xs
xsm
sm
md
lg

จีนรับไม่อั้น-ญี่ปุ่นออเดอร์นำร่องปีแรกแล้ว “ส้มโอเวียงแก่น” รุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - ชาวสวนส้มโอเวียงแก่น เมืองพ่อขุนฯ ยิ้ม ตลาดจีน เปิดรับไม่อั้น ขณะที่ญี่ปุ่นออเดอร์เข้านำร่องเป็นปีแรก ชดเชยตลาดยุโรปหลายสิบเท่า เหตุจากเจอวิกฤตเศรษฐกิจ

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ห้องประชุมที่ว่าการ อ.เวียงแก่น นายสุภักดิ์ เศวตวิษุวัต นายอำเภอเวียงแก่น ได้ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เปิดแถลงข่าวเตรียมจัดงานเทศกาลส้มโอและของดี อ.เวียงแก่น ประจำปี 2555 ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอฯ โดยทางส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนส้มโอเวียงแก่น ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มเกษตรกร ฯลฯ จะร่วมกันจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 ส.ค.-2 ก.ย.นี้ เพื่อเผยแพร่ผลผลิตส้มโอและส่งเสริมการท่องเที่ยว

นายสุภักดิ์กล่าวว่า พื้นที่เวียงแก่นปลูกส้มโอกันมากกว่า 4,000 ไร่ มีต้นส้มโอรวมกันกว่า 11,000 ต้น ซึ่งในปีนี้ให้ผลดีมาก และตลาดก็ค่อนข้างสดใส จากเดิมนอกจากตลาดภายในประเทศแล้วยังส่งออกไปยังทวีปยุโรปเป็นหลัก ต่อมามีการพัฒนาไปยังตลาดประเทศจีน กระทั่งปีนี้พบว่าเป็นปีแรกที่กลุ่มเกษตรกรสามารถส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นได้ ถือเป็นปีนำร่อง โดยญี่ปุ่นได้สั่งนำเข้าถึงกว่า 300,000 ลูก ปัจจุบันเกษตรกรได้ส่งออกไปให้แล้ว 61,000 ลูก น้ำหนักลูกตั้งแต่ 1.1 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาลูกละ 25 บาท รวมมูลค่าที่ต้องส่งออกไปให้ญี่ปุ่นทั้งหมดก็ประมาณ 7.5 ล้านบาท โดยผลผลิตทั้งหมดได้ผ่านคุณภาพมาตรฐานการเกษตร หรือ GAP (Good Agricultural Practices) เนื่องจากมีเกษตรกรที่เข้าสู่โครงการ GAP เอาไว้แล้วจำนวน 165 ราย เนื้อที่ประมาณ 1,553 ไร่

นอกจากนี้ กลุ่มประเทศยุโรปซึ่งเคยนำเข้าอยู่เป็นประจำทุกปีอยู่แล้วก็ยังมีโควตานำเข้าจำนวน 300,000 ลูกเท่ากับญี่ปุ่นเช่นกัน โดยให้ราคาลูกละ 25 บาท มูลค่าทั้งหมดประมาณ 7.5 ล้านบาท ปัจจุบันส่งออกไปแล้วประมาณ 60,000 ลูก

“ดังนั้น การจัดงานครั้งนี้จึงจะช่วยสานต่อการประชาสัมพันธ์ผลผลิตในพื้นที่ และทำให้การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานยังคงมีอยู่ต่อไปด้วย”

ด้านนายสมศักดิ์ บุญยวง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนส้มโอเวียงแก่นเพื่อการส่งออก กล่าวว่า ปีนี้ผลผลิตส้มโอออกสู่ตลาดมาก ซึ่งโชคดีที่มีตลาดญี่ปุ่นเข้ามารองรับเพิ่มเติม แต่ทางญี่ปุ่นค่อนข้างเข้มงวดมาก นอกจาก GAP แล้วยังต้องระวังเรื่องแมลง ทำให้ต้องนำส้มโอไปอบไอน้ำที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก่อนส่งออก แต่ที่ผ่านมากลุ่มเกษตรกรก็สามารถทำคุณภาพได้ดีจนสามารถส่งออกไปได้เป็นจำนวนมาก และคาดว่าหากการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นในปีแรกนี้ทำได้ดีก็จะมีการสั่งซื้อในปีถัดๆ ไปเป็นประจำ โดยพันธุ์ที่นิยมคือ พันธุ์ขาวใหญ่ ที่มีเนื้อในขาวและหวาน

ส่วนตลาดยุโรปนั้น การส่งออกได้ลดลงอย่างมาก จากเดิมในปีที่ผ่านๆ มายุโรปโดยเฉพาะประเทศเนเธอร์แลนด์เคยรับซื้อส้มโอจากเกษตรกรจำนวน 40-50 ตู้คอนเทนเนอร์ แต่ปีนี้ส่งออกไปแล้วลดเหลือเพียง 5 ตู้ ตู้ละ 14,000-15,000 ลูก คาดว่าน่าจะเกิดจากสภาพเศรษฐกิจยุโรปที่ตกต่ำในปีนี้นั่นเอง

นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า ทางด้านตลาดประเทศจีนก็ยังมีความต้องการในจำนวนไม่จำกัด แต่ทางจีนนิยมพันธุ์เซลเลอร์ ซึ่งมีเนื้อในสีแดงเกรดเอ ลูกละ 22 บาท ปัจจุบันได้ส่งออกไปแล้วกว่า 40 ตู้ ตู้ละประมาณ 12,000 ลูก และยังเหลือที่จะต้องส่งออกตามคำสั่งซื้ออีกประมาณ 100 ตู้ ซึ่งจะทยอยส่งออกต่อไป

ขณะที่ส้มโอเกรดรองๆ ลงไปก็จะจำหน่ายในประเทศข้างเคียง เช่น กัมพูชา ฯลฯ และส่งจำหน่ายภายในประเทศไทยต่อไป

ทั้งนี้ สัดส่วนตลาดส้มโอคือ ส่งออกไปต่างประเทศประมาณ 60% ส่วนใหญ่เป็นจีน ยุโรป และปัจจุบันคือญี่ปุ่น ที่เหลืออีก 40% จำหน่ายภายในประเทศ

ด้านนางแจ่มจันทร์ ล่ามช้าง เกษตร อ.เวียงแก่น กล่าวว่า เวียงแก่นมีเกษตรกรที่ปลูกส้มโอในระบบกว่า 900 ราย ซึ่งที่ผ่านมาอาศัยการรวมกลุ่มกันเพื่อดูแลรักษาคุณภาพ เพราะนอกจากมาตรฐาน GAP แล้ว หลายประเทศจะเข้มงวดเรื่องโรค เช่น แคงเคอร์ จุดดำ แมลง ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมาสามารถทำได้ดีมาก แต่ก็ต้องเข้มงวดกันต่อไป โดยเฉพาะเรื่องแมลงบางชนิดที่หากเกิดขึ้นจะต้องถึงขั้นกำจัดยกสวนกันเลยทีเดียว



กำลังโหลดความคิดเห็น