xs
xsm
sm
md
lg

เรียลิตี้ “สุดยอด” แพทย์ กับเรื่อง “สุดแย่” ที่เกิดขึ้นจริง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แข่งกันไม่หยุด โหวตกันไม่ยั้ง เพื่อให้หลายๆ คนตะกายสู่เส้นทางแห่งฝันได้สำเร็จ อาจถือได้ว่ายุคนี้เป็นยุคที่มีเวทีการประกวดเยอะที่สุดแล้ว แต่ก็ไม่คิดว่าวัฒนธรรม “ค้นฟ้าคว้าฝัน” จะลามมาถึงวงการแพทย์กับเขาด้วย ล่าสุดผุดโครงการ “Rama Search 2012” (สุดยอดเส้นทางสู่นักศึกษาแพทย์รามาธิบดี) เปิดโอกาสให้นักเรียนชั้น ม.6 สายวิทย์จากทั่วประเทศมาลงสมัครสอบแข่งขัน ส่งตัวไปเข้าค่าย แถมยังมีแพลนจะออนแอร์ในรูปแบบ “เรียลิตี้” ทางเคเบิลทีวีในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ด้วย!!
 
ปรากฏการณ์หน้าใหม่ในครั้งนี้ สะกิดใจให้หันมามองสภาพการบริการด้านการแพทย์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พร้อมคำถามที่ว่า การเฟ้นหาสุดยอดนักศึกษาแพทย์ในรูปแบบใหม่นี้ จะสามารถเปลี่ยน “มารยาทแย่ๆ และบริการห่วยๆ” ในโรงพยาบาลที่เห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันได้มากน้อยแค่ไหน? จะสามารถปลูกฝังให้บุคคลที่ต้องการออกไปเป็น “หมอ” มีจิตใจพร้อมบริการได้หรือไม่? หรือท้ายที่สุดก็เป็นได้แค่ความคิดสวยหรูที่ไม่อาจเกิดขึ้นจริง อย่าว่าแต่คาดหวังให้มี “สุดยอดแพทย์” เลย ขอแค่ให้บริการแบบเบามือ วินิจฉัยโรคด้วยความใส่ใจ ไม่กระแทกกระทั้นกระแหนะกระแหนคนไข้ ก็นับว่าบุญโขแล้ว...




หมอแย่ๆ ที่คุณต้องเคยเจอ
ไม่ได้พูดเกินจริงแต่อย่างใด แต่ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งซึ่งเคยเข้าไปสูดกลิ่นยาในโรงพยาบาลอยู่บ้าง รับรองว่าต้องเคยกลับออกมาพร้อมอารมณ์หงุดหงิดและประสบการณ์แย่ๆ เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ในชุดขาวอย่างแน่นอน หลายคนพบเจอพฤติกรรมซ้ำๆ จากแพทย์หลายๆ สถาบันจนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า “จิตใจพร้อมบริการของพวกเขาหายไปไหนหมด?” หรือ “นี่มันเกิดอะไรขึ้นกับวงการแพทย์ไทยกันแน่!?!”
 

“ตอนนั้นคุณย่าแขนหักค่ะ เขาพาไปห้องปฐมพยาบาลเพราะต้องเข้าเฝือก นั่งรอนายแพทย์ใหญ่อยู่นานเหมือนกัน แต่ก็ยังไม่มา ย่าก็เจ็บแขนมาก นั่งตัวงออยู่เงียบๆ ใกล้ๆ ตรงนั้นก็มีแก๊งค์หมอวัยรุ่นอยู่ประมาณ 4-5 คน น่าจะเป็นแพทย์จบใหม่ แพทย์ใช้ทุน เขาเห็นว่าย่ามานั่งอยู่นานแล้ว ก็มีเหล่มามองนะ แต่ไม่มีใครลุกมาถาม ลุกมาดูย่าเลยสักคน ก็คุยเล่นคุยหัวกันต่อ
อีกคนก็หยิบไอแพดขึ้นมาเล่นไปเรื่อย เหมือนกับคิดว่าย่าไม่ใช่คนไข้ของพวกเขา เขาก็เลยไม่สนใจจะเข้ามาถาม ทั้งๆ ที่จะเข้ามาดูก็ได้ แต่ก็เลือกที่จะนั่งมองด้วยหางตาอยู่ห่างๆ มากกว่า แต่นี่ยังไม่หนักเท่าที่เพื่อนหนูเคยเจอนะ” พรพิมล ประพฤติดี บอกเล่าประสบการณ์เมื่อวันวานในโรงพยาบาลชื่อดังย่านอนุสาวรีย์ให้ฟังอย่างละเอียด ก่อนยกตัวอย่างเพิ่มเติม
  

“เพื่อนเล่าให้ฟังว่าพ่อเขาตกจากหลังคา ถูกกระจกบาด เป็นแผลเลือดออกทั้งตัวเลย ขาก็บวม เดินไม่ได้ ต้องนั่งรถเข็นเข้าไปทำแผลในตึกอุบัติเหตุ พอเข็นเข้าไปในนั้น เจอนักเรียนแพทย์ผู้ชายสองคน ท่าทางตุ้งติ้งนิดหน่อย แต่งตัวเนี้ยบมากด้วย เห็นคนไข้เลือดท่วมตัวก็เอาแต่ยืนมอง บอกว่าต้องขึ้นมานอนตรวจบนเตียงแต่ก็ไม่ได้ช่วยพยุงคนไข้ จนคุณพ่อเขาต้องเขย่งลุกขึ้นเอง เพื่อนหันมาเห็นอีกทีก็เลยต่อว่าเลย บอกทำไมไม่ช่วยพยุง ทำไมต้องทำท่ารังเกียจเหมือนกลัวเลือดเปรอะเสื้อผ้าคุณขนาดนั้นด้วย เป็นแพทย์ทำอย่างนี้ได้ยังไง จนอาจารย์แพทย์มาเคลียร์ให้ ขอโทษขอโพยกันไป เรื่องถึงได้จบ”
  

“เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับหมอค่ะ แต่เป็นพยาบาล แต่ถึงยังไงเขาก็ทำงานช่วยชีวิตคนเหมือนกัน” ว่าแล้ว สุภิญญา นาคมงคล ก็บอกเล่าประสบการณ์ครั้งหนึ่งที่โรงพยาบาลชื่อดังย่านสามเสนให้ฟัง
“ตอนนั้นยายเส้นเลือดในสมองแตก หลังผ่าตัดก็ต้องให้อาหารทางสายยาง หนูเองก็ยังไม่รู้ว่าต้องดูแลยายยังไงเพราะมันยังเป็นวันแรกๆ อยู่ พอดียายหิวน้ำ พี่พยาบาลที่ดูแลอยู่แถวนั้นพอดีเลยบอกเขา รู้ไหมเขาทำยังไง เขาหันมาพูดกับหนูแบบตัดรำคาญว่า “ก็เทใส่ช้อนให้กินไปสิ” พูดเสร็จก็เดินหนีไปเลย เราเลยต้องลองทำ พยายามป้อนน้ำให้ยายจากช้อนอย่างช้าที่สุด แต่ด้วยความที่ทำไม่เป็น ยายก็สำลักจนไอหนักมาก หนูรีบวิ่งไปบอกพี่พยาบาลตรงเคาท์เตอร์ เขาบอก “อ๋อ! เดี๋ยวก็หาย” แล้วก็ไม่ยอมเดินมาดู หนูก็กลับมาดูยาย ช่วยลูบหน้าอก ไม่รู้จะช่วยได้หรือเปล่าเหมือนกัน แต่ก็ทำได้แค่นั้น ดีนะยายไม่เป็นอะไรไป”
 

ธนพร หิรัญเลิศประเสริฐ คืออีกคนหนึ่งที่โชคร้ายเจอเหตุการณ์ไม่น่าประทับใจจากแพทย์ที่ไม่มีจิตวิญญาณของความเป็นแพทย์ จนเกือบต้องเผชิญชะตากรรม “หูดับ” ตลอดหนึ่งเดือน เพราะการตรวจคนไข้แบบขอไปที
  

“วันนั้นตื่นมามีเลือดออกมาจากหู ปวดหูมาก ก็เลยไปโรงพยาบาลค่ะ เจอหมอผู้หญิงคนหนึ่งอายุสัก 40 ได้ หยิบกล้องเล็กๆ มาส่องๆ แป๊บเดียวก็บอกว่า ไม่เป็นอะไรมาก แค่มีรอยถลอกในหู ให้ยาห้ามเลือดแล้วก็ยัดสำลีเข้าไป แล้วก็บอกว่าเสร็จแล้ว เราก็ถามว่าต้องกลับมาเอาสำลีออกหรือเปล่า เขาบอกไม่ต้อง เดี๋ยวมันจะหลุดออกมาเอง พอวันต่อมา หูอื้อและเวียนหัวมาก สำลีก็ไม่หลุดออกมาสักที ก็เลยลองไปหาหมอที่คลินิกดู
หมอเขาให้ขึ้นนอนราบบนเตียง ส่องกล้องใหญ่ เทียบกันแล้ว ตรวจให้ละเอียดมาก มือเบากว่าหมอคนเดิมด้วย ปรากฏตรวจแล้วเขาบอกเลือดไม่หยุดไหล แนะนำให้กลับไปตรวจที่โรงพยาบาลดีกว่า ก็เลยไปที่เดิม โทร.ไปบอกหมอคนเดิม เขาบอกว่าให้รีบมา จะออกเวรแล้ว ถ้ามาช้าจะไม่รอ แล้วก็โทร.มาเร่งทุกๆ 5 นาที
 

พอไปถึงหมอก็ทำท่าหงุดหงิดใส่ เอากล้องตัวเล็กๆ มาส่องๆ เหมือนเดิมแล้วก็บอกว่าไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย ดุเราอีกว่าไปให้คลินิกเอาสำลีออกทำไม มันเป็นสำลีชนิดพิเศษ ละลายเองได้ เราก็งง เพราะครั้งก่อนเขาไม่ได้บอกอย่างนี้ เสร็จแล้วก็ยัดสำลีเข้าไปใหม่ ยัดแรงด้วย เจ็บมากค่ะ เสร็จแล้วก็บอกว่านี่ถ้ารู้ว่าเป็นเคสต์นี้ โทร.มาคุยก็ได้ ไม่ต้องมาถึงนี่หรอก บอกว่าอีกหนึ่งอาทิตย์ค่อยมาดูอีกที แล้วก็รีบออกไปเหมือนมีธุระต่อ
พอถึงเวลานัดครั้งหน้า เราเลยขอเปลี่ยนหมอ พอตรวจกับหมอคนใหม่ เขาตกใจเลย บอกว่าทำไมถึงยัดสำลีเข้าไปในหูเยอะจัง ถึงมันจะละลายได้ แต่ถ้ายัดเข้าไปขนาดนี้ คงต้องรออีกเดือนหนึ่งถึงจะละลายได้ ถ้ารอคุณคงต้องทนหูดับไปเลยเดือนหนึ่งนะ เราเลยเสียความรู้สึกมากเลย รู้เลยว่าหมอคนนั้นตรวจแบบลวกๆ สุดๆ”

ยังมีอีกหลายกรณีที่หลายคนประสบพบเจอ ลองเสิร์ชคำว่า “หมอ+แย่” ดูก็ได้ แล้วจะรู้ว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นมันแย่ขนาดไหน บางคนเจอ “หมอตาทิพย์” วินิจฉัยโรคทุกอย่างด้วยการเอกซเรย์ทางสายตา แค่มองๆ จิ้มๆ คนไข้นิดหน่อยก็เขียนใบสั่งยาให้ได้เป็นกำๆ บางคนเจอ “หมออนามัย” ไม่อยากแตะเนื้อต้องตัวคนไข้ขนาดว่าใส่ถุงมือแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะรังเกียจอะไรกันนักกันหนา และบางคนเจอ “หมอหูดับ” คนไข้พูดอะไรก็ไม่ฟัง ไม่คิดจะรับข้อมูลมาวินิจฉัย ทำหน้าที่รักษาคนไข้เหมือนกับว่าขอแค่ให้ใช้ทุนให้หมดไปวันๆ เท่านั้นเอง เกิดเป็นข้อสงสัยในใจหลายๆ คนว่า หมอดีๆ หายไปไหนหมด




หมอดีๆ ยังมีแต่หายาก
นายแพทย์อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.โรงพยาบาลสิชล อดีตประธานแพทย์ชนบท ยอมรับว่าปัจจุบันมีแพทย์จำนวนไม่น้อยที่ไม่มีจิตวิญญาณของความเป็นแพทย์หลงเหลืออยู่ อาจจะมอดดับไประหว่างการทำงาน หรือร้ายกว่านั้นคือไม่มีมันตั้งแต่ตอนสมัครเรียนเป็นนักศึกษาแพทย์แล้ว
 

“สังคมทุกวันนี้มันเปลี่ยนแปลงไปมาก จะบอกให้หมอมีอุดมการณ์ ให้เป็นหมอเท้าเปล่า เป็นหมอติดดินอย่างสมัยก่อนมันยากแล้ว หาแทบไม่ได้ แค่จะให้ย้ายมาเป็นแพทย์ชนบทยังไม่ค่อยมีใครเอาเลย บางคนเขาใช้อาชีพหมอเป็นหน้าเป็นตาในสังคม จะให้มาเป็นหมอชนบท เขาไม่เอาหรอก เขาถือว่าเป็นหมอชั้นสอง ไม่ได้ดูโก้หรูอย่างหมอในเมือง แต่เดี๋ยวนี้อาจจะดีขึ้นมาหน่อย เพราะถึงจะลำบากกว่าหมอในเมืองแต่ก็ได้ค่าตอบแทนมากกว่าแล้ว สามารถขอขั้นได้ถึงระดับ 9 แล้ว มีค่าเบี้ยเลี้ยงด้วย ไม่อย่างนั้น คงไม่มีใครทนอยู่หรอก”
 

ต่างจากสมัยนายแพทย์อารักษ์ยังหนุ่มๆ เขามีความฝันตั้งแต่วัยเด็กแล้วว่าต้องเรียนแพทย์เพื่อออกมาช่วยเหลือคนยากคนจนในชนบทให้ได้ “ผมเป็นคนบ้านนอก เป็นคนนคร(ศรีธรรมราช) บ้านห่างจากตัวอำเภอประมาณ 120 กม.ได้ เวลายายตาเจ็บป่วยทีหนึ่ง ก็ต้องกระเตงกันไปเข้าเมือง ฝ่าถนนลูกรังไปไกลมาก ก็เลยตัดสินใจเป็นหมอ ถูกส่งไปให้ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลปะทิว จ.ชุมพร เป็นโรงพยาบาลเล็กๆ เหมือนห้องแถว ตอนนั้นมีหมออยู่แค่ 2 คน วันหนึ่งต้องตรวจคนไข้วันละร้อยกว่ารายได้
ผมอยู่ใช้ทุนที่นั่น พอใกล้หมดทุน พายุเกย์เข้าพอดี โรงพยาบาลเรียบเป็นหน้ากลองเลย ต้องรักษากันในตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งทำคลอด ทำแผล ผ่าตัด ในนั้นหมด พอหมดทุน ผมก็ยังตัดสินใจอยู่ที่นั่นต่ออีก 3 ปีเต็มๆ เงินเดือนก็ได้แค่ 8,000 เบี้ยเลี้ยงก็เหมาจ่ายเดือนละ 2,000 ไม่มีค่าเข้าเวรนอกรอบด้วย แต่เราก็เฝ้าเวรกันแทบไม่ได้หลับได้นอน ทำไปเรื่อย เพราะคิดว่าถ้าเราไม่ทำต่อ คงไม่มีใครอยู่แล้วล่ะ สภาพโรงพยาบาลเป็นแบบนี้ ที่พักก็ต้องนอนในเพิงหมาแหงนเอา”
 

ย้อนกลับมามองแพทย์ทุกวันนี้แล้วก็ต้องทำใจ แพทย์หน้าใหม่หลายคนหวงตัว ไม่กล้าจับ ไม่กล้าแตะคนไข้ แถมยังตรวจแบบขอไปที สิ่งเหล่านี้นายแพทย์ให้เหตุผลว่า
“นักศึกษาแพทย์สมัยนี้ก็มีจำนวนมากขึ้น คลาสหนึ่งเรียนกัน 200 กว่าคนได้ แต่สมัยผมมีแค่ 60 คนก็เยอะแล้ว มันเลยทำให้เด็กสมัยนี้ไม่ค่อยได้สัมผัสกับคนไข้จริงๆ สักเท่าไหร่ บางคนเรียนมา 6 ปี จบมายังงงๆ ทำอะไรไม่ค่อยถูกกันอยู่เลย
 

ส่วนเรื่องที่คนบ่นๆ กันว่าหมอแย่ๆ มีเยอะ ชอบหงุดหงิดใส่คนไข้ อันนี้ผมว่ามันก็แล้วแต่คนนะ ผมเองตั้งแต่เป็นหมอมา ไม่เคยเลย ถือคติปิดหูปิดตาปิดปากเสีย บางครั้งเราอาจจะไม่ได้ทำผิด แต่คนไข้มาว่าเรา เราก็อย่าไปเถียง อย่าไปใจร้อน เขามาหาเราเพราะเขาเจ็บป่วย เขาเป็นทุกข์ เขามองเห็นเราเป็นที่พึ่งสุดท้ายแล้ว เมื่อเราอยู่ในฐานะที่จะช่วยเขาได้ ก็อยากจะทำให้เต็มที่ ท่องไว้เสมอว่า ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง แล้วลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศจะตกแก่ท่านเอง นี่คือคำสอนของพระบิดาแห่งการแพทย์ไทยที่ทรงสอนนักศึกษาแพทย์ทุกคนเอาไว้ แต่ก็อยู่ที่ว่าใครจะรับเอาไว้ได้แค่ไหน แค่นั้นเอง

ไม่ว่าท้ายที่สุดแล้วกระบวนการเฟ้นหา “สุดยอดแพทย์” จะมาจากรูปแบบไหน จะแอดมิชชัน สอบตรง บรรจุในโครงการแพทย์ชนบท หรือมาจากการประกวดหาแพทย์แบบเรียลิตี้ ขอแค่พวกเขาเหล่านั้นยังมี “จิตวิญญาณ” ของความเป็นหมอ มองความทุกข์ยากของประชาชนตาดำๆ ด้วยความเห็นอกเห็นใจ ไม่ใช่สายตาแห่งความเหนื่อยหน่ายน่ารำคาญ สักแต่ใช้ทุนเพื่อรอเปิดคลินิกไปวันๆ เพียงแค่นั้นวงการแพทย์ไทยก็สามารถก้าวสู่คำว่า “สุดยอด” ได้แล้ว โดยอาจไม่จำเป็นต้องเฟ้นหาอีกเลย



ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE















กำลังโหลดความคิดเห็น