จะว่า “ก้องเกียรติ โขมศิริ” เป็นคนทำหนังที่ค่อนข้างอาภัพก็ว่าได้ เพราะถึงแม้ที่ผ่านมา ผลงานทุกๆ เรื่องของเขาจะเข้าขั้นที่เรียกได้ว่าถึงพร้อมด้วยคุณภาพ แต่ทว่าในแง่ของรายรับแล้ว กลับไม่ได้มากมายอย่างที่ควรจะเป็น และบางเรื่องก็ถึงขั้นที่ “เอาตัวไม่รอด” ไปเลยก็มี
บางกระแสก็ว่าเป็นเพราะการประชาสัมพันธ์ บ้างก็ว่าเพราะคนไทยไม่ชอบหนังแนวนี้ซึ่งก็คือแบบที่ก้องเกียรติทำ ก็ว่ากันไปตามความน่าจะเป็น แต่สิ่งที่เห็นเด่นชัดอย่างหนึ่งก็คือ กระแสความคิดเห็นของผู้คนที่มีต่อหนังหลังจากที่ฉายในโรงและเจ๊งในโรงไปเรียบร้อยแล้ว เพิ่งจะมาได้ดูตอนเป็นหนังแผ่น หลายคนจะพูดว่า “หนังดีอย่างนี้ ทำไมเราพลาดไม่ได้ดูในโรง” กรณีแบบนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ทั้งกับหนังเรื่อง “เฉือน” และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ “ไชยา” หนังที่หยิบขึ้นมาดูอีกกี่รอบ ก็ได้คำตอบเดียวกันว่ามันคือหนังที่ดีและดูสนุกเอามากๆ เรื่องหนึ่ง
แน่นอนว่า ถ้าการตั้งสมมติฐานว่าปัญหาทั้งหมดนั้นน่าจะเกิดจากวิธีการประชาสัมพันธ์หรือโปรโมต ผมคิดว่าเราคงจะโทษอะไรแบบนั้นไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เนื่องจากผลงานชิ้นใหม่ล่าสุดของก้องเกียรติ โขมศิริ เข้ามาอยู่ในมือของค่ายหนังที่ “ฉมัง” และ “ไว้เนื้อเชื่อใจได้” ในด้านการโปรโมต อย่างสหมงคลฟิล์ม
หลังจากชิมลางกับค่ายหนังตราใบโพธิ์ในโปรเจคต์ “หลุดสี่หลุด” ด้วยการเป็นผู้กำกับหนึ่งในสี่หนังสั้น ตอน “ร้านของขวัญเพื่อคนที่คุณเกลียด” ก้องเกียรติ โขมศิริ ก็กระโจนสู่การทำหนังยาวอย่างเต็มรูปแบบภายใต้การอำนวยการสร้างของสหมงคลฟิล์ม ใช่แล้วครับ หนังเรื่องที่ผมกำลังพูดถึงอยู่นี้ก็คือ “อันธพาล”
ด้วยแรงบันดาลใจที่ต่อยอดมาจากหนังนักเลงเรื่องก่อนหน้าของอุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร อย่าง “2499 อันธพาลครองเมือง” งานของก้องเกียรติ โขมศิริ ชิ้นนี้ดูเหมือนจะมีความคาบเกี่ยวกับหนังของคุณนนทรีย์ แบบบางๆ ซึ่งเล่าเรื่องต่อเนื่องเชื่อมโยงจากยุคที่แดง ไบเล่ย์ และพรรคพวกอย่างดำ เอสโซ่ ปุ๊ ระเบิดขวด ฯลฯ เป็นขาใหญ่แห่งยุค โดยมี “จ๊อด” เป็นเสมือนตัวตายตัวแทนที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทต่อจากนักเลงรุ่นก่อน ขณะเดียวกัน การใส่ตัวละครเด็กหนุ่มสองคนอย่าง “ธง” กับ “เปี๊ยก” เข้ามาสมทบ ก็บอกกล่าวอย่างชัดถ้อยชัดคำถึงค่านิยมของเด็กหนุ่มในยุคนั้นที่อยากจะก้าวเข้ามาโลดแล่นและเติบโตบนเส้นทางสายนักเลง และค่านิยมดังกล่าวนี้ก็ดูจะกลายเป็นแฟชั่นที่นิยมกันมากไม่แตกต่างไปจากบทเพลงและการแต่งกายของเอลวิสหรือร็อกแอนด์โรลในยุคนั้น
องค์ประกอบแรกสุดที่นับว่าเป็นหน้าเป็นตา เสริมสง่าราศีให้กับหนังมากที่สุดเหนืออื่นใดก็หนีไม่พ้นงานด้านโปรดักชั่น ทั้งเสื้อผ้าหน้าผม ทุกสิ่งทุกอย่างเหล่านี้ ทำได้ดีไม่น้อยหน้าไปกว่า “2499 อันธพาลครองเมือง” เป็นอรรถรสทางสายตาที่น่าจดจำ เช่นเดียวกับบทหนังที่ผมคิดว่าดูอลังการคล้ายกับต้นไทรใหญ่อายุสักร้อยปีที่แตกกิ่งก้านสาขาเลื้อยพันไปทั่ว เนื่องจากหนังนั้นเกี่ยวพันถึงตัวละครหลายตัวและบุคคลหลายกลุ่ม อย่างไรก็ดี ไม่มีใครที่ “ถูกสร้างขึ้นมา” แล้ว “ถูกปล่อยปละละเลย” จนไร้ความสำคัญ เพราะบทหนังสามารถตามติดและเก็บรายละเอียดของตัวละครได้ครบถ้วนและมีความลึกตื้นหนาบางตามบทบาทความสำคัญของแต่ละคน ไม่เว้นแม้แต่ตัวละครประกอบอย่าง “น้าหำ” (บุญส่ง นาคภู่) นักเลงรุ่นลายครามซึ่งนอกจากจะเสริมทัพในการเป็นตัวโจ๊กของเรื่อง ตัวละครตัวนี้ยังสะท้อนให้เราเห็นถึงแก่นแท้ของชีวิตนักเลงอันธพาลออกมาได้อย่างลุ่มลึกสะเทือนอารมณ์
ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ผู้ชมอย่างผมหรือคุณจะเกิดความรู้สึกในเชิงเปรียบเทียบว่า ถ้าหาก “2499 อันธพาลครองเมือง” ของอุ๋ย-นนทรีย์ จะเทน้ำหนักให้กับการถ่ายทอดความเท่ความคูลอันน่าเย้ายวนใจของเหล่าแก๊งอันธพาลผู้ดูเหมือนจะมีชีวิตอยู่นอกกรอบของกฎหมายและกติกาสังคม “อันธพาล” ของก้องเกียรติ โขมศิริ วางเป้าหมายไว้อีกแบบ เพราะพ้นไปจากความเท่อันน่านิยมจนถึงขั้นที่มีเด็กรุ่นใหม่ๆ อยากเจริญรอยตามนั้น “วิถีนักเลง” ก็มีราคาที่ต้องจ่าย และต้องจ่ายในราคาที่แสนแพงไม่น้อยไปกว่าอีกหลายอาชีพ เหนืออื่นใดคือเรื่องของ “ใจ” ที่จะเป็นตัวแยกให้เห็นความแตกต่างระหว่าง “กุ๊ย” กับ “นักเลง”
พอพูดคำว่า “นักเลง” ภาพแรกที่จะผุดขึ้นในหัวของคนทั่วไปก็คงหนีไม่พ้นว่าคนพวกนี้ดำรงชีวิตอย่างไม่เกรงกลัวฟ้าดินอินทร์พรหมหน้าไหน แต่จริงๆ แล้วเป็นเช่นนั้นหรือไม่ บทของน้อย วงพรู “กฤษฎา สุโกศล แคล็ปป์” ไขข้อข้องใจในจุดนี้ได้เป็นอย่างดี เขาคือ “จ๊อด” นักเลงรุ่นพี่ที่เคียงบ่าเคียงไหล่สร้างเนื้อสร้างตัวร่วมกันมากับแดง ไบเล่ย์ ความเท่ของเขาเป็นที่จดจำ แต่ใครเล่าจะรู้ซึ้งถึงความรู้สึกที่ตามหลอกหลอนเขาไม่เลิกรา เช่นเดียวกับปรารถนาเบื้องลึกที่ดูเหมือนไม่มีใครจะเข้าใจ ตอนที่เขาออกจากคุกมาวันแรก พวกจิ๊กโก๋น้องใหม่ถามเขาว่า อยากกินอะไรมากที่สุด เขาตอบ “น้ำพริกปลาทู” แน่นอนว่า มันสวนทางกับภาพในความนึกคิดของอันธพาลรุ่นเยาว์ที่คงงุนงงสงสัยว่ารุ่นใหญ่ระดับนี้ ทำไมไม่กินอะไรที่มันดูหรูหรากว่าน้ำพริกปลาทู เหมือนกับที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นนักเลงมีแต่เรื่องดีๆ เดินไปไหนก็มีคนยกมือไหว้ แถมมี “จิ๊กกี๋” ให้เสพสม
“น้อย วงพรู” นั้นคือองค์ประกอบที่ดีมากของหนังเรื่องนี้ การแสดงของเขาสามารถเข้าชื่อไปชิง “นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม” ในทุกเวทีรางวัลได้อย่างสบายๆ ฉากหลักๆ ที่มีเขาเป็นตัวนำ ล้วนมีความน่าจดจำไปทั้งหมด และคงเป็นเพราะการแสดงของเขาที่ “ดีเด่น” และ “เล่นใหญ่” แบบนี้นี่เองที่ทำให้ผมรู้สึกว่า “ธง” กับ “เปี๊ยก” ซึ่งหนังพยายามจะดันให้ก้าวขึ้นมาเป็นตัวหลักเพิ่มอีกนั้น ถูกรัศมีของน้อย วงพรู กลบทับราวกับหมู่เมฆที่บดบังผืนฟ้าจนมืดสนิท นักแสดงสองคนนี้ บางทีก็มีชะตากรรมไม่ต่างไปจากตัวละครที่ตัวเองแสดง คือไม่ได้เกิดเหมือนรุ่นพี่
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้น้อย วงพรู จะดูเด่นถึงเพียงนั้น แต่ที่น่าเซอร์ไพรส์มากๆ ก็คือ นักแสดงสมทบอย่าง “ภคชนก์ โวอ่อนศรี” หรือ “แฟรงก์ เดอะสตาร์” ที่มาในบทของ “โอวตี่” นักเลงซึ่งถือได้ว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมาสำหรับจ๊อด แฟรงค์ เดอะสตาร์ ตีบทของโอวตี่แตกกระจายแบบที่เราสามารถใช้คำว่า “เล่นดีมาก” ได้อย่างไม่เสียดายปาก แน่นอนว่า ถ้าน้อย วงพรู สมควรกับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม พิธีกรเดอะสตาร์คนนี้ก็ไม่ควรถูกมองข้ามในตำแหน่งนักแสดงสมทบยอดเยี่ยม เพราะเขาทำให้เรารู้สึกอย่างลึกซึ้งถึงสัจธรรมของคำว่า “มารไม่มี บารมีไม่เกิด” โอวตี่คือมารในชีวิตของจ๊อด และส่งเสริมให้บทของจ๊อดดูเด่นเป็นสง่าขึ้นมามหาศาล นี่คือคุณค่าของดาราสมทบที่ผู้ปรารถนาจะเป็นนักแสดงอาชีพทุกคนควรได้เรียนรู้
ด้วยองค์ประกอบทั้งหมดที่หนังสามารถ “คุมอยู่” และพาตัวเองไปถึงเป้าหมายอย่างที่ต้องการ แม้ว่าจะมีรายละเอียดบางอย่างที่น่าสงสัยอยู่บ้าง อย่างเช่น การเฉลยปมเกี่ยวกับน้าหำ ผมคิดว่าการให้ตัวละครอีกตัวหนึ่งลุกขึ้นมาคายความลับนั้น ไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไหร่ เพราะความลับระดับนั้น น้าหำควรเก็บไว้แต่เพียงผู้เดียว กระนั้นก็ดี นี่เป็นการมองในระดับรายละเอียดซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อความสนุกในการดูหนังแต่อย่างใด
ในแง่ความเป็นหนัง “อันธพาล” นั้นมีครบรส ทั้งแอ็กชั่นและตลกขบขัน ทั้งสุขเศร้าและซึ้ง และอย่าไปกลัวครับกับคำบ่นของหลายคนที่บอกว่า การที่หนังใส่บทสัมภาษณ์บุคคลเข้ามา ทำให้หนังดูไม่รื่นไหลและไร้อรรถรส ตรงกันข้าม ในความรู้สึกส่วนตัวของผมจริงๆ ผมเห็นว่าการใส่บทสัมภาษณ์เข้ามา นอกจากจะเป็นการออกตัวว่า หนังไม่ได้ทำหน้าที่ Based on True Story หรือ “สร้างจากเรื่องจริง” แต่อิงส่วนหนึ่งมาจากปากคำของผู้คนร่วมยุคร่วมสมัยแล้ว (เช่นเดียวกับวิธีการเลี่ยงการเรียก “จ๊อด” แบบเต็มๆ ว่า “จ๊อด เฮาดี้” อย่างที่คุ้นหูกัน) จังหวะที่หนังใส่บทสัมภาษณ์เข้ามา ก็ไม่ได้ทำให้ตัวหนังนั้นสะดุดหรือเสียหลักแต่อย่างใด เพราะก่อนจะเข้าบทสัมภาษณ์แต่ละจุดแต่ละช่วงนั้น ตัวเรื่องและอารมณ์ในช่วงนั้นๆ มันเดินไปจนสุดทางของมันแล้ว หลายคนเห็นบทสัมภาษณ์แบบนี้แล้วนึกถึงหนังคูลๆ อย่าง District 9 แต่โดยส่วนตัว ผมนึกไปถึงหนังโรแมนติก-คอมิดี้ในความทรงจำอย่าง When Harry Met Sally ซึ่งเป็นการใส่บทสัมภาษณ์ของบุคคลต่างๆ เข้ามาเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้ทำให้ “ขัด” กับความรู้สึก
เหนืออื่นใด ผมมองว่า บทสัมภาษณ์เหล่านั้น นอกจากจะก่อให้เกิดสีสันต่อเรื่องราว ยังทำให้หนังมีความสมจริง หรือ Real มากยิ่งขึ้น จับต้องได้ยิ่งขึ้น มันเหมือนกับเป็นปากเป็นเสียงของยุคสมัยที่ยังคงแว่วไหวอยู่ในความทรงจำของผู้คน
ความเรียลของหนังดูจะเป็นบรรยากาศที่คุมหนังทั้งหมด เพราะไม่ว่าฉากแอ็กชั่นการต่อสู้ที่ดูดิบและสมจริง ในแง่ของเรื่องราวก็ดูเรียลไม่น้อยไปกว่านั้น เพราะก็อย่างที่บอกครับว่า จาก “2499 อันธพาลครองเมือง” ซึ่งดูเหมือนนิยายลูกผู้ชายที่น่าใฝ่ฝัน “อันธพาล” ทำให้เรื่องราวดูสมจริงยิ่งขึ้นด้วยการพูดถึงผู้คนที่มีเลือดมีเนื้อ มีความรู้สึกรู้สา มีความกล้าไม่ยิ่งหย่อนกว่าความกลัว ยิ่งไปกว่านั้น หนังยังสะท้อนประเด็นเนื้อหาที่ว่าด้วยส่วนประกอบอันอัปลักษณ์ซึ่งครอบคลุมโครงสร้างสังคมไว้ ผมอยากให้ฟังคำพูดของก๋งในเรื่องให้ดี ก๋งคนนี้แม้ไม่มีบทบาทมาก แต่ก็ชวนให้นึกถึงดอน วีโต้ คอลีโอเน่ แห่ง The Godfather อยู่กลายๆ และถ้อยคำของเขาที่กล่าวถึง “หมาต๋า” นั้น ดูจะเป็นจริงมาจนกระทั่งทุกวันนี้
มันเป็นไปได้ไหมว่า ขณะที่การผ่านพ้นของยุคสมัยในหนังซึ่งเปลี่ยนผ่านจากยุคมีดมาสู่ยุคปืน อันธพาลในความหมายของอาก๋งก็เปลี่ยนไปแล้วเช่นกัน และบางที “อันธพาลตัวพ่อ” ในความหมายของชายชราผู้นี้ ไม่ใช่แม้แต่แดง ไบเล่ย์ หรือแม้แต่จ๊อด แต่เป็นใครสักคนที่ต้องหาคำตอบกันในหนัง...
ผมไม่ได้รับตังค์หรือถูกว่าจ้างมาจากใครทั้งสิ้น แต่กระนั้นก็ขออนุญาตทำตัวเป็น “หน้าม้า” ออกปากเชียร์อย่างไม่เสียดายชื่อเสียงดูสักครั้ง เพราะนี่คือหนังที่ผมรู้สึกว่าอยากให้มีคนดูเยอะๆ ถ้าหนังไทยทำออกมาในระนาบมาตรฐานคุณภาพระดับนี้มีมากเท่าไหร่ วงการหนังไทยจะพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไปอย่างแน่นอน สำหรับ “อันธพาล” คุณจะดูเพื่อเสพรับความสำราญสไตล์หนังมาเฟียแก๊งสเตอร์ทั่วไปก็ได้ หรือถ้าคุณชอบวิเคราะห์วิจารณ์สังคม หนังเรื่องนี้ก็มีให้คุณ
ถ้าไม่สนับสนุนภาพยนตร์แบบนี้ แล้วจะไปเทกแคร์หนังแบบไหนกันล่ะครับ ว่าไหม?