xs
xsm
sm
md
lg

แจ๋วไทยเฮ! นายจ้างน้ำตาซึม สาวใช้ต่างด้าวพร้อมทะลักเข้าไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
“ทำงานวันหยุด-ลา-ป่วย ได้ค่าจ้าง” นี่เป็นสิทธิของ “แจ๋ว” หลังจากมีการออกกฎคุ้มครองแรงงานสาวใช้ตามบ้าน รวมถึงชาวไทยและชาวต่างชาติให้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างที่กดขี่ข่มเหง แต่ในทางกลับกันอาจสร้างปัญหาการลักลอบเข้ามาของแรงงานต่างด้าวมากขึ้น และอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาชญากรรมโจรในคราบแม่บ้านเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

หากพิจารณากฎคุ้มครองแจ๋วตามบ้าน ซึ่งในตอนนี้เริ่มบังคับใช้แล้ว จะเห็นว่ามีหลายข้อที่ทำให้นายจ้างบางคนต้องนั่งน้ำตาซึม อย่างหยุดสัปดาห์ละวัน หยุดตามประเพณีปีละ 13 วัน ได้ค่าจ้าง วันลาป่วย-วันหยุด โดยไม่เลือกว่าจะเป็นแรงงานที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ถ้าหากนายจ้างไม่ปฏิบัติตาม มีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับถึง 1 แสนบาท

กฎคุ้มครองแม่บ้านที่นายจ้างรับได้ยาก
ทันทีที่ออกกฎคุ้มครอง ทำให้สิทธิแม่บ้านทั้งชาวไทยและแรงงานข้ามชาติมีข้อได้เปรียบเพิ่มขึ้น ซึ่งครอบคลุมถึงแรงงานเถื่อนตามบ้าน ที่ไม่มีการจดทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย โดยมีรายละเอียดแต่ละข้อ ดังนี้

1.ลูกจ้างต้องมีวันหยุดประจำสัปดาห์ ไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 1 วัน
2.นายจ้างต้องกำหนดวันหยุดตามประเพณีปีละไม่น้อยกว่า 13 วัน ซึ่งรวมถึงวันแรงงานแห่งชาติด้วย และหากวันหยุดตามประเพณีตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ ให้ลูกจ้างหยุดเป็นวันหยุดชดเชยเพิ่มอีก 1 วัน
3.ลูกจ้างที่ทำงานครบ 1 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ปีละไม่เกิน 6 วันทำงาน
4.ลูกจ้างมีสิทธิ์ลาป่วยตามที่ป่วยจริงได้ และหากลา 3 วันขึ้นไป นายจ้างสามารถขอใบรับรองยืนยันจากลูกจ้างได้
5.กรณีลูกจ้างเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่เด็กโดยตรง
6.ลูกจ้างที่ทำงานในวันหยุดต้องได้รับเงินค่าทำงานในวันหยุดด้วย
7.ลูกจ้างต้องได้รับค่าจ้างในวันที่ลาป่วยโดยไม่เกิน 30 วันทำงาน

ปกรณ์ อมรชีวิน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงโทษตามกฎหมายหากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎคุ้มครองแรงงานว่า ถ้านายจ้างไม่กำหนดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์ หรือไม่ให้ค่าจ้างคนรับใช้ในวันที่ลาป่วย จะมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้คนรับใช้ที่ทำงานในวันหยุดมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แม้ว่ากฎกระทรวงฉบับนี้ ยกระดับอาชีพแม่บ้านให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้านชาวไทย แม่บ้านชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวพม่าที่มีจำนวนไม่น้อยในไทย ขณะเดียวกันก็ยิ่งส่งเสริมให้เกิดการเข้ามาของแรงงานอย่างผิดกฎหมายมากขึ้น

เมื่อข้อดีของแม่บ้านเพิ่มขึ้น ก็ย่อมเป็นที่ต้องการของคนที่อยากทำอาชีพนี้เพิ่มขึ้นด้วย ขณะที่นายจ้างก็ไม่อยากจ้าง เพราะคิดว่าเขาเสียเปรียบ แต่ถึงอย่างไรสำหรับบางครอบครัว แม่บ้านเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ ฉะนั้นตัวเลือกของนายจ้างเหล่านี้จะเริ่มหันมาว่าจ้างชาวต่างด้าวที่ไม่ได้จดทะเบียนแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายแทน หรือแรงงานเถื่อนนั่นเอง เพราะคิดว่าเสียเงินน้อยกว่า และได้แรงงานเหมือนกัน

หากอนาคตมีแนวโน้มการจ้างแรงงานเถื่อนมากขึ้น สิ่งที่ตามมา คือการก่อเหตุอาชญากรรม จี้ ปล้น ฆ่า ชิงทรัพย์ มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดมากขึ้นได้เช่นกัน แม้ว่าหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะออกมาให้ความเห็นว่าตัวกฎคุ้มครองฯ ไม่น่าจะมีส่วนเกิดการจ้างแรงงานเถื่อน และการลักลอบเข้ามาเป็นสาวใช้ของแรงงานต่างด้าวมากขึ้น ทั้งๆ ที่ยังชี้แจงไม่ได้เลยว่าแรงงานเถื่อนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมีจำนวนเท่าไหร่กันแน่

ภัยสาวใช้เถื่อน เหรียญสองด้านที่ต้องคิดให้มาก
“ความคุ้มค่า” บางครั้งมาเป็นตัวกำหนดการว่าจ้าง โดยเฉพาะอาชีพสาวใช้ที่หลายคนคิดว่ากินฟรีอยู่ฟรี แถมยังได้ค่าจ้าง แลกกับแรงงานเล็กๆ น้อยๆ แล้วจะให้ค่าจ้างถูกๆ คงเป็นเรื่องยากที่นายจ้างไทยจะหาได้ง่ายๆ แลกกับความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจในสังคมสมัยนี้

อย่างที่บอกเหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ หากต้องการแรงงานถูก ก็ต้องเตรียมพร้อมรับความเสี่ยง ภัยสาวใช้มีเป็นตัวอย่างให้เห็นในสังคม ฆ่านายจ้าง ลักทรัพย์ในบ้าน แต่บ้านที่เอาเปรียบลูกจ้างเกินไปก็ใช่ว่าไม่มี อย่างน้อยลูกจ้างที่คิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จะได้มีกฎคุ้มครองดูแลและเรียกร้องแทน

เดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า คนใช้แรงงานไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือแรงงานต่างด้าว ก็ต้องได้รับความคุ้มครองดูแลเท่าเทียมกัน หรือไม่ใช่เห็นว่าเขาเป็นแรงงานเถื่อนจะข่มเหงเขายังไงก็ได้ ให้ค่าจ้างถูกๆ

“ปัจจุบันนี้สังคมโลกกำลังเพ่งเล็งเรื่องของสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทย อย่างอาชีพแม่บ้าน คนใช้ที่จะหาคนไทยมาทำก็ยาก ส่วนใหญ่จะเป็นชาวพม่า ลาว ถ้าคนเถื่อนเข้ามาเขาไม่ได้รับความคุ้มครอง เจอนายจ้างไม่ดี พิพาทกันเรื่องค่าจ้างมันก็ไม่คุ้มกัน เขาอาจถูกส่งกลับประเทศ”

เคยมีคนพูดเล่นๆ กันว่า ถ้าอยากจ้างแรงงานต่างด้าว ต้อง “จ้างเป็นทีม” เพราะส่วนใหญ่ที่เข้ามาทำงานเป็นแม่บ้านจะมาจากการชักชวนกันในเครือญาติ อยู่กระจายตามบ้านใกล้เคียงกัน ซึ่งแรงงานแบบนี้เกือบ 100% เป็นแรงงานต่างด้าวเถื่อนทั้งสิ้น หากจะทำเรื่องผิดกฎหมายจึงทำเป็นขบวนการ และหาทางหนีทีไล่ออกนอกประเทศได้ง่ายดาย

ผอ.สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงแรงงานต่างด้าวที่เข้ามารับใช้ในบ้านอย่างผิดกฎหมายว่า แรงงานกลุ่มนี้ตรวจสอบไม่ได้ เพราะเขาอยู่ในบ้าน เราจะไปตรวจทุกหลังก็เป็นไปไม่ได้ มีแต่จำนวนอ้างอิงได้คร่าวๆ อย่างสมมติ มีรายงานจำนวนแรงงานต่างด้าวเข้ามา 1 ล้านคน มีคนที่ขออนุญาตเข้าทำงาน 7 แสนคน แสดงว่าอีก 3 แสนคนลักลอบเข้ามาเป็นแรงงานเถื่อน

“ในแต่ละปี เรารับแรงงานต่างด้าวที่มีพรมแดนติดเราเข้ามา หลักๆ มี 3 สัญชาติด้วยกัน คือ พม่า ลาว และกัมพูชา โดยเฉพาะพม่า ราว 70% ของแรงงานต่างด้าวทั้งหมดได้ การมีแนวเขตชายแดนติดกันยาวก็ทำให้การลักลอบเข้ามาจึงทำง่ายมาก และตอบยากว่ามีแรงงานต่างด้าวเถื่อนที่แท้จริงจำนวนเท่าไหร่แล้ว”

ทั้งนี้ จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เรื่องภาวะการทำงานของประชากร เมื่อเดือนมิถุนายน 2555 พบว่า ปัจจุบันมีแรงงานที่ทำงานบ้านทั้งหมดกว่า 4,420,000 คน และปัจจุบันมีคนรับใช้ตามบ้านซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวประมาณ 2 แสนคน

สื่อมวลชนเคยลงพื้นที่สำรวจหมู่บ้านใกล้ชายแดน บริเวณอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ส่วนใหญ่จะมีแม่บ้าน คนดูแลบ้านเป็นชาวต่างด้าว อยู่กันเป็นครอบครัว สามี ภรรยา อย่างพม่า ญวน เกินครึ่งเป็นแรงงานเถื่อนที่ลักลอบเข้ามาตามชายแดน พวกเขาสามารถอยู่กินในบ้านเหมือนเป็นบ้านตัวเอง เพราะเจ้าของบ้านใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ นานๆ ครั้งจะกลับมา เข้าทำนอง กินฟรี อยู่ฟรี แถมยังให้เงินใช้ และค่าจ้างดูแลบ้าน ทำความสะอาดบ้านของพวกเขาก็ไม่น้อย

เหมือนที่ ผอ.เดชา เล่าให้ฟังว่า “อาชีพแม่บ้านค่าแรงสูงนะ ผันแปรตามอัตราการจ้าง งานน่าเบื่ออยู่กับบ้าน ไม่มีสังคม รวมกินอยู่เกินหมื่นบาท หากจ้างถูกๆ หนีเข้าโรงงานกันหมด อย่างน้อยก็มีค่าแรงสูงกว่า และมีเพื่อนคุยด้วย”

สมัยนี้จะหาแจ๋วสักคนที่ไว้เนื้อเชื่อใจ ไม่ใช่เรื่องง่าย หรือจะหาค่าจ้างถูกๆ แรงงานเถื่อนๆ ก็อาจเป็นภัยตามมา เพราะไม่มีหลักประกันค้ำยัน ฉะนั้นจะเลือกใครเข้ามาเป็นเสมือนคนหนึ่งในครอบครัวจึงต้องคิดให้ดี ถ้านายจ้างเต็มใจจ้าง ลูกจ้างอยู่ด้วยแล้วมีความสุข ก็คงไม่ต้องมีกฎคุ้มครองใดๆ ให้ยุ่งยาก

 
ข่าวโดย : ASTVผู้จัดการ LIVE


กำลังโหลดความคิดเห็น