ช่วงนี้ข่าวคราวเรื่องของการเสียภาษีของเหล่าดารานักแสดงนั้น มีออกมาให้ได้ยินกันบ่อยๆ ซึ่งความเป็นจริงแล้วมันก็ไม่ได้เป็นเรื่องน่าแปลกอะไร เพราะไม่ว่าอาชีพไหนการเสียภาษีให้ประเทศชาติก็คือหน้าที่อยู่แล้ว แต่ด้วยตัวเลขที่ค่อนข้างมากประกอบกับการเป็นคนของประชาชน การเสียภาษีของดาราจึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจขึ้นมา
ที่ผ่านมาก็มีข่าวลือออกมาว่ามีดาราหลายคนโดนภาษีย้อนหลังกันจนจุก อย่าง ณเดชน์ คูกิมิยะ ก็มีข่าวออกมาว่าโดนภาษีย้อนหลังถึง 5 ล้านบาท โดยงานนี้เจ้าตัวก็ได้ออกมาปฏิเสธแล้วว่า ไม่ถึง ส่วนฝ่ายหญิงอย่าง ชมพู่-อารยา เอ ฮาร์เก็ต ก็มีข่าวว่าโดนเรียกภาษีย้อนหลังเป็น 10 ล้านบาท ซึ่งเธอยอมรับว่า จริง แต่จำนวนเงินมันไม่ได้มากมายขนาดนั้น
แต่ในทุกวันนี้ จะเห็นได้ว่าเรื่องการโดนเก็บภาษีย้อนหลังเป็นจำนวนเงินมากๆ มีน้อยลงกว่าเมื่อก่อน โดยถ้าย้อนมองกลับไป ก็จะพบว่ามีดาราในอดีตหลายคนเกือบต้องล้มละลายเพราะภาษีย้อนหลังกันมาแล้ว ตัวอย่างเช่น เพชรา เชาวราษฎร์ เป็นต้น ที่ต้องมีการประนอมหนี้และแบ่งชำระให้แก่กรมสรรพากรอยู่หลายงวด
นั่นอาจเป็นเพราะว่าดาราสมัยนี้รู้กฎหมายขั้นตอนเรื่องภาษีมากขึ้น หรือไม่ก็หันไปจ้างที่ปรึกษาทางการเงินมาดูบัญชีรายรับของตนและจัดการเรื่องภาษีให้ถูกต้องเป็นปีๆ ไป
ภาษีดาราคือ ‘ภาระและหน้าที่'
ในการเสียภาษีของดารานั้น จะมีหลักเกณฑ์ของมันอยู่ โดยคนที่จะมาใช้จะต้องเป็น ‘นักแสดงสาธารณะ’ ซึ่งหมายถึง นักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใดๆ ไม่ว่าจะแสดงเดี่ยว หรือเป็นหมู่หรือคณะ โดยแต่เดิมนั้นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ ไม่ถือเป็นนักแสดงสาธารณะ แต่เมื่อปี 2546 ได้มีการทบทวนและเพิ่มเติมเข้ามา
“ในอดีตที่ผ่านมา ดาราที่โดนภาษีย้อนหลังนั้น เขาไม่รู้จริงๆ ว่าจะต้องมีภาษีอื่นอีก คือนึกว่าโดนหัก ณ ที่จ่าย ร้อยละ 5 แล้วจะจบ หรือไม่ก็เล่นหนังแล้วรับเงินสดมาแล้วไม่ได้จ่ายอะไร สรรพากรก็จะคำนวณว่าคุณเล่นหนังเป็นร้อยๆ เรื่อง ก็น่าจะมีรายได้เท่านี้เท่านั้น แต่ดาราไม่รู้ ไม่เคยยื่นแบบเสียภาษีเลย ฉะนั้นก็ต้องมีการเรียกภาษีย้อนหลังตามอัตราที่กำหนดไว้”
ธนัท หาญสมัย ที่ปรึกษาด้านภาษีจาก บริษัทพัฒนกิจ บัญชี ภาษีและฝึกอบรม จำกัด เล่าให้เราฟังถึงสาเหตุของการโดนภาษีย้อนหลังของดาราในสมัยก่อน
“แต่ตอนนี้ดารามักจะอยู่กับสังกัดบริษัทกันหมด บริษัทก็มีดูแลให้ ถ้ารับผ่านบริษัทก็จะจ่ายกันถูกต้องเสียเป็นส่วนมาก โดยภาษีที่ดาราต้องจ่ายนั้น เป็นไปตามมาตรา 40 (8) ตามประมวลรัษฎากร และนำเงินมาคำนวณภาษีก็สามารถหักค่าใช้จ่ายก่อนได้ โดยทำได้ทั้งการหักตามจริง และหักเหมา ซึ่งหักได้มาสุด 60 เปอร์เซ็นต์ ของเงิน 300,000 บาทแรก ส่วนที่เกินจาก 300,000 บาท มาก็หักค่าใช้จ่ายได้ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ทั้งหมดจะต้องไม่เกินหกแสนบาทนะ
“หลังจากหักค่าใช้จ่าย การลดหย่อนต่างๆ แล้ว ก็จะเอาจำนวนเงินที่เหลือมาคิดภาษี โดยใช้อัตราก้าวหน้า โดย 150,000 บาทแรกนั้นไม่คิดภาษี แต่ตั้งแต่ 150,000 - 500,000 บาทนั้นจะคิดที่ 10 เปอร์เซ็นต์, ส่วน 500,000 - 1,000,000 บาท เสีย 20 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็น 1,000,000 บาท ถึง 4,000,000 บาทก็จะต้องเสีย 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ามากกว่า 4,000,000 ก็ต้องเสีย 37 เปอร์เซ็นต์”
ดังนั้นถ้าดารามีรายได้ปีปีหนึ่งหลายสิบล้านก็จะต้องเสียภาษีเป็นเงินจำนวนมหาศาล นั่นทำให้มีดาราบางคนที่เสียดายเงินจำนวนนั้น เลยพยายามก็หาทางซิกแซกเอาบ้างก็มี
ไม่มีใครอยากจ่ายมาก
ในเรื่องของการพยายามแบ่งเบาภาระภาษีนั้น ผู้จัดการดารานักแสดงอย่าง โกโก้-นิรุณ ลิ้มสมวงศ์ มองว่า ในสมัยก่อนดารานักแสดงส่วนมากจะเป็นผู้ดำเนินการเรื่องภาษีด้วยตัวเองเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่บางครั้งความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ส่งผลต่อการชำระภาษี และมักจะมีการตั้งคณะบุคคลขึ้นมาโดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมายเพื่อหาทางลดหย่อนภาษีของตน
“เมื่อก่อนตัวดาราจะเป็นคนจัดการเอง และก็มีการตั้งคณะบุคคลเป็นการจดทะเบียนที่เหมือนแบ่งเบาภาระทางด้านภาษี คือทุกงานต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 5 เปอร์เซ็นต์ คำว่าหักภาษี ณ ที่จ่าย 5 เปอร์เซ็นต์ ถ้ารายได้ไม่เยอะก็อาจจะไปขอคืนได้ แต่ถ้าเกิดรายได้เยอะภาษีของประเทศไทยเป็นภาษีแบบขั้นบันไดบางทีคุณจะต้องเสียเพิ่ม
“แต่ตอนหักเขาหักคุณแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือคุณก็ต้องไปจ่ายเพิ่มปลายปีทำยอดสรุปมา ลักษณะที่ดาราโดนย้อนหลังก็คือคิดว่าจ่าย 5 เปอร์เซ็นต์ตรงนี้ไปแล้ว มันจบแล้ว แต่ความจริงมันไม่ใช่เพราะมันเป็นขั้นบันได ถ้าคุณรายได้เยอะปลายปีต้องไปจ่ายเพิ่ม ซึ่งดาราส่วนใหญ่ไม่ได้ไปจ่ายเพิ่ม จ่ายแค่หัก ณ ที่จ่ายที่โดนหักไป”
อย่างไรก็ตาม การจ่ายภาษีของเหล่าดาราในวงการบันเทิงนั้น ยังมีรูปแบบที่ผู้ว่าจ้างเป็นฝ่ายชำระให้ด้วย
“เรียกว่า ค่าตัวเน็ต สมมติเรียกค่าตัวไป 10,000 เน็ต แต่ผู้จ้างต้องจ่ายภาษีให้ เช่น ต้องจ่าย 10,500 ก็หมายความว่าเขาจ่ายเป็นจำนวนบวกภาษีไปแล้ว มีการคุยตกลงกันได้ เพราะฉะนั้นในส่วนที่เขาบวกไปก็เท่ากับเขาออกภาษีให้ศิลปิน”
ผู้จัดการดาราชื่อดัง แสดงทัศนะทิ้งท้ายว่า การว่าจ้างบัญชีเข้ามาดูแลเรื่องภาษีนั้น เป็นสิ่งที่เหมาะสมเพราะต้องยอมรับว่าดาราคงมีความรู้ไม่เท่าบัญชี ซึ่งก็จะเป็นการตัดปัญหาเกี่ยวกับการชำระภาษีของดาราได้ด้วย
“จำเป็นต้องจ้างบัญชีเขามาดูแลก็ดีนะ คือถ้าจ้างเขามาก็จะมาช่วยดูแลให้ และปลายปีก็จะทำงบส่งว่าจะเสียเพิ่มเท่าไหร่ คือในการสรุปปลายปี ก็อาจมีการขอลดหย่อนได้ ถ้าหากมีภาระต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ที่อายุมากกว่า 60 ปี มันจะมีหลายข้อ ซึ่งตรงนี้เขาก็จะเป็นคนจัดการให้เราก็ไม่ต้องทำในรายละเอียดตรงนั้น ก็จะแบ่งเบาภาระดารานักแสดงได้”
ดารายุคใหม่ ไม่เลี่ยงภาษี
แม้ว่าที่ผ่านมา จะเห็นดาราหลายคนโดนภาษีทั้งแบบปกติและย้อนหลังจนอาน แต่สำหรับดารารุ่นใหม่ๆ แล้ว แม้ภาษีจะเป็นเรื่องที่ยังคงซับซ้อนสำหรับพวกเขา แต่เขาก็ไม่กลัว เพราะโดยมากดาราเหล่านี้มักจะจ้างคนมาดูแลเรื่องภาษีของตน
"ผมไม่เคยโดนภาษีย้อนหลังนะครับ ไม่รู้เรื่องภาษีเลย เพราะผมจะมีคนคอยจัดการให้ เป็นพี่ที่ทำงานในบริษัทของคุณพ่อ แต่ถ้าถามว่ากลัวเรื่องภาษีย้อนหลังไหม ผมว่าเรื่องการจ่ายภาษีเราไม่ควรไปกลัวนะ เพราะมันเป็นหน้าที่ของเรา ส่วนตัวผมก็ไม่ได้รู้สึกกลัวอะไรถ้าจะต้องโดนภาษีย้อนหลัง"
เต๋อ-ฉันทวิทย์ ธนะเสวี ดาราหนุ่มหล่อบอกว่าเขาไม่กลัวและไม่รู้รายละเอียดสักเท่าใด เพราะมีคนคอยจัดการให้อยู่แล้ว เช่นเดียวกับ ปอย-ตรีชฎา เพชรรัตน์ ที่เพิ่งจ้างคนมาดูแลเรื่องภาษีของตน
“ตรงนี้ไม่แน่ใจว่าเขาเรียกภาษีย้อนหลังหรือเปล่านะคะ คือปอยก็เพิ่งจ่ายภาษีของปีที่แล้วไปเรียบร้อยแล้ว แต่สรรพากรแจ้งมาว่าเราต้องจ่ายเพิ่มอีก แล้วต้องจ่ายเพิ่มอีกเยอะมาก ซึ่งปกติปอยจะแบ่งจ่ายทุก 3 เดือน แล้วก็จ่ายตรงเวลาตลอด พอมาโดนจ่ายเพิ่มทีหลังเป็นก้อนใหญ่ ก็ตกใจมาก เพราะเราคิดว่าเราจ่ายไปหมดแล้ว แต่ก็เข้าใจว่ามันเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องรับผิดชอบเรื่องการจ่ายภาษี
“ตอนนี้ก็จ้างคนมาดูแลแล้ว เพราะเราไม่ทราบเรื่องภาษีมาก่อน อย่างบริษัทที่ทำเขาเพิ่งส่งเอกสารการเงินไป เราก็เลยต้องจ่ายอีกรอบ แล้วอีกอย่างค่าใช้จ่ายเราก็เยอะ ทั้งกองทุนต่างๆ ค่าประกันสุขภาพ คอนโดที่ต้องผ่อนอีก ใครๆ ก็มองว่าอาชีพดาราหาเงินง่าย สบาย ความจริงก็เหนื่อยนะ ไหนจะต้องซื้อเสื้อผ้าเป็นต้นทุนในการทำงาน ซึ่งตามที่กฎหมายบัญญัติตามฐานเงินเดือน เราต้องจ่ายเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็โอเค เราก็รับได้ ส่วน 2-3 ปีที่ผ่านมาเราไม่รู้ก็ถือว่าเป็นบทเรียนไป เพราะเราก็ภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ของประชาชนให้ถูกต้อง”
..........
จริงอยู่ที่การทำมาหากินในแต่ละอาชีพ มันย่อมมีความยากลำบากของมันอยู่ แต่กระนั้น ไม่ว่าอาชีพใดก็ควรที่จะต้องแบ่งปันรายได้มาเกื้อหนุนจุนเจือประเทศชาติ ตามหน้าที่ของคนไทยที่ดีอยู่แล้ว
และก็เป็นธรรมดาที่คนซึ่งมีรายได้เป็นถุงเป็นถัง จะต้องจ่ายหนักกว่าคนอื่นตามสัดส่วนความมั่งคั่งของตน ส่วนคนที่ยังคงลำบากหาเช้ากินค่ำก็แบ่งปันรายได้ไปช่วยเหลือประเทศน้อยลงไป
แต่กระนั้น ถ้ามองดูดีๆ ก็จะพบว่า ยังมีคนในสังคมอีกหลายจำพวก ที่มีรายได้มหาศาล แต่เชี่ยวชาญกลภาษี ไม่ยอมแบ่งปันให้แก่บ้านเกิดเมืองนอน หนำซ้ำก็มุ่งที่จะเป็นฝ่ายเก็บเกี่ยวผลประโยชน์อยู่เพียงถ่ายเดียว!!!
>>>>>>>>>>>
………..
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK