แม้จะมีหลายเสียงวิพากษ์วิจารณ์นโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยมีปัญหาตั้งแต่ตัวนโยบายที่การแทรกแซงกลไกตลาดทำให้เกิดการผูกขาดโดยรัฐ เป็นนโยบายฆ่าตัวตายที่ทำให้ประเทศชาติขาดทุน มีข่าวการคอร์รัปชันกันตั้งแต่โครงการยังไม่ทันเริ่ม จนถึงโกหกสีขาวของข้อมูลตัวเลขการส่งออก
นโยบายประชานิยมที่เต็มไปด้วยรอยแผลของเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย และแม้ว่าชาวนาจะได้รับผลประโยชน์ และมีการออกมาประท้วงต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้น
ทว่า ล่าสุดกับการเสียแชมป์สองปีติดต่อกันของตำแหน่งข้าวดีเด่น (world best rice) จากเวทีประชุมข้าวโลก (world rice conference) ที่ครั้งนี้จัดขึ้นที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย
มาถึงวันนี้ (วันที่ 10 ต.ค. 55) ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่รับคำร้องยับยั้งโครงการนำจำข้าว แน่นอนว่าในประเด็นของการแทรกแซงตลาดรัฐบาลสามารถทำได้เพื่อช่วยเหลือเกษตกรภายในประเทศ หากทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจากการแทรกแซงครั้งนี้ แท้จริงแล้วกลับส่งเป็นการทำลายระบบข้าวไทยทั้งกระบวนการมากกว่า
ข้าวตกอันดับสองปีซ้อน
จากเวทีประชุมข้าวโลกที่จัดมาแล้ว 4 ครั้ง ไทยคว้ารางวัลข้าวดีเด่นได้ใน 2 ครั้งแรกจากข้าวหอมมะลิ 105 กระทั่ง 2 ปีก่อนต้องเสียแชมป์ให้กับข้าวหอมไข่มุก( pearl paw san ) จากพม่า และปีนี้เสียให้กับข้าวหอมของประเทศเขมร(ยังไม่ทราบชื่อสายพันธุ์ แต่มีข่าวว่าพม่าปลูกข้าวอยู่สองสายพันธุ์คือข้าวหอมดอกลำดวนที่นิยมปลูกในจังหวัด ศรีสะเกษของไทย กับ ข้าวหอมดอกมะลิ) มีหลายตัวแปรที่ทำให้ข้าวไทยเสียแชมป์
เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิขวัญข้าวสันนิษฐานว่า อาจมาจากที่ว่าข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพเท่าเดิม ไม่มีการพัฒนาก็ทำให้ชาติอื่นพัฒนาแซงหน้าไป หรือมาจากที่ปกติแล้วการเก็บเกี่ยวข้าวจะทำในฤดูแล้ง เพราะสภาพอากาศแห้งจะทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพกว่า ทว่า สองปีที่ผ่านมาในช่วงพฤศจิกายนที่เป็นฤดูเก็บเกี่ยว กลับเกิดฝนตกทำให้อากาศชื้นจึงได้ผลผลิตที่คุณภาพน้อยลง
“ไม่แน่ใจว่ามีการคัดข้าวคุณภาพแค่ไหนในการนำไปส่งประกวด มาถึงตอนนี้ที่เราเสียแชมป์ ถ้าจะเอาแชมป์กลับมา มันก็มีทางอยู่สองทาง ไม่ยากนะ 1. คือเอาพันธุ์ข้าวโบราณ เป็นของดั้งเดิมที่เรามีอยู่ในธนาคารชีวพันธุ์ 5,000 กว่าชนิดมาแจกให้ไปเพาะปลูก หาพันธุ์ข้าวใหม่ที่อร่อยกว่าส่งไปแข่ง นี่คือไม่ต้องทำใหม่เลยนะ
2. คือพัฒนาสายพันธุ์เดิม หอมมะลิของเราให้ดีขึ้น ตรงนี้ต้องใช้เวลา แต่ไม่ยาก เอาของพม่าที่ชนะเมื่อปีก่อนมาผสมก็ได้ ของเขมรที่ชนะปีนี้มาผสมก็ได้ แล้วจัดให้มีการแข่งขันทั่วประเทศขึ้น แข่งขันกันในประเทศก่อนที่จะไปแข่งกับชาติอื่น”
เหตุผลที่เขมรที่ได้แชมป์ จริงๆ แล้วก็เพราะในประเทศเขมรเองก็มีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่อร่อยอยู่เยอะเหมือนกัน แต่ยังไม่ได้พัฒนา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่บ่งบอกว่าระบบการผลิตข้าวไทยกำลังเดินถอยหลัง นอกจากเรื่องคุณภาพในเวทีประกวด ยังมีตัวเลขการส่งออกที่เขาเผยว่า 30 กว่าปีที่ผ่านมาไทยส่งออกอันดับหนึ่ง แต่พอมีนโยบายจำนำข้าว อันดับก็ตกมาอยู่ที่ 3 ทันทีสอดคล้องกับความเห็นของ ดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทองนักวิชาการผู้ศึกษาเรื่องข้าวมาหลายปีที่มองว่า การเสียแชมป์ครั้งนี้ ไม่ใช่บทพิสูจน์ที่ว่าข้าวไทยไม่อร่อย หากแต่สายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่รสชาติดีนั้นยังมีอยู่
“ในฐานะที่ศึกษาเรื่องข้าวมาหลายปี ช่วงปีใหม่ผมจะแจกข้าว คนจะถามว่า หาจากไหนเพราะมันอร่อย คือข้าวที่อร่อยในไทยยังมีอยู่ ความภาคภูมิใจที่ว่าประเทศเราปลูกข้าว สีข้าวได้คุณภาพดี ประเทศไทยควรจะเป็นแบบนั้น แต่ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคือคุณภาพเราลดลง ตรงนี้ผมอยากให้มันสะท้อนว่า ข้าวไทยกำลังแย่ลง โดนแซงหน้าแล้ว ยิ่งโครงการจำนำมันนโยบายหากินมากกว่า”
ข้าวไทยถูกทำลายทั้งระบบ
ภาพของชาวนายากจนอาจทำให้หลายคนเบาเสียงลงจากการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายที่เหมือนจะช่วยเหลือชาวนาให้ลืมตาอ้าปากได้ ทว่า แท้จริงแล้วนโยบายนี้กำลังนำพาระบบข้าวไทยไปสู่ความล่มสลายทั้งกระบวนการ
จากงบประมาณกว่า 3 แสนล้านบาทที่ใช้ดำเนินโครงการ ข้อมูลการคอร์รัปชันถูกแฉออกมาเป็นรายวัน ตั้งแต่การลักลอบนำข้าวจากประเทศอื่นเข้ามาจำนำ การแจ้งผลผลิตเกินตั้งแต่ในแปลงปลูก หรือแม้แต่โกหกสีขาวของ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ถึงตัวเลขยอดส่งออก รวมถึงการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐที่ไม่เปิดเผยข้อมูลโดยอ้างว่ามาจากความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศนั้นๆ
ทั้งนี้ เงินก็ใช่ว่าจะลงไปถึงเกษตรกรรายเล็กจนมีข่าวถึงขั้นว่ามีชาวนาฆ่าตัวตาย!
การใช้กระดูกสันหลังของชาติมาเป็นข้ออ้างอันชอบธรรมเพื่อดำเนินนโยบายอันจะนำมาซึ่งกลไกการคอร์รัปชันอย่างเต็มรูปแบบคือภาพที่แท้จริงของโครงการจำนำข้าว ที่จะบ่อนทำลายระบบข้าวไทยทั้งระบบ
โดยระบบข้าวไทยนั้น ดร. เจิมศักดิ์เล่าว่า เริ่มจากที่ชาวนาปลูกข้าวโดยคัดจากพันธุ์ดีๆ ที่เก็บไว้จากคราวฤดูเก็บเกี่ยวครั้งก่อน เมื่อทำนาจนผลผลิต(เป็นไปตามระยะแสงของปีที่ทำให้ข้าวเก็บเกี่ยวได้ในช่วงพฤศจิกายน)มาเป็นข้าวเปลือกซึ่งสามารถเก็บไว้ได้นานทั้งปี ต่อมาโรงสีหรือชาวยุ้งจะรับซื้อข้าวจากชาวนาเพื่อนำมาเก็บไว้(ในรูปข้าวเปลือก) จากนั้นผู้ส่งออกจะรับออเดอร์เพื่อผสมข้าวตามรสนิยมของตลาดในแต่ละประเทศแล้วมาสั่งให้โรงสีดำเนินการสีข้าวตามคำสั่งซื้อ
ทว่าโครงการจำนำข้าวเข้ามาทำลายทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่ชาวนาที่ปลูกข้าวนาปีจะหันมาปลูกข้าวนาปรังซึ่งเป็นข้าวคุณภาพต่ำกันมากขึ้นเพื่อให้ได้ผลผลิตมากๆ เพราะรัฐบาลรับจำนำทั้งหมด โรงสีได้ประโยชน์โดยหันมารับจ้างสีข้าวให้กับรัฐบาล ทว่าผู้ส่งออกเสียประโยชน์ที่ไม่รู้ว่าสต๊อกข้าวนั้นมีอะไรบ้าง ไม่สามารถรับออเดอร์จากต่างประเทศ สิ่งที่สูญเสียอีกอย่างคือคุณภาพของสินค้า เพราะข้าวเปลือกที่ถูกสีเป็นข้าวสารแล้วนั้นเก็บไว้ได้ไม่นาน
“สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือการพัฒนาคุณภาพการผลิต ลดต้นทุนต่อไร่ของชาวนา วิจัยหาเทคโนโลยี พัฒนาการสีข้าวให้มีคุณภาพขึ้น พัฒนาการขนส่ง ไม่ใช่เน้นปริมาณมากๆ แต่ต้นทุนเราสูง คุณภาพเราต่ำ แล้วจะไปแข่งกับใครเขาได้ อำนาจการต่อรองกับตลาดโลกเราก็ไม่มีอยู่แล้ว ปริมาณการผลิตเราแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ของการผลผลิตทั้งโลก”
ในด้านของการลดต้นทุนการผลิต พัฒนาคุณภาพกลายเป็นสิ่งที่ทำได้ยากในสังคมไทย จากประสบการณ์ของชาวนาจังหวัดสุพรรณฯ ของ ประธานมูลนิธิขวัญขาว แม้มีตัวอย่างเกษตกรดีเด่นอย่าง ชัยพร พรหมพันธุ์ ชาวนาเงินล้าน ที่ใช้เกษตรปลอดสาร หรือเกษตรอินทรีย์ ทำให้สามารถทำนาโดยใช้ต้นทุนเพียง 2,000 บาทต่อไร่ ขณะที่คนปกติต้องใช้สูงถึง 7,000 บาทต่อไร่ แต่ก็ไม่สามารถจูงใจให้ชาวบ้านหันมาทำเกษตรอินทรีย์ได้
“รัฐบาลไม่ได้สนับสนุนให้เกษตรกรเข้มแข็ง ชาวบ้านมีแต่จะอ่อนแอลง ทำเกษตรแบบนี้ต่อไป ใช้สารเคมี ต้นทุนสูง ผลผลิตต่ำ คุณภาพแย่ จริงๆ แล้วมันต้องอยู่ไม่ได้ แต่รัฐบาลมาช่วยอุดหนุน ทำแบบนี้มันไม่ยั่งยืน อยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ สุดท้ายถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือก็ไปเรียกร้อง มันเป็นการส่งเสริมให้เกษตกรปลูกข้าวแบบใช้สารเคมี”
เขายังเผยด้วยว่า เกษตรอินทรีย์ถูกกำหนดเป็นวาระแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2547 แต่ทว่ากลับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ตัวเลขนำเข้าสารเคมีที่ต้องลดลงเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้แก่เกษตรอินทรีย์ กลับพุ่งสูงขึ้นสวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น โดยที่รัฐบาลไม่มีมาตรการเก็บภาษีนำเข้าสารเคมีเหล่านี้ พร้อมทั้งยังไม่ห้ามการโฆษณาชวนเชื่ออีกด้วย
“ประเทศไหนเขาทำกันบ้าง ปล่อยให้นำเข้าสารเคมีมากมายที่จะเป็นพิษต่อคนในประเทศ ไม่เก็บภาษีแล้วยังไม่ห้ามโฆษณาชวนเชื่อ เราก็สู้ไม่ไหว บริษัทเหล่านั้นมีเงินก็โฆษณาส่งเสริมการขายไม่หยุด ชาวบ้านบอกเลยนะ เปลี่ยนศาสนายังง่ายกว่าเปลี่ยนมาเลิกใช้สารเคมี”
ความอ่อนแอของเกษกรจึงเกิดขึ้นบนพื้นฐานของผลประโยชน์ที่ค้ำคอรัฐบาลไม่ให้ส่งเสริมการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ เดชาเผยว่า พันธุ์ข้าวจากกรมการข้าวที่นำมาแจกนั้นก็เป็นพันธุ์ที่ใช้ได้กับสารเคมีเหล่านั้นด้วย เมื่อนโยบายจำนำข้าวถูกวิพากษ์วิจารณ์นำมาซึ่งการประท้วงของชาวนา เดชาจึงไม่แปลกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะชาวนาก็ได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ แม้ว่าจะเป็นผลประโยชน์เพียงน้อยนิดก็ตาม
“สุดท้ายคือชาวนาเขาก็เอามาลงทุน ซื้อสารเคมี เงินไปเข้ากระเป๋าบริษัทพวกนั้นอยู่ดี เงินเข้ากระเป๋าชาวนามันแค่เศษๆ เท่านั้น”
โดยทางออกของปัญหานั้นเขาเผยว่า เคยมีการเสนอโดยทำประชาพิจารณ์มาแล้วถึง 2 ครั้ง ในรัฐบาลทักษิณ 1 และรัฐบาลสุรยุทธ์ ซึ่งมาตรการดังกล่าวคือการเก็บภาษีสารเคมีเกษตรในอัตราสูง นำมาตั้งกองทุนเพื่อโฆษณารณรงค์ให้เห็นถึงโทษของการใช้สารเคมี และห้ามให้มีการโฆษณาชวนเชื่อของสารเคมีเกษตรทั้งหมด
“มาตรการตรงนี้ไม่ต้องลงทุน เงินเก็บจากภาษีแต่ไม่ทำ ไปทำโครงการจำนำข้าวที่ต้องลงทุนเป็นแสนล้าน เพื่ออะไรมันก็เห็นๆ กันอยู่”
โดยสรูป ดร.เจิมศักดิ์กล่าวทิ้งท้ายว่าโครงการจำนำข้าวเกิดขึ้นและส่งผลเสียหายคือ 1 เปิดช่องให้คอร์รัปชัน 2. ทำลายตลาดทั้งหมดโดยที่รัฐผูกขาดการขายข้าวซึ่งขาดทุน 3. เกิดความสูญเสียขึ้นในระบบ
…...
เหมือนหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ ดูเหมือนว่าต่างชาติจะพัฒนาขึ้นขณะที่ประเทศไทยก้าวถอยหลัง เมื่อการเปิดเสรีอาเซียนใกล้มาถึง เกษตกรไทยยังปลูกข้าวด้วยต้นทุนที่สูง โดยได้ผลผลิตคุณภาพต่ำ และรัฐบาลยังคงช่วยเหลือด้วยวิธีที่ผิดๆ อย่างการนำภาษีประชาชนมาโอบอุ้ม รับจำนำในราคาที่สูงกว่าตลาดโลก
แม้มาตรการแก้ไขที่ถูกต้องจะวางกองอยู่ตรงนี้ แต่รัฐบาลกลับเลือกเดินไปอีกทาง และเป็นหนทางที่นำไปสู่วงจรอุบาทว์ที่กัดกินและทำลายทั้งระบบ
ภาพจาก http://parn-site.blogspot.com
http://symposium74.files.wordpress.com
gotoknow.org
http://www.thaiceotokyo.jp
kapook.com
chaoprayanews.com
greenpeace