xs
xsm
sm
md
lg

สาระวัฒนธรรม : ในห้วงคำนึงของนักดูต้นคอ นับถอยหลัง ‘โรงหนังเก่าแก่ย่านสยามสแควร์’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรงหนังลิโด
พนักงานฉีกตั๋วพร้อมไฟฉายในชุดเสื้อคลุมสีเหลืองสด ระบบการฉายหนังในเจตนารมณ์ที่ต้องการให้มีความหลากหลาย หรือแม้แต่ตัวอักษรพลาสติกตัวที่แข็งๆ ทื่อๆ ก็ยังสงวนท่าทีเก่าก่อนของมันไว้ จากอดีตถึงปัจจุบันของโรงภาพยนตร์แห่งนี้

โรงภาพยนตร์ลิโด เป็นหนึ่งในสามแห่งย่านสยามสแควร์ ที่ประกอบไปด้วยสยาม สกาล่า และลิโด สามโรงหนังเก่าแก่ของยุค ถือเป็นจุดดึงดูดผู้คนตั้งแต่ยุคสมัยแรกเริ่ม จนกลายเป็นแหล่งรวมตัวของหนุ่มสาวและความทันสมัยจวบจนถึงปัจจุบัน พื้นที่ย่านสยามฯ ยังคงเป็นแหล่งรวมความเคลื่อนไหวอันทันสมัยของผู้คน ยุคสมัยได้ผันผ่าน คำว่า 'โก้เก๋' ถูกแทนที่ด้วยคำว่า 'จ๊าบ' ผันผ่านสู่คำพูดต่างๆ ที่แทนความหมายตามกระแสนิยมที่บอกว่า พื้นที่นี้เป็นแหล่งรวมตัวของผู้คนที่ทันสมัยแห่งยุค

แม้หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลง แต่กลิ่นอาย บรรยากาศ และเจตนารมณ์ดั่งเดิมของทั้งสองโรงภาพยนตร์ย่านสยามฯ คงยังเหมือนเดิม เจตนารมณ์ที่จะเว้นพื้นที่ให้กับความหลากหลาย

แล้วในที่สุดเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงก็เดินทางมาถึงโรงหนังลิโด เมื่อสัญญาเช่าที่พื้นจุฬาของโรงหนังลิโดจะสิ้นสุดลงในปีหน้า (2556) และจุฬาตัดสินใจจะผุดห้างสรรสินค้าขึ้นมาแทน

มันคือความเปลี่ยนแปลงที่ปฏิเสธไม่ได้ และเป็นธรรมดาที่คนเราจะกลัวการเปลี่ยนแปลง

ห้วงคำนึงถึง ‘ลิโด’

ความผูกพันของผู้คนต่อโรงหนังแห่งนี้ นี่เองคือคุณค่าสำคัญที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้สะเทือนถึงความรู้สึกของผู้คนมากมาย ด้วยระยะเวลาอันยาวนานของความเก่าแก่ คนทำหนังรุ่นเก่าอย่าง สมถวิล สุวรรณกูฎ ที่เป็นผู้ช่วยผู้กำกับการแสดงลูกมือของท่านมุ้ย (ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล) ปัจจุบันก็ยังคงอยู่ในแวดวงของการสร้างหนังในฐานะอาจารย์ เล่าถึงภาพวันวานของเขากับโรงหนังย่านสยามฯ ว่า เป็นวิถีของวัยหนุ่มสาวที่สนุก เท่ และสำหรับเขาเหมือนมีบางสิ่งที่ทำให้มันไม่ตาย

“ความสัมพันธ์ระหว่างคนดูหนังกับโรงหนังแถวสยามฯ เป็นอะไรที่โคตรเท่ หนุ่มสาวจะต้องแต่งตัวโก้ๆ กันออกมาเดิน หาอะไรอร่อยๆ กิน แล้วไปดูหนัง”

ซึ่งในยุคนั้นเมื่อเขาได้มาทำงานหนัง โรงหนังลิโดก็ไม่ได้เป็นเพียงที่เที่ยวสำหรับเขาอีกต่อไป หากแต่เป็นสถานที่ที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหนังไทยในยุคนั้นด้วย สถานที่แห่งนั้นที่ใต้ถุนของโรงหนังลิโด

“ใต้ถุนของโรงหนังลิโด มันเป็นที่รวมทุกอย่าง ผมเรียกมันว่าวัน-สต๊อป เซอร์วิส คนยุคนี้อาจจะคิดว่าการทำงานในยุคนั้นมันยุ่งยาก แต่ผมบอกได้เลย โคตรง่าย ทุกคนรวมตัวกันอยู่ที่นั่น ดารา นักแสดง ผู้กำกับฯ ทีมงาน นักข่าว ใครจะฝากข่าวก็ไปที่นั่น ได้นักข่าวคนหนึ่งก็ฝากข่าวไปได้ทุกหัวหนังสือพิมพ์ จะขึ้นเช็คก็มีคนรับขึ้น แล้วทุกอย่างมันเสร็จสิ้นที่นั่นได้เลย พอช่วงมืดๆ ทุกคนก็จะย้ายกันไปที่โรงแรมนิวอัมรินทร์ ตอนนี้เป็นสยามซิตี้แล้ว แต่มาถึงทุกวันนี้ใต้ถุนที่เป็นโรงอาหารก็หายไปแล้ว ปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น วิถีการทำงานแบบนั้นก็หมดไปแล้ว”

วิถีการทำงานที่เขาพูดถึง มีตั้งแต่การค้นพบพระเอก-นางเอกหนังหลายคนของวงการ ด้วยเพราะตอนนั้นยังไม่มีแมวมองหรือโมเดลลิ่งมากมายนัก มีการไกล่เกลี่ยปัญหากันระหว่างดารากับนักข่าว เป็นที่ซึ่งมีความทรงจำมากมายของเขาอยู่

“มันเป็นความทรงจำที่ดีมาก สยาม สกาล่า ลิโด เป็นความทรงจำที่...มันสุดยอด วันไหนถ่ายหนังหนักๆ กับท่านมุ้ย ผมฝันถึงเลยนะ”

มาถึงยุคสมัยของผู้กำกับฯ ที่เติบโตขึ้นมาในวงการทันยุคสมัยที่โรงหนังย่านสยามฯ ทั้งสามแห่งยังฉายหนังในแบบสแตนด์ อะโลน และเขาหากอยากดูหนังก็ต้องตามดูว่าโรงไหนฉายอะไร บางวันดูที่สยาม บางวันไปยังลิโด และอาจไปถึงโรงหนังแมคเคนนาที่ตั้งแถวสะพานหัวช้างอีกด้วย

เขาอยู่ในยุคแปรเปลี่ยนที่โรงหนังย่านสยามฯ ทั้งสามแห่งเริ่มไม่ฉายหนังไทย ด้วยเพราะหนังไทยเดินหน้าโกยรายได้จากโรงหนังในห้างสรรพสินค้า และโรงหนังสแตนด์ อะโลน มากมายเริ่มปิดตัว จนทุกที่ฉายหนังคล้ายๆกันไปหมด

“ตอน 'แฟนฉัน' ได้ฉายที่โรงหนังสยาม ผมกับเพื่อนๆ รู้สึกดีใจมาก เพราะมันยากที่หนังไทยจะมาฉายที่นี่ในช่วงนั้น และเราก็ผูกพันกับที่นี่มากด้วย” อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม ผู้กำกับฯ ร้อยล้านจากภาพยนตร์เรื่อง ‘รถไฟฟ้ามาหานะเธอ’ เล่าถึงความรู้สึกเมื่อภาพยนตร์หมุดหมายแรกของชีวิตการเป็นผู้กำกับของเขาได้เรียงตัวอักษรพลาสติกของชื่อเรื่องอยู่บนป้ายฉายหนังของโรงหนังสยาม

ซึ่งความสำคัญของโรงหนังลิโด หรือโรงหนังในย่านสยามฯ นั้น เขามองว่าอยู่ที่การเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ และการเป็นสิ่งเชื่อมโยงของคนหลายรุ่นที่จะได้ซึมซับบรรยากาศที่คงเดิมมาหลายยุคสมัย

“ถ้าในมุมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย มันไม่ค่อยมีผลนะ เพราะหนังไทยน้อยมากที่จะได้ฉายที่นี่ จะเป็นหนังฝรั่งหรือไม่ก็หนังอิสระไปเลย แต่ถ้าในมุมของวงการภาพยนตร์ ผมว่ามันมีความสำคัญต่อคนดูมากกว่า ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมของโรงหนังในเครือนี้ เขาก็มีหนังที่ฉายเพื่อความอยู่รอด แต่ก็เขาก็ยังยึดอยู่กับสิ่งที่เป็นทางเลือกของคนดูหนัง

“ถ้าไม่มีเครือนี้ผมก็คงไม่ได้ดูหนังอีกหลายเรื่องในดู และคงต้องไปพึ่งแผ่นผีเพราะไม่มีใครเอามาฉาย ซึ่งถ้าให้เลือกผมก็อยากดูหนังในโรง แม้จะช้าหน่อยก็เถอะ ขอให้มีมาฉาย ผมชอบบรรยากาศมากกว่าในการดู อีกอย่างคือความเป็นคนทำหนัง มันจะมีสิ่งหนึ่งที่บอกเราอยู่ตลอดเวลาว่า หนังทำถูกทำออกมาเพื่อดูจอใหญ่ๆ”

เมื่อถามไปถึงคนทำงานหนังรุ่นน้องมาอีกรุ่นอย่าง นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ มือเขียนบทภาพยนตร์ที่น่าจับตาคนหนึ่งของวงการ ผู้มีผลงานหนังสั้นมาแล้วหลายต่อหลายเรื่อง เปรียบโรงหนังแห่งนี้เป็นโรงเรียนของเขา

“ในยุคหนึ่งที่หนังอินดี้มันยังไม่เฟื่องฟู ในยุคเริ่มๆ มันก็เริ่มที่นี่แหละ พวกหนังประเภทแปลกๆ ก็มีที่นี่ มันเป็นเหมือนมหาวิทยาลัยอีกที่ที่ผมได้ดูบ่อยๆ”

ด้วยโครงการฉายหนังอย่าง ลิตเติ้ล บิ๊ก ฟิล์ม โปรเจคท์ ที่จะฉายหนังอินดี้ อาทิตย์ผลัดเรื่อง สี่เรื่องต่อเดือนให้คอหนังได้มีทางเลือก นี่เป็นพื้นที่ที่เขาจะสามารถดูหนังได้อย่างเต็มรูปแบบอย่างที่ควรจะเป็น

“ถ้าจะไปหาของเถื่อนดูมันก็ได้ แต่ดูในโรงหนังมันก็ดีกว่า และลิโดทำให้เราได้ดูหนังอินดี้ในที่เป็นโรง ไม่ต้องดูในแบบที่เป็นซีดี ดีวีดีเถื่อน และพอที่นี่เริ่ม มันก็ทำให้คนเริ่มรู้ว่าในโลกนี้มันมีหนังอินดี้ คือคนรับรู้การมีอยู่ของมันมากขึ้น และมันก็ค่อยๆ โต จนเมื่อมีหนังแปลกๆ มาเข้าฉาย มันก็เริ่มเป็นเรื่องปกติมากขึ้น ทำให้คนค่อยเป็นมิตรกับหนังแนวนี้ได้”

สอดคล้องกับความคิดเห็นของ วรเทพ ธรรมโอรส ตัวแทนจากกลุ่มบุฟเฟต์ โปรดักชั่น กลุ่มนักเรียนหนังจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่รวมตัวกันทำทีเซอร์ล้อเลียนหนังหลายต่อหลายเรื่องจนมีชื่อเสียง ที่เห็นว่าที่นี่เป็นเหมือนห้องสมุดที่มีหนังสือที่หลากหลายให้ได้เลือกอ่านเลือกดู

“มาถึงตอนนี้การดูหนังให้หลากหลายก็มีส่วนสำคัญในการเรียนของนักเรียนหนังทุกคน และไม่ใช่เฉพาะมหาวิทยาลัยผมนะ นักศึกษาจากหลายๆ ที่ก็มาดูหนังที่นี่ มันมีความหลากหลายไม่ได้มีแต่ในหนังในกระแส”

อีกส่วนที่สำคัญซึ่งพื้นที่นี้สร้างขึ้น ก็คือสามารถเป็นพื้นที่รองรับในการฉายหนังของนักทำหนังอิสระ ซึ่งแทบจะเป็นปัญหาสามัญของนักเรียนหนังในปัจจุบันที่จะพาหนังไปให้ถึงคนดู หรือแค่จะหาที่ฉายหนังในรูปแบบหนังที่มันถูกสร้างขึ้นมา ไม่ใช่แค่ในรูปแบบของคลิปบนยูทูบ หรือซีดี ดีวีดี

“ปัญหาตอนนี้มันก็มีอยู่ว่า เฮ้ย! ทำหนังแล้วจะเอาไปฉายที่ไหน ซึ่งพื้นที่น้อยมาก โอกาสก็น้อยมากที่จะให้คนทั่วไปได้ดู แล้วที่นี่นอกจากได้พื้นที่ฉายในราคาไม่แพงแล้ว ก็ยังได้ส่วนแบ่งค่าตั๋วที่อาจจะเป็นทุนสำหรับทำหนังเรื่องต่อไปได้อีกด้วย”

ปลายทางของความเปลี่ยนแปลง

แน่นอนความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ต่อความรู้สึกหลายคนเป็นเรื่องที่รับได้ยาก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ สิ่งเก่าที่กำลังจะถูกรื้อทิ้งย่อมทำให้รู้สึกเจ็บปวด ยิ่งกับคนที่ผูกพันกับมัน สมถวิลผ่านการเปลี่ยนแปลงมามากต่อมากในชีวิต และเขารู้ดีว่าทุกคนกลัวการเปลี่ยนแปลง แต่หลายครั้งก็ทำอะไรมันไม่ได้ หลายที่ก็ตายไปแล้ว ที่นี่ก็ไม่รอด

“คือถ้าลิโดมันมีวิญญาณ มันมีชีวิตนะ ให้เขาลงอย่างมีศักดิ์ศรี ผมอยากให้จัดงานอำลา สัปดาห์อำลาอะไรก็ตามเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเป็นเกียรติให้สถานที่แห่งนี้”

เมื่อมองในฐานะของคนดูที่ผูกพันมันในฐานะของการเป็นโรงหนังที่ฉายหนังทางเลือกแล้ว คนหนังทั้ง 3 รุ่นอย่าง อดิสรณ์ , นวพล และวรเทพ มุมหนึ่งก็มองว่า โรงหนังแห่งนี้มีค่าคุณในเชิงสัญลักษณ์ อีกมุมที่สำคัญมากคือการเป็นพื้นที่ให้กับหนังทางเลือกที่นับวันจะยิ่งน้อยลงทุกที

“คือถ้ามันจะต้องไปจริงๆ แล้ว ผมก็อยากให้ผู้ใหญ่เขาเล็งเห็นถึงความสำคัญของมันที่มี มันสร้างไว้ คืออยากให้สร้างพื้นที่ขึ้นมาทดแทน ที่ที่มันมีหนังทางเลือกฉาย และเวทีที่นักศึกษาหรือคนทำหนังอิสระจะสามารถนำหนังไปฉายได้ ผมก็อยากฝากถึงผู้ใหญ่ให้คิดถึงเรื่องตรงนี้ด้วย” วรเทพเอ่ยทิ้งท้าย

>>>>>>>>>>>

……….

เรื่อง : อธิเจต มงคลโสฬศ







กำลังโหลดความคิดเห็น