xs
xsm
sm
md
lg

“ก้องเกียรติ โขมศิริ” วิถีอันธพาล 2012

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตอนนี้หากลองพลิกดูรายชื่อผู้กำกับมากฝีมือของเมืองไทย ก้องเกียรติ โขมศิริ เป็นชื่อหนึ่งที่วางตัวเองอยู่ในรายชื่อลุ้นรับรางวัลภาพยนตร์ในเมืองไทยมาอย่างยาวนาน ลุ้นมาตั้งแต่ยังอยู่ในฐานะมือเขียนบท บางระจัน, องค์บาก และเปนชู้กับผี กระทั่งปี 2552 เขาก็คว้ารางวัลสุพรรณหงส์ในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม

“สุดยอด” หลังจากขอบคุณทีมงาน ขอบคุณหลายๆ ฝ่าย นี่เป็นคำพูดสั้นๆ ที่เขากล่าวบนเวทีแห่งเกียรติยศครั้งนั้น และทุกคนต่างตั้งคำถาม ทำไมพูดน้อยขนาดนั้น

“อีกวันก็มีคนมาถามเรา เราก็ได้เขียนลงในนิตยสารฉบับหนึ่งว่า ที่เราพูดวันนั้น เราหมายความอย่างนั้นจริงๆ ที่ตรงนั้นมันคือสุดยอดเหมือนยอดเขา และจากตรงนั้นพอลงจากเวที เราก็ลงจากยอดแล้ว พอมองไปเราก็พบว่ายังมีอีกหลายยอดให้เราไปถึง”

เส้นทางยาวนานของคนทำหนังคนนี้ บอกได้ว่าล้มลุกคลุกคลานไม่ต่างจากบทภาพยนตร์ของเขา มาถึงวันนี้เขากลับมาพร้อมความท้าทายใหม่ของการเล่าเรื่องย้อนอดีตในภาพยนตร์เรื่อง 'อันธพาล'

ชีวิตผกผัน บทหนังใต้แท็งก์น้ำ

“บทหนังเรื่องบางระจันถูกขึ้นใต้แท็งก์ย่านรามคำแหง” นั่นคือช่วงชีวิตที่หนักหนาช่วงหนึ่งของชีวิตเขา

ชีวิตที่เติบโตมาในบ้านที่ฐานะค่อนข้างดี มีครอบครัวที่พร้อมให้ในสิ่งที่เด็กคนหนึ่งต้องการ ย้อนไปในวัยเด็ก สิ่งที่ทำให้เขาก้าวมาเป็นคนทำหนังอย่างทุกวันนี้ อาจมาจากวัยเด็กในโรงภาพยนตร์

“ตอนเด็กๆ พ่อแม่ผมมีกิจการที่บ้าน ก็ค่อนข้างวุ่นวาย วิธีการที่จะทำให้เราอยู่เฉยๆ ก็คือเอาเราไปโยนเข้าไว้ในโรงหนัง”

โรงหนังย่านเพลินจิตในยุคสมัยของโรงภาพยนตร์แบบสแตนด์อะโลน เขาเติบโตมากับโรงหนังแบบนั้น และภาพความทรงจำแสนสุขของช่วงวัยเด็กคือการได้ดูหนังกับครอบครัว ทำให้ทุกครั้งที่เดินเข้าโรงหนัง เขาจะรู้สึกมีความสุข แล้ววันหนึ่งเมื่อมีการถามกันว่า โตขึ้นอยากจะเป็นอะไร หลายคนบอกว่าอยากเป็นตำรวจ บ้างก็อยากเป็นทหาร แต่คำตอบของเขาคืออยากเป็นผู้กำกับหนัง แม้ว่าตอนนั้นเขาจะยังไม่รู้เรื่องอะไรเลยก็ตาม

“แล้วพอมีวิดีโอเข้ามาเราก็บ้าคลั่งเลย เช่ามาทีละ 30 เรื่อง ดูจนเครื่องพัง และมันกลายเป็นสมบัติของเราเลย มีวิดีโอเรื่องหนึ่งที่เป็นความภาคภูมิใจของเราในวัยเด็ก ใครมาบ้านเราจะอวดว่า เรามีวิดีโอเรื่องนี้ เป็นหนังฝรั่ง คุ้นๆ ว่า มีนักวิทยาศาสตร์ที่ทดลองทำให้เป็ดไข่เป็นทองคำ” เขายิ้มพร้อมเล่าถึงวัยเด็ก และมันเป็นยิ้มที่เปี่ยมล้นไปด้วยความคิดถึง คิดถึงใครหลายคนในชีวิต

“ต้องขอบคุณแม่ แม่ไม่รู้หรอกว่าทำหนังทำยังไง แต่แม่สอนให้ทำเลย วิธีของแม่คือซื้อตัวต่อเลโก้ให้ จะมีหลายชุด ชุดวัง ชุดโน่นนี่ พอเราต่อเป็นชุดๆ ได้เสร็จ แม่จะรื้อแล้วเอามากองรวมกัน จากนั้นก็ให้เราต่ออะไรขึ้นมา แม้แต่ส่วนที่มันไม่ต่อกัน เราก็เอามาต่อกันได้ มันสอนให้เราเรียนรู้กรอบแล้วค่อยแหกกรอบออกมา”

และแม้ฐานะทางการเงินจะผกผันในช่วงปี 2526 ที่เกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ กิจการที่บ้านล้มละลาย จากแม่ที่เป็นครสอนภาษาอังกฤษกลายมาเป็นแม่ค้าขายทุเรียน ทว่า สิ่งที่ยังคงอยู่คือความสุขในชีวิตที่พ่อแม่ของเขายินดีให้ เพื่อไม่ให้เขารู้สึกขาด

“ตอนเด็กเราก็รู้สึกว่าทำไมชีวิตเราต้องเป็นแบบนี้ แต่เรายังคงได้ดูหนัง ได้ฟังเพลง ได้อ่านหนังสือที่เราชอบ คืออยากทำอะไรให้ทำ แต่เราจะถูกสอนเสมอว่าต้องมีความรับผิดชอบ อยากเลี้ยงหมา 11 ตัวเลี้ยงได้ แต่ต้องรัก ถ้าตายโดนตี”

อีกสิ่งหนึ่งที่ได้จากแม่ที่เป็นครูคือ การอ่านหนังสือ และไม่ทันรู้ตัวจากการได้อ่านหนังสือที่กองๆ อยู่ที่บ้าน เขาก็เริ่มมีภาษาเขียนของตัวเอง และเริ่มเขียนกลอน เขียนส่งเรื่องไปลงขายหัวเราะ

“หลังจากนั้นก็มียุคของการอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น มีความสุขมากนะ อ่านทีเป็นตั้งๆ ตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่เลย และการ์ตูนมันก็เป็นสตอรี่บอร์ด มันเล่าเป็นภาพ เราก็ได้มาโดยไม่รู้ตัว” ผมหัวเราะเมื่อเล่าถึงหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตที่ได้มาโดยไม่รู้ตัว

และด้วยชีวิตที่มีจุดหมายอยู่ที่การทำหนัง หลังจากจบมหาวิทยาลัยในด้านของละครเวที จุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตก็เกิดขึ้น เมื่อแม่และพี่ชายมาจากเขาไปในเวลาใกล้เคียงกัน ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตและการตัดสินใจ เขาต้องมาเช่าห้องพักอยู่ใต้แท็งก์น้ำเดือนละ 500 บาทย่านรามคำแหง

“แล้วหน้ารามคำแหงไม่เคยหลับ แต่เรารู้สึกเหงามาก ไม่รู้จักใคร ไม่รู้จะคุยกับใคร เราได้ไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งที่ทำให้เราตัดสินใจเด็ดขาดเลยว่าอยากทำหนัง คือบทภาพยนตร์เรื่อง เพื่อน-แพง เขียนโดยธม ธาตรี หรืออาเชิด ทรงศรี แล้วมันมีคุณประโยชน์คุณูปการกับเรามาก ถึงทุกวันนี้ยังเรียกอาเชิดว่าเป็นครูคนหนึ่งของชีวิตเลยนะ

“เพราะในช่วง 20 แผ่นแรกของหนังสือเล่มนี้ เขาจะบอกวิธีเขียนบทหนัง การจัดวางหน้า ช็อตคืออะไร ไดนามิก คัต คืออะไร สิ่งที่ควรรู้ ศัพท์เทคนิคที่ควรรู้ประมาณหนึ่งในการเขียนบท แล้วอ่านเสร็จเข้าตัวเรื่องเพื่อนแพง ตอนแรกก็อ่านไปเรื่อยๆ แต่อ่านแล้วหยุดไม่ได้ เชื่อมั้ย...อ่านจบปุ๊บ น้ำตาไหล อินกับเรื่อง นั่งร้องไห้อยู่คนเดียว คนก็มอง เรานั่งร้องไห้แบบจริงจังมาก เฮ้ย! บทภาพยนตร์มันมีผลกับเราได้ถึงขนาดนี้เลยเหรอวะ เอ่อ...เราก็เลยรู้สึก ถ้างั้นเราทำอย่างงี้ดีกว่า”

และนี่แหละคือการสร้างหนังของเขา ลงทุนน้อยที่สุด แค่กระดาษปากกาและลงมือเขียน หลังจากนั้นเขาได้ช่วยทำหนังเรื่องแรกกับ เจ้ย - อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล แล้วได้มารู้จักกับ ปื๊ด - ธนิตย์ จิตนุกูล ด้วยวิธีการคือเดินเข้าไปหาแล้วบอกว่า “พี่คนนั้นฝากมาให้ทำงาน” ซึ่งทำให้ก้องเกียรติต้องเจอกับคำถามที่ทำให้เขาถึงกับฉุนขาด

“ทำอะไรได้บ้างล่ะ? กู้ระเบิดเป็นหรือเปล่า? ถ้าเป็นพี่รับ” ธนิตย์ จิตนุกุลถามเขา

“ตอนนั้นพี่ปื๊ดกำกับเรื่องเสือ โจรพันธุ์เสืออยู่ พอเจอแบบนั้นเราก็โกรธเหมือนกัน แต่ก็บอกไปว่า กู้ระเบิดไม่ได้ แต่เขียนบทได้ พี่ปื๊ดก็เอาบทภาพยนตร์เรื่องเสือ โจรพันธุ์เสือมาให้เราอ่านและคอมเมนต์ เราก็ดีใจมากเลย อ่านจริงจังเลย แก้ตัวแดงเถือก ตามประสาเด็กตอนนั้นยังไม่รู้อะไร ก็ไปคอมเมนต์เขากระจาย บทหนังนั้นเขาทำมาเป็นปี แต่พี่ปื๊ดก็รับเราทำงาน ซึ่งเขาอาจจะเห็นมุมมองอะไรบางอย่างของเราก็ได้”

และบทหนังเรื่องบางระจันที่กำกับโดย ธนิตย์ จิตนุกูลก็ถูกเขียนขึ้นใต้แท็งก์น้ำในย่านรามคำแหงโดย ก้องเกียรติ โขมศิริ

นักเลงคีย์บอร์ดจนถึงอันธพาล

หลายครั้งที่ภาพยนตร์ของก้องเกียรติ มักเล่าถึงด้านมืดของสังคม เล่าอย่างสนิทสนมจนหลายคนอาจไม่เชื่อว่ามีโลกแบบนั้นซ้อนทับอยู่ในสังคมที่เราอยู่จริงๆ ตั้งแต่เรื่องราวของนักมวยที่ต้องผันตัวเองมาเป็นนักเลง เด็กชายที่ใฝ่ฝันจะเป็นตำรวจแต่ต้องผันตัวมาเป็นมือถือรับจ้าง จนถึงเรื่องของอันธพาล

“มันมาโดยไม่รู้ตัว คือเราสนใจโลกของฝั่งนี้ หนังไทยก่อนหน้านี้ยุคนึงที่เขาเรียกว่าสเตอริโอไทป์ คนดีจะต้องเป็นขาวผุดผ่อง ผู้ร้ายต้องมีหนวดดำ ซึ่งเราไม่เชื่อ เราว่ามันเทาๆ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราเล่าเรื่องโลกของความมืด ดาร์กไซน์ หรืออะไรทั้งหลายทั้งแหล่ เราพยายามให้เห็นมิติของมัน ในความมืดเองมันก็จะมีมิติของชีวิต มีความรู้สึก ไม่ใช่ไอ้โจรหนวดคนนี้จะต้องหัวเราะอย่างไม่มีเหตุผลอย่างเดียว หรือมันมีที่มาที่ไป มันมีโลกของเขา เขาก็รักคนเป็น หิวและบางครั้งก็คิดถึงแม่”

จากหนังเรื่องแรกมาถึงตอนนี้ 5 ปีในฐานะผู้กำกับเต็มตัว ผ่านรางวัลเวทีที่ถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดเวทีหนึ่งของประเทศ การพัฒนางานนั้นเขามองว่ามันไปเป็นโดยธรรมชาติไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ จากหนังเรื่องแรกที่เป็นเหมือนเสียงตะโกนบอกเล่าเรื่องราว ด้วยฉายาที่บางคนยกให้เป็นภาพยนตร์ที่มีจำนวนคัทเยอะที่สุดในประเทศ จนมาเป็นงานที่หาช่องว่างในการเล่าเรื่อง เขารู้ว่าตัวเองพัฒนาอย่างไม่จำเป็นต้องมีรางวัลหรือเสียงวิจารณ์

“คนทำงาน อย่าว่าแต่เราเลย ทุกคนเขาไม่เคยคิดทำหนังเพื่อรางวัล ทำเพื่อให้ได้ตังค์ ใครรู้ว่าทำยังไงก็ทำไปแล้ว เรารู้แต่ว่าทำยังไงให้ดีที่สุด ณ ตอนนั้น เท่าที่ปัญญาของวันนั้นมันจะคิดได้ รางวัลมันเป็นความภาคภูมิใจนะ สุดยอดแต่พอลงมาเราก็ลงจากยอดแล้ว แล้วเราไม่เคยทำหนังแบบไปให้สุดๆ วันนี้อยากพักก็พัก นี่คือชีวิตการทำหนัง ถ้าเรามานั่งแคร์กับคำว่าสุดยอด ไม่งั้นเราทำหนังมาไม่ได้ยาวขนาดนี้หรอก”

พูดถึงเสียงวิจารณ์ สิ่งหนึ่งที่เขาคิดว่าเป็นปัญหาคือเสียงวิจารณ์จากอินเทอร์เน็ต มันเป็นปัญหาถึงขั้นว่าเขาเคยหนีไปเวียดนาม 4 เดือนเพื่อคิดทบทวนกับชีวิตการทำหนังมาแล้ว

“หนังเรื่องแรกไม่ได้ตังค์ เราก็เสียใจพอสมควรแล้ว ดันทะลึ่งไปอ่านพันทิป แล้วบางคนด่าพ่อด่าแม่เลย เฮ้ย! เราทำผิดขนาดนั้นเลยเหรอ เราเป็นอาชญากรสงครามหรือไง มันก็ประกอบกับหลายๆ อย่าง เราเลยหนีไปเวียดนาม 4 เดือน เราคิดทุกวันว่าจะทำยังไงต่อไป แล้วก็พบว่าเราต้องทำหนัง มันเป็นสิ่งที่ถนัดที่สุดแล้ว

“บางทีนักเลงคีย์บอร์ด เขาไม่รู้ตัวหรอกว่าพ้นอะไรออกมา แล้วสิ่งที่พ้นออกมามันมีผลต่อความรู้สึกของคนขนาดไหน ถ้าทำงานมานานๆ อย่างเรา เรียกว่าเหนียวแล้ว แต่เด็กรุ่นใหม่ บางทีมันน่าสงสารไง กว่าจะเป็นหนังสักเรื่อง คุณไม่รู้หรอกว่ามันผ่านวิบากกรรมมามากมายแค่ไหน เงินตอบแทนก็ไม่ได้เยอะ อยู่กับมันเป็นปีๆ ทุ่มเทขนาดนั้น พอออกมา หนังไม่ได้เงินไม่เท่าไหร่ โดนด่าอีก”

และกรณีแบบนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับภาพยนตร์เรื่อง 2499 อันธพาลครองเมืองด้วยเช่นกัน แม้หนังจะสนุกและได้รับเสียงชม ทว่าหลายคนก็ออกมาบอกว่า มันไม่จริง! แม้ว่าจะสร้างจากจากนวนิยายเรื่อง เส้นทางมาเฟีย ของสุริยัน ศักดิ์ไธสง หรือเปี๊ยก วิสุทธกษัตริย์

“แล้วเขาแต่งมันเป็นนิยาย ไม่ได้บอกว่าทุกเรื่องมันจริง ทีนี้พอถูกด่าว่าไม่จริง เขาโดยประณามมากจนตายไปแล้วก็ยังถูกด่าว่า ไม่มีตัวจริง คือถ้าใจกว้างแล้วลองดูชีวิตเขาจริงๆ เขาเป็นนักโทษนะ แล้วไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์แต่ได้ยินเรื่องราวทั้งหมดแล้วมาเขียนรวบรวม คิดดูว่าเป็นประโยชน์ขนาดไหนที่เขาได้บันทึกประวัติศาสตร์ช่วงนี้ไว้”

ปรากฏการณ์ถกเถียงแย่งชิงข้อเท็จจริงนี้เองที่จุดให้เขาสนใจ 2499ฯ กระทั่งทำ 'อันธพาล' ออกมา

“เรื่องนี้มันถูกสร้างจากมุมมองการเล่าของคนอื่นนะ เพราะฉะนั้นคุณจะไปบอก เฮ้ย! อย่านินทาฉันแบบนี้นะ ฉันไม่ได้เป็นคนแบบนี้ มันก็เป็นจินตนาการของเขาไง คุณจะไปบอกเขาว่าอย่าคิดกับผมแบบนี้เหรอ อย่ามองโลกแคบๆ แค่ว่า เป็นข้อมูลที่ผิด มันเก่าแล้ว

“คนไทยต้องใจกว้างๆ ไง คือคุณแน่ใจเหรอว่า คุณอยากรู้เรื่องจริง คุณไม่ได้อยากรู้หรอก แค่อยากพูดว่าของนายน่ะ ไม่จริง คือมันแค่นั้นเอง มันเลยลืมมองไปว่า สุดท้ายแล้วหนังสนุกมั้ย มันสะเทือนความรู้สึกของคุณมั้ย หนังเรื่องอันธพาลเราใช้เทคนิคในทำหนังที่เรียกว่า ม็อกคูเมนเทอรี่ มันคือสารคดีที่ถูกม็อกอัพขึ้นมา เพราะฉะนั้นมันเคลือบแคลงอยู่ระหว่างความจริงกับไม่จริง ออกมาพูดกันเลย ไอ้นั่นไม่จริง ไอ้นี่ไม่จริง เราชอบ”

เมื่อพูดถึงอันธพาลที่ว่าด้วยเรื่องของคนจริง สิ่งที่ก้องเกียรติออกแบบไว้คือการที่ตัวหนังมันถูกตั้งคำถามให้ย้อนกลับมาถามแม้กระทั่งกับคนดูว่า คุณเป็นคนจริงหรือเปล่า คนจริงหรือความจริงคืออะไร

สังคม เสียตัว กับโรคแพ้ใบปาร์ม

แม้จะได้รับการยอมรับในฐานะผู้กำกับมากฝีมือ แต่จำนวนเงินของหนังแต่ละเรื่องที่เขากำกับก็ยังไม่ถึงขั้นประสบสำเร็จแบบถล่มถลาย ส่วนหนึ่งอาจเพราะเนื้อหาด้านมืดไม่จรรโลงโลกในหนังของเขา อีกส่วนก็อาจจะมาจากตัวคนดูหนังที่มีอคติกับหนังที่ถูกตราไว้ว่าเป็น หนังไทย

“เราไม่ชอบหรอกนะ ที่พูดว่า เราเป็นคนไทยต้องมาช่วยอุดหนุนหนังไทย คือถ้าหนังไทยมันห่วยแตกก็ปล่อยให้มันตายไปเถอะ แต่คนไทยต้องใจกว้างๆ อย่าอคติ ถ้าเห็นว่าน่าสนุกก็ไปดู เพราะหนังฝรั่งเสี่ยวๆ ตั้งหลายเรื่องคุณยินดีไปดู อยากให้ดูหนังไทยในฐานะที่มันเป็นหนังเหมือนกันแค่นั้นเอง”

แต่อุตสาหกรรมหนังไทยในปัจจุบันที่โตขึ้นกลับมีคุณภาพที่สวนทาง แม้มองไปที่อนาคตของวงการหนังอย่างสถาบันศึกษามากมายที่หันมาเปิดสาขาวิชาด้านภาพยนตร์ ทว่าเด็กรุ่นใหม่ในสายตาเขาส่วนมากกลับไม่ค่อยมีคุณภาพ

“งานเด็กสมัยใหม่ ต้องยืนยันก่อนว่าเด็กเก่งๆ ดีๆ เห็นเยอะ แต่ส่วนใหญ่ภาพรวมแล้ว จะไปเป็นโฉมเป็นแค่ฟอร์ม ครึ่งหนึ่งอยากเป็นเควนตินก็จะตัดหนังแบบเควนติน ถ่ายดิสตอร์ทภาพเพี้ยนๆ ทำเป็นเซอร์โน่นนี่นั่น อีกครึ่งนึงอย่างเป็นพี่เจ้ยก็จะนิ่งๆ โน่นนี่นั่น คำถามคือแล้วพวกนายเป็นใคร”

หลายครั้งที่เขาได้พูดคุยกับนักศึกษาจะได้ยินคำพูดทำนองว่า ผมอยากเป็นเหมือนผู้กำกับคนนั้น คนนี้ แต่ไม่เคยมีใครอยากเป็นตัวเอง เหล่านี้ก็เชื่อมโยงกับหลายสิ่งที่เกิดในภาพยนตร์ของเขา เมื่อตัวละครมักถูกบีบคั้นด้วยบางสิ่งเพื่อให้เป็นในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเอง

“สังคมกับมนุษย์มันเชื่อมโยงกัน สังคมเป็นยังไงบีบบังคับให้มนุษย์เป็นแบบนั้น แล้วพอมนุษย์เป็นยังไงสังคมก็เป็นแบบนั้น และโลกทุกวันนี้มันเร่งเร้า พูดง่ายๆ คือเป็นผู้หญิงถ้าจั๊กกะแร้ดำจะรู้สึกผิด เราอยู่ในโลกแบบที่บีบให้เราเสียตัวเอง!!”

โรคแพ้ใบปาล์มจึงเกิดขึ้น หนังเรื่องอะไรที่ติดใบปาล์ม (รางวัลเทศกาลหนังเมืองคานส์) เรื่องนั้นดีหมด

“กล้องมันถ่ายติดหมดแหละ ถ่ายแล้วไปตัดต่อ 5 นาที เรียกหนังสั้นก็ได้ไม่ผิด แต่สุดท้ายหนังสั้นหนังยาว มันมีแค่หนังมันดีไม่ดีแค่นั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า การจะกำกับหนังมันเป็นศาสตร์ ฉะนั้นมันเป็นเรื่องของทักษะ แล้วมันจะถูกพัฒนาได้ก็เมื่อคุณฝึกบ่อยๆ แล้วมันต้องใช้เวลาในการบ่มเพาะ พวกเขาแค่ใจร้อนเกินไปเท่านั้นเอง”

และเพราะความลำบากของการทำงานได้เจียรไนเขามา จนบอกได้ว่า แผลเต็มตัว สิ่งที่เขาเลือกคือไม่ยอมแพ้ง่ายๆ หากอยากจะทำหนังต้องรู้จักกระบวนการทำหนัง และต้องสั่งสมบ่มเพาะไม่ว่าจะจากการทำงาน การดูหนัง อ่านหนังสือ สิ่งเหล่านั้นเรียกรวมง่ายๆว่า ลงมือทำ! มาถึงเรื่องของ อันธพาล มองในมุมมองของนักเล่าเรื่องอย่างเขา ในสังคมไทยอันธพาลคืออะไร เขาตอบง่ายๆว่า มันคือความอยุติธรรม

“คราวนี้ไอ้ความเป็นอันธพาลในเมืองไทยมันไม่ได้มีอยู่แค่โจรหน้าเครา อันธพาลอยู่ในทุกระบบ อันธพาลอาจจะเกิดจากความเลื่อมล้ำ การถูกกดขี่ ความไม่พอดี ความไม่สมบูรณ์ คือคนเราถ้ามันกินอิ่มทุกคน มันมีความสุข มันไม่มีบาดแผล มันก็คิดถึงคนอื่นได้ แต่ถ้าคนเราแก่งแย่งกันด้วยความที่คนเรามันขาดวิ้น ไม่สมบูรณ์ และเปราะบางเนี่ย ภาวะอันธพาลมันยิ่งเยอะ เพราะมันโดนหลอกก็ง่าย โดนเอาเปรียบก็ได้ ใครแข็งแรงกว่าก็จะอยู่ได้ วิธีคิดไหนที่เป็นที่นิยม เลวแต่อิ่มแปลว่าถูก แปลว่าดี นั่นแหละวิถีอันธพาล”

ภาพโดย ธนารักษ์ คุณทน





กำลังโหลดความคิดเห็น