ายหรือพล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประกาศรวมตัวกลุ่มองค์การพิทักสยามชุมนุมทางการเมืองวันที่ 24 พฤศจิกายน ทันใดรองนายกรัฐมนตรีผู้ต้องดูแลความสงบเรียบร้อยอย่างร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง ประกาศระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 5 หมื่นนายเพื่อมาควบคุมการชุมนุม
 
ตำรวจมากมายจากหลายพื้นที่เดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ ตามคำสั่ง
 
แต่กำลังพล 5 หมื่นนายนั้นมากเกินความจำเป็นหรือไม่ ? ที่ต้องแลกกับหน้าที่หลักของการพิทักสันติราษฏร์ หรือบุรุษในชุดสีกากีจะเป็นเพียงทาสของนักการเมืองเท่านั้น
 

ระดมพลตำรวจแช่แข็งกรุงเทพฯ

หลังจากที่เสธ.อ้ายประธานองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) นัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 24 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ โดยมีภารกิจ “แช่แข็งประเทศ 5 ปี เพื่อแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากนักการเมือง” ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า มีกระแสข่าวการระดมผู้ร่วมชุมนุมจากทั่วทุกสารทิศ เมื่อรวมเข้ากับการประเมินจากการชุมนุมครั้งก่อนที่สนามม้านางเลิ้ง ทำให้ทางฝ่ายการเมืองได้คาดดการณ์ตัวเลขผู้ชุมนุมอยู่ที่ 5 หมื่นคน

จากนั้นเองที่รองนายกรัฐมนตรีออกมาประกาศระดมตำรวจทั่วประเทศกว่า 5 หมื่นนายเข้ามาดูแลความสงบในการชุมนุม จัดกำลังเป็น 112 กองร้อย เมื่อเทียบกับวันสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่การชุมนุมมาถึงจุดแตกหักเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่เพียง 30 กองร้อยเท่านั้น
ดูเหมือนกำลังพล 5 หมื่นนายจะเป็นตัวเลขที่มากเกินกว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่หลายเท่านัก

ถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังออกมาเผยถึงการใช้อำนาจถึงขั้นที่ให้ตำรวจระดมชาวบ้านมาต่อต้านม็อบ โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุงได้ออกคำสั่งด้วยวาจาให้ผู้บัญชาการในพื้นที่ตำราจภูธรภาค 5 ทุกโรงพักนำมวลชนมาต่อต้านการชุมนุม โดยให้ระดมมวลชนมาโรงพักละไม่ต่ำกว่า 500 คน

จะเห็นว่าเป็นการใช้อำนาจที่นอกเหนือจากกรอบหน้าที่ของตำรวจ

มาถึงตอนนี้แม้จะมีการคาดการณ์ว่าอาจมีผู้ชุมนุมมากกว่า 5 หมื่นคนก็ตาม และกำลังเจ้าหน้าที่ 5 หมื่นคนนั้นเป็นการจัดกำลังแบบสับเปลี่ยนหมุนเวียน หากแต่กำลังคนของแต่ละท้องที่ของประเทศก็มีความขาดแคลนในการปฏิบัติงานอยู่แล้ว ปัจจัยตรงนี้เองที่อาจเป็นการทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออาชญากรรมที่จะเกิดขึ้นได้

ผศ.ดร. ปนัดดา ชำนาญสุข ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญและวิจัยด้านการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เห็นว่า การระดมกำลังเจ้าหน้าที่ถึง 5 หมื่นนายนั้นถือว่ามากเกินไป

“คิดว่ามากเกินไป มองว่ามันน่าจะเป็นลักษณะของการระดมพลมาเป็นระยะๆ วางแผนสนับสนุน เตรียมตัวอยู่ในพื้นที่ก่อนแล้วค่อยแบ่งซอยกำลังพลเป็นช่วงๆ ดูตามสถานการณ์ ประเมินตามสถานการณ์ ดังนั้นถ้าตามข่าวที่ระดมมา 5 หมื่น ก็คิดว่า เยอะเกินไป”


อย่างไรก็ตาม การที่ฝ่ายการเมืองมีอำนาจเหนือกระบวนการยุติธรรมในสังคมนั้นก็มีมาอย่างช้านานแล้ว โดยที่หลายครั้งประชาชนกล่าวโทษต่อการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกด้วย

ตำรวจถูกแช่แข็ง

การที่อำนาจการเมืองอยู่เหนือและกดทับเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น เป็นปัญหาหนึ่งที่กัดกินสังคมไทย จากการทำงานของเจ้าหน้าที่สู่ความเป็นอยู่ของประชาชน ตัวอย่างของการสั่งระดมพลครั้งนี้ ด้วยเงื่อนไขและความอ่อนไหวทางการเมือง
ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข ชี้ให้เห็นว่า ส่งผลต่อความคิดทัศนคติของประชาชนที่มีต่อตำรวจว่าไม่ใช่ตำรวจของประชาชนอีกแล้ว

“เพราะปกติกำลังตำรวจที่ดูแลอาชญากรรมในพื้นที่ก็มีไม่เพียงพออยู่แล้ว โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน คดีเกี่ยวกับทรัพย์สิน ยาเสพติดมันสูงมากๆ เพราะฉะนั้นพอเราระดมกำลังขึ้นมาสนับสนุนส่วนนี้ มันเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบต่อการทำงานในส่วนของการบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้าน คดีต่างๆ มันก็ค้างไปอีก”

คำสั่งจากภาคการเมืองนั้นเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หากเป็นการทำงานปกติ นโยบายที่รัฐบาลแต่ละชุดมุ่งเน้นก็จะส่งผลต่อการทำงาน ทำให้หลายครั้งการทำงานของเจ้าหน้าที่จึงมีลักษณะขาดช่วงกับการแก้ไขปัญหา

ซึ่งการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา เป็นต้นเหตุที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมไทยนั้นมีปัญหา ส่งผลให้ตำรวจไม่สามารถจะทำตัวให้กลายเป็นตำรวจของประชาชนได้อย่างแท้จริง

“เมื่อระดับบริหารงานบุคคลของกระบวนการยุติธรรมถูกแทรกแซง มันส่งผลกระทบไม่ใช่แค่ตัวข้าราชการ แต่มันกระทบถึงความสงบสุขภายใน ความมั่นคงปลอดภัยในทรัพย์สินและชีวิตของประชาชน ซึ่งถือเป็นเหตุปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของประชาชนในสังคม”

หากระบบยังไม่เปลี่ยนแปลง จิตสำนึกของนักการเมืองก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะไม่แทรกแซงกระบวนการทำงาน แต่สภาพการณ์ที่เป็นอยู่ เธอเผยว่า คือการที่นักการเมืองใช้อำนาจอย่างไม่มีขอบเขต และทุกวันนี้ก็ยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้นจนเห็นได้ชัดว่า ตำรวจบางคนแสดงตัวชัดเจนว่า เป็นคนของพรรคการเมืองไหน

 
“ตำรวจเองก็อึดอัด แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าตำรวจเองขึ้นมาได้ก็มาจากนักการเมือง เป็นแบบนี้มาทุกยุคทุกสมัย มันก็เป็นบุญคุณต่างตอบแทนกัน ฉะนั้นการต่อต้านขัดขืนตรงนี้ แม้ว่าจะไม่อยากทำ อึดอัดก็ต้องทำ มันไม่ได้ส่งผลแค่ตัวตำรวจ แต่ส่งผลต่อชาวบ้านด้วย ปกติคดีต่างๆ เกี่ยวกับทรัพย์ตำรวจก็แทบจะไม่ได้ทำให้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว มันก็ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่”

เมื่อมองไปถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในช่วงวันที่มีการชุมนุม เธอมองว่า การระดมกำลังมาแบบนี้มันทำให้ผู้ที่คิดจะก่ออาชญากรรมฮึกเหิมขึ้น เพราะเขารู้ว่ากำลังตำรวจต้องเข้ามาทำงานทำให้ได้รับผลกระทบในการดูแลชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
ทั้งนี้สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นคำสั่งจากฝ่ายการเมือง แม้จะมีความไม่เหมาะสมเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามระเบียบโดยไม่มีกลไกมารองรับในความไม่เห็นด้วยต่อการปฏิบัติหน้าที่

“ไม่ได้คะ จนถึงปัจจุบันนี้ตำรวจไม่มีกลไกในการขัดขืนคำสั่ง เพราะเรารับรู้กันดีว่า ภารกิจตรงนี้รัฐให้ความสำคัญเป็นอันดับ 1 ถ้าดูจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ภารกิจในการดูแลความเรียบร้อยในการจัดประชุมสภาก็ดี เรื่องความมั่นคงของรัฐบาลมาเป็นอันดับ 1 ถูกคาดหวังว่า คุณต้องสร้างผลงานได้เป็นรูปธรรม คุณต้องจัดการได้ ต้องควบคุมได้”

ม็อบการชุมนุมทางการเมืองก็มีมาหลายต่อหลายครั้ง จากการลงพื้นที่วิจัยของเธอก็พบว่า การต้องทำงานควบคุมฝูงชนทางการเมืองนั้นส่งผลเสียต่อสภาพจิตของตำรวจอีกด้วย แม้กระทั่งครอบครัวของตำรวจก็ตาม

“ไม่มีตำรวจคนไหนอยากทำภารกิจนี้ มันเป็นภารกิจที่มีความขัดแย้งทางจิตใจและการทำหน้าที่อย่างมาก ตัวม็อบก็ไม่ได้เป็นโจรหรืออาชญากร มันเป็นความแตกต่างทางความคิด กระทั่งตำรวจเองก็อาจมีความเห็นเดียวกับม็อบ มันเป็นความขัดแย้งทางความคิดแล้วมันก็มาถูกสั่งการโดยหน้าที่”

แม้ตำรวจจะสามารถโต้แย้งแสดงเหตุผลได้ แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นได้

“แสดงเจตจำนง แสดงวิธีคิด จำนวน 5 หมื่นนี่คือลดลงแล้ว จากที่บอกว่า หน่วยข่าวกรองว่าอย่างงี้ ประเมินสถานการณ์แล้ว ก็ได้มา ณ จุดนี้เหมาะสมที่สุดแล้ว แต่ตำรวจก็มีทางออกคือ รีบให้เหตุการณ์สงบเร็วที่สุดเพื่อที่จะถอนกำลังกลับไปพื้นที่”

ผลของการปฏิบัติงานนั้น หากไม่ทำตามภาคการเมืองไม่ได้อยู่ในรูปของการลงโทษที่ตำรวจผู้ใหญ่ลงโทษชั้นผู้น้อยเท่านั้น แต่จะโดนจัดการตั้งแต่ระดับสูงสุดเลย

“ตำรวจก็อยากออกมาเป็นตำรวจของประขาชน เหมือนตอนนี้ถูกแช่แข็งไว้ เพราะฉะนั้นต้องมีกลไกของภาคส่วนอื่น ภาคประชาสังคม สื่อ กลไกของกระบวนการอื่นๆ ที่มาแสดงเจตจำนงตรงนี้ ว่าเราต้องการเห็นทิศทางของตำรวจไทยไปในทิศทางไหน”

ในส่วนของการทำงานที่อาจจะทำให้เกิดความรุนแรง หรือเกินกว่าหน้าที่นั้น นักการเมืองอาจออกคำสั่งด้วยวาจาเพื่อสั่งตำรวจได้ ซึ่งจากประสบการณ์ที่อยู่ทำงานกับตำรวจมา เธอพบว่าธรรมชาติของตำรวจนั้นจะมีเหลี่ยมเชิง แตกต่างจากทหารที่จะตรงๆ ทำให้มีลีลาในการต่อรองกับฝ่ายการเมืองที่ควบคุมตัวเองอยู่

“ด้านหนึ่งตำรวจก็เรียนรู้ว่า ถ้าตัวเองเจ็บนักการเมืองจะไม่รับผิดชอบ แต่ถ้าไม่ทำตามก็ต้องถูกนักการเมืองเล่นงาน ดังนั้นจึงมีความสามารถในการประนีประนอมระหว่างหน้าที่และการเมือง จะบอกว่าตำรวจนั้น เอาตัวรอดเป็นยอดคนก็ว่าได้”

มาถึงตอนนี้สิ่งสำคัญที่เธออยากให้สังคมไทยได้ฉุกคิดก็คือการทำให้กลไกการทำงานของตำรวจมีอิสระพอที่จะทำให้ตำรวจสามารถออกมาเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ได้อย่างแท้จริง นั่นคือการแยกการเมืองออกจากการบริหารจัดการบุคลากรของตำรวจ

“อยากให้สังคมดูเหตุการณ์ตรงนี้ แล้วก็การรวมพลังกัน เรียกร้องให้ตำรวจหลุดพ้นจากการครอบงำทางการเมือง เพราะมันไม่ไหวแล้ว มันน่าเกลียดแล้ว ดูรู้เลยว่าตำรวจคนนี้ของพรรคการเมืองนี้ มันชัดเจนมาก แต่ก่อนยังไม่ชัดเจน เดี๋ยวนี้มันเปิดตัวเอง คิดว่าตำรวจเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย และนักการเมืองก็อยู่ในช่วงของการพัฒนา ตำรวจควรมีบทบาทที่ดีกว่านี้”








กำลังโหลดความคิดเห็น