หลังจากที่คลิปวิดีโอเหตุการณ์พนักงานเก็บเงินค่าโดยสารหรือกระเป๋ารถเมล์หญิงของรถเมล์สาย 187 ทะเลาะตบตีกับผู้โดยสาร แพร่กระจายออกไปในสื่อออนไลน์ มันก็ทำให้คนหลายคน ทั้งที่เคยนั่งรถเมล์และไม่เคยนั่ง เหมารวมว่ากระเป๋ารถเมล์หญิง หรือที่เราเรียกกันตามภาษาปากง่ายๆ ตามสไตล์ชาวบ้านว่า ‘กระปี๋’ นั้น จะต้องเป็นพวกไม่มีมารยาท ดุ ขี้หงุดหงิดไปเสียหมด
อย่างในกรณีของกระปี๋สาย 187 หลังจากที่มีเรื่องราวเกิดขึ้น กระปี๋คนนั้นก็โดนให้ออกจากงาน ซึ่งจะว่าไปมันก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว กระนั้นมันก็เป็นการแก้ปัญหาเรื่องกระปี๋ดุ กระปี๋ไร้มารยาทที่ปลายเหตุอยู่ดี
แม้ว่าในความเป็นจริง ภาพที่ทุกคนเห็นมันจะเป็นแบบนั้นก็ตาม แต่เอาเข้าจริงมีน้อยคนที่ตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? และถ้าจะทำการลงมือแก้ไขปัญหาจะต้องเริ่มจากตรงไหน
เหตุเกิดจาก ‘ความเครียด’
หากจะว่าไป ความขัดแย้งระหว่างกระปี๋กับผู้โดยสาร ก็มีเหตุแบบนี้เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นในวันที่ 13 ตุลาคม 2552 กระปี๋ของรถเมล์ร่วมบริการสาย 123 ก็ได้ใช้เท้าถีบผู้โดยสาร ซึ่งเป็นข้าราชการทหารบำนาญวัย 68 ปี บริเวณแยกทศกัณฐ์ ถนนพุทธมณฑลสาย 2 เพียงเพราะข้าราชการคนนั้น ใช้บัตรข้าราชการบำนาญ เพราะต้องการลดค่าโดยสารลงครึ่งหนึ่ง
นอกจากนั้น ภาพที่เห็นจนชินตาก็คือการที่กระปี๋มีพฤติกรรมด่าว่าผู้โดยสารเป็นอาจิณ กระเป๋ารถเมล์บางคนก็จำผู้โดยสารไม่ได้ คิดว่ายังไม่เก็บเงิน พอเดินกลับมา เห็นทีท่าว่าไม่ยอมควักเงินก็ตวาดเสียงดัง ว่าให้ไปนั่งรถเมล์ฟรีคันหลัง โดยไม่ได้สอบถามก่อน แต่ถ้าหากย้อนกลับไปดูถึงเหตุผล ก็จะเห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวมันสืบเนื่องมาจากความเครียดในการทำงานทั้งสิ้น เพราะรถเมล์ส่วนใหญ่ในทุกวันนี้ วิ่งกันตั้งแต่เช้ายันค่ำ และต้องฝ่าการจราจรที่ติดขัดและคนบนรถยังต้องทนกับอากาศที่อบอ้าวอีกทางหนึ่ง
แถมบางคนก็ยังต้องก็มีภาระชีวิตที่ต้องดูแลอีกมากมาย อย่างคันไหนที่สามีเป็นคนขับ ภรรยาเป็นกระเป๋ารถเมล์ หากคู่นั้นมีลูกเล็กๆ ด้วยแล้ว ภาพหนึ่งที่เห็นกันชินตา โดยเฉพาะช่วงปิดเทอมก็คือ การพาเด็กมานั่งรอนอนรอบนรถระหว่างทำงานด้วย ไม่หมดเพียงแค่นั้นบางทียังต้องเจอผู้โดยสารกวนอารมณ์สุดๆ
จากเรื่องราวทั้งหมดหมดนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่กระปี๋จำนวนไม่น้อยจะมีความเครียดสูง และส่งผลให้ท่าทีในการทำงานบริการของพวกเธอออกมาแย่กว่าที่ควรจะเป็น
ภาพชีวิตจริงของ ‘กระปี๋รถเมล์’
ถ้ายังนึกภาพไม่ออกว่ากระปี๋เหล่านี้มีความเครียดอะไรหนักหนา ทำไมต้องดุ และไร้มารยาทกับผู้โดยสาร ลองไปดูภาพชีวิตจริงของกระปี๋สักคนกัน
วิภา เหล่าอุษา พนักงานเก็บค่าโดยสารรถประจำทางสาย 92 ของบริษัท เทพเนรมิตรขนส่ง จำกัด เล่าชีวิตการมาประกอบอาชีพในสายงานขนส่งมวลชนว่า เธอเดินทางเข้ากรุงเทพฯ มากับสามีและเริ่มงานด้านขนส่งมวลชนมาเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว โดยรายได้ของเธอนั้นก็จะมาจากยอดเงินค่าโดยสาร ส่วนแบ่งของเธอนั้นคือ 8 เปอร์เซ็นต์จากค่าโดยสาร ส่วนพนักงานขับรถจะได้ 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทั้งหมดแล้วก็จะได้ไม่เกินคนละ 700 - 800 บาท
ฟังดูเผินๆ ดูเหมือนว่าจะเป็นอาชีพที่รายได้ดี และสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่มาก แต่ถ้าหากนำเอาชั่วโมงการทำงานที่ส่วนใหญ่แล้วจะต้องทำวันละ 15 - 19 ชั่วโมง มาหารรายได้ของกระปี๋เหล่านี้ก็จะอยู่แถวๆ ค่าแรงขั้นต่ำนั่นเอง และลักษณะการทำงานของพวกเธอก็ห่างไกลกับคำว่าคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่โข
“บางวันถ้าเข้างาน 6 โมงเช้าก็จะวิ่งได้ 3 รอบ เพราะเวลาวิ่งไม่พอจะเลิกงานประมาณ 4 ทุ่ม แต่หลายวันจะเช้าตี 4 และวิ่ง 4 รอบ จะเลิกประมาณ 3 ทุ่มกว่า ถ้าเข้าตี 5 ก็ไปเลิกเกือบ 6 ทุ่มได้ ทำงาน 3 วันหยุด 1 วันเป็นกฎของที่นี่ แล้วรายได้จะได้จากเบี้ยเลี้ยงวันละ130 บาท”
ในส่วนของการทำงาน ผู้โดยสารแบบที่มีปัญหาก็จะมี 2-3 แบบด้วยกัน นั่นคือแบบที่แกล้งทำเป็นหลับ และแบบที่เล่นโทรศัพท์มือถือโดยไม่สนใจจะจ่ายค่าโดยสาร อีกประเภทคือให้แบงก์ใหญ่
“ผู้โดยสารที่ดีก็ดีมากเลยนะ แต่ที่ไม่ดี ขึ้นมาแล้วแกล้งหลับบ้าง เราเข้าไปก็รีบเขย่ากระเป๋าหา หรือไม่ยอมจ่ายบ้าง ให้แบงก์ใหญ่บ้าง บางทีชั่วโมงเร่งด่วนเราต้องเก็บเงินเยอะ แล้วรถมันต้องขับไปเรื่อยๆ ไม่มีจอด บางทีเก็บไม่ทันก็แย่ แบงก์ยี่สิบ ห้าสิบบาทยังพอได้ แต่บางคนนี่มาแบงก์ร้อย แบงก์พันก็ยังเคยเจอมาแล้ว”
ส่วนเรื่องของการดูแลครอบครัวนั้น วิภาได้ฝากลูกของตนไว้ที่บ้านต่างจังหวัด ส่วนครอบครัวของเพื่อนคนอื่นๆ ก็อาจมีการฝากเลี้ยงไว้ที่สถานรับเลี้ยงเด็กบ้าง หรือไม่หากเข้าโรงเรียนแล้วก็อาจให้คนไปรับแทน
“หลายสายที่มีการเลี้ยงเด็กบนรถเมล์ มันก็แล้วแต่บริษัทนะ บางที่จะไม่มีกฎระเบียบมากนัก ให้ญาติมาขึ้นรถได้ เลี้ยงลูกได้ แต่มันก็ไม่ดีนักหรอก บนรถเมล์มันเสียงดัง แคบ ร้อนด้วย”
ซึ่งกฎระเบียบของบริษัทก็มีส่วนต่อความเครียดพอสมควร เพราะเธออาจจะถูกหักเดือนได้หากมีผู้ร้องเรียนโทร.เข้ามา และเมื่อถามถึงเรื่องของสิทธิของแรงงานสตรี วิภาก็ถามกลับมาทันทีว่า มันคืออะไร เธอไม่เคยรู้จัก รู้แต่ว่าถ้าวันไหนประจำเดือนมาก็ลาป่วยได้เท่านั้นเอง
“ปวดหัว เครียด มีหลายเรื่องนะ อย่างช่วงเย็นๆ ออกไปนี่รถติด แต่ถ้าบางวันคนน้อย ออกไปรถไม่ติดก็ไม่ค่อยมีลูกค้า ได้เงินน้อยอีก แต่มันก็ไม่รู้จะไปทำอะไรนะ เราประกอบอาชีพทางสายนี้มาแล้วด้วย สามีก็ทำมาเป็นสิบปีแล้ว มันก็พอมีรายได้ พออยู่ได้ แต่มันต้องขยันหน่อย ต้องเหนื่อยมากหน่อย”
ทางออกของ ‘ปัญหากระปี๋ดุ’
จากปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้า อาจจะทำให้พอเห็นภาพแล้วว่า ทำไมกระปี๋รถเมล์ถึงได้ดุดันและดูป่าเถื่อนขนาดนั้น และถ้ารู้สาเหตุแล้ว ก็คงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะมาก่นด่ากัน หากแต่สิ่งที่ต้องทำก็คือการหาหนทางแก้ปัญหาต่างหาก
“กระเป๋ารถเมล์หญิงนั้น ก็ถือเป็นงานใช้แรงงานอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นของ ขสมก. ก็จะทำงานเป็นกะแต่ถ้าหากเป็นรถร่วมก็จะเหมา หมายถึงทำยาวเลย วิถีชีวิตของคนในอาชีพนี้ก็จะทำงานมากชั่วโมง ส่งผลให้ลูกเต้าก็ไม่ค่อยจะมีเวลาดูแล อาจจะเอาไปฝากไว้ หรือไม่ก็ส่งกลับไปอยู่ที่ชนบท พอโตหน่อยหรือไม่มีใครดูก็จะเอาลูกมานั่งอยู่บนรถเมล์ด้วย ดังนั้นก็จะเกิดความเครียดขึ้นมาในการทำงาน”
อรุณี ศรีโต หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองสิทธิ์ กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวถึงภาพรวมปัญหาความเครียดของกระปี๋รถเมล์
“ถึงแม้ว่ากระเป๋ารถเมล์จะมีรายได้มากกว่าการใช้แรงงานแบบอื่น แต่ถ้ามาดูชั่วโมงในการทำงานแล้วจะเห็นว่า ชีวิตเขาต้องเร่งรีบ ตื่นแต่เช้าและอยู่บนรถตลอด ต้องปะทะกับคนมากหน้าหลายตา ทั้งคนที่อารมณ์ดี อารมณ์ไม่ดี คนที่พูดรู้เรื่องและพูดไม่รู้เรื่อง ต้องทำงานแบบรีบๆ ร้อนๆ ฉะนั้นจึงมีความกดดันมาก งานเขามันต่างจากการทำงานใช้แรงงานทั่วไป เพราะถ้าเป็นในโรงงานมันจะอยู่กับที่ ส่วนพวกกระเป๋านี่ต้องใช้พลังสูง ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกายที่ต้องคอยทรงตัวบนรถทั้งวัน หรือจะเป็นด้านจิตใจที่ต้องใช้ความอดทนกับคนร้อยพ่อพันแม่ มลพิษก็ต้องหายใจเข้าไปตลอดเวลา”
ส่วนสาเหตุที่พนักงานเก็บค่าโดยสารส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงนั้น เป็นเพราะงานด้านนี้มันจุกจิก, เครียด และลำบาก จนทำให้ให้แรงงานชายที่มีทางเลือกที่ดีกว่าไม่สนใจเข้ามาทำ
“งานที่ลำบาก ที่ใช้ความอดทน ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่เอาผู้หญิงมาทำ เพราะแรงงานชายเขามีทางเลือกที่ดีกว่า อย่างอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีรายได้ดี มักจะรับแต่ผู้ชาย ส่วนงานอย่างโรงงานสิ่งทอที่ต้องเดินมากนั้น ผู้ชายเขาไม่ทำผู้หญิงก็เข้ามาทำแทน”
ส่วนหนทางในการแก้ปัญหาการบริการของกระปี๋รถเมล์นั้น อรุณีมองว่า ยังพอมีทางออก แต่ก็ต้องไปแก้ที่ต้นตอ ไม่ใช่มาลงโทษกันหลังจากกระทำผิดไปแล้ว
“ทางออกในการแก้ไขปัญหากระเป๋ารถเมล์นั้นน่าจะเริ่มจากการที่เจ้าของกิจการ ต้องพิจารณาเรื่องชั่วโมงการทำงานก่อน เพราะโดยหลักสากล คนเราทำงาน 8 ชั่วโมงก็พอแล้ว แต่ทั้งนี้ต้องมีค่าแรงที่เหมาะสมด้วย สรุปแล้วก็คือต้องไปแก้ตรงค่าจ้างนั่นแหละ ต้องให้เขาอยู่ได้ ส่วนข้อต่อมาต้องนึกเสมอว่าคนทำงานก็เป็นคน ต้องมีเวลาพักผ่อนมีเวลาอยู่กับครอบครัว”
…………
การถอยออกมามองต้นตอของปัญหากระปี๋รถเมล์ไร้มารยาท ดูเผินๆ คล้ายกับเป็นการหาข้อแก้ตัวให้แก่พฤติกรรมแย่ๆ ที่เคยเกิดขึ้น แต่ถ้าพินิจพิจารณาดีๆ มันก็เป็นการพยายามทำความเข้าใจปัญหาไปพร้อมๆ กันด้วย ซึ่งถ้าเข้าใจแล้วว่าปัญหานั้นๆ มันมีสาเหตุจากอะไร ก็คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าไปแก้ไข ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้มีอำนาจในบ้านเมืองจะหันมาดูดำดูดีหรือไม่
ไม่แน่ปัญหาแบบหญิงๆ ของกระปี๋รถเมล์ อาจจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ค่าที่ว่านายกรัฐมนตรีเมืองไทยก็เป็นหญิงเหมือนกัน หรือว่าปัญหาดังกล่าวก็อาจจะไม่อยู่ในสายตาของนายกฯ เลยก็ได้ เพราะมันเป็นปัญหาของชนชั้นล่าง และเป็นชนชั้นที่นายกฯ ไฮโซอาจจะไม่เคยรู้ว่า พวกเขามีอยู่จริง เพราะแค่กระเป๋าแบรนด์เนมของนายกฯ ใบเดียวก็มากกว่าค่าแรงทั้งปีของกระปี๋รถเมล์คนหนึ่งเสียแล้ว...
>>>>>>>>>>
………..
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : พงศ์ศักดิ์ ขวัญเนตร