ตั้งแต่ริเริ่มโครงการ จนก่อสร้างแล้วเสร็จแล้วเปิดใช้งานจริง สนามบินสุวรรณภูมิถูกมองว่า จะเป็นสนามบินระดับโลก และจะกลายเป็นHub การบินแห่งทวีปเอเชีย
แต่อีกด้านหนึ่งแฝงเร้นมาตั้งแต่การจัดซื้อที่ดินสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร จนถึงสมัยทักษิณ ชินวัตร เรียกว่า รัฐบาลแทบจะทุกสมัยมีส่วนได้เสียกับสนามบินแห่งนี้ทั้งสิ้น โดยมีกรณีอื้อฉาวอย่าง กรณีเครื่องตรวจวัตถุระเบิด CTX 9000 สัมปทานรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ และทุจริตลานจอดรถ แม้แต่รถเข็นในสนามบินก็ยังมีข้อครหาว่าเกิดการทุจริต
กระทั่งหลายปีผ่านมา ดูเหมือนหลักฐานร่องรอยของการทุจริตจะเริ่มปรากฏ จนสนามแห่งใหม่ที่ควรจะเป็นที่ภาคภูมิใจของประเทศ กลับกลายเป็นความเสื่อมเสียที่คนทั่วโลกเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด
ช่วงปีแห่งการบินโกลาหล
สนามบินสุวรรณภูมิในปีนี้หากลองไล่เรียงดูดีๆ จะพบว่ามีข่าวความโกราหลอยู่เรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่วนตรวจเช็กหนังสือเดินทาง(ตม.) ก็พบปัญหา เมื่อผู้โดยสารเข้าคิวรอนานกว่า 2 ชั่วโมง โดยความล่าช้าที่เกิดขึ้นนั้นมาจากที่ว่านักท่องเที่ยวเพิ่มจำนวนมากขึ้นในช่วงหลังพิบัติภัยน้ำท่วม
และเมื่อไม่นานมานี้ 21 มิถุนายน เกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้องจนเรดาร์ใช้งานไม่ได้ 30 นาที ทำให้เครื่องบินนับ 10 ลำต้องบินเคว้งอยู่บนฟ้าจนต้องขอลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินอู่ตะเพา หรือสนามบินเชียงใหม่เพื่อเติมน้ำมันก่อนบินกลับมาส่งผู้โดยสาร
มาถึงกรณีรันเวย์ร้าวครั้งล่าสุดก็เลวร้ายขั้นต้องประกาศปิดซ่อมรันเวย์ครั้งใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมานั้น มีการผิดซ้อมรันเวย์ฉุกเฉินมาแล้วไม่ต่ำกว่า 200 ครั้งต่อปี แม้สมชัย สวัสดีผล ผู้อำนวยการการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จะออกมาเปิดเผยถึงสาเหตุของความเสียหายที่เกิดขึ้นว่ามาจากการใช้งานหนักกว่า 6 ปี ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า เป็นเรื่องปกติที่รันเวย์สนามบินจะต้องได้รับการซ้อมบำรุง
ทว่าการซ้อมบำรุงที่มีมาตลอด 200 ครั้งต่อปีจนต้องปิดบางส่วนของสนามบินเป็นประจำนั้น รวมถึงการประกาศปิดสุวรรณภูมิครั้งใหญ่ดูจะไม่ใช่เรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับสนามบินทั่วไป
ซึ่งก่อนหน้านี้ประมาณช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สุวรรณภูมิก็ได้ผิดซ่อมรันเวย์ด้านตะวันออกอยู่ก่อนแล้ว ครั้งนั้นสร้างความโกลาหลจน 380 เที่ยวบินเกิดดีเลย์ โดยเฉลี่ยแล้วเที่ยวบินละ 30 นาทีและดีเลย์สูงสุดถึง 1 ชั่วโมง
ไม่ต้องสงสัยเมื่อถึงตอนนี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ใช่ในแง่ของการใช้งานสนามบินเท่านั้น หากแต่ส่งผลเสียต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของประเทศที่ยิ่งนับวันปัญหาก็ดูจะทวีความย่ำแย่มากขึ้น
กรณีเลวร้ายบนผืนดินที่ชื่อ สุวรรณภูมิ
สนามบินสุวรรณภูมิกว่าจะก่อร่างสร้างรูปมาเป็นสนามบินอย่างทุกวันนี้ ต้องผ่านมือของผลประโยชน์มากมายหลายต่อหลายมือ สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ก็คือความเสียหายอันเป็นเสมือนตราบาปที่ตอกย้ำถึงมาตรฐานความเป็นไปของประเทศนี้ ต่อไปนี้คือการรวมกรณีความเสียหายที่สนามบินสุวรรณภูมิ
1.รันเวย์ร้าว เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเพียง 4 เดือนหลังจากสนามบินเปิดใช้งาน โดยพบรอยร้าวกว่า 100 จุดบนรันเวย์ (ทางวิ่ง) และแท็กซี่เวย์ (ทางขับ) จนต้องปิดสนามบินบางส่วนเพื่อซ่อมแซม โดยสาเหตุมาจากการถมที่แต่แรกเริ่มนั้นใช้ทรายขี้เป็ดแทนที่จะเป็นทรายแม่น้ำ
2.ระบบทำความเย็น ด้วยเพราะผนังอาคารเป็นกระจกสูง 20 เมตรและมีการลดสเปกอาคารบางส่วน ทำให้ต้องใช้ระบบหล่อน้ำเย็นใต้พื้นชดเชย ซึ่งทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายและการดูแลมากกว่าระบบอื่นทั่วไป
3.ห้องน้ำ เนื่องจากสนามบินสุวรรณภูมิเป็นสนามบินขนาดใหญ่ที่รองรับผู้โดยสารจำนวนมาก แม้จะมีจำนวนห้องน้ำถึง 1,455ห้อง มากกว่าสนามบินดอนเมืองถึง 855 ห้อง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ด้วยเพราะที่ตั้งห้องน้ำซ้ำอยู่ไกลจากกันมาก ทั้งยังมีพนักงานมาร่วมใช้ ทำให้ห้องน้ำมีไม่เพียงพอ และการดูแลทำความสะอาดก็ทำได้ยาก
4.หลังคารั่ว ในวันที่ 18 กันยายน 2549 ขณะยังไม่เปิดใช้อย่างเป็นทางการ หลังคาอาคารผู้โดยสารเกิดรั่วเนื่องจากซิลิโคนที่เชื่อมกระจกหลุด ซึ่งอาจเกิดจากการทำความสะอาดกระจกหลังคา
5.น้ำท่วม เนื่องจากบริเวณสุวรรณภูมินั้นเป็นพื้นที่ระบายน้ำ หรือพื้นที่หน่วงน้ำ (แก้มลิง) ด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานคร แม้จะประกาศว่าไม่มีปัญหาโดยสร้างกำแพงสูงถึง 3.5 เมตรรอบสนามบิน และตั้งสถานีสูบน้ำ 2 แห่ง สามารถระบายน้ำไปวันละ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่น้ำก็ยังท่วมอยู่ดี
6.ไม่เหมาะสมกับคนพิการ การออกแบบยังไม่คำนึงถึงการใช้งานของคนพิการซึ่งในระดับสากลแล้วจำเป็นต้องมี
7.การติดต่อวิทยุสื่อสารมีหลายหน่วยงาน ทำให้การลงจอดเป็นไปได้ยากขึ้น หน่วยหนึ่งอนุญาตให้จอดขณะที่อีกหน่วยไม่ให้ลง ทำให้เสี่ยงที่เครื่องบินอาจจะชนกันได้
8.การวางแผนรองรับเครื่องบินก็ผิดพลาด เนื่องจากเครื่องบินแต่ละลำสมรรถนะและขนาดที่ต่างกัน ความขึ้นเร็วในการขึ้น - ลงของแต่ละลำก็แตกต่างกันแต่จัดการทั้งหมดผิดพลาด
9.การออก NOTAM หรือ Notice to airman ไม่มีการวางแผนไว้ก่อน ไม่เหมือนในต่างประเทศที่หากจะมีการปิดรันเวย์บางส่วนจะมีการแจ้งล่วงหน้าพร้อมระยะเวลา แต่ที่สุวรรณภูมิอาจจะมารู้ตอนที่มาถึงแล้วเท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาต้องบินอยู่กลางอากาศ หรือไปเติมน้ำมันที่อื่นแล้วกลับมาลงจอด ปัญหาเล็กๆอย่างไฟบนลู่วิ่งก็เสียหายนับพันดวง ซึ่งนักบินต้องใช้วิธีเปิดไฟเครื่องให้สว่างขึ้นเพื่อให้มองเห็นเส้นทางการบิน
10.แปลนสนามบินมีปัญหา เครื่องบินของสายการบินเล็กๆ ไปจอดในที่เดียวกันโดยไม่ได้ทำทางให้เครื่องบินถอยหลัง เวลาเครื่องจะออกต้องรอคิวให้เครื่องบินด้านนอกถอยออกก่อน ส่งผลให้เสียเวลามาก
11.ไข้หวัด 2009 หากยังจำกันได้ ในช่วง 2552 ที่มีไข้หวัด 2009 ระบาด สนามบินสุวรรณภูมิก็ถูกตั้งแง่ว่า มีการตรวจสอบผู้โดยสารที่ไม่ได้มาตรฐาน
12.แก็งฉกเงิน เป็นเรื่องฉาวระดับโลกเมื่อเจ้าหน้าที่คัดแยกกระเป๋าในสนามบินสุวรรณภูมิรวมกลุ่มกันขโมยของจากสัมภาระผู้โดยสาร
13.ทุจริตที่จอดรถ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2553 บริษัท ปาร์กกิ้ง แมนเนจเม้นท์ จำกัด ได้ยื่นฟ้องต่อท่าอากาศยานไทย เป็นเงินถึง 200 ล้านโดยมีข้อมูลว่า ท่าอากาศยานไทยรู้เห็นเป็นใจต่อการผิดสัญญาโดยให้บุคคลภายนอกเข้ามาเก็บเงินค่าจอดรถซึ่งเป็นคนจากบริษัท ซีเนค จำกัดที่ท่าอากาศยานไทยเคยว่าจ้างให้เก็บเงินก่อนประมูล
ปัญหาทั้งหมดบางปัญหาก็ได้รับการแก้ไขไปแล้ว แต่บางปัญหาก็ยังคงอยู่
มองความเสียหายถึงทางแก้ไขปัญหา
มรุต วันทนากร ปริญญาเอก บัญฑิตวิทยาลัย เอเชีย แปซิฟิกศึกษา มหาวิทยาลัยวาเซดะ นักวิชาการอิสระ
มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับสนามบินสุวรรณภูมินั้นเกิดจากการก่อสร้างแต่แรกเริ่มที่ทำมาไม่ได้มาตรฐาน โดยหากจะให้พูดสาเหตุที่ทำให้เป็นแบบนั้นเขาก็วิเคราะห์ว่ามาจากหลายปัจจัยด้วยกัน
“ตอนนี้มันมีการทุจริตกันมานานมากแล้วกับโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ ปัจจัยต่างๆ รวมกัน ทั้งนักการเมือง ทั้งการแสวงผลประโยชน์ การตรวจสอบต่างๆ มันทำให้สนามบินสุวรรณภูมิเต็มไปด้วยปัญหา”
โดยปัญหามากมายที่เกิดขึ้นนั้น มีอยู่หลายจุดมากที่ต้ำกว่ามาตรฐานของสนามบินระดับโลก แม้ว่าภายนอกจะดูสวยงาม แต่การใช้งานนั้นค่อนข้างมีปัญหา
“มันมีหลายจุดมากที่ไม่ได้มาตรฐานในด้านของการใช้งาน ตั้งแต่ประตูเข้า - ออกที่เป็นชั้นเดียวซึ่งตามห้างสรรพสินค้า ไม่ต้องใหญ่มาก ถ้าสังเกตจะมีสองชั้นเพื่อทำให้อุณหภูมิอาคารไม่ลดลง แต่ที่สุวรรณภูมิสนามบินระดับโลก กลับไม่มี นี่คือผิดมาตรฐานแล้ว ซึ่งอาจจะเกิดจากการลดสเปกระหว่างการเสนอแบบก่อสร้าง”
เมื่อเงยหน้าขึ้น เขาก็พบกับจุดที่ผิดพลาด ที่กระจกบนเพดานสนามบินซึ่งติดฟิล์มกันแดดทั้งที่ไม่จำเป็นต้องติดหากมีการก่อสร้างที่ถูกต้องมาตั้งแต่ต้น
“จะเห็นได้ว่า ค่าใช้จ่ายพวกนี้จะปรากฏขึ้นมาเรื่อยๆ อะไรเล็กๆน้อยๆ มันโพ่ลขึ้นมาเรื่อยจากการก่อสร้างแรกเริ่มที่ไม่ได้มาตรฐาน”
เมื่อเทียบกับสนามบินอื่น โดยเขายกสนามบินนาริตะซึ่งใช้มา 30 ปีแล้ว มีผู้โดยสารเข้า - ออกจำนวนเท่าๆ กัน เขาก็บอกได้เลยว่าที่สุวรรณภูมิดูเหมือนสร้างมานานกว่า ทั้งนี้เมื่อย้อนกลับไปช่วง 2 ปีก่อนที่เขาต้องเข้า - ออกสนามบินอยู่เป็นประจำก็ทำให้เห็นได้ว่า ที่สุวรรณภูมินั้นจะมีการซ่อมแซมก่อสร้างอยู่ตลอดเวลา
“ถ้าเดินผ่านร้านอาหาร กลิ่นอาหารจะคละคลุ้งซึ่งสนามบินที่ได้มาตรฐานมันจะไม่เป็นแบบนี้”
ปัญหาหลายอย่างเกิดจากการลดสเปกการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่โปร่งใส ยิ่งกับกรณีรันเวย์ร้าว ยิ่งจะซ้ำเติมให้ปัญหาทบทวีขึ้น
“ถ้าให้ผมไปเดินที่สุวรรณภูมิชี้ไปที่จุดไหนก็มีปัญหาแทบจะทั้งหมด จุดตรวจหนังสือเดินทางที่มีร่มกาง จริงๆต้องไม่มี แต่ที่มีเพราะว่ามันมีแดด มันร้อน ก็แก้ไขปัญหาโดยเอาร่มไทยมากาง”
ผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวที่มาไม่บ่อยก็อาจจะก่อให้เกิดความไม่สะดวกสบายบ้าง แต่กับชาวต่างชาติที่ต้องเดินทางมาบ่อยๆ นักธุรกิจ นักลงทุน มันก็ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือได้ การก่อสร้างสนามบินหากไปเทียบกับประเทศเป็นตัวเงินอาจจะไม่สูง เพราะค่าเงินต่างๆ แต่ละประเทศจะเทียบกันไม่ได้ แต่สุวรรณภูมิก็ถือว่าเป็นสนามบินที่ราคาแพงเหมือนกัน ยิ่งเทียบกับสิ่งที่ได้ คุณภาพของการใช้งาน ถือว่าต่ำกว่าที่คาดหวังไว้มาก
“มองกันจริงๆ ส่วนที่สร้างไปแล้วเราก็คงต้องซ่อมแซมแก้ไข แต่ในส่วนขยายต่อไป มันก็คงต้องมีการสร้างให้ได้มาตรฐาน เพราะถ้าไม่ได้ความเสียหาย ค่าใช้จ่ายที่ตามมามันก็มากขึ้นเรื่อยๆ”
การก่อสร้างสนามบินเฟส 2 นั้นคงต้องดูกันต่อไป เขามองว่ามาถึงตอนนี้ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว การทำงานของหลายภาคส่วนทั้งสื่อมวลชน ภาคประชาชนในการตรวจสอบ สังคมตื่นตัวต่อสิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่าแต่ก่อน ก็ได้แต่หวังว่าครั้งนี้อะไรหลายๆอย่างที่ผ่านมา และฝันร้ายอาจจะกลายเป็นดีขึ้นมาบ้าง
ทีมข่าว ผู้จัดการ LIVE รายงาน