xs
xsm
sm
md
lg

“ตำรวจจราจรหญิง” เธออ่อนหวาน แต่เด็ดขาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ถนนสายนี้ดูมีชีวิตชีวาขึ้นทันที เมื่อมีตำรวจจราจรหญิงครั้งแรกของเมืองไทยส.ต.ท.หญิง วิจิตรา แสงศรี” หนึ่งในจราจรหญิงนำร่องรุ่นแรกของโครงการ ซึ่งจะมาสร้างภาพลักษณ์อ่อนหวานและนุ่มนวลบนท้องถนน เพื่อหวังลบภาพรีดใบสั่งให้หมดไป แม้ว่าการปฏิบัติหน้าที่นี้รูปร่างภายนอกของเธอดูบอบบางเกินกว่าจะฝ่าสายฝนหรือฝ่าแดดอันร้อนแรงได้ แต่เรื่องนั้นไม่ใช่อุปสรรค เพราะก่อนหน้านี้เธอเคยอยู่หน่วยปราบจราจลมาก่อน จึงรับประกันได้เลยว่าทั้งร่างกายและจิตใจของสาวน้อยคนนี้ มีความแข็งแกร่งเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

บังเอิญเป็นตำรวจ
ใครจะรู้ว่าจราจรหญิงคนนี้ หรือที่เพื่อนพ้องน้องพี่ตำรวจเรียกเธอว่า “ปิ๋ม” เคยเป็นพนักงานบริษัทมาก่อน แต่ด้วยโชคชะตานำพาหรืออะไรก็ตาม ได้กำหนดให้เธอเข้ามาสู่เส้นทางสายอาชีพตำรวจ แม้ว่าไม่เคยคาดฝันมาก่อนกับการทำงานรับราชการครั้งแรกในชีวิต
 

“ต้องบอกก่อนเลยว่าตอนที่ปิ๋มเข้ามาเป็นตำรวจ ตอนนั้นแม่ป่วยเป็นมะเร็ง เขาดีใจมาก เหมือนว่าหมดห่วง เขาภูมิใจที่ลูกรับราชการ ตอนนั้นปิ๋มยังไม่ได้มาเป็นตำรวจจราจรหญิงเลย ท่านก็เสียตั้งแต่ตอนเราทำหน้าที่ปราบจราจลอยู่ จึงยังไม่ได้เห็นเราเป็นจราจรจนมาถึงทุกวันนี้”
 

ปิ๋มเข้ารับราชการตั้งแต่ปี 2553 ตอนอายุ 23 ปี เธอสอบเข้ามาและได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นตำรวจปราบจราจลหญิง เหตุผลสำคัญของการเลือกสายอาชีพนี้ เนื่องจากทางครอบครัวอยากให้เธอเข้ารับราชการเพื่อหวังเป็นที่พึ่งในอนาคต
 

“ที่บ้านไม่มีใครรับราชการ คุณแม่เป็นคุณครูเอกชน สอนนักเรียนชั้นมัธยม ท่านก็อยากให้ทำงานราชการ ส่วนคุณพ่อเป็นรัฐวิสาหกิจการรถไฟ ปิ๋มมีพี่น้องทั้งหมด 3 คน เราเป็นพี่คนโต พอน้องๆ เห็นเราเป็นตำรวจเขาก็อยากเป็นบ้าง เพราะเขาเห็นตั้งแต่เราไปฝึกปรับพื้นฐานของพลเรือนเป็นข้าราชการตำรวจ ตั้งแต่ตอนนั้นเขาก็อยากเป็นตำรวจ ปิ๋มเลยบอกน้องว่าตั้งใจเรียนแล้วกัน ให้เป็น นร.ต.(นายร้อยตำรวจ) อย่าเข้ามาเป็นชั้นประทวนเหมือนพี่ (หัวเราะ)”
 

“ถ้าถามว่าเคยคิดมาก่อนหรือเปล่าว่าสักวันหนึ่งจะต้องสอบเป็นตำรวจ อันที่จริงโดยส่วนตัวแล้ว เราเป็นคนชอบงานด้านประชาสัมพันธ์ ชอบพูด ชอบคุย ชอบงานบริการ คือใจจริงอยากเป็นแอร์โฮสเตส แล้วอาจารย์บอกว่าน่าจะเป็นได้ ท่านก็สนับสนุน แต่ชีวิตคนเราเหมือนกับว่าโอกาสมันไม่ได้มาได้ง่ายๆ นะคะ พอสอบติดตำรวจจึงคิดว่าตกลงรับราชการก็ได้ เพราะเท่ห์เหมือนกัน (ยิ้ม)”

ภารกิจปราบม็อบ
ก่อนที่จะเข้ามาช่วยงานราชการที่กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) เธอได้อยู่หน่วยปราบจราจลหญิง งานอารักขาและควบคุมฝูงชน สโมสรตำรวจ ถ้ายังจำกันได้ เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ในขณะนั้นบ้านเมืองเราเกิดเหตุการณ์จราจลครั้งสำคัญ มีการประท้วงของกลุ่มม็อบต่างๆ เกิดขึ้นภายในกรุงเทพฯเป็นจำนวนมาก และกินเวลายาวนาน ภารกิจสำคัญส่วนหนึ่งที่จะสามารถหยุดยั้งหรือลดความรุนแรงลงได้ จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยปราบจราจลหญิง ซึ่งมีความสำคัญมากไม่แพ้ตำรวจชาย
 

“กลุ่มม็อบได้เอาผู้หญิงกั้นเป็นทัพหน้า เราจะเอาตำรวจชายไปกั้นก็คงไม่เหมาะสม ทางสโมสรตำรวจจึงรับตำรวจหญิงรุ่นแรกเข้ามา 95 คน ซึ่งสอบผ่านเข้ามา และผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ในกลุ่มม็อบที่มีการตั้งเต้นท์ พวกเราจะเข้าไปคอยยืนยาม คอยกันไว้ไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง”
 

หน่วยปราบจลาจลหญิง ภารกิจเพื่อชาติที่ต้องใช้ความอดทนอย่างยิ่ง โดยต้องผ่านการฝึกปรับพื้นฐานของพลเรือนเป็นข้าราชการตำรวจ ซึ่งเทียบเท่าและไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าตำรวจชายอกสามศอกแม้แต่น้อย
 

“พอเรามาเป็นตำรวจ และเริ่มฝึกช่วงแรก ตอนนั้นโทร.หาแม่ ร้องไห้ทุกวัน หนูไม่ไหวแล้ว ฝึกหนักมาก เป็นการฝึกพื้นฐานของตำรวจว่าจะต้องมีหน้าที่ทำอะไรบ้าง และจะมีวิชาการปราบจราจลเข้ามา การใช้ชีวิตอยู่ในป่า การใช้ยุทธวิธี การยิงปืนทุกชนิด เราต้องเรียนรู้ทุกอย่างเหมือนผู้ชายเลย” เธอย้อนเล่าถึงความทรงจำครั้งแรกกับอาชีพตำรวจหญิง

อาสาเป็นตำรวจจราจร
“โอกาสมันไม่ได้มาง่ายๆ” เหมือนอย่างที่เธอเคยบอกไว้ และเมื่อมีโอกาสได้จับงานชิ้นใหม่ในสายงานตำรวจที่อยู่ในความสนใจ เธอจึงขอใช้สิทธิ์นี้เพื่อศึกษาเรียนรู้ในการทำหน้าที่ตำรวจจราจรหญิงครั้งแรกในประเทศไทย
 

“ตอนแรกทาง บก.จร. ท่านรองวรศักดิ์ (พล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร รอง ผบช.น.) ได้มีโครงการรับตำรวจหญิง ซึ่งเป็นโครงการนำร่องเพื่อดูผลตอบรับของประชาชนว่ามีความรู้สึกอย่างไรต่อจราจรหญิง ที่จริงมีโครงการนี้มาตั้งนานแล้ว และเผอิญมีหน่วย ปจ. หญิง (ปราบจราจลหญิง) เข้ามา ท่านเห็นว่ามีอายุไม่มากเกินไป น่าจะมีความอดทน แข็งแรง เพราะว่า ปจ. หญิง สามารถใช้คำว่าอึดได้เหมือนกันค่ะ คืออึดได้ทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะตากแดด ยืนทน มีความแข็งแรง จึงได้ประชาสัมพันธ์หาคนสมัครใจในการเป็นตำรวจจราจรหญิง”
 

“ปิ๋มยังไม่ทันฟังที่เขาพูด เราก็ยกมือก่อนเลย เพราะจราจรเป็นอาชีพที่โอเคนะคะ จราจรหญิงได้เรียนรู้หลายอย่างมาก ทั้งขับรถมอเตอร์ไซค์ ปกติเป็นคนไม่กล้าขับรถออกถนนใหญ่เลยเพราะว่ากลัว แต่ตอนนี้กล้าขับออกถนนใหญ่แล้ว และก็ฝึกการโบกรถ เขียนใบสั่ง กดสัญญาณไฟจราจร ตรวจค้น จับกุม คือทำทุกอย่างเหมือนตำรวจจราจรชายทั้งหมดเลย”
 

“ถ้าถามว่าสมัยที่เป็นประชาชนด่าตำรวจจราจรไหม ด่านะคะ เต็มที่เลย เพราะเราไม่ชอบ พอมาถึงตอนนี้รู้เลยว่าคนที่ทำงานจราจร เขาเสียสละจริงๆ และก็เหนื่อยมาก เขาต้องมารับปัญหาจากคนที่มาต่อว่า ทั้งๆ ที่คนนั้นเขาทำผิด ปิ๋มจึงรู้สึกว่าเขาน่าสงสารจริงๆ”

โดนคนเกลียดเพราะเขียนใบสั่ง
“ตำรวจจราจร” กับ “ใบสั่ง” เป็นของคู่กัน ซึ่งผู้ใช้รถใช้ถนนไม่มีใครอยากพบตำรวจจราจรในขณะกำลังเขียนใบสั่งแล้วยื่นให้อย่างแน่นอน เพราะมันช่างเสียเวลาเอามากๆ จึงมักเกิดเหตุการณ์ที่ประชาชนและตำรวจจราจรยืนโต้เถียงกันอยู่ข้างถนนบ่อยครั้ง ทำผิดกฎจราจรหรือไม่ อย่างไรก็ว่ากันไปตามจริง แต่บทสรุปของทุกครั้งก็ต้องยอมรับใบสั่งไปตามระเบียบ
 

“ตอนแรกที่ทำรู้เลยว่าถ้าโดนคนเกลียดมันรู้สึกยังไง เคยถึงกับพูดว่า “ไม่อยากเขียนใบสั่งแล้ว” เพราะเราไม่อยากให้คนเกลียด พอเราไปแจ้งข้อหาแก่ประชาชน บางคนเขาก็โอเค แต่บางคนเขาไม่ยอม บางครั้งเขาก็ด่าว่ามา เราก็ต้องนิ่งเงียบ เราไม่มีสิทธิ์โต้ตอบเขา ทำหน้าที่เพียงแจ้งข้อกล่าวหาว่า คุณจอดรถผิดที่นะคะ หรืออะไรก็ตาม “ตำรวจต้องอดทนต่อความเจ็บใจ ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก” ซึ่งเป็นคติที่ตำรวจต้องท่องกันอยู่บ่อยๆ (หัวเราะ)”
 

“ส่วนใหญ่จะทำผิดเรื่องจอดรถยนต์ในเขตพื้นที่ห้ามจอด ส่วนรถมอเตอร์ไซค์จะเป็นปัญหาเรื่องไม่สวมหมวกกันน็อก และขับรถบนทางเท้า จอดรถบนทางเท้า จอดรถซ้อนคัน รวมถึงวินมอเตอร์ไซค์ที่จอดบนทางเท้าด้วย ซึ่งข้อหาทั้งหมดนี้ ถือว่าท็อปฮิตมาก เราก็แจ้งข้อกล่าวหาไปว่า คุณจอดรถบนทางเท้า เขียนแล้วยื่นให้เขา เขาก็ไปชำระค่าปรับ และเคยเจอว่าเขาไม่ยอมเอาใบสั่งก็มี เขาบอกว่าเขาไม่ผิด เราก็ต้องยิ้มสู้ สุดท้ายแล้วเขาก็ต้องเอาใบสั่งไปชำระค่าปรับ”
 

“เราไปทีหนึ่ง ถนนก็จะโล่ง ถูกระเบียบวินัยกันหมด เพราะเขารู้ช่วงเวลา เราจะใช้การวนตรวจในจุดที่ทำผิดกฎจราจรบ่อยๆ อย่างเช่น เขตคลองเตย พระราม 4 จอดรถบนทางเท้าเยอะมาก และตรงหน้าศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งบริเวณนั้นมันเป็นพื้นที่ห้ามจอดตลอดแนว ส่วนใหญ่จะเป็นรถแท็กซี่ และวันเสาร์-อาทิตย์ในบริเวณสวนจตุจักร ตรงหลังสวนฯ ห้ามจอดซ้อนคัน มีรถตู้จอดกันเป็นทิวแถวเลย บางคันไม่มีคนอยู่เราก็เขียนใบสั่งแปะไว้ บางคันมีคนอยู่เราก็ขอเก็บใบอนุญาตขับขี่ไว้ และก็ให้ไปชำระค่าปรับ
 

“การเก็บค่าปรับ” มันเหมือนเป็น “กุศโลบาย” เพื่อที่จะไม่ให้เขาประพฤติผิดอีก สำหรับบางคนเขาไม่ซีเรียสเรื่องเงินเท่าไหร่ แต่ติดตรงที่ว่ามันเป็นความยากลำบากที่เขาต้องไปเสียค่าปรับ ซึ่งเป็นการเสียเวลา คราวหลังเขาจะได้ไม่ทำอีก”
 

“ตั้งแต่เราเขียนใบสั่งช่วงแรก จนถึงตอนนี้ผ่านมา 3-4 เดือนแล้ว ดูเหมือนว่าไม่ลดลงเลย เพราะมีคนทำผิดเยอะ เวลาไปแต่ละจุด แต่ละคันมันหลากหลายรูปแบบ บางครั้งมันเป็นความผิดที่เราสามารถว่ากล่าวตักเตือนได้ เราก็บอกไป แต่ส่วนใหญ่เหมือนว่าเขาทำจนชิน เราต้องเขียนใบสั่งให้เขาไป จะเขียนหรือไม่นั้นอนุโลมได้ไหม มันขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของจราจรแต่ละคน บางครั้งเราอนุโลมไปเยอะ ก็จะปลุกนิสัยความเคยตัวว่าเดี๋ยวขอก็ให้ ถ้าจะให้ดี การเขียนใบสั่งเหมือนการทำโทษนักเรียน แล้วเขาก็จะจำ”
 

มีคนทำผิดกฎจราจรมากมายในแต่ละวัน แล้วเคยเขียนใบสั่งให้คนเดิมไหม? “ไม่ค่ะ พอเราไปครั้งหนึ่ง แล้วไปอีกครั้งรถจะเริ่มว่าง ทุกสิ่งอย่างจะเป็นระบบหมด ก็โอเค ผลที่ได้ถือว่าดี เพราะไม่กีดขวางการจราจรด้วย ทำให้เร็วไปได้เร็วขึ้น ในเมืองไทยโดยเฉพาะกรุงเทพฯ มีถนนน้อยกว่ารถ รถยนต์ออกใหม่ป้ายแดง ปีละหลายคัน แล้วถนนมันไม่ได้สร้างเพิ่มทุกปี ก็เลยมีปัญหา ทำให้รู้เลยว่ารถติดเพราะอะไร”

“จราจรหญิง” ความอ่อนหวานบนท้องถนน
สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่รับตำรวจจราจรหญิงเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ ก็เพื่อปรับสภาพบนท้องถนนให้ชุ่มชื่นขึ้น ทันทีที่เห็นตำรวจจราจรสาวสวย มาทำหน้าที่ยืนโบกรถบนถนน ในขณะสภาพการจราจรคับคั่ง จากอารมณ์ที่เคยหงุดหงิดก็เปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างให้ดูสดชื่นแจ่มใสขึ้นทันตา ถือเป็นหลักจิตวิทยาอย่างหนึ่ง และทำให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างตำรวจจราจรและประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนมากขึ้นอีกด้วย
 

“บางทีเขาขับรถมาเทียบกัน แล้วตะโกน “สวยจังเลย” เราก็เฮ้ย! ตกใจ นึกว่ามีใครมาปาดหน้ารถ บางทีมันก็อันตรายนะคะ ตรงนี้ก็ขอฝากประชาชน ถ้าเจอกันแค่ยิ้มให้ก็พอ ไม่ต้องมาปาดหน้ารถ เดี๋ยวจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ ที่เจอมาก็เยอะเหมือนกัน บางคันก็บีบแตรบ้าง บางคันก็ตะโกนแซวบ้าง บางคนก็ชม มีหลากหลายรูปแบบ
 

ส่วนใหญ่ก็มีเสียงตอบรับดีๆ เขาก็จะให้กำลังใจ “อุ้ย! น่ารักจังเลย” “สู้เขานะ” “ไม่ร้อนเหรอ มายืนตากแดด” จากตอนแรกที่เข้ามาทำจนถึงตอนนี้ เรารู้สึกว่าตำรวจจราจรเป็นอาชีพหนึ่งที่น่าเห็นใจ สิ่งแรกที่เราจะเห็นเวลาขับรถออกมาจากบ้านก็คือ ตำรวจจราจร มีหน้าที่คอยโบกรถ เวลาฝนตกเขาก็ยังคงโบกอยู่เพื่อที่ระบายรถออกให้เร็วที่สุด ถือว่าเป็นอาชีพที่ใช้ความอดทนสูง ต้องสูดควันรถ อยากอ้อนวอนเลยว่าไม่อยากให้ประชาชนเกลียดตำรวจจราจรเลย”
 

“สำหรับปิ๋มประจำที่ บก.จร. การทำงานของเรา คือต้องมาที่นี่ตอน 8 โมงเช้า เพื่อเช็คชื่อ มาทำอะไรต่างๆ และกินข้าวที่นี่ก่อน พอช่วงบ่ายก็จะไปกวดขันวินัยจราจร ตรวจจับ โดยลงพื้นที่จริง ทำจริง จับจริง แต่ตอนนี้ยังมีพี่เลี้ยงอยู่ คอยดูอยู่ห่างๆ ในเวลาปฏิบัติหน้าที่ เผื่อว่ามีข้อปัญหาอะไรจะได้คอยถามเขาได้ นอกจากนี้ก็มีตรวจด่านที่ดินแดง และก็มีไปตรวจด่านร่วมกับ สน.โชคชัย เพราะบางทีในเวลากลางคืนจะมีคนออกเที่ยว เมาแล้วขับ จึงต้องใช้ตำรวจหญิงตรวจในเวลากลางคืน”

ยอมตายในหน้าที่
ผ่านมากว่า 2 ปีแล้ว กับความภาคภูมิใจในเครื่องแบบตำรวจหญิง แม้ว่าอาชีพนี้ไม่ใช่ความใฝ่ฝันในตอนเด็กและไม่เคยคิดที่จะเป็นเลยสักครั้ง แต่การตัดสินใจครั้งนั้นในการเลือกเดินเส้นทางสายนี้ ก็ไม่ทำให้เธอผิดหวัง โดยมีครอบครัวเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จและความภาคภูมิใจ ถึงแม้ว่าวันนี้ “ตายในหน้าที่” เธอก็ยอม
 

“จริงๆ เราก็อยากเป็นแอร์โฮสเตสนะ เพราะเป็นความฝันในวัยเด็ก ตอนนั้นเราเห็นแอร์ฯ แล้วรู้สึกว่าสวยจังเลย ได้อยู่บนท้องฟ้า แต่ตอนนี้เริ่มรู้สึกไม่อยากแล้ว เป็นตำรวจนี่แหละ ทำให้ดีที่สุด เพราะเท่ห์เหมือนกัน ตอนนี้ถือว่ารักอาชีพนี้เลยล่ะ แต่ตอนที่ยังไม่เป็นตำรวจนี่ ไม่ชอบเลย แต่พอมาเป็นจริงๆ รู้สึกว่ายอมตายในหน้าที่เลยนะ ธงชาติคลุม ก็โอเคนะ มันเป็นอะไรที่น่าจดจำ เราจึงอยากทำจนเกษียณเลย หรือว่าทำจนเราทำไม่ได้ อยากทำตลอดไป
 

ในเมื่อเรามีโอกาส และดวงเราก็มาในด้านนี้แล้ว เมื่อได้สิ่งดีๆ จากตรงนี้ มีแต่คนชื่นชมเรา เราก็ต้องชื่นชมตัวเองด้วย ภูมิใจในอาชีพตำรวจ แต่เสียดายที่แม่น่าจะอยู่ชื่นชมกับเราด้วย แค่เรานึกถึงแม่ว่าวันนี้ปิ๋มทำได้แล้ว และประสบความสำเร็จได้เพราะแม่จริงๆ เขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเลย สิ่งที่เขาว่า เขาสอน ก็เพราะอยากให้เราได้ดี และเราก็ภูมิใจมากๆ ในอาชีพนี้”
 

“เวลาเราเห็นพี่ตำรวจคนไหนที่ทำงานเก่งๆ เราจะรู้สึกประทับใจเขา พี่ตำรวจทุกคนที่เคยมาเป็นพี่เลี้ยงหรือมาสอนเรา ปิ๋มคิดว่าเขามีหลักความคิดที่ดีนะ เขาจะบอกว่าในห้องเรียนกับสถานการณ์จริงจะคนละอย่างกัน ซึ่งมันจะสอนเราเองว่าควรจะทำยังไง แต่ที่ชอบจริงๆ คือ ท่านรองวรศักดิ์ เพราะท่านใจดี ยิ้มง่าย ดูไม่ดุเลย และเอ็นดูพวกเรามาก”
 
สุดท้ายอยากให้ปิ๋มฝากถึงรุ่นน้องที่มีความฝันอยากเป็นตำรวจ ก่อนจะมายืนตรงจุดนี้ได้ต้องทำยังไงบ้าง? “อันนี้เด็กเห็นก็กรี๊ด! นะ อย่างแรกก็คือต้องตั้งใจเรียน เชื่อฟังพ่อแม่ ถ้ารักที่จะอยู่วงการตำรวจจริงๆ แนะนำให้เรียนสายกฎหมายไปเลย เพื่อที่จะได้ช่วยในอาชีพเราด้วย เรียนพวกรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ยิงสายตรงที่จะมาเป็นตำรวจให้ได้ เพราะเราจะรู้การปกครองเป็นยังไง รู้กฎหมาย ซึ่งจะช่วยให้เราปฏิบัติหน้าที่ได้ดีและง่ายขึ้น และต้องเป็นคนมีความอดทนมากๆ กว่าจะมาถึงวันนี้ก็ต้องใช้ความอดทน ต้องตั้งใจ และมุ่งมั่นในสิ่งที่ทำ”





ประวัติส่วนตัว
ชื่อ/นามสกุล : ส.ต.ท.หญิง วิจิตรา แสงศรี หรือ ปิ๋ม
วัน/เดือน/ปีเกิด : 25 ตุลาคม 2529 (อายุ 25 ปี)
การศึกษา : มัธยมศึกษา-โรงเรียนหอวัง, ปริญญาตรี-ศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาภาษาอังกฤษธุรกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
อาชีพปัจจุบัน : รับราชการ สังกัด กก. ควบคุมฝูงชน 1 บก. อคฝ. (ตั้งแต่ปี 2553-ปัจจุบัน)
คติประจำใจ : ทำทุกวันให้ดีที่สุด
 
 
 
 

ข่าวโดย Manager Lite/ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์
ภาพโดย พลภัทร วรรณดี






พล.ต.ต.วรศักดิ์ และตำรวจจราจรหญิงชุดแรก

กำลังโหลดความคิดเห็น