xs
xsm
sm
md
lg

‘รักประเทศไทย เดินหน้าประเทศไทย’ งานหรูกู้ผลงาน...รัฐบาลถอยหลังประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังเหตุมหาอุทกภัยน้ำท่วม 2554 ผ่านพ้นไป แน่นอนว่ายังคงทิ้งความเสียหายมากมายให้กับประเทศ ปัญหามากมายถูกยกขึ้นมาพูดถึง ตั้งแต่การเยียวยาผู้ประสบภัย มาตรการป้องกันของปีหน้า ข้อสงสัยถึงการกักเก็บน้ำในเขือนของปีก่อน และที่โจษขานท่ามกลางมหาภัยพิบัติก็คือ การทำงานของรัฐบาลที่มีปัญหาและล้มเหลวมาโดยตลอดในนามของ ‘ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย’ (ศปภ.) นับแต่เริ่มจนจบเหตุเภทภัยทั้งหมด

ทว่าเหลือเชื่อ เมื่อวันหนึ่งเกิดมีประกาศว่า จะมีการจัดงานฉลอง ศปภ.ขึ้น!

เป็นไปได้อย่างไร? เป็นคำถามหนึ่งที่เกิดขึ้น อีกคำถามหนึ่งที่ตามมาคือ เอาอะไรมาฉลอง?

แม้จะอยู่ในชื่องานฉลองว่า ‘รักประเทศไทย เดินหน้าประเทศไทย’ แต่แน่นอนมันเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปแล้วว่ามันคือ งานฉลอง ศปภ. แด่ความสำเร็จของ ศปภ.

ไม่แน่ใจนักถึงเหตุผลของการจัดงาน ไม่ว่าเป็นเพื่อความปรองดอง หรือเพื่อเศรษฐกิจ ซึ่งใช้เป็นข้ออ้างในการจะทำอะไรต่อมิอะไรมาโดยตลอด แต่ที่แน่ใจอย่างหนึ่งคือ รัฐบาลนี้ไม่กลัวจะทำอะไรที่ขัดต่อสังคมอีกต่อไปแล้ว

ก่อนเริ่มงาน - มีเหตุผลอะไรให้สมควรจัดงานนี้บ้าง?

งาน ‘รักประเทศไทย เดินหน้าประเทศไทย’ เป็นงานที่รัฐบาลจัดขึ้นเพื่อขอบคุณคณะทำงานเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่ปฏิบัติงานที่ ศปภ. ในช่วงที่เกิดวิกฤตมหาอุทกภัย 2554 ที่ผ่านมา ราวกับว่าการปฏิบัติทุกอย่างเป็นไปด้วยดีประสบแต่ผลสำเร็จ

รู้เพียงแค่นี้ก็น่าแปลกใจแล้ว

ด้วยเพราะมันขัดต่อความรู้สึกของผู้คนในสังคมเป็นอย่างมาก จากผลสำรวจโพลหลายครั้งออกมาตรงกันว่า ผู้ประสบมหาอุทกภัยมีความรู้สึกไม่ดีกับ ศปภ. ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย ด้วยความผิดพลาดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารที่มีปัญหากับประชาชนในการแจ้งเตือนภัย การประเมินที่ผิดพลาดถึงขั้นต้องย้ายศูนย์ ศปภ. ไปอยู่ที่อื่น ความผิดพลาดในการจัดการของบริจาคที่ทำให้เกิดข้อครหามากมาย กระทั่งถึงวันนี้มาตรการป้องกันสำหรับปีหน้าก็ยังไม่เป็นรูปธรรม และยังมีชาวบ้านปิดถนนเรียกร้องทวงถามรัฐบาลถึงเงินเยียวยา 5,000 บาทอยู่

ยังไม่รวมว่า ศปภ. ถูกนำไปแปรตัวย่อล้อเลียนมากมายแค่ไหน

ในรายละเอียดของการจัดงานนั้น แรกเริ่มดูเหมือนจะมีความคิดที่เลิศหรู ถึงขั้นมีแนวคิดจะให้นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินแคทวอร์ค แต่ก็ล้มเลิกไป เหลือเป็นงานรูปแบบของการแสดงดนตรีออเคสต้าเพื่อเป็นสิ่งแทนคำขอบคุณและแสดงถึงการผ่านวิกฤตครั้งนี้มาได้ โดยขับเน้นคำพูดอย่างคำว่า ‘คนไทยไม่เคยทิ้งกัน’ นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดสดออกอากาศไปทั่วประเทศราวกับเป็นวาระแห่งชาติ

โดย ธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกได้เผยตัวเลขของงบประมาณจัดงานครั้งนี้อย่างเป็นทางการแล้วว่า อยู่ที่ 10 ล้านบาท แจกแจง 6.5 ล้านบาทเป็นส่วนของวงดนตรี เวที แสงเสียงต่างๆ และ 3.5 ล้านบาท เป็นของส่วนอื่นๆ เช่น ค่าโทรศัพท์ ไฟ น้ำ อาหาร การเดินทาง ซึ่งแม้จะมีการแจกแจงอย่างแน่นอนว่า งานเลี้ยง 1 วันใช้เงิน 10 ล้านบาท แต่กับสถานการณ์น้ำท่วมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็ชวนให้หลายคนคิดว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับการจัดงานเฉลิมพระเกียรติช่วงหลังน้ำท่วม ครม.ได้อนุมัติงบประมาณถึง 117 ล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าสังคมเห็นพ้องในความสำคัญ แต่ต่อมาการแสดงแสง เสียง และสื่อผสม ‘วัฒนธรรมทองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 84 พรรษา มหาราช’ กลับถูกสั่งยกเลิกอย่างกะทันหัน (จาก 7 วัน เหลือเพียง 2 วันเท่านั้น) อย่างค้านต่อกระแสสังคม ด้วยเหตุว่าต้องนำงบไปช่วยเหลือน้ำท่วม

ที่น่าแปลกคืองบส่วนนี้ ครม.เพิ่งอนุมัติเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2555 น่าสงสัยว่า ระยะเวลาเพียงแค่ 5 วันเท่านั้นที่ใช้พิจารณานอก ครม.ในการยกเลิกการแสดงในส่วนนี้เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และการยกเลิกการแสดงดังกล่าวนั้น ตัวละครเดิมอย่าง ธงทอง ก็ถูกทวงถามจาก ธนิตพล ไชยนันท์ ประธานคณะกรรมาธิการติดตามงบประมาณ ว่างบของงานในส่วนที่ถูกยกเลิกนั้นหายไปไหน ซึ่งบัดนี้ยังไม่มีคำตอบ

จนมาถึงงานฉลองครั้งนี้ก็เป็นธงทองคนเดิมที่ออกมาแจกแจงเรื่องงบประมาณ 10 ล้านบาท

10 ล้านบาทเมื่อเทียบกับงบประมาณ117 ล้านเฉลี่ย 7 วันตกวันละ 16 ล้านบาท กับทิศทางของกระแสสังคม นอกจากนี้งานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ต้องสงสัยว่าทำให้เกิดความปรองดอง และหากจะคิดดูให้ดี งานนี้ก็มีส่วนส่งเสริมการท่องเที่ยวหรือกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย และผู้ร่วมงานก็มีมาอย่างล้นหลาม ขณะที่งานฉลอง ศปภ.นั้นทูตตานุทูตกว่า 500 คนที่ชวนให้มาร่วมงานกลับมาไม่ครบจนต้องไปเกณฑ์เอาเด็กที่มาแสดงโชว์ในงานมานั่งเก้าอี้แทน

ที่สำคัญคือการเมินเฉยต่อเสียงของประชาชน

หลังงานเลิก - เราได้อะไรจากงานนี้บ้าง?

หากเพียงรัฐบาลจะได้ชำเลืองไปดูในโซเชียล เน็ตเวิร์ก ก็จะพบความเห็นทำนองว่า ศปภ.สำเร็จตรงไหน? มีอะไรให้ฉลอง หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐควรรับใช้ประชาชนอยู่แล้วจะฉลองกันทำไม? แน่นอนว่ามีรุนแรงกว่านี้อีก

ทว่าเหตุผลที่จัดงานนี้ขึ้น รัฐบาลได้ระบุว่าเพื่อความปรองดองของคนในชาติ และเพื่อความมั่นใจในทางลงทุนของชาวต่างชาติโดยมีไฮไลต์คือการเชิญ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มาเป็นประธานของงานซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการสร้างความปรองดอง และเชิญทูตานุทูตจากต่างประเทศมาเพื่อสร้างความมั่นใจทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

โดยเริ่มงานด้วยวงดนตรีเยาวชนเทศบาลนครยะลา อันหมายถึงความสามัคคีจากปลายด้ามขวาน ต่อด้วยคลิปวิดีโอที่ฉายภาพถึงการลงพื้นที่ช่วยเหลือน้ำท่วมอย่างได้ผล (แม้ใครๆ จะรู้ว่าไม่จริงก็ตาม) จากนั้นมีการแสดงของวงดนตรีไทยแลนด์ฮาร์โมนิกออเคสตร้า วงซิมโฟนิกออเคสตร้า 3 เหล่าทัพ โดยมีนักร้องจากวงดุริยางคศิลป์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล

ทว่าการจัดงานแบบนี้ให้ผลลับตามที่รัฐบาลต้องการจริงๆ หรือว่าการจัดงานฉลอง ศปภ. ก็ไม่ต่างอะไรจากสถานะ ศปภ.นั่นคือ ความผิดพลาด

ในด้านของการจัดงานนั้น เอ (ขอสงวนชื่อ-นามสกุลจริงเพื่อความปลอดภัยในหน้าที่การงาน) ออแกไนเซอร์ของบริษัทแห่งหนึ่ง ได้แสดงความคิดเห็นว่า การนำงบประมาณ 10 ล้านบาท มาจัดงานตรงนี้ถือว่าไม่เหมาะสม ซึ่งรูปแบบของงานนั้นไม่ได้มีโครงสร้างที่ใหญ่โตอะไร เน้นที่การปลุกกระแสความปรองดองที่รัฐบาลย้ำนักย้ำหนา ผ่านการถ่ายทอดการแสดงดนตรีให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกร่วม

“คือด้วยตัวเพลงและท่วงทำนอง มันมีนัยที่ทำให้ฟังแล้วเกิดความรู้สึกบางอย่าง เหมือนฟังเพลงชาตินั่นแหละ ดนตรีที่แสดงมันทำให้เกิดความรู้สึกฮึกเหิม รักชาติ ปรองดอง แต่มันจะเป็นไปตามแนวทางที่รัฐบาลกำหนดไว้หรือเปล่าคงเป็นไปไม่ได้สำหรับทุกคน ดนตรีที่แสดงนั้นมันมีเจตนาสื่อถึงตรงนี้อยู่แล้ว ส่วนคนดูจะคล้อยตามไหม..มันเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล แต่ด้วยท่วงทำนองชัดเจนอยู่แล้ว อาจจะสัก 1 ใน 5 อาจจะเกิดความรู้สึกร่วม”

แต่สุดท้ายแล้วก็คงเป็นเพียงการสร้างภาพลวงตาประชาชน โดยผ่านท่วงทำนองปลุกเร้าให้ประชาชนมีความรู้สึกร่วมตามที่ทางรัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ แน่นอนว่าเป็นเพียงกระแสที่รัฐบาลต้องการปั่นในเรื่องความปรองดองอีกเช่นเคย

ในส่วนประเด็นด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลอ้างถึงนั้น ชลลดา สัจจานิตย์ ผู้ช่วยคณบดี สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เห็นว่าการจัดงานแค่งานเดียว ไม่สามารถทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการลงทุนใดๆได้

“นักลงทุนต่างชาติเขามองที่นโยบายของรัฐบาลมากกว่า โดยเฉพาะนโยบายประชานิยมที่พูดๆไว้ ส่วนตัวก็มองว่าในระยะยาวแล้วทำให้เศรษฐกิจไทยเกิดสภาวะที่ไม่มั่นคงมากกว่า ถ้าเป็นนักลงทุนต่างชาติมอง นอกจากนโยบายทางเศรษฐกิจ เขาก็มองเสถียรภาพด้านการเมือง นี่คือสองปัจจัยหลักที่เขามองหา”

ทั้งนี้ ในงานได้มีการเชิญทูตานุทูตจากหลายประเทศเข้าร่วม แต่ทว่าแขกกลับมาไม่ครบ ในมุมมองของเธอมองว่า เป็นสิ่งที่บ่งชี้ได้อย่างชัดเจนแล้วว่า นักลงทุนไม่ได้เห็นความสำคัญของการจัดงานนี้นัก

“งานนี้งานเดียวเสียเงิน 10 ล้าน ในฐานะของนักลงทุนก็มองว่ามันไม่คุ้มค่าแล้ว รัฐบาลควรประกาศนโยบายที่ชัดเจนว่ามีมาตรการรับมือภาวะน้ำท่วมอย่างไร ดูแลภาคอุตสาหกรรม หรือดูแลแรงงานที่ตอนนี้เขากลับมาทำงานบางส่วนได้แล้วอย่างไรบ้าง”

ในส่วนของความปรองดองนั้น แน่นอนว่าต้องมองในมุมของรัฐศาสตร์ โดย รศ.ดร.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้ความเห็นถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า เป็นการสร้างภาพของรัฐบาล เพื่อแสดงให้เห็นความสมานฉันท์ โดยการที่ไฮไลต์ของงานอยู่ที่ตัวประธานองคมนตรี นัยหนึ่งเพื่อสะท้อนว่ารัฐบาลชุดนี้มีศักยภาพในการประนีประนอมกับผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง และยังสามารถนำกลุ่มบุคคลที่เคยมีปัญหากับตัวเองมาสร้างเอกภาพ เพื่อทำงานการเมืองต่อไป

“วันนี้ผมมองว่า ก่อนที่จะจัดงานเลี้ยง รัฐบาลควรจะมองว่าเป้าหมายของการเยียวยา สามารถทำได้ 100 เปอร์เซ็นต์หรือยัง สามารถประกาศได้ชัดเจนหรือไม่ว่าผู้คนที่ได้รับความเสียหายควรให้โอกาส ศปภ.หรือไม่ แต่วันนี้ไม่ได้มีการทบทวนเลยว่า ศปภ.ล้มเหลวอย่างไร แต่พยายามกลบเกลื่อนว่า นี่คือความสำเร็จเท่านั้นเอง แต่เอาเข้าจริงยังมีความผิดพลาดอีกมากมายที่ ศปภ.ยังตอบไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม ในโจทย์ของความปรองดอง เขามองว่ามันก็ยังไม่เป็นรูปธรรมนัก เพราะการดึงประธานองคมนตรีก็เป็นเพียงแค่บันไดเล็กๆ เท่านั้น แต่ไม่ได้สะท้อนว่าสามารถแก้ปัญหาที่รัฐบาลเผชิญอยู่ได้ เนื่องจาก พล.อ.เปรมก็มาในฐานะผู้ที่ถูกขอร้องให้มาเป็นประธานเพียงเท่านั้น

“แต่คงไม่สามารถไปสรุปได้ว่า นี่คือความสำเร็จของพรรคเพื่อไทย ที่ทำให้แนวคิดเดิมๆ อย่างแนวคิดอำมาตย์หรือการทำให้ไพร่มามีบทบาทสำคัญในการเมืองไทย และวันนี้สามารถประนีประนอมจนถึงขั้นนี้แล้ว จุดโฟกัสกลับไปอยู่ผู้หลักผู้ใหญ่มากกว่าว่าถึงอย่างไร ก็เป็นผู้ที่ใจถึงกว่ารัฐบาลเยอะ และแสดงให้เห็นว่าเขาพร้อมให้อภัยเสมอ และพร้อมจะมองไปข้างหน้าและมีศักดิ์ศรีมากกว่ารัฐบาล ที่พยายามใช้ผู้ใหญ่เพื่อแก้ปัญหาไปวันๆ เท่านั้นเอง”

ดังนั้นสิ่งที่สังคมได้จากการจัดงานครั้งนี้ เขาเห็นว่า ก็คือการตอกย้ำถึงสังคมไทยที่อย่างไรก็คงหนีไม่พ้นผู้หลักผู้ใหญ่ ด้วยลำพังรัฐบาลเพียงกลุ่มเดียวไม่สามารถสร้างเครดิตให้กับตัวเอง เพราะฉะนั้นมายาคติที่คนของรัฐบาลบางคนไปโจมตีสถาบันจึงกลายเป็นวาทกรรมที่ผิดหมด กลายเป็นต้องให้เกียรติและขอคำแนะนำ คำกล่าวเตือนอย่างสม่ำเสมออีกด้วย

..........

เมื่อมองในหลายมุมดูแล้ว เอาเข้าจริงๆ การจัดงานครั้งนี้ก็ดูท่าว่าจะไม่ได้ผลหรือประสบผลสำเร็จใดๆ ไม่ต่างจาก ศปภ. เพราะไม่ว่าจะเป็นในด้านของการสร้างรู้สึกร่วมในการออกมาขอบคุณ ศปภ. แน่นอนว่าไม่มีผล เนื่องจากไม่มีอะไรให้ขอบคุณ หรือจะเป็นด้านธุรกิจการค้าก็ดูจะไร้วี่แววของความมั่นใจด้วยว่ายังไม่มีนโยบายชัดเจนกับน้ำท่วมที่ไม่แน่ว่าจะมีอีกในปี 2555 นี้ แล้วครั้นจะถามหาถึงความปรองดอง ภาพที่เกิดขึ้นก็ดูจะเป็นการแสวงหาความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเมืองอย่างดิ้นรนที่สุดของรัฐบาลชุดนี้มากกว่า

สิ่งที่รัฐบาลควรทำคืออะไร กับการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างแท้จริง ควรประกาศนโยบายอย่างชัดเจน ลดความเลื่อมล้ำทางสังคมเพื่อความปรองดอง ประกาศนโยบายที่เป็นมาตรการป้องกัน หรือชดเชยน้ำท่วมเพื่อเรียกความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติ แล้วลงมือทำ!

หรือควรจะจัดงานฉลองงานหนึ่งโดยใช้เงิน 10 ล้าน โดยประกาศให้รู้ทั่วกันว่าเราต้องการความปรองดอง และความมั่นใจในเศรษฐกิจ แต่กลับไม่ลงมือทำ...!!!

>>>>>>>>>>

………..

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK

ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ




กำลังโหลดความคิดเห็น