ภาพติดตาน้ำท่วมมิดหัวเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ยังหลอกหลอนคนกรุงเทพฯ ยิ่งเห็นข่าวต่างจังหวัดน้ำเริ่มท่วม ประกอบกับเจอมรสุมฝนตกลงมาไม่ขาดสายหลายวันติด ก็ยิ่งทำให้ตื่นตระหนก อกสั่นขวัญแขวนตามๆ กัน เกรงว่าจะกลายเป็นผู้ประสบภัยที่มีประสบการณ์ซ้ำรอยเดิมไม่ต่างจากครั้งก่อน
จากประสบการณ์อันเลวร้าย ยิ่งสร้างความไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะเอาอยู่ได้จริง หลายคนเตรียมขนข้าวของ ซื้อของเตรียมพร้อมรับมือ แม้ว่าสินค้าน้ำท่วมจะชักแถวขึ้นราคาหลายเท่าตัว โดยเฉพาะเรือ และกระสอบทราย บางหมู่บ้านที่เคยท่วมมิดหัวก็เร่งทำคันกั้นน้ำ ระดมทุนร่วมกันหลายล้านแบบไม่ง้อเงินรัฐบาล แม้แต่บาทเดียว
แห่ขึ้นราคา สินค้าน้ำท่วม
ของใช้ที่จำเป็นยามน้ำท่วม นอกจากข้าวสารอาหารแห้ง และน้ำเปล่า ซึ่งจำเป็นมากในการประทังชีวิต และเมื่อปีที่แล้วเคยมีปัญหาเรื่องการกักตุน จนสินค้าหมดเกลี้ยงชั้นวางของ ไม่ว่าจะเป็นในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ หรือตามร้านสะดวกซื้อก็พบแต่ความว่างเปล่า คนที่ยังไม่ตื่นตระหนกก็พลอยต้องตื่นเต้นตามกัน ถึงแม้ตอนนี้ยังไม่มีสภาพนั้นให้เห็น แต่บางครอบครัวก็รีบซื้อไว้ก่อนกันซ้ำรอย
หากถามว่าสินค้าไหนออกตัวแรง ทันทีที่กระแสน้ำท่วมเริ่มคุกรุ่น ขณะที่ต่างจังหวัดเริ่มน้ำท่วม คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลก็เตรียมความพร้อม ควานหาพาหนะคู่ใจแทนรถนั่นคือ “เรือ” บางคนหัวการค้า ซื้อเตรียมไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อเอามาขายเกร็งกำไร 2-3 เท่าตัว
จากการสำรวจราคาเรือในแถบจังหวัดปริมณฑล เช่น ถนนเอกชัย จ.สมุทรสาคร, นครชัยศรี จ.นครปฐม และพระนครศรีอยุธยา ราคาเรือเหล็ก ขายลำละ 5,500- 6,500 บาท จากราคาเดิม 3,500-4,500 เรือพลาสติก นั่งได้ 3 คน ลำละ 7,500 - 10,000 บาท จากราคาเดิม 6,500-7,000 เรือไฟเบอร์ ขนาดยาว ลำละ 12,000 บาท และเรือไฟเบอร์ ท้ายตัดใส่เครื่องได้ ขนาดยาว 15,000 บาท ซึ่งมีบางคนรีบซื้อไว้ เพราะกลัวราคาจะพุ่งสูงมากกว่านี้ หรือขายดีจนไม่มีเรือจำหน่าย ซึ่งคาดว่าหากเกิดน้ำท่วมจริง ราคาอาจสูงถึงลำละ 10,000 บาท
ด้านร้านค้าวัสดุก่อสร้างในกรุงเทพฯ ย่าน ถ.พุทธมณฑลสาย 2 ได้ปรับราคาอิฐบล็อก จาก 4.30 บาท ขายก้อนละ 5-7 บาท เช่นเดียวกับที่นักข่าวเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ ทีมข่าวภูมิภาคได้ลงพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา สอบถามราคาอิฐบล็อก จากเดิมเคยขายก้อนละ 5 บาท ปัจจุบันขายก้อนละ 6-7 บาท ขณะที่พื้นที่เปิดบ่อทราย จากเดิมราคาไร่ละ 1 แสนบาท ปัจจุบันที่ดินเพิ่มเป็นราคาไร่ละ 2-3 แสนบาท ทำให้ร้านค้าขายหิน และทราย ต้องปรับตัวขึ้นตาม เป็นราคาคิวละ 550 บาท จากราคาคิวละ 500 บาท ฉะนั้น หากซื้อถุงทรายราคาปลีก จะมีราคาเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากเดิมถุงละ 30-35 บาท เป็น 60-65 บาท
ถือว่าสินค้าวัสดุก่อสร้างนั้นขยับราคาแพงขึ้นถึง 10% โดยอ้างว่ามีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับขาดแคลนหลังจากเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปีที่แล้ว
ส่วนตลาดปั๊มน้ำ และเครื่องสูบน้ำก็คึกคักไม่เบา ประชาชนเริ่มหาซื้อปั๊มน้ำสำรองและเครื่องสูบน้ำไว้ใช้ในยามฉุกเฉินแล้ว เพราะเกรงว่าหากรอให้เกิดน้ำท่วมก่อนราคาจะปรับขึ้น และหาซื้อลำบากเหมือนปีก่อน ราคาเครื่องสูบน้ำจากเดิมเครื่องละ 4,500-9,500 บาท เพิ่มเป็น 5,400-13,500 บาท
ขณะที่คนตื่นตูมเริ่มซื้อของไปตุนไว้ ส่วนคนไม่ตื่นตูมก็พลอยเดือนร้อนไปด้วย เพราะเริ่มหาซื้อของบางอย่างยากขึ้น ทันทีที่เห็นสินค้าที่ต้องการก็รีบซื้อ โดยไม่สนใจราคาด้วยซ้ำ แบบว่าซื้อเก็บเอาไว้กินไว้ใช้ได้ถึงปีหน้ากันเลย ทั้งที่จริงสำรองไว้สัก 1 สัปดาห์ก็น่าจะพอ เพราะถ้าบ้านน้ำท่วมสูงเกิน 1 สัปดาห์ควรอพยพออกมาดีกว่า เพราะคงใช้ชีวิตลำบาก หากต้องโดนตัดน้ำตัดไฟ
วัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน เผยถึงการป้องปรามไม่ให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า กักตุนสินค้า ซึ่งเป็นการซ้ำเติมประชาชน ขณะมีสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ซึ่งอาจเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาสกักตุนและจำหน่ายสินค้าในราคาที่สูงเกินควร หรือปฏิเสธการจำหน่าย หรือไม่นำสินค้าออกมาจำหน่ายหรือเสนอขายตามปกติ โดยไม่มีเหตุอันสมควร และให้มีการปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายให้ชัดเจน
“กรมการค้าภายในจึงได้จัดสายตรวจพิเศษออกตรวจสอบในพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำท่วมและพื้นที่ใกล้เคียง หากพบว่ากระทำผิด จะมีโทษตามกฎหมาย กรณีจำหน่ายสูงเกินสมควร กักตุนสินค้าและปฏิเสธการจำหน่าย มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีไม่ปิดป้ายแสดงราคาสินค้า มีโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท”
กันตุนกันใหญ่ เพราะไม่มั่นใจรัฐบาลเอาอยู่!
“น้ำท่วมอยู่ได้ บริหารไม่ดีอยู่ยาก”
แม้ว่าหลายคนจะผันตัวเป็นผู้ประสบภัยมืออาชีพกันบ้างแล้ว แต่ความตื่นตระหนก กลับทำให้เห็นจุดบอดของคนกรุงเทพฯ ซึ่งไม่มั่นใจว่าน้ำจะไม่ท่วมจริงเช่นเดียวกับที่รัฐบาลออกมายืนยันเหมือนครั้งที่ผ่านมา
หลังจากกระแสน้ำท่วมในต่างจังหวัด ย่ำกรายภาคเหนือ และภาคกลาง พร้อมกับเกิดร่องมรสุมมีฝนตกมากถึง 800 มิลลิลิตร ภายในเดือนเดียว ขณะที่ในแต่ละปีฝนตกเฉลี่ย 1,500 มิลลิลิตรเท่านั้น จนน้ำฝนท่วมในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ และปริมณฑล
แม้จะเป็นน้ำท่วมที่เกิดจากฝนตกในปริมาณมากกว่าปกติ แต่ชาวบ้านก็เริ่มหวั่นใจ จากประสบการณ์เลวร้ายกับน้ำท่วมที่ผ่านมา จึงไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่นัก ขณะที่หน่วยงานรัฐเพิ่งมาขุดลอกท่อระบายน้ำและคลองเพื่อให้น้ำระบายได้คล่องตัวมากขึ้น หลังจากให้เวลาเตรียมการณ์มาแล้ว 1 ปี แต่ก็ไม่ได้ช่วยทำให้แก้ไขสถานการณ์ได้ทัน
โดยเฉพาะหมู่บ้านรัตนาธิเบศร์ ซึ่งปีที่แล้วประสบอุทกภัยน้ำท่วมสูงถึงระดับหน้าอก ได้มีการเตรียมพร้อมรับมือกับน้ำท่วมในปีนี้ โดยได้ยกของขึ้นบนชั้นสองไว้เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ชาวบ้านหมู่บ้านชัยพฤกษ์ บางบัวทอง ซึ่งในปีที่แล้วหมู่บ้านแห่งนี้ถูกน้ำท่วมสูงจนมิดหัว ได้มีการเตรียมพร้อมทั้งหมู่บ้าน โดยชาวบ้านได้ทำกำแพง 2 ชั้น ชั้นแรกเป็นคันดินสูง 3 เมตร และฝังชิปพลายลงดิน 1.5 เมตร และเหนือดิน 1.5 เมตร ขนานกับกำแพงของหมู่บ้านยาว 1,500 เมตร ซึ่งทั้งหมดใช้งบประมาณกว่า 10 ล้านบาท โดยเป็นเงินส่วนกลางของหมู่บ้านที่มีอยู่แล้ว
ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนคิดว่าปีนี้น้ำท่วมแน่นอน เพราะคาดเดาจากฝนที่ตกหนักในระยะนี้
“ท่วมแน่ครับ เมื่อคืนขนาดน้ำเหนือยังไม่มา แค่ฝนตก นนทบุรีท่วมแล้วครับอย่างหนัก”
“นครสวรรค์ท่วมแล้ว ปีนี้กรุงเทพฯ รออยู่ว่าแค่เอวหรือคอ”
“ผมอยู่ฝั่งบางใหญ่ ก็กลัวอยู่เหมือนกัน เพราะมันเป็นเขตรอยต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับนนทบุรี ยังไงกรุงเทพฯ ก็ต้องกั้นน้ำที่ทะลักเข้าจากเมืองนนท์อยู่ดี เลยไม่ค่อยไว้วางใจข่าวเท่าไหร่”
จะเห็นว่าทุกคนมุ่งโฟกัสแต่เรื่องน้ำจะท่วมหรือไม่ท่วม? ทั้งยังขาดการสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและประชาชนเกี่ยวกับปรากฏการณ์ลมฟ้าอากาศที่เกิดขึ้น ว่าจะมีผลกระทบต่อไปอย่างไรบ้าง มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเห็นอย่างชัดเจนว่าความตื่นตระหนกของประชาชน มาจากความไม่มั่นใจในรัฐบาล จนทำให้เกิดปัญหาเรื่องการสื่อสาร และการสร้างความเข้าใจร่วมกัน
เช่นเดียวกับความเห็นของ อาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้กล่าวว่า พื้นฐานความรู้เกี่ยวกับกระบวนการธรรมชาติของผู้คนในสังคมกำลังมีปัญหา เพราะเรามีความห่างไกล เราไม่รู้จักเลยว่าพื้นที่ประเทศไทยมีอะไร
“การคาดการณ์ล่วงหน้าของภาครัฐ หรือหน่วยงานบรรเทาสาธารณภัยของเราอ่อนมาก ไม่มีความสามารถในการนำเสนอเหตุผลความเป็นจริงถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น ตอนนี้ปัญหาใหญ่ มันไม่ใช่เรื่องน้ำท่วมในพื้นที่ราบลุ่ม แต่เกิดจากน้ำหลากจากในพื้นที่ที่เป็นที่ราบเชิงเขา
ปีนี้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ให้ระวังร่องฝนที่ยังอยู่ภาคตะวันออก ใน จ.ตราด และจันทบุรี บริเวณพื้นที่ภูเขา และจะลงมาปกคลุมพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเกิดจากร่องความกดอากาศต่ำ ฉะนั้น จังหวัดที่น่าเป็นห่วง คือ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้มีการบุกรุกทำลายป่าค่อนข้างมาก นอกจากนี้ จ.เพชรบุรี และแถบจังหวัดฝั่งทะเลอันดามันด้วย อาจเจอภาวะน้ำหลากเกิดขึ้นได้”
สำหรับ จ.กรุงเทพฯ นั้น ที่หลายคนกังวลว่าน้ำจะท่วม อาจารย์ศศินยืนยันว่าไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง ไม่มีปัจจัยที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมได้เหมือนปีที่ผ่านมา
พอได้ยินอย่างนี้หลายคนอาจคลายกังวลได้บ้าง โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยโดนน้ำท่วมมิดหัว หรือถึงระดับอกมาแล้ว อย่างเช่น รัตนาธิเบศร์ บางบัวทอง นนทบุรี, คลอง 3 คลอง 4 ปทุมธานี, เขตทวีวัฒนา บางแค ตลิ่งชัน ก็เบาใจกันไป
คงไม่ใช่เรื่องผิดที่จะป้องกันไว้ก่อนดีกว่าแก้ ช่วยกันเก็บข้าวเก็บของคนละไม้คนละมือ แต่ไม่ควรตื่นตูมจนเกินเหตุ กักตุนข้าวของจนเกินความจำเป็น อย่างน้อยๆ ประสบการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา ถือเป็นเครื่องเตือนสติไม่ให้ทุกคนประมาท จะได้ไม่เจ็บซ้ำๆ ช้ำรอยเดิม
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE