อย่าเพิ่งภาคภูมิกับยอดตัวเลขจำนวนคนเรือนแสนที่เข้าร่วมสนุกในงานคอนเสิร์ตกลางป่า เมื่อคนยิ่งตักตวงผลประโยชน์จากธรรมชาติมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นการย่ำยีธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะนักธุรกิจหัวใส เอาความเป็นธรรมชาติอย่าง “เขาใหญ่” มาเป็นจุดขาย ชวนลูกค้าดื่มด่ำดนตรีสดจากลำโพงยักษ์ ท่ามกลางสิงสาราสัตว์ที่อาศัยอยู่รายรอบ โดยไม่ทันคิดและรู้สึกตัวเลยว่าจะเป็นการทำลายธรรมชาติมากเท่าใด หรือว่าจิตสำนึกของคนสมัยนี้มันต่ำลง!
มีความสุขบนความทุกข์ของสัตว์
ความอลังการของการจัดคอนเสิร์ต และกิจกรรมมากมายบนพื้นที่ล้อมรอบด้วยธรรมชาติ หลายคนอาจติดกับดักในความสนุกครื้นเครงจนลืมคิดไปว่าเป็นการรบกวนสัตว์ป่าหรือไม่?
ไม่ว่าจะกลางหุบเขา หรือชายหาดริมทะเล พื้นที่ที่มนุษย์รุกล้ำอย่างไม่มีขีดจำกัด จุดประสงค์เดียวเพื่อต้องการเปลี่ยนสถานที่เที่ยว ที่กิน ที่นอน ที่พบปะสังสรรค์ที่จำเจ ด้วยความคิดที่ว่า “แค่ปีละครั้งเท่านั้น” คงไม่เป็นไรหรอก
“แค่ปีละครั้ง” ข้ออ้างที่ดูเหมือนจะทำให้ความเห็นแก่ตัวเบาบางลงของคนอยากสนุก และทั้งตัวผู้จัดงานเอง ถ้าลองคิดดูดีๆ ในหนึ่งปี การจัดคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ที่มีเสียงดังอึกทึกครึกโครม บนพื้นที่ใกล้กับธรรมชาตินั้น เชื่อเถอะว่าไม่ได้จัดงานขึ้นแค่ครั้งเดียวใน 365 วัน
สถานที่ท็อปฮิตคงไม่พ้นอำเภอปากช่อง และบริเวณโดยรอบ “เขาใหญ่” ซึ่งมีจำนวนหลายแสนคนในแต่ละปีที่ขึ้นมาฝากรอยเท้าแล้วก็จากไป โดยทำลายธรรมชาติทีละน้อยๆ อย่างไม่รู้ตัว
“โบนันซ่า เขาใหญ่” สถานที่จัดคอนเสิร์ต 3 ปีซ้อนของ “Big Mountain Music Festival มัน ใหญ่ มาก” ถือเป็นแหล่งธรรมชาติของเอกชน มีเอกสารสิทธิครอบครองบนเนื้อที่กว่า 4,000 ไร่ ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างเขาใหญ่กับเมืองปากช่อง รายล้อมด้วยภูเขาน้อยใหญ่สลับกัน บ้างเป็นที่ราบ บ้างเป็นแนวหุบเขา จึงเป็นสถานที่พักผ่อนของคนเมืองชั้นยอด เพราะอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก
จากการสอบถามจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทำให้ได้รู้ว่าบริเวณพื้นที่รอบๆ โบนันซ่า เขาใหญ่ ยังคงมีสัตว์ป่าขนาดเล็กอาศัยอยู่จำนวนหนึ่ง เช่น เก้ง กวาง นก กระรอก กระต่าย ชะมด ฯลฯ และเมื่อคอนเสิร์ต “Big Mountain Music Festival” เทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทยเกิดขึ้น จึงไม่แคล้วที่ต้องส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าเหล่านี้เช่นกัน
อย่างแรกคือเรื่องของเสียง ซึ่งเกิดจากคนจำนวน 4 หมื่นคนที่เข้าร่วมคอนเสิร์ต คนนับหมื่นได้เข้ามาในพื้นที่ที่เคยเงียบสงบ สิ่งที่ตามมาจึงทำให้ระบบนิเวศค่อยๆ เสียสมดุล สัตว์ป่าเริ่มร่อยหรอ และอาจหมดไปในที่สุด โดยไม่มีใครสนใจ ด้วยเหตุที่พวกมันยังไม่ได้ถูกประกาศเป็นสัตว์คุ้มครอง
ข้อมูลสถิติจากงาน Big Mountain Music Festival 2 ในวันที่ 10-11 ธันวาคม 2010 ระบุว่าจำนวนผู้เข้าร่วมงาน กว่า 40,000 คน จำนวนศิลปิน เกือบ 200 วงดนตรี จำนวนทีมงานกว่า 5,000 ชีวิต จำนวนเต็นท์กว่า 5,000 หลัง จำนวนรถยนต์ที่วิ่งมาจอดในงานกว่า 8,000 คัน จำนวนข้าวไข่เจียวกว่า1แสน กล่อง จำนวนเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์กว่า 5,000 แกลลอน จำนวนเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์กว่า 8,000 แกลลอน
หมายเหตุ : ยอดเหล่านี้ มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอีกใน Big Mountain Music Festival ครั้งที่ 3 ปี 2011
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของ Big Mountain Music Festival 3 ครั้งล่าสุด บนพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร ทำให้เกิดมลพิษทางเสียงที่มาจากฝีมือมนุษย์ โดยตั้งเครื่องขยายเสียงขึ้นในแต่ละจุดของงาน ซึ่งเป็นการเอา “ความอยาก” ของคนเข้าไป “ทำลายธรรมชาติ” ทั้งสิ้น
โดยแต่ละจุดในงาน Big Mountain Music Festival ครั้งที่ 3 ท่ามกลางวงดนตรีกว่า 150 วง ที่ขึ้นโชว์บนเวทีที่เตรียมไว้กว่า 6 เวทีแบ่งออกเป็นเวทีใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นชิงช้าสวรรค์ เวทีวัว District 9 ด้วยไลน์อัปศิลปินที่สูสีกัน และเวทีเล็ก 3 เวที ผับอโคจร มันใน (มาก) และคลับเค้ก ซึ่งมีความอลังการไม่แพ้ปีก่อนหน้านี้
เชื่อเลยว่าจากอุปกรณ์เครื่องขยายเสียงที่จัดตั้ง สามารถส่งเสียงกึกก้องไปทั่วบริเวณได้อย่างสบายโดยไม่เกรงใจสัตว์ป่าเจ้าของถิ่น นี่เป็นแค่เพียงอุปกรณ์ที่สามารถควบคุมเสียงได้ ยังไม่รวมเสียงเครื่องยนต์และผู้คนที่เข้ามาร่วมงานอย่างคับคั่ง
โชติช่วง กันทวัน ผู้เคยเข้าร่วมคอนเสิร์ต Big Mountain Music Festival คนหนึ่งบรรยายภาพบรรยากาศภายในงานให้ฟังว่า “ดนตรีเล่นทีหนึ่ง นกตกใจบินกระเจิดกระเจิง เพราะเครื่องเสียงในคอนเสิร์ตมันดังมาก และแสงสีที่สาดไปมาอีก คนมาเที่ยวก็สนุกเฮฮา ไม่เห็นมีใครสนใจอะไร แต่พอเราเห็นภาพนกแตกรังมันสะเทือนใจมาก พอเลิกงานขยะก็เกลื่อนเต็มพื้นกระจัดกระจาย ยิ่งห้องน้ำอย่าให้พูดเลยว่ามันสกปรกแค่ไหน กลิ่นเหม็นโชยทำลายความสดชื่นของธรรมชาติไปหมดเลยครับ”
คอนเสิร์ตเสื้อแดง...มัน ใหญ่ มาก
คอนเสิร์ต “Big Mountain Music Festival” ที่ว่ายิ่งใหญ่อลังการด้วยผู้เข้าร่วมงานมากมายขนาดไหน ก็ต้องพ่ายให้กับคอนเสิร์ต “คนเสื้อแดง” บนทำเลทองแห่งนี้ ที่กลายเป็นจุดนัดพบเพื่อ...ทำลายธรรมชาติ?
ที่ผ่านมาปลายเดือนกุมภาพันธ์ คนเสื้อแดงร่วมมีความสุขบนความทุกข์ของสัตว์ โดยการจัดคอนเสิร์ตบนพื้นที่ของโบนันซ่า เขาใหญ่ เช่นเดียวกับ Big Mountain Music Festival จึงเกิดเป็นความทุกข์ของสัตว์ที่มันใหญ่มากอีกครั้งหนึ่ง
คนในพื้นที่อำเภอปากช่องเล่าให้ฟังว่า “วันนั้นคนเสื้อแดงมาโบนันซ่าเยอะมาก คิดว่าเกือบแสนคน มากกว่าบิ๊กเมาน์เทนอีกนะ มีรถบัสต่างจังหวัดขับเข้ามาหลายร้อยคัน และมีรถกระบะ รถเก๋งอีกมากมาย ทำให้รถติดไปถึงอำเภอปากช่อง ตอนงานบิ๊กเมาน์เทนยังไม่ขนาดนี้เลย รถยังพอเคลื่อนตัวไปได้ แต่งานเสื้อแดงนี่ติดแล้วติดเลย คนที่ต้องการเข้างานต้องเช่ามอเตอร์ไซค์ขับเข้าไป บางคนก็เดินกว่าจะถึงก็ร่วมกิโลฯ ฝุ่นแดงตลบอบอวล ติดผมเผ้า ติดเสื้อผ้าเต็มไปหมด”
เอกลักษณ์ ผลสันเทียะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายนันทนาการและสื่อความหมาย เล่าให้ฟังถึงผลกระทบที่มาจากมนุษย์ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ป่าว่า “ถ้าเราเข้าไปจำนวนเยอะ ก็จะรบกวนการดำรงชีวิตของสัตว์ เขาต้องหวาดระแวงและระวังตัวอยู่ตลอดเวลา หรือนกบางชนิดอาจทิ้งรังไปเลย อย่างนกเงือก ถือเป็นตัวดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่า เพียงแค่คนเข้าไปใกล้หรือแค่เสียงพูดดังๆ ก็จะทำให้มันทิ้งรังไปเพื่อหาที่อยู่แห่งใหม่”
“มหกรรมดนตรีเพื่อธรรมชาติและชีวิต” หรือ “คอนเสิร์ตเขาใหญ่” ที่มูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จึงเกิดขึ้นโดยเบียดเบียนธรรมชาติให้น้อยที่สุด และให้คำนึงในเรื่องของเสียงเป็นสำคัญ “การจัดงานคอนเสิร์ตเขาใหญ่ ต้องห่างจากด้านบนอุทยานฯ ไม่ต่ำกว่า 10 กิโลเมตร โดยรอบแนวเขตอุทยานฯ เพื่อให้มีผลกระทบต่อสัตว์น้อยที่สุด เพราะเรื่องเสียงมีผลกระทบมากต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า”
เพียงแค่เสียงพูดของคนก็ทำให้สัตว์ตื่นตระหนก และทิ้งที่อยู่อาศัยไป ฉะนั้นไม่ต้องพูดถึงเสียงเครื่องยนต์ หรือเสียงดนตรีจากเครื่องขยายเสียงที่ดังสนั่นป่าเลยว่าจะมีอิทธิพลต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของสัตว์มากเพียงใด
สิ่งก่อสร้างของมนุษย์เหล่านี้นอกจากจะเป็นมลพิษทางเสียงแล้ว ยังก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เนื่องมาจากฝุ่นที่ฟุ้งกระจายทำให้รบกวนการอยู่อาศัยของสัตว์ป่า และเกิดขยะสิ่งปฏิกูลต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งย่อมไม่สามารถจัดเก็บได้หมด และมีส่วนหนึ่งที่ต้องตกค้างอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเหล่านั้น
จากสัตว์ป่ากระทบถึงสัตว์น้ำ
เมื่อมีคอนเสิร์ตใกล้กับแหล่งธรรมชาติที่ไหน ทำใจได้เลยว่าความเสื่อมโทรมของธรรมชาติ ณ ที่นั่น ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนไม่มากก็น้อย
นอกจากการจัดกิจกรรมมักจะเกิดขึ้นตามชายรอบขอบเขาแล้ว บนชายทะเลก็มักมีคนบันเทิงมาร่วมสังสรรค์หาความสุขโดยไม่คำนึงถึงธรรมชาติอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ยกตัวอย่างเมืองท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ “ตลาดลานโพธิ์” พัทยาเหนือ ซึ่งมีการจัดคอนเสิร์ตแทบทุกอาทิตย์ริมชายหาด ถ้าได้ไปเที่ยวทะเลพัทยา จึงไม่ต้องแปลกใจกับ “ทะเลขยะ” จำนวนมหึมา ไม่ว่าจะเป็น กระป๋องเบียร์ ขวดเหล้า ถุงพลาสติก และขยะที่ไม่คาดคิด ในแต่ละวันถูกซัดเกยหาดจำนวนไม่น้อย ล้วนมาจากฝีมือของนักเที่ยวคอนเสิร์ตยามค่ำคืนทั้งสิ้น
ทะเลหัวหิน-เขาตะเกียบ เป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่จัดคอนเสิร์ตขึ้นทุกปี คอนเสิร์ตดังๆ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันก็คือ “Honda Summer Fest” ถ้าจัดงานขึ้นครั้งใด สัตว์น้ำ และชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นเป็นต้องเดือดร้อน เพราะสภาพน้ำทะเลหลังเลิกงานที่เคยดูใสสะอาดกลับกลายเป็นสีขุ่นสกปรก รวมถึงกลิ่นคาวของทะเลที่เกิดขึ้นอย่างผิดปกติ
ไม่ว่าจะเป็นทะเลหัวหิน ชะอำ พัทยา หรือท้องทะเลเมืองไทยที่ใดๆ ก็ตาม เชื่อว่าหลายคนก็คงตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของทะเลที่ดูเลวร้ายลงทุกๆ วัน และนับวันยากยิ่งที่จะฟื้นฟู
เมื่อการกระทำของมนุษย์วนเวียนเป็นวัฏจักรอุบาทว์อยู่อย่างนี้ กรรมจึงต้องตกเป็นของสัตว์น้ำใต้ทะเลที่อาศัยอยู่บริเวณชายหาด ตัวไหนที่ทนไม่ได้ก็ตายลอยขึ้นอืดมาพร้อมกับทะเลขยะที่เทศบาลเก็บเท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมด ตราบใดที่คนยังไม่มีจิตสำนึกคำนึงถึงธรรมชาติ
เราอาจใช้เพียงระยะเวลาแค่ชั่วคราวของการจัดงาน แต่สำหรับการฟื้นฟูธรรมชาติอาจใช้เวลานานนับปี และที่เลวร้ายที่สุดคือการไม่สามารถฟื้นคืนให้กลับมาเหมือนเดิมได้อีกเลย
ความเห็นแก่ตัวของนักธุรกิจ
นับวันมนุษย์ยิ่งหาผลประโยชน์จากธรรมชาติมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะนักลงทุน ผู้คิดการใหญ่ และเงินถึงมากพอที่จะร่วมหุ้นลงทุนประกอบการใดๆ โดยอาศัยความเป็นธรรมชาตินี่แหละ! เป็น “จุดขาย”
เริ่มจากการเกิดขึ้นของคอนเสิร์ตขนาดใหญ่โดยอาศัยพื้นที่ของเอกชนที่สามารถประกอบกิจการใดๆ ได้ตามที่กฎหมายกำหนด การร่วมลงทุนระหว่างหัวเรือใหญ่เจ้าของพื้นที่และผู้จัดงาน จึงเป็นความสัมพันธ์กันทาง “ธุรกิจ” ที่ต้องการตอบสนองลูกค้ากลุ่มเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งเป็นผู้อยากดื่มด่ำเสียงเพลงในบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ
คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือ “ธุรกิจ” ของคนเบื้องหลังจำนวนมาก ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของพื้นที่ ผู้จัดงาน ค่ายเพลง ศิลปิน และผู้ร่วมสนับสนุนหลากหลายแบรนด์ อย่าง เป๊ปซี่ ฮอนด้า เบียร์สิงห์ ฯลฯ
บอย โกสิยพงษ์ เคยให้สัมภาษณ์ลงหนังสือฉบับหนึ่งไว้ว่า “เริ่มต้นเดิมทีแล้วการจัดคอนเสิร์ตในป่า ต้องการให้ออกมาแบบอันปลั๊ก เล่นเพลงเบาๆ เคล้าบรรยากาศเพื่อไม่ให้รบกวนธรรมชาติและสัตว์ป่า แต่สุดท้ายธุรกิจก็เข้ามาดึงจุดขายตรงนี้มาโปรโมทจนกลายเป็นคอนเสิร์ตใหญ่โตอย่างที่เห็น”
ขณะที่บทสัมภาษณ์ของ “ป๋าเต็ด” ยุทธนา บุญล้อม มือโปรการจัดงานดนตรี ในสังกัด จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ ได้กล่าวในไทยรัฐออนไลน์ไว้ว่า “เงินที่ลงทุนไปกว่า 60 ล้าน ได้กำไรเกือบ 10 ล้าน การทำงานที่ผ่านมาก่อให้เกิดเงินตามมาเยอะมาก อย่างศิลปินก็จะมีงาน โรงแรมตามเขาใหญ่เต็มทุกที่ ร้านค้าร้านอาหารแน่นเอี๊ยด มันกระตุ้นเศรษฐกิจ ปีที่แล้วคนกว่า 4 หมื่นคนเอาไปอยู่ที่เขาใหญ่ ดังนั้นธุรกิจค่อนข้างเฟื่องฟู ผู้ประกอบการที่เขาใหญ่รักเราทุกคนครับ เขาอยากให้เราไปจัดบ่อยๆ"
นายสวรรค์ แสงบัลลังค์ เลขาธิการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ได้กล่าวถึงการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่า โดยกรรมสิทธิ์อย่างมีจิตสำนึก รวมถึงการใช้ประโยชน์บนพื้นที่ส่วนรวมอย่างมีจิตสาธารณะ
“การเผยแผ่ให้มีการจัดทำคอนเสิร์ตถือว่าเป็นสิทธิ์ของเขา จึงไปบังคับอะไรไม่ได้ นอกจากเทศบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีข้อกำหนดในการใช้เสียง ถ้ามีการขออนุญาตก็ใช้ได้ แต่การใช้เสียงดังมากจนเกินไป สิ่งนี้ก็ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของคนใช้พื้นที่ว่าเมื่อเข้าไปจัดงานแล้วจะก่อให้เกิดอันตราย และเกิดเสียงดังรบกวนสัตว์หรือไม่
เมื่อเจ้าของพื้นที่ได้รับประโยชน์จากคนที่ขึ้นไปเที่ยว นักท่องเที่ยวก็ต้องมีจิตสำนึกในการใช้บริการด้วย ทั้งสองฝ่ายก็ต้องให้ความร่วมมือกันในการใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นสถาบันไหน โรงเรียน บริษัท ห้างร้าน องค์กร หน่วยงานต่างๆ ต้องเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่จะทำให้สภาพแวดล้อมเป็นมลพิษได้ เราทุกคนต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม”
ไม่ว่าจะเป็นการจัดคอนเสิร์ตบนพื้นที่ป่าหรือริมชายหาด สิ่งเดียวที่ทุกคนต้องมีนั่นคือ “จิตสำนึก” ในการปกป้องธรรมชาติ รวมถึงผู้เข้าร่วมงานทุกคนควรมีจิตสาธารณะที่จะร่วมด้วยช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
อย่างน้อยๆ ไม่ควรทำกิจกรรมหรือจัดคอนเสิร์ตในช่วงฤดูกาลวางไข่ หรือในช่วงที่สัตว์กำลังออกลูก ก็น่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่เราทุกคนจะสามารถช่วยกันปกป้องและดูแลธรรมชาติอย่างมีจิตสำนึกได้ ไม่ใช่คิดแค่หาความสนุกความสุขใส่ตัว โดยไม่คำนึงถึงความลำบากของสัตว์ป่าและสัตว์น้ำ
กลยุทธ์นายทุนยึดพื้นที่ป่า
ไม่ว่าระยะเวลาจะผ่านมานานเท่าไหร่ มนุษย์ก็ยังเป็นศัตรูตัวฉกาจของธรรมชาติเสมอมา โดยที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ โดยอาศัยความไม่ชัดเจนของแนวเขตช่วยเป็นใบเบิกทางให้สามารถฉกฉวยพื้นที่ป่ามาครอบครองอย่างมิชอบของกลุ่ม “นายทุน” หรือที่ชาวบ้านเรียกเป็นภาษาจีนว่า “หลงจู๊”
“ถ้าไม่ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติฯ ป่าคงหมดไปแล้ว”
นายไพโรจน์ โสดาวงษ์ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) ผู้เห็นการเปลี่ยนแปลงบนผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มาตลอดอายุราชการ 26 ปี ตั้งแต่ครั้งยังไม่ประกาศเป็นมรดกโลก ได้กล่าวถึงพื้นที่ที่เป็นปัญหา เนื่องจากแนวเขตอุทยานฯ ไม่ชัดเจน จึงทำให้ประชาชนเข้ามาการครอบครองพื้นที่ป่าเพื่อเป็นสมบัติส่วนตัว
“มีทั้งหมด 3 อำเภอหลักที่เป็นปัญหาคือ อําเภอปักธงชัย อําเภอครบุรี และอำเภอเสิงสาง ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ชาวบ้านเขาอ้างว่ามาอาศัยอยู่ก่อนประกาศเป็นพื้นที่อุทยานฯ ก็ต้องเอาหลักฐานมาดูกันอย่างตรงไปตรงมา”
ชาวบ้านบางคนอ้างว่าไม่มีที่ดินทำกิน แต่แท้ที่จริงแล้วเมื่อเจ้าหน้าที่สืบค้นไปสืบค้นมา จึงรู้ว่ามีกลุ่มนายทุนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการยึดครองที่ดินรอบแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
“นายทุนเหล่านี้เป็นผู้มีอิทธิพล และมีเงินทุนจำนวนมาก เขาจะจ้างให้ชาวบ้านแผ้วถางพื้นที่ที่มีแนวเขตไม่ชัดเจน พวกนี้เขารู้ว่ามีตรงไหนบ้าง ชาวบ้านจริงๆ ไม่กล้าทำหรอก เขาไม่อยากทำผิดกลัวโดนติดคุก แต่ที่ต้องทำ เพราะโดนจ้างมา คนหาเช้ากินค่ำ ไม่มีเงินเลี้ยงครอบครัวก็ต้องรับจ้าง ถ้าชาวบ้านไม่มีตังค์ก็เบิกจากนายทุนไปก่อน เอาไปกินไปใช้แล้วมาถางป่าหักหนี้”
นายทุนแต่ละคนครอบครองที่ดินไม่ต่ำกว่า 100 ไร่ และขายต่อกันมาเป็นทอดๆ จากคนหนึ่งถึงคนหนึ่ง ทุกครั้งที่เปลี่ยนมือ ราคาที่ดินก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ถึงหลักหลายล้านบาท เมื่อขายไปแล้วก็จะไปหาที่ดินแปลงใหม่ ทำอย่างนี้เรื่อยๆ เป็นธุรกิจ แบบ “จับเสือมือเปล่า”
“ราคาขึ้นอยู่กับพื้นที่สวยหรือไม่สวย ถ้าเป็นพื้นที่ราบเหมาะสำหรับทำการเกษตร ทำไร่ ทำนา ปลูกข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ราคาขายก็จะไม่ค่อยดี แต่ถ้าอยู่กลางหุบเขาเหมาะแก่การทำรีสอร์ตก็จะแพงขึ้น หรือเป็นพื้นที่ที่ติดแนวเขตอุทยานฯ มีทางเข้าถึง ใกล้แหล่งธรรมชาติ ราคาก็จะสูงขึ้นอีก”
“แต่ก่อนเจ้าหน้าที่มีจำนวนน้อยเพียง 30 คน จึงดูแลได้ไม่ทั่วถึง เมื่อคิดเป็นจำนวนคนต่อไร่ ต้องดูแลมากถึง 1:10,000 แต่ปัจจุบันเจ้าหน้าที่มีเพิ่มขึ้นเป็น 100 คน จึงทำให้การดูแลง่ายขึ้น และไม่มีการบุกรุกพื้นที่ป่าแห่งใหม่ ประกอบกับเมื่อประกาศเป็นเขตอุทยานฯ ทำให้นายทุนครอบครองพื้นที่ไม่ง่ายเหมือนเคย จึงมีแต่พื้นที่ที่เป็นปัญหาเดิมอยู่เพียง 22 แปลง ประมาณ 200 ไร่ ฝั่งอำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี”
ต้องรอให้รัฐประกาศเป็นพื้นที่อุทยานฯ หรือประกาศให้เป็นสัตว์สงวนก่อนหรือ? คนไทยจึงจะหันมาตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติและสัตว์ป่า เมื่อถึงเวลานั้นคงไม่มีประโยชน์อันใด
ดังสุภาษิตไทยที่กล่าวไว้ว่า “ไม่เห็นโลงศพ...ไม่หลั่งน้ำตา” จะเห็นคุณค่าต่อเมื่อเสียไป
ข่าวโดย Manager Lite/ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์