xs
xsm
sm
md
lg

‘ฉนวนกาซา’ แดนอันตราย...ท้าพิสูจน์ ‘แรงงานไทย’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แรงงานไทย 4 คนถูกลูกหลง จากการที่ประเทศอิสราเอลใช้ปฏิบัติการทางอากาศโจมตี ‘ฉนวนกาซา’ ของปาเลสไตน์อย่างหนัก เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2555 จนได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น ไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งแรกที่เกิดเรื่องราวเช่นนี้ขึ้น

แต่เป็นครั้งที่เท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้ที่จู่ๆ ชีวิตของแรงงานไทย ต้องมาเจอความเสี่ยงเช่นนี้ อย่างเมื่อ 2 ปีก่อน ปฏิบัติการแบบเดียวกันนี้ก็ทำให้แรงงานไทยต้องสังเวยชีวิตไป 1 ศพ และก่อนหน้านั้นอีก 2 ปี แม้จะไม่มีใครได้บาดเจ็บหรือตาย แต่ก็เล่นเอาคนไทย 3,000 ชีวิตถึงกับใจหายใจคว่ำ จนญาติพี่น้องต้องติดต่อสอบถามข่าวคราวข้ามโลกกันแบบจ้าละหวั่น เพราะดันมาอยู่ใกล้จุดทิ้งระเบิดมากๆ

ถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะอดแปลกใจไม่ได้ เพราะของแบบนี้มันรู้ๆ อยู่แล้วว่า ทั้งเสี่ยงทั้งอันตราย และเมื่อมีโอกาสจะโดนลูกหลงได้ทุกเมื่อ (เพราะเวลายิงระเบิดคงไม่มีใครบอกก่อน) แต่เหตุไฉนจึงมีคนไทยใจกล้าไม่กลัวตายจำนวนไม่น้อยยอมไปอยู่ใกล้ๆ กับจุดล่อแหลมในยุทธศาสตร์พรมแดนแห่งความขัดแย้งของสงครามกันอีก

เปิดปูม ‘ฉนวนกาซา’

มาทำความรู้จักกันดินแดนที่เรียกว่า ‘ฉนวนกาซา’ ว่าคืออะไรกันแน่

จริงๆ แล้ว ฉนวนกาซานั้นเป็นเพียงอาณาเขตแคบๆ ที่มีขนาด 360 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีประชากรอาศัยอยู่ราว 1.7 ล้าน ส่วนใหญ่เป็นชาวปาเลสไตน์ที่อพยพหนีมา หลังเหตุการณ์สงครามอาหรับ-อิสราเอล เมื่อปี 2491 โดยปัจจุบันยังไม่มีการรับรองอย่างเป็นทางการแน่ชัดว่า ดินแดนตรงนี้อยู่ภายใต้การปกครองของใคร แต่โดยทางพฤตินัย ทางอิสราเอลนั้นเข้ามายึดครองและควบคุมทางเข้าออกทั้งทางน้ำและทางบก เพราะในมุมหนึ่งอิสราเอลถือว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นเขตยุทธศาสตร์สำคัญทางด้านความมั่นคง

“อิสราเอลเป็นประเทศที่ยาว และมันก็เหมือนกับขอดเข้ามา ซึ่งฉนวนกาซานั้นก็เป็นส่วนที่ติดกับอียิปต์กับอิสราเอล และเดิมก็เป็นของอียิปต์ด้วย แต่เมื่ออิสราเอลต้องการขยายดินแดน โดยจะอ้างเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ แต่จริงๆ มันก็เป็นการไปรุกดินแดนของคนอื่น ที่สำคัญประชากรที่อยู่ตรงนั้นเป็นชาวปาเลสไตน์ แถมยังมีการสร้างกำแพงไปปิดล้อมอีกต่างหาก จะติดต่ออะไรก็ทำไม่ได้ ส่วนคนที่เข้าไปในพื้นที่เหล่านี้ก็ต้องขอวีซ่าจากอิสราเอล ทั้งๆ ที่เป็นดินแดนยึดครองที่ยังตกลงไม่ได้” ศ.พล.ท.ดร.สมชาย วิรุฬหผล ว่าที่นายกสมาคมมิตรภาพไทย-ปาเลสไตน์อธิบาย

ที่สำคัญ เมื่อพูดถึงสภาพความเป็นชาวปาเลสไตน์นั้นต้องถือว่า ถูกกดดันอย่างหนัก ตั้งแต่ถูกไล่ให้ไปอยู่ในเขตทุรกันดาร ขณะที่ชาวอิสราเอลกลับมาสร้างเมือง สร้างที่อยู่อาศัย สร้างนิคมอุตสาหกรรม จากชนวนเหล่านี้เท่านี้ ทำให้เกิดการปะทะระหว่างทั้งสองฝ่ายขึ้นเป็นระยะๆ

อย่างไรก็ดี แม้พื้นที่ตรงนี้จะถูกจัดวางสถานะในเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก แต่ในทางกลับกัน ก็ให้ผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจไม่น้อย เพราะที่ดินกว่า 1 ใน 3 (ซึ่งไม่ใช่ที่ชาวปาเลสไตน์อยู่) อุดมสมบูรณ์มากเหมาะแก่การทำเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นการปลูกมะกอกเพื่อทำน้ำมันมะกอก อินทผลัม ส้ม ฯลฯ ชาวยิวจึงเริ่มเข้ามาจับจอง แม้จะมีความเสี่ยงอยู่มากก็ตาม รวมไปถึงการจ้างแรงงานจากประเทศต่างๆ

“พอแรงงานไทยถูกขับออกจากซาอุดีอาระเบีย จากเดิมที่มีเป็นหมื่นๆ คนเหลือไม่กี่ร้อย เพราะปัญหาเรื่องคดีความต่างๆ รวมไปถึงการลดระดับทางการทูต ก็ทำให้แรงงานพวกนี้เริ่มหาที่อื่นทดแทน ซึ่งมันก็จะมีสถานที่ให้เลือกอยู่ไม่กี่แห่ง ไม่ว่าจะเป็นลิเบีย ซูดาน รวมไปถึงอิสราเอล แม้ว่าจะเสี่ยงก็ตาม ดังนั้นเวลาเกิดเรื่องขึ้นทีก็อพยพกันที ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะไปทำงานกับพวกยิวเป็นหลัก เพราะกลุ่มปาเลสไตน์ยังช่วยเหลือตัวเองได้ลำบากเลย”

ตั้งต้นที่ ‘อิสราเอล’

เมื่อสถานการณ์ผลักดันให้แรงงานไปยังในจุดต่างๆ ที่อาจจะไม่เป็นที่นิยมในอดีต คำถามที่ต้องมานั่งคิดกันต่อมาก็คือ แล้วทำไมต้องไปฉนวนกาซาด้วย

แน่นอนหากยกคำพูดของ ศ.พล.ท.ดร.สมชายที่ระบุว่า ปัจจุบันหากต้องการจะผ่านไปยังพื้นที่เจ้าปัญหาก็ต้องผ่านประเทศอิสราเอลก่อน เพราะฉะนั้น สิ่งแรกที่แรงงานไทยต้องทำก่อนก็คือ การผลักดันตัวให้เข้าสู่ประเทศนี้ให้เรียบร้อย ซึ่งปัจจุบันนี้มีแรงงานไทยอยู่ที่นี่มากถึง 25,000 คนเลยทีเดียว

สุทธิโรจน์ นันทิภาคย์วรกุล ประธานกรรมการบริษัทจัดหางานเอ็น.ที.เค บิสซิเนส จำกัด อธิบายว่า ขั้นตอนการจัดส่งแรงงานไทยไปอิสราเอลนั้น สลับซับซ้อนกว่าประเทศอื่นอย่างมาก เพราะอิสราเอลมีกรอบกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดรัดกุม ตั้งแต่การทำพาสปอร์ต การตรวจโรค การสอบสัมภาษณ์ ทดสอบคุณสมบัติว่า มีประสบการณ์ด้านไหนบ้าง โดยคนที่เคยทำงานเกษตร หรือเป็นช่างเชื่อมก็จะมีสิทธิพิเศษกว่าอาชีพอื่น

“ก่อนอื่นตัวผู้ไปต้องแจ้งเจตจำนงให้ทางตัวแทนที่อยู่อิสราเอลหรือเอเยนต์ทราบก่อน เมื่อผ่านขั้นตอนนี้ก็จะไปติดต่อนายจ้างที่มีสิทธิ์รับแรงงานเพื่อขอใบอนุญาตรับคนเข้าทำงานหรือที่เรียกว่า ‘บี-วัน’ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน เมื่อได้รับอนุญาต ทางอิสราเอลจะแจ้งเข้ามาว่าสามารถไปยื่นวีซ่าได้ ไม่สามารถกำหนดได้เลย ต้องเช็กอยู่เรื่อยๆ กะประมาณเอา พอได้ก็ยื่นขอจัดส่งอบรม ซึ่งจุดที่ต่างจากประเทศอื่นคือ ใบอนุญาตทำงานหรือบี-วัน ซึ่งเปรียบเสมือนโควตาแต่ละปีก็จะมีไม่เท่ากัน บางครั้งก็รับ 3,000 หรือ 5,000 คนขึ้นอยู่กับรัฐบาลอิสราเอลว่าจะอนุมัติเท่าไหร่”

โดยคนที่เข้าไปทำงาน ก็ไปในพื้นที่ที่ปลอดภัย ทำงานด้านเกษตรกรเป็นหลัก ตั้งแต่ปลูกผัก ทำสวน ทำปศุสัตว์ โดยได้รับค่าตอบแทนตามกฎหมายปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 4,100 เชเกลอิสราเอลใหม่ หรือราวๆ 40,000 บาท ซึ่งถือเป็นงานที่ได้เงินมากสุดสำหรับตลาดแรงงานนอกประเทศ ที่สำคัญหากพบว่านายจ้างเอารัดเอาเปรียบหรือไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงกันไป ก็สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้อีกด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ใครๆ อยากจะไปทำงานที่นี่

อย่างแรงงานสาวที่ชื่อ สุกัลยา จิระวงศ์วาน ซึ่งกำลังเดินเรื่องเพื่อไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล ก็เล่าให้ฟังว่า เธอมีเพื่อนที่ทำงานที่นั่นอยู่แล้ว ซึ่งก็ได้รับคำยืนยันเรื่องค่าแรงว่าอยู่ในอัตราที่สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นอาชีพเล็กๆ น้อยๆ อย่างเก็บผลไม้ หรืออาชีพเฉพาะทาง ก็เลยสนใจอยากจะทำบ้าง

“เขาบอกเราว่ารายได้วันหนึ่ง อย่างต่ำตกอยู่ประมาณพันกว่าบาท แต่ถ้าไปทำพวกแม่บ้านหรือคนเลี้ยงเด็กหรือดูแลคนแก่ หรือโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อย่างที่เพื่อนทำก็จะรายได้สูงขึ้นอีก”

‘ฉนวนกาซา’ ทางเลือกที่น่าเสี่ยง

อย่างไรก็ดี แม้เงินที่ได้จากการเป็นแรงงานที่อิสราเอลจะสูงมาก แต่ก็ใช่ว่า นี่จะเป็นพื้นที่ที่ให้เงินสูงสุด เพราะพื้นที่ที่ให้เงินมากกว่า ก็คือเขตที่ต้องการแรงงาน แต่ไม่มีใครกล้าเข้าไปนั่นเอง โดยเฉพาะในเขตฉนวนกาซา ซึ่งมีการสู้รบระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ตลอด

จากคำอธิบายของ น.ต.อิทธิ ดิษฐบรรจง ร.น. เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งเขียนบทความเรื่อง ‘แรงงานไทยในอิสราเอล’ ตั้งแต่สมัยที่เป็นรองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อปี 2551 ทำให้ทราบว่า แต่ก่อนมีแรงงานไทยอยู่ในฉนวนกาซามากถึง 400-500 คนเลยทีเดียว โดยจะไปอยู่ตามจุดต่างๆ เช่น Netzarim, Kfar Darrom และ Gush Katif ซึ่งเหตุผลหลักๆ ก็คือการได้รับค่าตอบแทนที่สูงกว่า และมีการตรวจตราที่น้อยกว่า

แต่ด้วยความที่พื้นที่เกิดเหตุอยู่บ่อยครั้ง ในที่สุดกระทรวงการต่างประเทศ ก็มีการประกาศมาตรการสั่งห้ามและไม่อนุญาตให้ส่งแรงงานไทยไปในพื้นที่ดังกล่าว ตั้งแต่ปลายปี 2545 แต่ถึงจะห้ามหนักสักเท่าใด ก็ยังมีคนหนีเลือกที่จะหนีอยู่ดี ทั้งที่หนีด้วยตัวเอง หรือบริษัทรับทราบ และยังมีประเภทที่สมัครใจหนีกลับไปทำงานกับนายจ้างเก่าเอง ซึ่งเมื่อรวมกับแรงงานไม่ได้ย้ายออกจากพื้นที่จริง ก็คาดได้ว่ามีแรงงานไทยที่อยู่ในฉนวนกาซากว่า 200 - 250 คน

ซึ่งแน่นอนว่าแรงงานเหล่านี้ได้กลายเป็น ‘แรงงานเถื่อน’ เป็นที่เรียบร้อย และสิ่งที่ตามมาก็คือ โอกาสที่จะถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบสูงขึ้น เพราะไม่กล้าร้องเรียน เนื่องจากตัวเองทำผิดกฎ

“โดยปกติแล้ว เจ้าหน้าที่จะถามอยู่แล้วว่า เมืองที่ส่งไปมีเมืองไหนบ้างที่ไม่ให้มีการจัดส่ง เพราะฉะนั้น สำหรับในพื้นที่เสี่ยง ต่อให้นายจ้างจะมีโควตาอยู่ก็ส่งไปไม่ได้ เพราะเป็นเขตที่เมืองไทยไม่อนุญาตให้จัดส่ง แต่ก็ต้องยอมรับว่า มีแรงงานบางคนก็หนีไปฉนวนกาซา ซึ่งผมไม่เถียงเลยได้เงินเยอะกว่าคือ 50,000-60,000 บาท แถมบางคนได้มาทั้งก้อนเลย แต่ถ้าอยู่ในสัญญาอย่างมากก็อาจจะได้แค่ 40,000 บาทเท่านั้นเอง แต่ถ้าคุณเลือกแบบนั้น ก็ต้องไปหลบๆ ซ่อนๆ ไป” สุทธิโรจน์อธิบาย

ทางออกที่พอหวังได้?

เมื่อความถูกต้องกับผลประโยชน์ไปด้วยกันไม่ได้ คำถามก็คือ สุดท้ายแล้วจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร

ซึ่งหากพิจารณาบทความของ น.ต.อิทธิก็จะพบว่า สิ่งสำคัญที่สุดนั่นอยู่ที่ต้นทางว่าจะทำอย่างไร โดยสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลจะต้องมีส่วนในการพิจารณาตรวจสอบรับรองเอกสารการจ้างงานให้แก่บริษัทจัดหางานในอิสราเอลที่ตรวจสอบแล้วว่า มีประวัติการดำเนินงานดี ไม่เคยจัดส่งแรงงานไทยไปในพื้นที่อันตรายและมีความพร้อมที่จะดูแลรับผิดชอบและไม่เอารัดเอาเปรียบแรงงานไทย รวมทั้งประเมินและรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ เพื่อให้หน่วยงานของไทยใช้ ประกอบการพิจารณาจัดส่งแรงงานด้วย

ขณะที่สุทธิโรจน์เสริมว่า ในส่วนของฝ่ายไทย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจัดหางาน หรือกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานก็ตามจะต้องดำเนินการอย่างมีจรรยาบรรณและโปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวนแรงงานที่ไปจริงและตำแหน่งงานที่จะไปทำ เพราะหากไม่โปร่งใส หรือบันทึกไม่ตรงกับจำนวนที่ไปจริง เช่นไป 100 คน แต่บันทึกแค่ 50 คน โอกาสที่จะเกิดปัญหาต่อไปในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ ยิ่งหากเกิดรัฐบาลของประเทศอิสราเอลเข้มงวดด้วยแล้ว แรงงานที่ไม่ได้บันทึกก็จะกลายเป็นแรงงานเถื่อน และมีสิทธิ์จะเข้าไปทำกิจกรรมที่ขัดกับกฎหมาย เช่น ไปทำงานในพื้นที่เสี่ยง หรือถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ

และเมื่อไปถึงประเทศอิสราเอล คราวนี้ก็ถือหน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล และตัวบริษัทผู้จัดหางานแล้วที่จะต้องช่วยกันดำเนินการช่วยเหลือไม่ให้แรงงานมีปัญหา และสามารถทำงานอยู่ภายใต้กรอบสัญญา ไม่ว่าเรื่องค่าจ้างแรงงาน หรือการเอารัดเอาเปรียบ

รวมไปถึง การประชาสัมพันธ์ ซึ่งทำมาตลอดจะต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง น.ต.อิทธิระบุว่าทำมาตลอด เพื่อให้แรงงานไทยเกิดความตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยของตัวเอง มากกว่ารายได้ที่จะได้รับ และหากพบเจอแรงงานที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงก็ต้องเร่งทำการอพยพโดยด่วน
..........

แม้บางคนอาจจะยังไม่เข้าใจ ทำไมระหว่างความปลอดภัยของชีวิตกับเงินทอง แรงงานจำนวนไม่น้อยถึงเลือกอย่างหลัง แต่ถ้ามองกลับไปในชีวิตคนเราที่ต้องระหกระเหินมาไกลบ้าน เพื่อทำงานส่งเงินมาให้ครอบครัวที่อยู่ในเมืองไทย ยังไงก็ต้องเสี่ยงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นหากเพิ่มความเสี่ยงอีกสักนิด แต่เงินเยอะกว่าหลายเท่า ก็อาจจะถือเป็นเรื่องคุ้มค่าก็ได้ แต่ทางหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือภาพสะท้อนที่สำคัญของโลกมนุษย์ว่า ต่อให้มีความรุนแรงเกิดขึ้นมามากน้อยสักแค่ไหน

สุดท้ายแล้ว...เงินก็ยังคงเป็นพระเจ้าอยู่วันยังค่ำ
>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK






กำลังโหลดความคิดเห็น