ไม่ต้องสาธยายถึงหลักธรรมอันยืดยาวให้มากความ ขอแค่รู้จัก “ช่างแม่ง!” ง่ายๆ คำเดียว จิตใจก็จะสงบลงได้อย่างน่าอัศจรรย์ อย่างที่ “นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา” สามารถหามุมเย็นๆ ให้แก่พื้นที่ใจของตัวเองได้ ท่ามกลางบรรยากาศอันสุดแสนจะสับสนและวุ่นวายในเมืองหลวงแห่งนี้
ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองแบบนี้ หามุมสงบให้ตัวเองเจอได้อย่างไร?
บ้านนุ่นใกล้หอจดหมายเหตุท่านพุทธทาสมากค่ะ เป็นที่ที่ไปสิงสถิตบ่อยใช้ได้เลย ถ้าวันไหนไม่ติดถ่ายละครก็จะพยายามกระเสือกกระสนพาตัวเองไป ถ้าใครอยากหนีจากความวุ่นวายของกรุงเทพฯ แนะนำให้ลองไปค่ะ โดยเฉพาะชั้นสอง มีพื้นที่ให้นั่งสมาธิกันได้ตั้งแต่เช้าถึงบ่าย พอช่วงเย็นก็มีทำวัตรเย็นอีก แล้วก็มีกิจกรรมเกี่ยวกับธรรมะมาจัดที่นี่บ่อยด้วย มีกลุ่ม “อยู่เย็นเป็นประโยชน์” มาคอยสอนให้นั่งวิปัสสนาด้วยกัน เป็นประโยชน์มากๆ อยากให้ลองมากันดูค่ะ
เราสามารถสงบท่ามกลางความวุ่นวายได้จริงๆ หรือ?
ได้นะคะ โดยเฉพาะอาชีพนักแสดงอย่างเรา ต้องใช้เยอะมาก ต้องมีสมาธิระหว่างถ่ายทำมากๆ ค่ะ คิดดูว่าเดินไปอีกสามก้าวเป็นกล้อง มีไฟ มีคน ช่างแต่งหน้า ทำผม วุ่นวายไปหมด แต่เราต้องสงบให้ได้ ไม่งั้นจะไม่มีสมาธิในการแสดง พอต้องใช้ชีวิตอยู่แบบนี้ นุ่นเลยค่อนข้างจะเข้าใจว่าเราสามารถสงบท่ามกลางความวุ่นวายได้
ความสงบจำเป็นต่อชีวิตคนเราแค่ไหน?
นุ่นไม่รู้ว่าคนอื่นยังไงนะ แต่สำหรับนุ่น นุ่นว่าความสงบเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตของเรานะ มันทำให้เรามีชีวิตได้เป็นปกติ เปรียบเทียบง่ายๆ ว่าลองวิ่งทั้งวันกับนอนทั้งวัน อันไหนมันสบายกว่ากันล่ะ (เธอยิ้มเย็นๆ ให้เฉลยคำตอบกันเอาเอง) นุ่นว่าเวลาเราสงบ เราสามารถตัดสินใจทำทุกสิ่งอย่างในชีวิตได้ดี ดีกว่าตัดสินด้วยความรู้สึกมีอะไรบางอย่างติดอยู่ในใจ มีความเครียด ความกังวล นุ่นว่าถ้าทุกคนสงบได้ ทุกอย่างจะดีหมด ไม่ใช่แค่ดีกับตัวเราเองด้วยนะ แต่สังคมก็จะดีขึ้นได้ด้วย
ขอแอบแตะช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมานิดหนึ่ง นุ่นว่าถ้าใจเรามันร้อน คิดแต่ว่าน้ำมันจะมาๆ ทุกคนก็จะมีแต่พฤติกรรมที่เราเห็นกันทางหนังสือพิมพ์ในทางลบๆ ทั้งเถียงกัน ทะเลาะกัน แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราปล่อยวาง มองว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด แค่สงบสักอย่าง นุ่นว่าพฤติกรรมหรือสถานการณ์บางอย่างจะเปลี่ยนไปเป็นอีกทางหนึ่งได้เลย
จะทำอย่างไรให้รู้จักสงบ?
ความสงบมันอยู่ที่เราค่ะ ยืนอยู่ตรงนี้ คนเดินผ่านไปมาวุ่นวายก็สงบได้ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าข้างในเราไม่นิ่ง ไปอยู่ที่ไหนมันก็ไม่สงบหรอกค่ะ แต่ถ้าข้างในเราสบาย มีสมาธิกับการโต้ตอบกันตอนนี้ นี่ก็ถือเป็นความสงบอย่างหนึ่งแล้วนะนุ่นว่า ไม่จำเป็นต้องกระเสือกกระสนตัวเองไปอยู่ตามที่สงบๆ ที่ไหนเลย นั่งรถไฟฟ้าอยู่ก็มีมุมสงบได้ อยู่ที่เรามากกว่าว่าจะทำหรือเปล่า
ถ้าสงบแล้วดีจริง อยากให้แนะนำคนอื่นๆ ดู
เอ!... นุ่นว่าการชวนคนอื่นให้มาสนใจธรรมะมัน... (ยิ้มมุมปาก) ของแบบนี้น่าจะให้แต่ละคนตัดสินใจจะก้าวเข้ามาเองดีกว่าค่ะ เพราะต่อให้เราพูดไปล้านรอบ ถ้าเขาไม่เชื่อ เขาไม่ศรัทธา ยังไงก็ไม่เป็นผลอยู่ดี อย่างนุ่นเอง สมัยยังเด็ก เราก็เรียนวิชาพระพุทธศาสนาแค่เพราะต้องเอาไปใช้สอบเหมือนกัน ท่องจำได้หมดว่าวันวิสาขบูชาตรงกับขึ้นกี่ค่ำ มีความสำคัญยังไงบ้าง ศีลห้าคืออะไร แต่วันหนึ่งพอเรามาทำงานแบบนี้ เราไปได้ยินคำวิจารณ์ คำนินทาต่างๆ นานา ทั้งที่เขียนในหนังสือพิมพ์ ในเว็บไซต์ รู้สึกว่าชีวิตมันไม่มีความสุขเลย เราอยู่ไม่ได้แล้ว นุ่นเลยลองเลือกใช้ธรรมะเข้ามาแก้ปัญหาดู หลังจากนั้นถึงได้ค้นพบค่ะว่านี่คือทางออกที่ดีที่สุดแล้วสำหรับเรา
จะบอกว่าก่อนหน้านี้ก็ยังสงบไม่ได้เหมือนกัน?
โห! ไม่ได้เลยค่ะ (ยิ้มกว้าง) นุ่นมีวิวัฒนาการในการเข้าศึกษาธรรมะเยอะเหมือนกันนะ เริ่มจากเจอปัญหาก่อน ตอนนั้นมีหนังเรื่องแรกเรื่อง “เพื่อนสนิท” พอหนังเข้าฉาย จากที่เราเคยเป็นคนปกติ เป็นนักศึกษาวิศวะใน มช. (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ชีวิตเอิงเอยมาก เปลี่ยนเป็นมีคนรู้จัก คนยิ้มให้ แล้วอาทิตย์ต่อมามีคนเขียนด่าบอกว่าเราหยิ่ง (ทำหน้าปลงๆ) ทุกอย่างมันเกิดขึ้นฉับพลันมาก เห็นเลยว่ามันคือความไม่แน่นอนจริงๆ ได้เห็นทั้งสุขทั้งทุกข์ เห็นทั้งคำติฉินนินทา คำสรรเสริญ เป็นโลกธรรม 8 อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้จริงๆ ค่ะ
ตอนนั้นรู้สึกแย่ขนาดไหน?
แย่มากค่ะ (น้ำเสียงบ่งบอก) ตอนนั้นเฮิร์ตมาก คิดไม่ออกเลยว่าเราไปทำตัวหยิ่งตอนไหนวะ ให้ความรู้สึกเหมือนจู่ๆ คนแปลกหน้าสักคนเดินเข้ามาหาเราแล้วด่าว่า “ชั่ว” มันตกใจนะ เราไม่เคยถูกคนไม่รู้จักมาด่า เจอครั้งแรกก็เลยรู้สึกเจ็บมาก เหมือนคนที่ไม่เคยเจ็บมาก่อน เจอเข็มจิ้มครั้งแรกก็เจ็บแล้ว พอทำใจได้ คิดว่าถ้าเจ็บครั้งต่อไปเราคงจะรับไหว แต่พอเจอคำด่าคำใหม่มันก็เจ็บอีก
คิดว่านี่ฉันทำอะไรผิดเนี่ย ทำไมต้องมาว่าฉันด้วย มันเริ่มมีคำว่า “ฉัน” อย่างนั้น “ฉัน” อย่างนี้ขึ้นมาในหัว มีวันหนึ่งเครียดๆ ไม่ได้ออกไปไหน หยิบหนังสือธรรมะที่อยู่ในบ้านขึ้นมาอ่านดู อ่านแล้วรู้สึกว่ามันโดนมากๆ เปิดมาเจอคำสอนของท่านพุทธทาสแล้วรู้สึกตอบโจทย์สิ่งที่เรารู้สึกอยู่จริงๆ รู้แล้วว่า อ๋อ! ที่เรามีความทุกข์มันเป็นเพราะ“ตัวกู-ของกู” อยู่ในใจ เรายึดติดความเป็นตัวเรา เราก็เลยเศร้า จากนั้นเลยเริ่มศึกษาธรรมะมาเรื่อยๆ มีปัญหาข้อไหนก็ใช้ธรรมะนี่แหละค่ะเป็นตัวช่วย
ช่วยได้อย่างไรบ้าง?
สำหรับนุ่น ธรรมะเป็นเหมือนยาค่ะ พอปวดท้องก็กินยานี้ ปวดหัวกินยานี้ ธรรมะก็เหมือนกัน พอเครียดเรื่องงานลองใช้ธรรมะหัวข้อนี้ซิ มีทุกข์เรื่องครอบครัวใช้ข้อนี้นะ ทุกข์เพราะเพื่อนร่วมงานลองใช้หัวข้อนี้ดู ช่วงแรกๆ รู้สึกว่าธรรมะคือยาจริงๆ ค่ะ ช่วยรักษาความรู้สึกเราได้ แต่พอนานๆ เข้า รักษาด้วยธรรมะบ่อยๆ ชักจะรู้สึกว่า เอ๊ะ! เราจะป่วยบ่อยอะไรกันนักกันหนา (ยิ้มกว้าง) แทนที่เราจะคอยหายามากินบรรเทาอาการป่วย เราลองสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองแข็งแรง ไม่ให้เกิดอาการเดิมๆ ดีกว่าไหม
เปลี่ยนจากใช้ธรรมะ “แก้” ปัญหา มาเป็น “ป้องกัน” แทน?
(พยักหน้ารับ) ใช่ค่ะ ระยะหลังนุ่นเริ่มวางรากฐานให้ตัวเองแล้ว กะฉีดภูมิคุ้มกันแบบเอาจริงเลย พอมีอะไรเข้ามากระทบใจเราจะได้ไม่ต้องป่วยแล้วก็หายากินอีก
เท่าที่ลองใช้มา หลักธรรมข้อไหนเป็นภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุด?
สติค่ะ จริงๆ นะ รู้สึกว่าพอมีสติแล้วช่วยแบ่งเบา ช่วยให้ปล่อยวางได้ทุกเรื่องเลย จริงๆ แล้วแก่นของพระพุทธศาสนามันมีไม่กี่เรื่องหรอกค่ะ แค่ไม่ยึดมั่นถือมั่นกับทุกๆ เรื่องแค่นั้นเอง อย่าไปยึดติดว่ามีตัวเรา เป็นของเรา มองทุกอย่างอย่างมีสติ คิดในกรอบแค่นี้ เราก็จะผ่านปัญหาทุกอย่างที่เข้ามาไปได้เอง (ยิ้มกว้าง) แต่ตอนนี้นุ่นก็ยังทำไม่ได้ขนาดนั้นนะ แต่ก็พยายามฝึกอยู่ทุกวันค่ะ
จะมี “สติ” และ “สงบ” ได้ ต้องอยู่คนเดียวบ่อยๆ หรือเปล่าจึงจะทำสำเร็จ?
เมื่อก่อนนุ่นก็คิดอย่างนั้นเหมือนกันค่ะ แต่เดี๋ยวนี้มองว่าไม่ใช่แล้ว ชีวิตคนเราไม่มีวันได้อยู่คนเดียวโดยสิ้นเชิงได้ตลอดอยู่แล้ว เวลาส่วนใหญ่เราอยู่กับคนอื่น อยู่กับเพื่อนร่วมงาน ถ้าจะรอเวลาอันน้อยนิดให้อยู่คนเดียวแล้วถึงจะสงบ มันเสียดายเวลานะ แทนที่จะพยายามหาความสงบให้ตัวเองได้ตลอด
แต่จริงๆ แล้วมันแล้วแต่คนนะ นุ่นไม่อยากตัดสินทุกอย่างจากมุมมองของตัวเอง เพราะคนเราไม่เหมือนกัน อย่างนุ่น บางทีอยู่คนเดียวนุ่นฟุ้งซ่านมากกว่า อยู่คนเดียวไม่สงบ สู้อยู่กับคนอื่นแล้วฝึกสติตัวเองดีกว่า เวลาอยู่กับคนอื่นจะค่อยๆ ดูอารมณ์ตัวเองไปด้วย พอเริ่มโกรธ เริ่มหงุดหงิดคนที่เจอกัน เราก็จะพยายามดึงสติตัวเองกลับมาให้ได้ระหว่างนั้น
มีอีเวนต์เกี่ยวกับธรรมะทีไรจะเจอนุ่นทุกที รู้สึกยังไงที่เป็นเหมือนตัวแทนด้านนี้ไปแล้ว?
จริงๆ นุ่นก็ชั่วนะ (หัวเราะ) นุ่นก็มีมุมชั่วๆ มุมคิดไม่ดีเหมือนกัน เจอกันข้างนอกอาจจะเห็นนุ่นหน้าตาบู้บี้อารมณ์เสียอยู่ก็ได้ อาจจะเห็นนุ่นไปกินข้าวแล้วมีไวน์ มีผิดศีลข้อห้าบ้าง นุ่นก็เป็นคนปกติค่ะ บางทีสติก็ตามไม่ทัน แต่ก็ดีใจที่วันนี้ได้มีโอกาสได้บอกต่อสิ่งดีๆ ให้คนไปลองทำ แค่อยากจะบอกว่าการเป็นคนปกติ เราก็สามารถมีธรรมะอยู่ในใจได้ ไม่จำเป็นต้องวิเศษมาจากไหน เป็นตัวของตัวเอง ดึงเอาธรรมชาติรอบตัวมาเรียนรู้แล้วปรับเอามาเป็นธรรมะประจำใจเล็กๆ ชีวิตมันดีขึ้นได้จริงๆ ค่ะ
ถ้าคนอื่นจะลองเดินตามทางของนุ่นดูบ้างล่ะ?
ทุกครั้งที่มีคนมาสัมภาษณ์เรื่องธรรมะกับนุ่น นุ่นจะบอกย้ำทุกครั้งว่านุ่นไม่เคยต้องการให้ใครมาเชื่อสิ่งที่เราพูดหรอกนะ ทุกคนต้องหาหนทางของตัวเองค่ะ สำหรับนุ่น ธรรมะคือวิทยาศาสตร์ พระพุทธเจ้าตรัสสอนเสมอว่าให้เราลองด้วยตัวเราเอง ที่นุ่นรู้ นุ่นก็รู้ได้ด้วยตัวของนุ่นเอง เพราะฉะนั้นนุ่นเลยไม่สามารถตอบได้ทุกคำถาม และคำตอบของนุ่นก็อาจจะไม่เหมือนกับอีกคน มันคือสิ่งที่เราเรียนรู้มาจากข้างในค่ะ
ถ้าจะเอาข้อคิดของนุ่นไปวิเคราะห์ว่ามันจริง-ไม่จริง มองว่านุ่นเป็นตัวจริงหรือตัวปลอม ทำเพื่อสร้างภาพหรือเปล่า ก็อยากจะบอกว่านุ่นไม่เคยอยากชักจูงให้ใครคิดเหมือนเรานะ อ่านสิ่งที่นุ่นบอกแล้วจะปล่อยผ่านไป หรืออ่านแล้วอยากจะลองทำดูก็ได้ค่ะ แล้วแต่
อยากให้พูดถึงธรรมะในมุมใกล้ๆ ตัวบ้าง อย่างเรื่อง “ความรัก”
(ยิ้มรับด้วยแววตาอ่อนโยน) เรื่องนี้พระอาจารย์มิตซูโอะ (คเวสโก) ท่านสอนไว้ดีมากเลยค่ะ ท่านบอกว่าคนเรามีเมตตา กรุณา มุทิตา หมดแล้วในเรื่องความรัก คือรู้จักรัก ปรารถนาให้คนที่เรารักมีความสุข แต่สิ่งที่หลายคนอาจจะลืมคิดไปคือ ไม่ว่าจะเป็นความรักแบบพ่อรักแม่ พ่อรักลูก ลูกรักแฟน มันควรจะมี “อุเบกขา” คือการปล่อยวางอยู่ด้วย
ถ้าเราไปคาดหวังกับความรักว่าฉันให้ไปเท่าไหร่ต้องได้คืนมาเท่านั้น แม่ให้ความรักลูกไป ลูกต้องตอบกลับมา ต้องเป็นคนดีหรือต้องเชื่อฟังทุกอย่าง ถ้าคิดแบบนั้นเมื่อไหร่แสดงว่าเรายึดติดแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดเกี่ยวกับความรักคือทุกครั้งต้องมีอุเบกขา คิดเสียว่า “ไม่เป็นไร” แค่ได้ให้ก็พอ นี่คือสิ่งที่นุ่นก็เพิ่งเรียนรู้มาค่ะว่าความรักก็มีแง่มุมแบบนี้ด้วย ซึ่งเป็นแง่ที่ดีมากๆ เลย
คือต้องทำใจยอมรับและปล่อยวาง?
ใช่ค่ะ หรือพูดภาษาวัยรุ่นก็คือ “ช่างแม่ง!” นั่นแหละค่ะ (หัวเราะ) จริงๆ นะ เพราะพอพูดว่า “อุเบกขา” ปุ๊บ วัยรุ่นอาจจะมองว่าแก่ มองว่าเชย หรือไม่เข้าใจ แต่ถ้ามีปัญหาอะไรปุ๊บ ง่ายๆ เลยแค่ “ช่างแม่ง” ก็พอ (ยิ้มขำๆ) พอช่างแม่งได้ เราจะรู้สึกสบาย จะเข้าใจทุกอย่างเอง จะรักเขาในแบบที่เขาเป็น ถ้าเราให้ความรักแก่ใครไปแล้วเขาไม่สนใจ เราก็แค่ช่างแม่ง (พูดไปยิ้มไป) อาจจะหยาบไปหน่อย แต่นุ่นว่าพูดภาษาแบบนี้เยาวชนเข้าใจกว่าคำว่าอุเบกขานะ
พูดแบบนี้แล้วรู้สึกว่าธรรมะใกล้ตัวเรามากขึ้นจริงๆ
ใช่ไหมคะ (หัวเราะเบาๆ) จริงๆ แล้วนุ่นว่าธรรมะเป็นเรื่องใกล้ตัวเราอยู่แล้วนะ มีอยู่ครั้งหนึ่งนุ่นมีโอกาสได้เป็นบรรณาธิการนิตยสาร “ธรรมะสวัสดี” เขาให้คิดว่าอยากพรีเซ็นต์ธรรมะออกมาในมุมไหนที่เราสนใจ นุ่นก็เลือกธีม “Dhamma is all around” นี่แหละค่ะ เพราะนุ่นรู้สึกว่าธรรมะอยู่รอบๆ ตัวเราจริงๆ อย่างภาพที่นุ่นเห็นประจำคือเวลาผ่านริมถนนแล้วเห็นดอกไม้ร่วงโรยตรงพื้น มันทำให้คิดขึ้นมาได้ว่าทุกอย่างมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ดอกไม้ก็มีทั้งเกิดบนต้นไม้สวยงาม และที่ร่วงโรยราไปเหมือนกัน รู้สึกเลยว่าความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมชาติจริงๆ แต่บางทีเราก็ลืมไปว่าวันหนึ่งมันอาจเกิดขึ้นกับเราก็ได้
ดูเหมือนจะมองสิ่งรอบตัวมาเปรียบเทียบเป็นธรรมะได้หมดเลย
ก็นิดหนึ่งค่ะ (ยิ้ม) เชื่อไหมว่าบางทีแค่ตื่นแล้วลงมาข้างล่าง เห็นคุณพ่อนั่งกินข้าวอยู่ เรายังอยู่ในชุดนอนมานั่งกินกาแฟ มองคุณพ่อแล้วจู่ๆ ก็นึกถึงภาพพ่อสมัยหนุ่มๆ อุ้มเราตั้งแต่เรายังเล็กๆ จนตอนนี้เริ่มแก่ แล้วเราก็เห็นความตายอยู่ข้างหน้า พอคิดได้แบบนี้มันก็กลับมาสอนเราเรื่องของความกตัญญูเหมือนกันนะ คิดว่าเออว่ะ! เราจะมีเวลาอยู่กับพ่ออีกแค่ไหนกันเชียว แค่มองพ่อตอนนั้นก็เห็นการเกิด-แก่อยู่ข้างหน้าแล้ว พออีกสักพักหนึ่ง เราเดินไปหยิบหนังสือพิมพ์ดู เห็นข่าวคนถูกรถชนตาย เราก็เห็นคนเจ็บ เห็นความตายอยู่ข้างหน้า กลายเป็นว่าวันเดียวเห็นครบเลยทั้งเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย มันทำให้เราย้อนกลับมาดูว่า ทุกวันนี้เราใช้เวลาในชีวิตคุ้มค่าหรือยัง
เป็นคนคิดเยอะเหมือนกันนะ
นุ่นอินเรื่องความตายมากเลยค่ะ นุ่นว่าคนส่วนใหญ่ชอบคิดว่าเราคงยังไม่ตายในเร็วๆ นี้หรอก ไม่มีเรื่องความตายอยู่ในหัวเลย คิดว่าตัวเองยังสามารถใช้ชีวิตไปได้เรื่อยๆ คือทุกคนรู้นะว่าคนเราต้องตาย แต่ถามว่าคิดไหมว่าพรุ่งนี้เราจะตายหรือเปล่า ไม่มีใครกล้าคิดหรอก ไม่มีใครกล้าแตะมัน พูดตลอดว่าเฮ้ย! เดี๋ยวพรุ่งนี้เจอกัน เดี๋ยวพรุ่งนี้ค่อยไปหาพ่อไปหายาย แต่ถามว่าจริงๆ แล้วมีใครรู้บ้างว่าใครจะจากไปก่อน ไม่มีใครรู้หรอก อ่านหนังสือพิมพ์ เห็นข่าวเห็นการเกิด-แก่-เจ็บ-ตายอยู่ทุกวัน พอปิดหนังสือพิมพ์ปุ๊บ เดินออกจากบ้าน เราอาจจะโดนรถชนตายก็ได้ ใครจะรู้ เพราะฉะนั้น ทำสิ่งที่ดีๆ ตั้งแต่ตอนนี้ดีกว่าค่ะ แล้วก็ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท ดีที่สุด
สรุปแล้วเราจะเริ่มทำความรู้จัก “ธรรมะ” จากตรงไหนดี?
นุ่นว่าคนยุคนี้โชคดีมากนะ เพราะนุ่นอยู่ในยุคที่หนังสือธรรมะอ่านยาก อ่านจากของคุณพ่อตั้งแต่ตอนเด็กๆ ซึ่งเป็นภาษาที่อ่านยากหน่อย แต่ทุกวันนี้มีธรรมะที่ย่อยง่าย มีภาพประกอบ มีการใช้ภาษาเหมือนกับคำว่า “ช่างแม่ง” (ยิ้มทุกครั้งที่พูดคำนี้) มันทำให้คนเก็ตง่ายกว่าเยอะ มันเข้าถึงง่าย ทำให้คนเสพธรรมะได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นเริ่มจากอ่านหนังสือธรรมะก็ได้ค่ะ อ่านเล่มไหนก็ได้ที่มันตรงกับความชอบของเรา ที่เหลือก็หัดฝึกสติ แล้วก็พยายาม “รู้ทัน” อารมณ์ความรู้สึกของตัวเองค่ะ
ว้าว!
เฮ้ย! นุ่นไม่ได้บอกว่านุ่นบรรลุแล้วนะ (หัวเราะ) ยังมีอีกหลายเรื่องที่เรารู้แต่ก็ยังทำใจไม่ได้ อย่างเวลาขับรถมาแล้วมีรถปาดหน้า ใจเราจะร้อนขึ้นมาเลย เฮ้ย! ทำไมขับรถแบบนี้วะ หงุดหงิด เอาใจไปยึดติดกับรถคันนั้น หลังจากนั้นไปทำงาน ใจเราก็ยังขุ่นมัวอยู่ ยังติดใจกับเรื่องที่โกรธอยู่ ทั้งๆ ที่คนที่ทำให้เราโกรธไปไหนแล้วก็ไม่รู้ แถมยังเป็นคนไม่รู้จักกันด้วย พอกลับมามองตัวเองอีกทีถึงได้รู้ตัวว่าเราไปยึดติดแล้ว ก็ต้องพยายามจะไม่เป็นแบบนั้นค่ะ
ทุกวันนี้ก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้างสลับกันไป นุ่นยังไม่ถึงขั้นปล่อยวางได้ทุกอย่างเหมือนแม่ชี แต่นุ่นเป็น “แม่ชิล” (หัวเราะเบาๆ) พยายามชิลกับทุกเรื่อง ไม่เก็บอะไรมาเป็นอารมณ์ และนุ่นก็เชื่อเสมอว่าธรรมะอยู่รอบๆ ตัวเรา นุ่นว่าทุกคนมองเห็นอยู่ว่าธรรมะคืออะไร ต้องทำยังไง แต่ที่ส่วนใหญ่ยังทำไม่ได้เป็นเพราะไม่เคยหยิบมาใส่ใจกันจริงๆ แค่นั้นเอง
ข่าวโดย Manager Lite/ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์
ภาพโดย... วริศ กู้สุจริต