"กรุงเทพโพล" เผยผลสำรวจ ปชช.ที่พักอาศัยหรือทำงานอยู่ใกล้บริเวณที่มี "ร้านถูกใจ" เปิดให้บริการ พบว่า 87.7% เห็นด้วยกับโครงการ แต่มีจำนวน 65.9% ไม่เคยไปซื้อสินค้า โดยผู้ที่เคยเข้าไปซื้อสินค้า 90.0% ค่อนข้างพอใจถึงพอใจมาก และมีจำนวน 84.0% จะแนะนำและบอกต่อคนอื่นให้มาใช้บริการ
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพล) เผยผลสำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ ที่พักอาศัยหรือทำงานอยู่ใกล้บริเวณที่มี “ร้านถูกใจ” เปิดให้บริการ จำนวน 1,185 คน โดยพบว่าประชาชนร้อยละ 50.3 ระบุว่าทราบเรื่องการจัดทำโครงการโชวห่วยช่วยชาติ ภายใต้ชื่อ “ร้านถูกใจ” ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ (โดยในจำนวนนี้ระบุว่าทราบจากโฆษณาทางโทรทัศน์ร้อยละ 33.2 ทราบจากโฆษณาในหนังสือพิมพ์ร้อยละ 4.2 และทราบจากเพื่อน ญาติ คนรู้จักร้อยละ 4.0)
ขณะที่ร้อยละ 49.7 ไม่ทราบว่ามีโครงการดังกล่าว ส่วนความคิดเห็นที่มีต่อแนวทางการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยใช้งบประมาณราว 1,300 ล้านบาทจัดทำโครงการโชวห่วยช่วยชาติภายใต้ชื่อ “ร้านถูกใจ” ที่เปิดให้บริการครอบคลุมทุกตำบลทั่วประเทศพบว่า ประชาชนเห็นด้วยร้อยละ 87.7 (โดยร้อยละ 57.4 ให้เหตุผลว่าจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ร้อยละ 22.5 เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น และร้อยละ 7.8 จะช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้คนในท้องถิ่น)
ส่วนผู้ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวมีเพียงร้อยละ 12.3 (โดยร้อยละ 6.8 ให้เหตุผลว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุดเพราะไม่เชื่อว่าวิธีดังกล่าวจะแก้ปัญหาของแพงได้ ร้อยละ 2.0 เห็นว่าสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ และร้อยละ 1.4 เห็นว่าเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม บิดเบือนกลไกตลาด)
ทั้งนี้ เมื่อถามว่าเคยไปซื้อสินค้าที่ “ร้านถูกใจ” หรือไม่ พบว่าร้อยละ 65.9 ไม่เคยไปซื้อ (ในจำนวนนี้ร้อยละ 44.9 ให้เหตุผลว่าไม่รู้ว่าร้านตั้งอยู่ที่ไหน ร้อยละ 11.8 ให้เหตุผลว่ามีร้านค้าเจ้าประจำอยู่แล้ว และร้อยละ 3.7 ไม่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าที่ขายภายในร้าน) ส่วนผู้ที่เคยไปซื้อมีเพียงร้อยละ 34.1
ผู้สื่อข่าวถามถึงความพึงพอใจของผู้ที่เคยเข้าไปซื้อสินค้าในร้านถูกใจ พบว่าร้อยละ 90.0 ระบุว่าค่อนข้างพอใจถึงพอใจมาก ที่เหลือร้อยละ 10.0 ไม่ค่อยพอใจถึงไม่พอใจเลย ทั้งนี้ เมื่อให้เปรียบเทียบความรู้สึกที่มีต่อร้านค้าโดยเปรียบเทียบก่อนและหลังเข้าร่วมโครงการ พบว่าประชาชนร้อยละ 55.6 เห็นว่าหลังเข้าร่วมโครงการร้านถูกใจแล้วร้านค้าดังกล่าวมีความน่าสนใจมากขึ้น ขณะที่ร้อยละ 41.2 เห็นว่าเหมือนเดิม นอกจากนี้ ผู้ที่เคยเข้าไปใช้บริการร้านถูกใจร้อยละ 84.0 ระบุว่าจะแนะนำและบอกต่อคนอื่นๆ ให้มาใช้บริการ ในขณะที่ร้อยละ 16.0 ระบุว่าไม่แนะนำและไม่บอกต่อ
สำหรับเรื่องที่ประชาชนอยากจะแนะนำให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการเพิ่มรายได้และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนอันดับแรกคือ ให้ลดราคาสินค้าแต่ละประเภทลง (ร้อยละ 28.2) รองลงมาคือเพิ่มการประชาสัมพันธ์โครงการร้านถูกใจให้ประชาชนรับรู้อย่างทั่วถึง เพิ่มจำนวนและประเภทสินค้าให้หลากหลายขึ้น (ร้อยละ 25.3) และให้คุมราคาสินค้าไม่ให้สูงขึ้น ลงพื้นที่ตรวจสอบราคา และระวังไม่ให้มีการกักตุนสินค้าของพ่อค้าคนกลางเป็นประจำ (ร้อยละ 15.4)