xs
xsm
sm
md
lg

‘ปัญหา’ ของคน-โลก-จิต/อภินันท์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


หลังจากภาพยนตร์ไทยโรยราไปจากความนิยมของนักดูหนังตั้งแต่ปลายๆ ยุคทศวรรษ 2530 มาจนถึงช่วงหลังเศรษฐกิจฟองสบู่แตก อาจกล่าวได้ว่า หนึ่งในผู้กำกับที่มีบทบาทอย่างมากในการเรียกผู้คนให้หันมาสนใจหนังไทยอีกครั้งหนึ่ง ก็คือ นนทรีย์ นิมิบุตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานอันลือชื่อของเขาอย่าง “นางนาก” นั้น ไม่เพียงแค่จะเป็นการจุดกระแสหนังไทยให้กลับมาบูม หากแต่ด้านรายได้ ก็มีเกียรติประวัติเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ทำเงินเกินร้อยล้านบาทอีกด้วย

โดยส่วนตัว ผมชอบงานของคุณนนทรีย์ทุกเรื่องในยุคนั้น ไล่มาตั้งแต่ 2499 อันธพาลครองเมือง, นางนาก, จัน ดารา, อารมณ์ อาถรรพ์ อาฆาต (ตอน The Wheel) หรือแม้กระทั่ง “โอเคเบตง” ที่แม้จะดูเหมือนเป็นหนังเล็กๆ ไม่หรูหราอะไร แต่ทว่ามีความคมคายและงดงามละเมียดละไม ซึ่งสิ่งนี้แหละครับที่ผมคิดว่าเป็นเสน่ห์ที่พบได้ส่วนใหญ่ในหนังของนนทรีย์ นิมิบุตร คือการขุดเจาะเข้าไปสู่ความรู้สึกด้านลึกของมนุษย์ ที่มีทั้งหวั่นไหวเปราะบางและเข้มแข็ง

อย่างไรก็ตาม ทันทีที่การมาถึงของ “ปืนใหญ่จอมสลัด” ซึ่งทิ้งห่างจากหนังเรื่องสุดท้ายไปราว 5-6 ปี นนทรีย์ นิมิบุตร คนเดิมที่ผมเคยรู้จักก็ดูจะเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด “ปืนใหญ่จอมสลัด” นั้น จัดว่าเป็นหนังฟอร์มยักษ์เรื่องหนึ่ง ซึ่งบางเสียง ถึงกับแอบคาดหมายว่ามันจะเป็น “แจ็ค สแปโรว์ เมืองไทย” แต่ก็อย่างที่ทุกคนคงจะรู้ครับว่า ปืนใหญ่จอมสลัดนั้น “กระสุนด้าน” ไม่เป็นท่า ทั้งในแง่รายได้และเสียงตอบรับ ขณะเดียวกัน ผมรู้สึกว่า เสน่ห์ที่เราเคยเห็นในหนังเรื่องก่อนๆ ของคุณนนทรีย์ถูกทับถมไปด้วยภาพลักษณ์ของการเป็นหนังฟอร์มยักษ์แต่ทว่าตื้นเขินด้านบท ความละเมียดละไมในการเล่นกับความรู้สึกนึกคิดเชิงลึกของตัวละครก็ดูจะลดทอนพลังลงไป แม้หนังจะพยายามใส่คำคมอะไรต่างๆ เข้ามา ก็มิอาจก่อให้เกิดความลึกซึ้งประทับใจอะไรได้

นนทรีย์ นิมิบุตร หายไปจากหนังใหญ่อีกหลายปี โดยมีงานละครทีวีและอื่นๆ ช่วยเยียวยาบาดแผลจากปืนใหญ่ เขาก็กลับมาทำให้ผม (และคนอื่นๆ) ตื่นเต้นระทึกใจอีกครั้ง กับหนังเรื่องใหม่ที่บอกตามตรงว่า ทันทีที่เห็นหนังตัวอย่าง ผมก็อดเคลิบเคลิ้มล่วงหน้าไปไม่ได้ว่า นี่จะเป็น “การกลับมา” ของนนทรีย์ นิมิบุตร ในแบบคนเดิมที่เคยรู้จัก เพราะด้วย “ทาง” ของหนังนั้น เอื้อเหลือเกินต่อศักยภาพของผู้กำกับที่ถนัดอยู่แล้วกับการเล่นกับด้านลึกของคน และ “ด้านลึก” ที่ว่า ก็เกี่ยวข้องโดยตรงกับ “จิต”

“คน-โลก-จิต” มีที่มาจากการประกวดสคริปต์ภาพยนตร์ (หลายคนเข้าใจว่าเป็น “บทภาพยนตร์” แต่ไม่ใช่) จากโครงการ Thailand Script Project ซึ่งเป็นโครงการเดียวกันกับ “กะปิ ลิงจ๋อไม่หลอกจ้าว” และ “อีนางเอ๊ย เขยฝรั่ง” ก่อนจะถูกนำมาพัฒนาเป็นบทภาพยนตร์ทีหลัง หนังสองเรื่องที่ผ่านมาของโครงการนี้ดูจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก ไม่รู้ว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน

พูดถึง “คน-โลก-จิต” หากจะไม่ให้เอ่ยถึงรายละเอียดบางอย่าง คงยากที่จะอธิบายถึงสิ่งที่คาใจได้ชัดเจน ดังนั้น ถ้าคุณยังไม่ได้ดูและคิดว่าจะดู ก็ควรข้ามบทความนี้ไปเสีย เพราะไม่เช่นนั้น เงินส่วนนั้นที่โรงหนังและค่ายหนังควรจะได้รับ อาจจะหายไปเฉยๆ

“คน-โลก-จิต” มีความน่าสนใจตั้งแต่ชื่อเรื่องซึ่งมีการเล่นคำพ้องเสียง ที่ฟังแล้วเหมือน “คนโรคจิต” มันชวนให้คิดว่าตัวละครในเรื่องจะมาโรคจิตกันรูปแบบไหน และผมก็เชื่อของผมเองว่า ความคาดหวังของคนดูส่วนหนึ่งก็คืออยากจะดู “ความจิต” ในหนังนั้นมันจะหนักหนาสาหัสเพียงใด เนื้อเรื่องของหนังออกสตาร์ทด้วยเหตุการณ์ฆาตกรรมอันมีเงื่อนงำน่าสงสัยเหตุการณ์หนึ่ง โดยมีนักจิตวิทยาหนุ่มดาวรุ่งอย่าง “หมอปราการ” ผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านจิตอาชญากรเข้ามามีส่วนร่วมในการสืบสวนคดีนี้

หลังจากแนะนำหมอปราการและให้ข้อมูลพื้นฐานแก่คนดูหลายอย่างเกี่ยวกับหมอหนุ่ม หนังพาเราไปพบกับตัวละครสำคัญอีกตัวหนึ่ง ซึ่งได้แก่ “กวาง” นักศึกษาสาวที่หมอเขื่อนเคยให้ความช่วยเหลือเธอเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก และในขณะนั้นก็มีตัวละครอีกตัวโผล่มาแบบผ่านๆ นั่นคือชายหนุ่มผู้ทำให้หมอปราการมึนๆ งงๆ ตั้งแต่พบหน้ากันหนแรก และเราจะรู้จักเขาในเวลาต่อมาในชื่อว่า “คีย์”

ตัวละครที่มีบทบาทสำคัญนั้นคือหมอปราการ มีความแยบคายที่น่าคิดเกี่ยวกับชื่อของเขา ทั้งชื่อเล่น “เขื่อน” และชื่อจริงอย่าง “ปราการ” ล้วนแล้วแต่สื่อความหมายไปในทิศทางเดียวกัน นั่นก็คือ การปิดกั้น และหลายฉากในหนัง ก็ทำให้เราสงสัยได้เรื่อยๆ ว่า หมอหนุ่มคนนี้มีอะไรปิดบังเราอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะฉากยามเช้าที่เขามักจะพูดประโยคซ้ำๆ กับตัวเองก่อนไปทำงาน หรือแม้แต่การโทรศัพท์หาแม่อยู่บ่อยครั้งโดยปราศจากเสียงโต้ตอบสนทนาจากปลายสาย และยิ่งผนวกรวมเข้ากับ “แมลงวัน” ที่คล้ายจะตามหลอนอยู่ในมโนสำนึกของหมอหนุ่มอยู่เรื่อยๆ ด้วยแล้ว เราจะยิ่งสงสัยว่ามันน่าจะมีความไม่ชอบมาพากลนักเกี่ยวกับตัวละครตัวนี้

แน่นอนครับว่า หนังที่เดินมาใน “แนวทาง” แบบนี้ ส่วนสำคัญอยู่ที่การผูกและคลี่คลายปม ผมไม่มีปัญหาเท่าไรนักเกี่ยวกับการผูกปมของหนัง เพราะอย่างน้อยที่สุด ด้วยการรักษาบรรยากาศให้ดูคลุมเครือน่าสงสัยใคร่รู้คำเฉลย ก็เป็นสิ่งที่หนังทำได้ดีพอสมควร อย่างไรก็ดี ผมคิดว่า การคลี่คลายปมของหนังโดยอาศัยการหักมุมนั้นค่อนข้างมีปัญหา เพราะน้ำหนักความน่าเชื่อถือไม่หนักแน่นอย่างที่ควรจะเป็น คือถ้าไม่นับรวมการหักมุมที่หักแล้วหักอีกจนพร่ำเพรื่อไร้พลัง การหักมุมในตอนท้าย ก็ดูจะลืมให้เหตุผลไปซะดื้อๆ ว่า เด็กน้อยคนหนึ่งมีแรงจูงใจอะไร ถึงมีความคิดที่จะต้องทำแบบนั้นด้วย

ครับ, ขณะที่เรื่องราวในหนังสร้างความสงสัยให้กับเราเข้าไปค้นหาความจริงที่อยู่เบื้องหลัง ผมว่าหนังเองก็มีความน่าสงสัยในหลายจุดแบบ “ลืมเก็บรายละเอียด” อย่างเช่น คำพูดในตอนต้นเรื่องที่เหมือนมีเสียงสักเสียงพูดเหน็บแนมตำรวจ กระแนะกระแหนการเซ็ตผมของสาวนิติวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ตกลงแล้ว คือเสียงของใคร ส่วนตอนท้ายๆ ตรงเหตุการณ์ในโรงไม้ ก็ดูไม่สมเหตุสมผลนัก กับการที่สาวนิติวิทยาศาสตร์ที่กว่าจะมาหยุดยั้งเหตุการณ์ได้ ก็เมื่อเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้นแล้ว ทั้งที่ว่ากันตามจริง เธอก็อยู่ใกล้ๆ แถวนั้นเอง (หรือนี่จะเป็นมุกแบบย้อนยุคที่ตำรวจมักจะมาตอนจบ?)

หนังเรื่องนี้ใช้สอยนักแสดงใหม่เกือบทั้งหมด และพูดได้ว่า สอบตกยกชั้น ไม่เว้นแม้แต่ “บีม-ศรัณยู ประชากริช” ที่น่าจะเป็นหน้าเป็นตาให้กับหนังเพราะเคยผ่านการแสดงมาแล้ว ก็ไม่รู้ว่าทำไม พลังแอ็คติ้งถึงได้ดูอ่อนแรงนัก ส่วนถ้าจะมีอะไรที่พอจะเชิดหน้าชูตาหนังเรื่องนี้ได้ดีที่สุดก็คงเป็นงานด้านโปรดักชั่นและการถ่ายภาพ หลายฉากดูน่าสะพรึงขึ้นมาได้ก็เพราะเหตุนี้ เฉพาะอย่างยิ่ง ฉากการปรากฏตัวของคุณสุเชาว์ พงษ์วิไล ที่โผล่มาแบบแปลกๆ และแมลงวันที่วนเวียนรังควานหมอปราการ ส่วนลักษณาการเคลื่อนไหวของกล้องที่หมุนส่ายไปมา ก็คล้ายๆ กับภาพฉากหลายฉากที่สะท้อนให้เห็นถึงความบิดเบี้ยวที่ซุกซ่อนอยู่ในก้นบึ้งของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นภาพใบหน้าในกระจกที่แตกร้าวจนทำให้ใบหน้าดูเบี้ยวบิดผิดรูป หรือแม้กระทั่งภาพสะท้อนของใบหน้าตัวละครซ้อนกันหลายๆ ภาพอยู่ที่ประตูกระจก เหล่านี้ล้วนแล้วแต่สื่อสารถึงภาวะจิตที่มีปัญหาของตัวละครได้อย่างประสบความสำเร็จ

กระนั้นก็ตาม พอมาคิดถึงภาพรวมของหนังที่ดูเหมือนจะจงใจสะท้อนให้เห็นถึงจิตที่มีปัญหาของตัวละคร ผมกลับรู้สึกในมุมกลับว่า หนังทำได้ไม่ถึงอย่างที่ควรจะเป็น เพราะไปๆ มาๆ การณ์กลับกลายเป็นว่า เนื้อหาของหนังถูกลดทอนพลังให้เหลือเพียงว่า คนบางคนเคยประสบกับการถูกกระทำ และเก็บเป็นปมหมักหมมไว้ เมื่อเวลาผ่านไป ก็กลับมาสะสางล้างแค้นที่ไม่สามารถส่งผลสั่นสะเทือนรุนแรงต่อความรู้สึกของคนดูได้ เหตุผลนั้นอาจจะเป็นเพราะว่า การนำเสนอของหนังทำให้มันกลายเป็น “เรื่องพื้นๆ” ที่เกี่ยวกับความคิดอาฆาตจองเวรไปอย่างน่าเสียดาย

หนังจิตวิทยาที่มาพร้อมกับน่ากลัวในปมของตัวละคร ต้องเล่นเชิงลึกและทำให้เรารู้สึกถึงความป่วยทางจิตหรือความผิดปกติในวิธีคิดและพฤติกรรมอันซับซ้อนสับสนจนเรามิอาจคาดเดาได้ ผมนึกไปถึงคนอย่างฮันนิบาล เล็กเตอร์ หรือแม้แต่บทของเกล็น โคลส ในหนัง Fatal Attraction แบบนั้นถึงจะดู “จิต” จริง และก็จิตในแบบที่น่าสะพรึงกลัวเอามากๆ ซึ่งต่างจากตัวละครที่เราเห็นในหนัง “คน-โลก-จิต” ที่ไปเน้นถึงปมชีวิตซึ่งนำมาสู่การกระทำอันโหดร้ายรุนแรงมากกว่า และในกรณีของ “กวาง” ก็อย่างที่บอก เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเธอมี “ปมชีวิต” หรือความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับบุพการีอย่างไรอันเป็นต้นตอก่อให้เกิดการกระทำเช่นนั้น

อย่างไรก็ดี ถ้าจะมองว่าอะไรคือส่วนที่ดีที่สุดของหนังเรื่องนี้และถือเป็นการตอบโจทย์ของหนังที่จะบอกเล่าถึงความมีปัญหาทางจิตของมนุษย์ได้ดีที่สุด ผมคิดว่า คาแรกเตอร์พื้นฐานของหมอปราการนั้น ให้ความหมายแก่หนังได้ชัดถ้อยชัดถ้อยชัดคำมากกว่าคนอื่นๆ เพราะโดยภาพลักษณ์ที่คนทั่วไปมองเห็น เขาเป็นนักจิตวิทยาหนุ่มดาวรุ่งและมีงานเขียนติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ เขาคงเหมือนกับกระดาษสีขาวที่มีจุดสีดำเล็กๆ ปรากฏอยู่ ถึงแม้เขาจะเน้นย้ำกับนักศึกษาในการบรรยายครั้งหนึ่งว่า คนเรามักจะเลือกมองแต่จุดสีดำบนกระดาษ ทั้งที่พื้นที่สีขาวยังมีอยู่เต็ม เหมือนกับชอบมองแต่เรื่องร้ายๆ กระนั้นก็ตาม เขาก็ปฏิเสธตัวเองได้ยากว่า ในชีวิตของเขามี “จุดมืดดำ” ดำรงอยู่

ในแต่ละวัน เราอาจจะเดินสวนทางกับ “หมอปราการ” อยู่เป็นประจำ เขาคือคนที่ภายนอกดูดี ใส่สูทผูกไทและหน้าตาสะอาดสะอ้าน แถมพร่ำพูดถ้อยคำสวยๆ งามๆ ให้เราเคลิ้มตามได้ตลอดเวลา แต่ทว่าในตัวตนหลังฉาก มิรู้ว่าเก็บกักกดกลั้นอันใดไว้บ้าง และนั่นก็แทบไม่ต่างอะไรกันเลยกับ “กวาง” สาวสวยดูดี มีเสน่ห์น่าหลงใหล แต่ลึกๆ แล้ว ซ่อนอะไรไว้บ้างก็ไม่รู้?




กำลังโหลดความคิดเห็น