xs
xsm
sm
md
lg

อังคณา นีละไพจิตร กับความอดทน... ต้องคอยขอ “ความเป็นธรรม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ย้อนกลับไปเมื่อราว 8 ปีก่อน ข่าวการหายตัวไปของ นายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม กลายเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วประเทศ ท่ามกลางข่าวอันน่าสะพรึงที่สันนิษฐานกันว่าทนายหนุ่มอาจโดน “อุ้มฆ่า” ชื่อของ “อังคณา นีละไพจิตร” หญิงสาวธรรมดาคนหนึ่ง ที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับทนายสมชาย ผู้เป็นสามี ก็ปรากฏขึ้น

ในยามบ่ายที่อากาศไม่ร้อนจนเกินไปนัก เรามีโอกาสไปเยี่ยม คุณอังคณา นีละไพจิตร ที่บ้านของเธอย่านฝั่งธนบุรี ภายในห้องแถวขนาดพอเหมาะถูกตกแต่งไว้อย่างสวยงาม ในสไตล์ย้อนยุค

หญิงสาวมาดสุขุม ผู้มีแววตาเต็มเปี่ยมไปด้วยความเข้มแข็ง ยิ้มต้อนรับเราอย่างเป็นกันเอง


“ของทุกอย่างในบ้านนี้ ยังอยู่เหมือนเดิม เหมือนสมัยที่คุณสมชายยังอยู่ค่ะ แม้แต่กระเป๋าที่คุณสมชายใช้ ที่ปกติจะวางอยู่ข้างโต๊ะทำงาน เราก็วางมันอยู่ที่เดิม เพราะเราอยากรู้สึกว่า เหมือนคุณสมชายยังอยู่ด้วยกัน” คุณอังคณาเล่าถึงที่มาการตกแต่งบ้าน หลังเราเอ่ยชมว่าบ้านเธอน่าอยู่เสียเหลือเกิน

แม้ปัจจุบันเราจะคุ้นหน้าคุ้นตาเธอเป็นอย่างดีจากสารพัดช่องทาง ที่นำเสนอข่าวการเรียกร้องสิทธิเพื่อสามี และทำหน้าที่ในฐานะนักสิทธิมนุษยชน แต่น้อยครั้งเหลือเกินที่จะได้รับทราบความในใจอันละเอียดอ่อนของเธอ

ครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่สาวแกร่งผู้นี้จะเปิดเผยความรู้สึกต่างๆ ภายในจิตใจอันเข้มแข็งของเธอให้ได้ทราบ

ความเป็นไป ณ วันนี้

ถาม ปัจจุบันนี้ ทำอะไรอยู่บ้าง ?

ตอบ เมื่อก่อนทำธุรกิจส่งออกเครื่องประดับเงิน แต่พอลูกๆ เรียนจบก็ไม่ได้ทำแล้ว เพิ่งจะหยุดมาได้ไม่กี่เดือนนี้เองค่ะ ก่อนหน้านี้ทำเป็นธุรกิจเล็กๆ ภายในครอบครัว ให้พอมีเงินส่งลูกๆ เรียนหนังสือ

นอกจากนี้ก็มีงานด้าน NGO (องค์การพัฒนาภาคเอกชน) เพราะหลังจากที่เราออกมาเคลื่อนไหวกรณีคุณสมชาย ก็จะมีหลายคนสนใจอยากรู้ว่าในฐานะที่เราเป็นผู้หญิงธรรมดา ไม่ได้เป็นนักกฎหมาย คือ จริงๆ แล้วเป็นพยาบาลค่ะ รับราชการได้ระยะหนึ่ง ตอนหลังมีลูกหลายๆ คนก็เลยลาออกจากพยาบาล มาทำกิจการของที่บ้านอย่างเดียว

หลังคุณสมชายหายไป ก็จะมีหลายคนถามว่า เราเป็นผู้หญิงธรรมดา แล้วทำไมถึงทำให้กรณีคนๆ หนึ่งที่เป็นคนธรรมดาโดนอุ้มไป กลายเป็นที่รู้จัก ทำให้รัฐต้องมาใส่ใจ ก็เลยอยากจะแบ่งปัน เลยตั้งเป็น “มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ” มีกิจกรรมของมูลนิธิในการแนะนำช่วยเหลือเกี่ยวกับด้านสิทธิมนุษยชน

ถาม สภาพจิตใจทุกวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง ทำใจเรื่องคุณสมชายได้หรือยัง ?

ตอบ ต้องบอกตรงๆ ว่า เราไม่ได้ย้อนกลับไปคิดถึงเมื่อ 8 ปีที่แล้วมากกว่าพยายามมองไปข้างหน้า ลูกๆ ก็เหมือนกัน ส่วนภาระในการที่จะหาความเป็นธรรมมันเป็นหน้าที่ ซึ่งเราก็ต้องทำต่อไป แต่ถ้าสมมุติว่าเรากลับไปนั่งคิดทบทวนว่า เอ๊ะ! มันเกิดอะไรขึ้น มันจะเป็นความทุกข์ทรมานใจ ดังนั้นก็จะเลี่ยงโดยการไม่นึกถึงตรงนั้น

ถาม แล้วลูกๆ เป็นอย่างไรบ้าง ?

ตอบ ลูกๆ 5 คนตอนนี้ก็เรียนจบกันหมดแล้ว คนโตเป็นผู้หญิง อายุ 29 ปี ปัจจุบันเขาเป็นผู้พิพากษาค่ะ เป็นรองหัวหน้าศาลอำเภอเบตง จังหวัดยะลา คนที่ 2 เรียนปริญญาเอก ด้านรัฐศาสตร์ที่จุฬา เพราะตอนเรียนจบโท แล้วได้เกียรตินิยม ซึ่งที่คณะรัฐศาสตร์จุฬา หากใครได้เกียรตินิยมก็มีสิทธิสอบปริญญาเอก เขาก็โชคดีสอบได้ ส่วนคนที่ 3 ทำงานอยู่ที่สถานทูตอินโดนีเซีย และกำลังหาที่เรียนต่อปริญญาโท คนที่ 4 เรียนปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส คนที่ 5 เพิ่งจบ สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เหมือนกัน

ลูกๆ ทั้ง 5 คนได้เกียรตินิยมกันหมด รวมถึงระหว่างเรียนหนังสือ ทุกคนจะทำงานไปด้วย เช่น เป็นผู้ช่วยอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย คือ ทุกคนจะมีงานทำ และเขาจะดูแลตัวเองในส่วนค่าใช้จ่ายส่วนตัว แต่ค่าใช้จ่ายในบ้าน หรือค่าเทอม เราก็จะเป็นคนจ่ายให้ แต่ส่วนใหญ่เขาจะได้ทุนเรียนค่ะ เราก็จะมีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนของค่าหนังสือต่างๆ มากกว่า

เดิมทีสิ่งที่กังวลมากที่สุดคือ ถ้าเราดูจากหลายคนที่ตัวเองตกเป็นเหยื่อ บางทีมันทำให้ชีวิตตัวเองหักเห ลูกที่เคยเรียนหนังสือก็อาจจะไม่ได้เรียน หรือเรียนหนังสือ ก็อาจจะไม่สามารถเรียนได้อย่างที่ตั้งใจ นี่คือสิ่งที่กังวลมากที่สุด แต่เราก็ผ่านมาได้ ลูกทุกคนก็สามารถที่จะเป็นในสิ่งที่ตัวเองอยากจะเป็นได้แล้ว

จากแม่บ้านสู่ “นักเคลื่อนไหว”

ถาม การที่เสาหลักครอบครัวหายตัวไป คุณต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไรบ้าง ?

ตอบ ต้องศึกษาเรื่องของกฎหมายมากขึ้นเยอะเลยค่ะ จากเดิมที่เราไม่รู้กฎหมายก็ต้องอ่านหนังสือกฎหมายเยอะมากเพื่อให้มีความรู้ในการเรียกร้องสิทธิ ส่วนเรื่องอื่นๆ นั้น ปกติเราเป็นคนตรงๆ พูดอะไรตรงๆ ไม่อ้อมค้อม นิสัยแบบนี้เป็นมาตลอดตั้งแต่เด็กเลย จนถึงวันนี้ก็ยังเป็นแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของคุณสมชาย หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ถ้าถามก็จะถามตรงๆ จะไม่อ้อมค้อม

หลังมีเรื่องคุณสมชาย ก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไป หรือไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองต้องปรับตัวอะไรเลย เพราะเราเป็นแบบนี้ของเราอยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องมีให้มากขึ้นคือ ความอดทน การออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม มันไม่ง่าย และเราก็รู้สึกว่า บางทีมันเหมือนกับว่าเราต้องเข้าไปขอค่ะ เข้าไปขอความเป็นธรรม ไปขอความช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่เราก็รู้สึกว่า เอ๊ะ! ทำไมเราต้องขอล่ะ จริงๆ มันเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องทำให้ คือ ตรงนี้มันทำให้เราต้องเพิ่มความอดทนขึ้นมา อดทนที่จะรับรู้ด้วยว่ามันมีอะไรเกิดขึ้น อดทนที่จะต้องเจอกับใครต่อใครหลายคน ซึ่งบางครั้งเขาก็ปฏิเสธดื้อๆ ไม่อยากคุย ไม่อยากให้ข้อมูลก็มี อันนี้คือสิ่งที่ต้องเพิ่มให้มากขึ้นกว่าเดิม

ถาม กลัวบ้างมั้ย ว่าจะเป็นอันตรายเมื่อต้องเปิดหน้าสู้กับผู้มีอำนาจ ?

ตอบ ไม่เคยกลัวเลย อันนี้เรียนตรงๆ เพราะตัวเองถูกเลี้ยงมาแบบนี้ เรารู้สึกว่า เรากล้าที่จะเผชิญกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ประมาท ดูแลตัวเอง ซึ่งไม่ประมาทในที่นี้หมายถึง ไม่ไปไหนค่ำๆ มืดๆ คนเดียว ก็ระมัดระวังตลอด หรือถ้าออกนอกบ้านก็จะไม่ค่อยนั่งแท็กซี่ ถ้าไม่เอารถไปเอง ก็จะนั่งรถประจำทาง รถสาธารณะมากกว่า

ถาม ลูกๆ ว่าอย่างไรบ้างที่คุณออกมาต่อสู้แบบนี้ ?

ตอบ ต้องบอกตรงๆ เลย ว่าทุกวันนี้ที่ยืนอยู่ตรงนี้ได้ก็เพราะลูก พอคุณสมชายหายไปใหม่ๆ ญาติคุณสมชายก็จะถามเราว่า แน่ใจหรือว่าจะไปมีเรื่องกับตำรวจ คือ เข้าใจว่าทุกคนก็กลัว ทุกคนก็ห่วงความปลอดภัย ซึ่งพอเป็นแบบนี้เราก็ต้องย้อนกลับมาคุยกับลูกอีก ว่าเราจะทำอย่างไรดี ก็จะเล่าให้เขาฟังทุกเรื่องเลย ว่าถ้าเราสู้เราจะเจออะไรบ้าง แล้วถ้าเราไม่สู้ เราจะเป็นอย่างไร เช่น ถ้าเราต้องการจะสู้เพื่อความเป็นธรรม หลายคนที่ออกมาสู้ก็ถูกคุกคามบ้าง ถูกลดทอนความน่าเชื่อถือสารพัดนะ เราอาจต้องเจอแบบนี้นะ เราต้องเจอคำถามอยู่ตลอด เราหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดไม่ได้นะ

แต่ถ้าเราไม่สู้ ยอมรับข้อเสนอของบางคน เช่น มีคนเคยเสนอว่า อยากจะช่วยเหลือเรื่องการเงิน คุณทักษิณ (ชินวัตร) เองก็เคยพูดเองว่า อยากจะช่วยเหลือ เราก็บอกกับลูกว่า ถ้าเราอยู่เฉยๆ แล้วมีคนช่วยเหลือเราต้องการมั้ย ซึ่งลูกทุกคนก็เห็นตรงกันว่า เงินทองเราก็ไม่ได้อยากได้ไปทำอะไร ทุกคนมีความสามารถที่จะขวนขวายเรียนหนังสือได้เอง

ดังนั้นพวกเราเลยรู้สึกว่า อยากหาความเป็นธรรมให้กับพ่อมากกว่า สิ่งนี้เองที่ทำให้เราสามารถทำตรงนี้ได้ แต่ถ้าสมมุติว่า วันหนึ่งลูกเดินมาบอกว่า แม่ไม่ไหวแล้ว หยุดเถอะ ถึงวันนั้นก็คงจะหยุด แต่ทุกวันนี้ก็ต้องยอมรับว่า เราอยู่ด้วยกัน ไปด้วยกัน คิดเหมือนกัน


ถาม คนมักพูดว่าคุณเป็นผู้หญิงที่กล้า และเข้มแข็งมาก คิดว่าสิ่งเหล่านี้มาจากไหน?

ตอบ น่าจะมาจากครอบครัวค่ะ ตัวเองเกิดและเติบโตในครอบครัวคนชั้นกลาง แต่พ่อแม่จะเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา เป็นคนชั้นกลางแต่ค่อนไปทางยากจนมากกว่า (หัวเราะ) เพราะไม่มีบ้านเป็นของตัวเองนะคะ เพิ่งจะมีบ้านเป็นของตัวเองเมื่อ 10 กว่าปีมานี้เอง ชีวิตวัยเด็กจะย้ายบ้านบ่อย เช่าตรงนู้น เช่าตรงนี้ แต่เงินทั้งหมดของครอบครัว คุณพ่อจะใช้ไปกับการศึกษาของลูก ถึงแม้ว่าสถานะการเงินจะไม่ค่อยดี เพราะคุณแม่เป็นช่างเย็บผ้าและเสียชีวิตตั้งแต่เราเข้ามหาวิทยาลัย ก็จะมีคุณพ่อคนเดียวเลี้ยงลูกสาว 3 คน แต่พ่อก็จะให้เรียนโรงเรียนคอนแวนต์ ซึ่งค่าเทอมแพง เรียกได้ว่าเงินทั้งหมดที่หาได้ ก็จะหมดไปกับการศึกษาลูก

และสิ่งหนึ่งที่พ่อจะพูดมาตลอดคือ ความอดทน ความมานะ พยายาม และการมีวินัย ที่สำคัญคือ จะต้องไม่ยอมรับกับความไม่เป็นธรรม พร้อมๆ กันสิ่งที่ได้มาจากครอบครัวมากๆ เลยคือ การแบ่งปันให้คนอื่น คุณพ่อคุณแม่จะสอนมาตลอดว่า บางทีเราเดินไปข้างนอก อย่างน้อยเราเก็บเปลือกกล้วยที่ตกพื้นทิ้ง ก็ถือว่าเป็นการช่วยสังคมได้แล้ว เหล่านี้ก็จะเป็นสิ่งซึ่งติดตัวเรามาตลอด

พลังรัก สร้างพลังใจให้สู้ได้เสมอ

ถาม อะไรคือ พลังใจที่สำคัญที่สุดในชีวิต ?

ตอบ ลูกค่ะ ลูกจะเป็นเพื่อนคุยเสมอ บ่อยๆ ที่เรารู้สึกแย่จัง ทำไมเป็นแบบนี้ ก็จะมีลูกๆ คอยพูดคุย นอกจากนี้ก็มีคุณพ่อ ซึ่งตอนนี้ท่านอายุ 80 แล้ว คุณพ่อจะเป็นคนที่ให้กำลังใจตลอด พ่อไม่เคยทักท้วงว่าอย่าทำแบบนี้ อย่าพูดแบบนี้ พ่อจะให้กำลังใจตลอด ทั้งๆ ที่คุณสมชายเป็นแค่เขย ไม่ใช่ลูกแท้ๆ แต่พ่อก็จะรู้สึกว่ามันไม่ได้นะ มันยอมไม่ได้ ดังนั้นเราก็จะได้กำลังใจจากครอบครัวของเราเอง

รวมถึงกำลังใจจากคนในสังคมด้วย ทุกวันนี้เวลาไปไหนจะรู้สึกว่า เรามีเพื่อน เคยนั่งรถเมล์แล้วกระเป๋ารถเมล์เขาจำเราได้ เขาถามว่าพี่อังคณาใช่มั้ย เขาก็ไม่เก็บเงินค่ารถนะคะ มันทำให้เรารู้สึกว่าขนาดค่ารถ 7-8 บาทเขาก็อยากช่วย เพราะเขาบอกว่า เขาอยากจะช่วย เพื่อที่อย่างน้อยเขาจะได้แบ่งเบาความทุกข์จากเรา หรือให้เขาได้มีส่วนร่วมที่จะดูแลเรา ซึ่งสิ่งแบบนี้ประเมินไม่ได้ด้วยเงิน แต่สิ่งเหล่านี้มันหล่อเลี้ยงหัวใจ ให้เราอยู่ได้

ถาม ยังหวังอยู่มั้ย ว่าจะได้เจอคุณสมชายอีกครั้ง ?

ตอบ ไม่เคยหวังเลยค่ะ เรายอมรับในระดับหนึ่งว่า มันเป็นไปไม่ได้ เพราะส่วนตัวก็เชื่อว่า เขาคงไม่อยู่แล้ว ถึงแม้เราจะยังไม่เห็นศพ ก็ไม่เคยหวังว่าจะได้กลับมาอีก แต่เราก็รู้สึกว่า เขายังอยู่กับเรา และเราไม่เคยคิดเลยว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับเขา เพราะเวลาคิดก็จะมีแต่เสียใจ อย่างเมื่อก่อนลูกๆ จะร้องไห้บ่อยมาก เพราะเขาจะคิดไปว่าพ่อเขาถูกทำร้ายอย่างไรบ้าง อาจจะถูกซ้อม อาจจะถูกตี ถูกเผา ทำให้ร้องไห้กันบ่อย

จนตอนหลัง เราต้องบอกเขาว่าการรำลึกถึงแบบนั้นมันไม่ได้เป็นประโยชน์กับเราเลย มันทำลายตัวเองด้วยซ้ำ ดังนั้นก็ต้องเลือกที่จะจดจำว่า พ่อเขายังอยู่ นี่ไง... กระเป๋าของพ่อ โต๊ะทำงานของพ่อ ทุกอย่างยังอยู่เหมือนเดิม ตำแหน่งเดิมเหมือนสมัยที่คุณสมชายยังอยู่ ซึ่งการทำแบบนี้มันก็จะทำให้เรารู้สึกอบอุ่นใจทุกครั้ง ที่ได้มองว่าทุกสิ่งมันยังอยู่เหมือนเดิม เหมือนเขาก็ยังอยู่กับเรา

ถาม ถึงวันนี้... คุณอยากบอกอะไรกับคุณสมชาย ?

ตอบ อยากบอกว่า ภูมิใจในตัวเขานะคะ เพราะถ้าพูดตรงๆ เขาแทบไม่มีเวลาดูแลครอบครัวเลย แต่สิ่งที่เขาทำมันจะเห็นผลในวันที่เขาไม่อยู่ เวลาที่เขาไม่อยู่ คนทั้งสังคมกลับมาดูแลเรา มาดูแลครอบครัวของเรา เวลาที่เราอยู่ด้วยกัน เขาแทบไม่มีเวลาดูแลเราเลย เขาเอาเวลาไปช่วยคนอื่นหมด แต่พอวันนึงที่เขาไม่อยู่ ปรากฎว่า คนทั้งสังคมกลับมาดูแลเรามากกว่าที่คุณสมชายเคยห่วงใยเสียอีก เช่น ลูกๆ ไม่ว่าจะไปเรียนที่ไหน ครูบาอาจารย์ท่านจะใส่ใจ จะคอยดูแล ทุกวันนี้ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน ทุกคนจะรู้จักและจะห่วงใย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เรารู้สึกว่ามันมีค่ามากสำหรับครอบครัวเรา

บทเรียนราคาแพง ที่อยากให้คนในสังคมเรียนรู้

ถาม คุณคิดว่า การออกมาเคลื่อนไหวคดีของคุณสมชายให้อะไรกับสังคม ?

ตอบ เมื่อก่อนเราก็เพียงแต่รับรู้ว่า มันมีการฆ่านั่งยาง ฆ่าเผา มาตั้งหลายสิบปี แต่ไม่มีใครเอาเรื่องนี้มาวางบนโต๊ะ ไม่มีใครที่จะบอกว่า เรื่องแบบนี้มันมีจริงนะ มันเลยกลายเป็นเรื่องเล่า เป็นตำนาน แต่กรณีคุณสมชายมันทำให้สังคมรู้ว่า เรื่องนี้มันไม่ใช่แค่ตำนาน แต่มันเป็นเรื่องจริง และมันก็จะต้องมีคนที่รับผิดชอบ สังคมจะทำอย่างไร เพื่อจะไม่ต้องเกิดเรื่องอย่างนี้

สุดท้ายผลที่ได้ตอนนี้คือ รัฐบาลไทยมีมติให้ลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการบังคับบุคคลไม่ให้สูญหาย ของสหประชาชาติ ซึ่งอนุสัญญาตัวนี้ก็ทำให้ประเทศไทยมีภาระสัญญา ที่จะต้องปรับแก้กฎหมายเพื่อให้การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิด

เพราะที่ผ่านมาเราไม่มีกฎหมาย นั่นคือ มีคนเห็นตำรวจกลุ่มหนึ่งพาคุณสมชายขึ้นรถแล้วหายไป เราเอาผิดตำรวจกลุ่มนั้นได้แค่กักขังหน่วงเหนี่ยว แต่เราไม่สามารถเอาผิดฐานทำให้สูญหายได้ ถึงแม้ว่าหลังจากที่ถูกเอาตัวไปแล้ว เขาจะไม่กลับมาเลย เพราะฉะนั้นเมื่อไม่มีกฎหมาย มันก็ต้องผลักดันให้มันเกิดกฎหมายนี้ให้ได้

อย่างน้อยถ้ารัฐบาลปรับแก้ไขกฎหมายนี้จนสำเร็จ ให้ความคุ้มครองกับคนทุกคนว่าจะไม่ถูกอุ้มหายไป ตรงนี้จะถือว่าเป็นคุณูปการใหญ่หลวงเลย ซึ่งแม้ขณะนี้จะยังไม่สำเร็จแต่เจ้าหน้าที่หลายคนของรัฐเอง ก็ยอมรับว่าหลังจากกรณีคุณสมชายเกิดขึ้น เรื่องการอุ้มฆ่าในประเทศไทยน้อยลงไปเยอะ

ถาม อยากบอกอะไรกับผู้คนในสังคมเกี่ยวกับเรื่องการอุ้มฆ่า ?

ตอบ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเป็นเหยื่อ และไม่มีใครอยากอยู่ในสภาพของเหยื่อ หรือคนที่ถูกกระทำ แต่เราช่วยเขาได้ เราช่วยเขาได้โดยการที่เราต้องไม่ละเลย ไม่เพิกเฉย เมื่อมันเกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับใคร บางทีเราคิดว่า มันไม่ใช่เรื่องของเรา แต่ถ้าเราคิดแบบนั้น วันนึงเหตุการณ์มันอาจจะเกิดขึ้นกับเราก็ได้ เกิดขึ้นกับลูกหลานเรา หรือพี่น้องเราในวันข้างหน้าได้

เพราะฉะนั้นการมองปัญหา..เรามองแค่ตัวเรา หรือ ณ ขณะใดขณะหนึ่งคงไม่ได้ แต่อยากให้มองไปถึงวันหน้าค่ะว่าถึงเราจะเป็นคนเล็กๆ แต่เราก็ทำสิ่งที่ใหญ่ๆ ได้ เราสามารถที่จะสร้างให้เกิดกลไก ที่จะคุ้มครองลูกหลานของเราในวันข้างหน้าได้ และคิดว่าทุกคนก็ทำได้เหมือนกัน

ถาม มีอะไรอยากบอกกับผู้หญิง ที่บางคนตกเป็นเหยื่อ แต่ไม่กล้าลุกขึ้นสู้

ตอบ มันเป็นทั้งสิทธิและหน้าที่นะคะ การที่จะหาความเป็นธรรมความยุติธรรมนั้น มันเป็นสิทธิโดยชอบของเราอยู่แล้ว ไม่ว่ากฎหมายที่ไหน ก็ให้ประชาชนมีสิทธิ ที่จะได้รับความคุ้มครอง ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่เราถูกละเมิด เรามีสิทธิที่จะหาความเป็นธรรม อย่าคิดแต่จะหวาดกลัว เราต้องข้ามผ่านช่วงเวลานั้นไปให้ได้ พอข้ามผ่านไปแล้วเราจะรู้สึกว่า เราแข็งแรงขึ้น เรายืนอยู่ได้ แต่ถ้าเรายังข้ามไม่ผ่าน เราก็จะตกเป็นเหยื่ออยู่อย่างนั้น แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราข้ามผ่าน พ้นจากการเป็นเหยื่อ เราจะอยู่ในสถานะของผู้ให้ และเราจะแข็งแรงขึ้น เราจะไม่อ่อนแอ

เพราะอย่างตัวเอง ก็ต่อสู้มาได้ โดยไม่มีใครมาทำอะไร ทั้งที่เราไม่ได้มีอาวุธ ไม่มีอะไรเลย เรามีแค่มือเปล่า ถ้าจะถามก็ถามตรงๆ ดังนั้นความน่ากลัวที่สุด มันอาจจะเป็นความกลัวที่ใจตัวเอง ที่ระแวงไปเอง เราคิดไปเองหรือเปล่า ถ้าเราพูดความจริง บางทีมันก็ไม่เห็นมีอะไรที่ต้องกลัว มันต้องก้าวผ่านความกลัวนั้นให้ได้ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว ผู้หญิงบางคนก็จะต้องอยู่กับความระทมทุกข์ เศร้าเสียใจไป ซึ่งมันประมาณการณ์ไม่ได้เลยว่า ว่าจะกี่ปีฝันร้ายไปตลอดชีวิตมั้ย ซึ่งสุดท้ายมันทำร้ายเราเอง ทำร้ายคนที่เรารัก และคนที่รักเราด้วย

ดังนั้นมันต้องพยายามที่จะก้าวข้ามผ่านไปให้ได้ เพราะเรื่องนี้มันไม่มีใครช่วยเราได้ นอกจากตัวเราเอง


แม้จะไม่มีคำตอบที่ตายตัวว่าความเข้มแข็งในคนหนึ่งคนหล่อหลอมมาจากอะไรบ้าง แต่สำหรับเธอแล้ว ก็คงเป็นเพราะความรักที่มีต่อสามีและลูก รวมถึงความปรารถนาดีที่มีต่อผู้คนร่วมสังคมนี่เอง ที่เป็นแรงผลักดันให้ เธอกลายเป็นหญิงสาวที่แสนเข้มแข็ง พร้อมจะสู้กับทุกอำนาจมืด แม้เธอจะมีเพียงมือเปล่า

เรื่องโดย Lady Manager
ภาพโดย วรงค์กรณ์ ดินไทย



>>
อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ 
 http://www.celeb-online.net
กำลังโหลดความคิดเห็น