xs
xsm
sm
md
lg

อะไรคือเบื้องหลัง ตัดการแสดงเฉลิมพระเกียรติ ?

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ในวันมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุ 7 รอบ หรือ 84 พรรษา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ถือเป็นวันที่มีความสำคัญของประเทศไทย ได้มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจและพระราชกุศลมากมาย ที่เปี่ยมไปด้วยพระปรีชาสามารถเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก

ในทุกๆปี การถวายพระพรชัยมงคลจะเกิดขึ้นทั่วประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ปีนี้ ไม่ว่าประชาชนจะประสบควาทุกข์ยากเข็ญเพียงไร ต่างก็เดินทางหรือเข้าร่วมกิจกรรมเทิดพระเกียรติอย่างเนืองแน่น เพราะจิตใจของประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ในประเทศนี้ต่างมีความจงรักภักดี เคารพเทิดทูนบูชาและผูกพันต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้อย่างหาที่สุดไม่ได้

กำหนดการเดิมในการเทิดพระเกียรติในปีนี้คือการจัดกิจกรรมการแสดงที่มีชื่อว่า “วัฒนธรรมทองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 84 พรรษามหาราช” ณ เวทีใหญ่ ท้องสนามหลวง ฝั่งพระบรมมหาราชวัง และการจัดฉายภาพยนตร์พาโนรามาสื่อผสมเฉลิมพระเกียรติ “84 ปี แห่งความรุ่งเรืองของกรุงรัตนโกสินทร์” ซึ่งเป็นการฉายภาพเคลื่อนไหวผ่านแนวกำแพงพระบรมมหาราชวัง ด้านถนนหน้าพระลาน (ช่วงต้นถนนศาลหลักเมืองถึงประตูวิเศษไชยศรี) ซึ่งเดิมทีนั้นได้มีกำหนดการที่จะจัดการแสดงระหว่างวันที่ 3 – 9 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปรากฏว่ากิจกรรมดังกล่าวถูกยกเลิกการแสดงอย่างกะทันหันในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21.30 น.

ทั้งนี้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดพิธีถวายพระพร ชัยมงคล งานมหรสพสมโภชและนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ได้ออกมายอมรับว่าได้ยกเลิกกิจกรรมดังกล่าวเอง ด้วยเหตุผลว่า

“เพื่อความเหมาะสม เนื่องด้วยประชาชนจำนวนมากยังคงเดือดร้อนจากภาวะน้ำท่วม จึงไม่เหมาะหากมีงานรื่นเริง จึงต้องดูตามความเหมาะสม ต้องประหยัดไม่มากหรือน้อยจนเกินไป หรือที่เรียกว่าทางสายกลางนั่นเอง”

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในกิจกรรมของมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือหน่วยแพทย์ พอ.สว.และหน่วยแพทย์พระราชทานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ที่ออกให้บริการตรวจรักษาแก่ราษฎรในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี โอกาสนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้ทรงมีพระดำรัสความตอนหนึ่งว่า:

“ขอให้ชาว พอ.สว. ร่วมมือกันทำงานเพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์ทรงงานเพื่อปวงชนชาวไทย มานานกว่า 60 ปี ขณะนี้ทรงประชวร ถึงแม้พระอาการจะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ทรงชรามากแล้ว จะออกพื้นที่ไปช่วยราษฎร์เหมือนเก่าก็ไม่ได้ แต่ยังทรงห่วงใยประชาชนอยู่ตลอด ทรงเรียกกรมชลประทาน มาหารือพร้อมให้คำแนะนำอยู่เสมอๆ

ทั้งนี้พระองค์ทรงมีรับสั่งถึงการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 ว่าให้จัดแบบเรียบง่าย เพราะประชาชนกำลังเดือดร้อนอยู่”


แต่ถึงแม้จะมีหลักฐานว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงมีรับสั่งให้จัดการเฉลิมพระเกียรติแบบเรียบง่าย เพราะประชาชนกำลังเดือดร้อนอยู่ก็จริง แต่ในวันที่ประชาชนทั้งประเทศได้ทราบพระกระแสรับสั่งนั้นคือ “วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554”

ดังนั้นทุกฝ่ายย่อมมีการเตรียมการและการบริหารจัดการจัดงานให้ “เรียบง่ายและสมพระเกียรติ” ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ไม่ใช่มาเปลี่ยนแปลงกะทันหันในคืนวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2554 จริงหรือไม่!!!?

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2554 นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ในฐานะประธานการจัดงานเฉลิมพระเกียรติครั้งนี้ ยังได้แถลงข่าวก่อนการจัดงานโดยกล่าวว่าได้ตระหนักตามพระราชประสงค์แล้ว โดยได้สัมภาษณ์ว่า:

“รัฐบาลได้ร่วมกับกรุงเทพมหานครและมูลนิธิ 5 ธันวามหาราช เตรียมจัดงานเฉลิมพระเกียรติภายใต้แนวคิดเย็นศิระเพราะพระบริบาล ซึ่งเน้นการรวมพลังคนไทยทั้งประเทศ เพื่อแสดงความจงรักภักดีความสามัคคีปรองดองอย่างสมพระเกียรติ และถูกต้องตามราชประเพณี อีกทั้งให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่เป็นไปตามพระราชประสงค์ด้วย”

ในวันแถลงข่าวดังกล่าว นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ไม่มีแม้แต่คำเดียวว่างานนี้มีกิจกรรมใดจัดเพื่อความ “รื่นเริง” หรือ “จัดงานยิ่งใหญ่อลังการ” แต่ประการใด นอกจากคำที่แสดงให้เห็นถึงการตระหนักว่างานดังกล่าว คือ

เพื่อ “รวมพลังคนไทยทั้งประเทศ”

เพื่อ “ถูกต้องตามราชประเพณี”

เพื่อ “แสดงความจงรักภักดี ความสามัคคีปรองดอง อย่างสมพระเกียรติ”

การจัดงานอยู่ภายใต้เงื่อนไข “ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่เป็นไปตามพระราชประสงค์”

แสดงว่ากิจกรรมที่เตรียมการจัดขึ้นแล้วจัดแถลงข่าว เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ย่อมมีความตระหนักและไตร่ตรองถึงความเหมาะสมแล้ว โดยได้กำหนดให้มีทั้งหมด 9 กิจกรรมคือ

1.กิจกรรมการถวายพระพรชัยมงคล

2.กิจกรรมลงนามถวายพระพร ณ ร่มโพธิ์ร่มไทรของแผ่นดิน

3.กิจกรรมนิทรรศการ “เย็นศิระเพราะพระบริบาล”

4.กิจกรรมอธิษฐานบูชาพระทันตธาตุสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

5.กิจกรรมการแสดงเฉลิมพระเกียรติ

6.กิจกรรมการแสดงพิเศษจากชีวิตจริง “เย็นศิระเพราะพระบริบาล” โดยกิจกรรมนี้จัดเฉพาะวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554

7.กิจกรรมถนนเย็นศิระเพราะพระบริบาล

8.กิจกรรมภาพยนตร์พาโนรามาสื่อผสมเฉลิมพระเกียรติ 84 ปีแห่งความยิ่งใหญ่เรืองรองของกรุงรัตนโกสินทร์

9.การแสดงแสงสีและสื่อผสม “วัฒนธรรมทองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 84 พรรษามหาราชา”


ดังนั้นกิจกรรมลำดับที่ 8 ซึ่งภาพยนตร์พาโนรามาสื่อผสมเฉลิมพระเกียรติ 84 ปีแห่งความยิ่งใหญ่เรืองรองของกรุงรัตนโกสินทร์ และกิจกรรมลำดับที่ 9 การแสดงแสงสีและสื่อผสม “วัฒนธรรมทองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 84 พรรษามหาราชา” ถือเป็นกิจกรรมเด่นในระดับไฮไลต์ของงานจึงกำหนดไว้ตั้งแต่แรกให้ประชาชนเพื่อ“รวมพลังคนไทยทั้งประเทศ” “แสดงความจงรักภักดี ความสามัคคีปรองดอง อย่างสมพระเกียรติ” ตั้งแต่วันที่ 3 ถึง 9 ธันวาคม พ.ศ. 2554 รวมทั้งสิ้น 7 วัน

สิ่งที่เป็นการยืนยันว่าคณะกรรมการจัดงาน ได้ไตร่ตรองอย่างรอบคอบว่ากิจกรรมครั้งนี้จัดเพื่อรวมพลังคนไทยทั้งชาติ เพื่อแสดงความจงรักภักดี ความสามัคคีปรองดอง และเป็นไปตามความเรียบง่ายและเป็นไปตามพระราชประสงค์ ก็คือ คำสัมภาษณ์ของนายรัตนาวุธ วัชโรทัย ที่ปรึกษาฝ่ายกิจกรรมพิเศษสำนักพระราชวัง กล่าวในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ความตอนหนึ่งว่า:

“ปีนี้เราประสบปัญหาน้ำท่วมและมีงานพระศพ จากเดิมที่เคยจัด 11 วัน ก็เหลือ 7 วัน แต่ความยิ่งใหญ่สมพระเกียรติไม่ได้ด้อยกว่า”


ดังนั้นการตัดลดกิจกรรมลำดับที่ 8 ซึ่งภาพยนตร์พาโนรามาสื่อผสมเฉลิมพระเกียรติ 84 ปีแห่งความยิ่งใหญ่เรืองรองของกรุงรัตนโกสินทร์ และกิจกรรมลำดับที่ 9 การแสดงแสงสีและสื่อผสม “วัฒนธรรมทองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 84 พรรษามหาราชา” โดยให้จบลงในคืนวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2554 โดยอ้าง 2 สาเหตุคือ 1. เพื่อความเหมาะสมและควรลด “งานรื่นเริง”เพราะประชาชนกำลังเดือดร้อนเรื่องน้ำท่วม และ 2. เพื่อเป็นการประหยัดไม่มากไปและไม่น้อยไปยึดทางสายกลาง ดูแล้วมีเรื่องที่น่าประหลาดอยู่พอสมควร เพราะมันมีความขัดแย้งกับสิ่งที่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐให้สัมภาษณ์เองเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2554 อย่างสิ้นเชิง

กิจกรรมการแสดงภาพยนตร์พาโนรามา และแสงสีและสื่อผสม นั้นพบว่าคืนวันแรกมีคนเข้ามาชมประมาณ 4-5 พันคน มาวันที่ 4 ธันวาคมซึ่งจัดการแสดงเป็นวันที่ 2 คนก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเป็น 6-7 พันคน โดยสิ่งที่น่าเสียดายใน 2 กิจกรรมนี้คือ การแสดงใน 1 ชั่วโมงครึ่งที่เป็นการใช้ศิลปะและการแสดงเพื่อถ่ายทอดพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยยังมีบทที่ถูกพัฒนาให้มีความทันสมัย โดยประยุกต์เนื้อหาเข้ากับสถานการณ์น้ำท่วมด้วย

ซึ่งกิจกรรมที่ถูกตัดลดไปนี้ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นกิจกรรม “บันเทิง” ตามที่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ กล่าวอ้าง หากแต่เป็นกิจกรรมแสดงความจงรักภักดีและเทิดพระเกียรติอย่างสมพระเกียรติ ตามสิ่งที่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ได้เคยแถลงข่าวเอาไว้เองเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2554 และงานรื่นเริงนั้นควรจะเหมาะกับการจัดคอนเสิร์ทเสียมากกว่า

เพราะถ้านายยงยุทธ วิชัยดิษฐ และคณะกรรมการจัดงานตัดสินใจและมีความคิดเช่นนี้จริง หากตัดสินใจลดกิจกรรมลงตั้งแต่วันแรก หรือในวันแถลงข่าว ประชาชนทั่วไปก็คงไม่เสียความรู้สึกอะไรมากเท่านี้ แต่การลดกิจกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากกำหนดล่วงหน้าแล้ว และแถลงข่าวจนลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างไปแล้ว ตรงนี้ต่างหากที่เสมือนว่ารัฐบาลตั้งใจจะลดกิจกรรมให้เป็นที่ประจักษ์ในทางสาธารณะเพราะต้องการส่งสัญญาณบางประการ ใช่หรือไม่?

เพราะประการหนึ่งเป็นส่งสัญญาณที่ผิดกล่าวหาว่า “งานเทิดพระเกียรติ เป็นงานบันเทิง?”

เพราะประการหนึ่งเป็นการส่งสัญญาณผิดว่า “กิจกรรมสื่อผสม แสง เสียง เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเฉพาะ 2 กิจกรรมนี้ เป็นกิจกรรมที่ไม่ประหยัด?”

และอีกประการหนึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณทางสาธารณะว่า “รัฐบาลจะตัดลดงานเทิดพระเกียรติที่เตรียมไว้แล้วก็ได้ ใครจะทำไม?”


หรือต้องการส่งสัญญาณชะลอกระแสพสกนิกรและประชาชนจำนวนมากล้นที่ให้ความสนใจกิจกรรมการแสดงเทิดพระเกียรติในทุกๆปี ใช่หรือไม่?

เพราะการส่งสัญญาณแบบนี้ มันช่างบังเอิญประจวบเหมาะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความถวายพระพรแต่กลับใส่รูปภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 แทน โดยอ้างว่าเป็นความผิดพลาดของทีมงาน และกำลังขอพระราชทานอภัยโทษอยู่ในขณะนี้

มันเป็นช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะกับที่ประชาชนต่างรู้สึกได้อย่างชัดเจนว่าขบวนการจัดตั้งเพื่อดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นและรุนแรงมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในสมัยรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะในเว็บไซต์ เฟสบุ๊ค ยูทูป และทวิตเตอร์ ฯลฯ

เพราะถ้าสมมุติรัฐบาลไม่ได้มีเจตนาส่งสัญญาณเช่นนั้น ก็ต้องแปลว่านายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ก็ต้องตัดสินใจผิดพลาดอย่างร้ายแรงถึงไม่ได้คิดอย่างนี้ตั้งแต่ตอนต้นจึงมาลดกิจกรรมในภายหลัง

ซึ่งงานสำคัญอย่างนี้ไม่ว่าจะเจตนาส่งสัญญาณที่ผิดๆ ต่อสังคมหรือจะเป็นเพราะตัดสินใจผิดพลาด สิ่งที่ควรกระทำก็คือต้องแสดงความรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่มีเงื่อนไข

และถ้านายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ไม่รับผิดชอบ รัฐบาลชุดนี้ก็ต้องรับผิดชอบแทนหากยังอุ้มชูสนับสนุนนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ก็ต้องถือว่าสมรู้ร่วมคิดรู้เห็นเป็นใจด้วย

การที่รัฐบาลได้กล่าวอ้างว่าผู้แทนสำนักพระราชวังก็เห็นด้วยกับการลดกิจกรรมทั้ง 2 ดังกล่าว ทั้งๆที่ สำนักพระราชวังนั้นเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรีและต้องทำตามนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว ต่างจากสำนักราชเลขาธิการที่ทำงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทโดยตรง ดังนั้นการที่คนในรัฐบาลกล่าวอ้างลอยๆแล้วอ้างว่าผู้แทนสำนักพระราชวังเห็นด้วยในการตัดลดกิจกรรมในภายหลังให้สังคมเกิดความไข้วเขวนั้น จึงย่อมฟังไม่ขึ้น และสมมุติเป็นเช่นนั้นจริงผู้แทนของสำนักพระราชวังก็ต้องรับผิดชอบด้วย เพราะผู้แทนของสำนักพระราชวังได้ให้สัมภาษณ์ไปปรากฏเป็นหลักฐานในการร่วมตัดสินใจด้วยการไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้วเช่นกัน

เว้นเสียแต่ว่าเป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีรับสั่งแนะนำให้ลด 2 กิจกรรมนี้ รัฐบาลก็ควรจะแถลงออกมาให้เกิดความชัดเจน ไม่ใช่อ้างว่ารัฐบาลตัดสินใจ เพื่อความเหมาะสมบ้าง ไม่ควรจัดงานรื่นเริงช่วงประชาชนทุกข์ยากบ้าง หรือไม่ ประหยัดบ้าง จริงหรือไม่?

การอ้างว่าเพื่อประหยัด ด้วยการการยุติกิจกรรม 2 รายการนั้น ความจริงแล้วไม่ได้เป็นภาระหรือมีผลต่องบประมาณอะไรมากมายเลย เพราะอันที่จริงงบประมาณที่ไม่รู้จักประหยัดและสูญเสียมากที่สุดก็คือการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมืองต่างหาก โดยเฉพาะเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ก็มีการทุจริตทั้งเรื่องอาหาร, เต้นท์เทวดา, ส.ส.รับงบประมาณอย่างผิดกฎหมาย, ซื้อเรือในราคาแพงๆ, ทุจริตถุงยังชีพ, ฯลฯ ใช่หรือไม่?


ยังไม่นับการเตรียมงบประมาณถลุงอีกหลายแสนล้านบาทด้วยจิตใจที่ไม่สุจริต และการทำโครงการประชานิยมอีกมหาศาล สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่จะทำให้ประเทศไทยต้องฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นมากกว่า 2 กิจกรรมนี้หลายล้านเท่าตัว

และความจริงที่ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อนักการเมืองทุกฝ่ายต่างโกงชาติกินเมืองไม่เห็นแก่ประชาชน ประชาชนย่อมหวังสิ่งที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจในการทำคุณความดีและประโยชน์ให้กับส่วนรวมคือ สถาบันชาติ สถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์

และกิจกรรมการเทิดพระเกียรติถือเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญที่สานความสามัคคีปรองดองของคนไทยทั้งชาติ ที่สามารถแสดงความรักและเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยไม่แบ่งแยกเชื่อชาติ ศาสนา ความฝักใฝ่ทางการเมือง ถือเป็นความประเสริฐที่สุดของคนในชาติที่เรามีศูนย์รวมจิตใจเป็นหนึ่งเดียวไม่ว่าประเทศชาติจะประสบภาวะวิกฤติหรือแตกแยกเพียงใดก็ตาม

แค่จะยืนยันอีกครั้งหนึ่งให้พวกที่คิดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับรู้ว่า ไม่ว่าพวกคุณจะทำอย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประชาชนชาวไทยแสดงความรู้สึกกันมากในเรื่องการตัด 2 กิจกรรม เป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “ประชาชนชาวไทยยังรักและจะรักพระเจ้าอยู่หัวตลอดไป”!!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น