ในรอบหลายวันที่ผ่านมา ข่าวข่าวหนึ่งที่ได้รับการกล่าวขวัญกันมากไม่แพ้ข่าวอื่น ก็คงหนีไม่พ้นจากข่าวเงิน 1.3 ล้านบาท ที่มีคนเอามาทิ้งใส่ถังขยะ ในอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี หลายคนถึงกับแคลงใจว่า ใครหนอช่างทำลง แล้วเหตุผลอะไรกันถึงทำลงไปได้ แถมทิ้งก็ไม่ทิ้งเปล่า มีทั้งฉีกทั้งเผาธนบัตรใบละพันที่นับว่ามีราคาค่างวดกับคนธรรมดามากทีเดียว
ดังนั้น คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า แม้แต่ขณะที่ดูข่าวนี้อยู่หรือหลังจบข่าว ความคิดที่โลดแล่นของแต่ละคนคงพากันจินตนาการไปแล้วว่า หากเป็นเราเจอล่ะ!!! จะจัดการหรือรับมือกับเหตุการณ์ตรงหน้าอย่างไร?
เพราะคงต้องยอมรับว่าเงินจำนวนมากขนาดนี้สามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มต่างๆ นานา ได้มากมายเลยทีเดียว ในเมื่อถูกทิ้งเหมือนไม่มีค่า คนที่เห็นค่าจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร แนวคิดหรือคำตอบของคนในแวดวงต่างๆ ในสังคมไทย คงจะช่วยสะท้อนให้เห็นความนึกคิดของคนในปัจจุบัน ซึ่งบางที่อาจจะตรงใจใครหลายๆ คนก็เป็นได้
นักคณิตศาสตร์
ศ.ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี ประธานหลักสูตรปริญญาเอก สาขาคณิตศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ)มหาวิทยาลัยมหิดล
“คือมันมีกฎหมายไว้ว่า ไม่ให้ฉีกใช่ไหม แต่คนที่เขาฉีกมันคงเป็นอารมณ์ของเขา ถ้าเกิดว่าเป็นเราก็คงไม่ทำ ต้องดูว่าผู้ปกครองมีรายได้น้อยรึเปล่า เงินเท่านี้เขาหามาด้วยความยากลำบากรึเปล่า เพราะฉะนั้น เขาหามาได้อีก เขาก็คงให้อีก เราเป็นลูกเนี่ย พ่อแม่ให้เราบาทนึ่งเราก็ควรจะพอแล้ว ประเทศอื่นอย่างอเมริกา ออสเตรเลีย พอเขาอายุ 15-16 เขาต้องไปหางานทำแล้วนะ เขาก็จะมีรายได้ด้วยตนเอง แล้วเอาเงินมาให้พ่อแม่ด้วยซ้ำไป ในประเทศไทยเลี้ยงลูกแบบทะนุถนอมลูกมากเลย เพราะว่าเราประเคนเงินให้จนกระทั่งโต มันก็คิดว่าเราอายุเท่านี้แล้ว เราหาเงินเองได้ไหม ไม่ใช่คิดไปเองว่าพ่อแม่จะต้องให้เงินมากกว่านี้ แล้วก็โกรธถึงขนาดฉีกเงิน มันเป็นอะไรที่เกินไป”
คุณครู
บุญยงค์ มีพร้อม คุณครูโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง
“ก็คงจะแจ้งตำรวจ เพราะว่าเงินมันเป็นจำนวนที่เยอะมาก ถ้าสักใบสองใบก็คงน่าเอาไปเองอยู่ แต่นี่จำนวนมากและก็ผิดปกติ คงต้องแจ้งตำรวจ แต่คงจะเอาไปออกทีวีด้วย เพราะกลัวตำรวจงุบงิบเองด้วย สมัยนี้ตำรวจไว้ไจไม่ได้ ถ้าตำรวจซื่อสัตย์ แต่ตัวใหญ่ไม่ดี ก็สั่งงุบงิบไล่ลงมานั่นแหละ คนพยายามดี สุดท้ายก็ดีไม่ได้ เลยกลายเป็นว่าต้องเลวตามกันไป นี่คือสาเหตุที่คนไทยไม่ไว้ใจตำรวจ
“คนไทย มองความผิดเล็กๆ ว่า น่าทำ และพอหยวนๆ ได้ เพราะถ้าตอบแบบหยาบๆ เลย ว่า ถ้าเจอสักสองใบ กูคงเอาไปแปะแล้วไปแลกธนาคารแหงๆ นั่นแปลว่าอะไร ผิดเล็กๆ พอไหว ผิดใหญ่ค่อยบอกว่าผิด ทั้งที่ หมึกสีดำจุดเล็ก กับหมึกสีดำจุดใหญ่ก็ดำเหมือนกัน”
เจ้าหน้าที่ตำรวจ
พ.ต.ท.ชัยรินทร์ แก้วสุวรรณ รอง ผกก.สส.3 บก.สส.ภ.7 สถานีตำรวจภูธรภาค7
“ตอนเห็นข่าวตอนแรกก็ไม่คิดว่าเป็นคดีอาญา น่าจะเป็นการประชดประชันกันมากกว่า ไม่ก็รวยมาก หรือไม่ก็ลบหลู่ในหลวงมากกว่า เพราะว่ามีรูปในหลวงอยู่ในแบงค์ แล้วเขาก็ประกาศหาตัวว่าใครฉีก สุดท้ายก็มีคนออกมายอมรับว่าน้อยใจตามข่าว”
พนักงานบริษัทเอกชน
วนัสพร บุบผาทอง ไกด์บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง
“ถ้าผมเจอเงิน 1.3 ล้านถูกฉีกเหรอ ผมว่าผมคงตกใจมากกว่าดีใจนะ เพราะมันแปลกมากที่ใครจะฉีกเงินเล่น ที่สำคัญยังฉีกไปตั้งล้านกว่าบาท อาชีพอย่างผมต้องทำงานอีกกี่ปีกว่าจะมีเงินมาฉีกเล่นล้านกว่า นี่ฉีกแล้วยังเหลืออีกนะ ถ้าผมฉีกคงหมดตัวแน่ๆ แต่ถ้าผมเจอเงินล้านกว่าถูกฉีก คงเก็บก่อนแหละ เก็บแน่ๆ ยังไงก็เงินนี่ แล้วเดี๋ยวค่อยคิด แต่ต้องแจ้งตำรวจ จะเอาไปแลกเลยเดี๋ยวธนาคารถามจะตอบไม่ถูก แต่คงไม่ผิดหรอกนะ ถ้าเขาจะฉีกเงินทิ้ง คนเรามันเครียดมันถูกกดดันกันได้ ด้วยความกลัวก็เลยจะเอาไปทิ้งมันคงสบายใจกว่าเก็บไว้”
ดารานักแสดง
พิงกี้-สาวิกา ไชยเดช นักแสดงจากละคร ‘ทองประกายแสด’ ช่อง 8
“ถ้าอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นจะทำอย่างไร ก็คงต้องแจ้งตำรวจก่อนเลย คงไม่กล้าเข้าไปแตะต้อง เพราะหนึ่ง-คือมันไม่ใช่ของๆ เรา สอง-เงินเยอะขนาดนั้น กี้ว่ามันต้องมีอะไรไม่ชอบมาพากลอยู่แล้ว เราไม่รู้ที่มาที่ไปของเงิน ถ้าเข้าไปจับไปแตะมันอาจจะพาปัญหาวุ่นวายมาให้เราก็ได้ แต่พอมารู้ว่าเป็นเงินที่ลูกขโมยพ่อมาเพื่อประชด มุมของกี้มองว่า ถ้าอยากจะประชดจริงๆ น่าจะเอาเงินไปช่วยเหลือคนจนหรือเอาไปทำบุญดีกว่า ยังมีคนที่ลำบากกว่าเราอีกเยอะค่ะ”
นักร้อง
อี๊ด โปงลางสะออน
“ตาโตก่อนเลยครับ (หัวเราะ) ตื่นเต้นที่มีเงินมากขนาดนี้มาอยู่ตรงหน้า แล้วจะเอาเงินไปแลกกับธนาคาร เพื่อให้นำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง พอได้เงินมาก็จะไปสร้างโรงเรียนดนตรีพื้นบ้าน เพื่อให้เด็กๆ ที่ไม่มีเงินทุนได้มาเรียนกัน อีกอย่างเรายังช่วยให้รักษาวัฒนธรรมไทยได้อีกด้วย ไหนๆ เขาก็ทิ้งแล้วเราเอามาใช้ประโยชน์ดีกว่าครับ (หัวเราะ)
แรงงาน
สิทธิพงษ์ ศรีนวล กรรมกรก่อสร้าง
“แจ้งความตำรวจก่อน ให้เขามาดูว่า เงินมาอย่างไรไปอย่างไร ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของทางเจ้าหน้าที่จัดการ พอแจ้งเสร็จแล้วก็กลับไปทำหน้าที่ของเราต่อ”
นักเรียนนักศึกษา
สุรีรัตน์ พัฒนการศิลป์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย ปทุมธานี
“ก็เอาไปให้แม่ เพราะมันเงินตั้งเยอะ แต่มันถูกฉีกก็ไม่รู้จะทำอะไรได้ คิดว่าเงินที่ฉีกมันเอาไปทำอะไรไม่ได้แล้วเราก็ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่แล้ว ให้ผู้ใหญ่จัดการดีกว่า แต่เห็นเงินเยอะขนาดนั้นถูกฉีกก็เสียดาย แต่เราไม่รู้ว่าเขาทำไปทำไมเหมือนกัน เพราะมันไม่ใช่เงินของเรา”
สื่อมวลชน
ศิริภา บุญเถื่อน ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์สยามรัฐ
“ถ้าเจอก็อาจจะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า พบธนบัตรที่ถูกฉีก ณ จุดนี้ เพราะว่าเราก็ไม่รู้ว่าเงินที่ถูกฉีกมีที่มาอย่างไร ในฐานะนักข่าวก็คงต้องสืบค้นว่าที่มาของเงินนั้นมาจากอะไร สาเหตุเกิดจากอะไร ต้องหาที่มาที่ไปเหตุผลของมันว่าทำไมมันถึงถูกฉีกและถูกนำมาทิ้งไว้ที่จุดนั้น”
ผู้แทนราษฎร
ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ นักการเมือง
“ถ้าเจออย่างนี้ผมก็เอามาต่อสิ (หัวเราะ) เอามาต่อแล้วผมก็เอาไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะว่าตามกฎหมายเป็นแบงก์ชำรุดมันใช้ได้นะ ถ้าต่อถูกใบ เพราะว่ามันไม่มีเจ้าของนี่ครับ สมมติว่าผมล่องเรือไปกลางทะเลแล้วไปเจอสมบัติกลางทะเล สมบัตินั้นเป็นของผมนะ เพราะผมพบคนแรก ก็จะเอาไปทำบุญ แสดงว่าคนฉีกนี่ใจถึงมาก
“มีความรู้สึกที่ไม่ถูกต้องว่า คนฉีกเงินทิ้งต้องคิดเหมือนกันว่าเขาเป็นอย่างไร อย่างนี้เอาไปบริจาคยังดีกว่าไปฉีกทิ้งลงถังขยะ ผมอยากจะให้คนได้เข้าใจถึงคุณค่าบุญคุณของเงิน อย่าเป็นคนเนรคุณเงิน เงินทองมันหายาก ไปฉีกเงินด้วยความประชดก็เหมือนการเนรคุณ”
หนอนหนังสือ
อภินันทน์ วัฒนชีวโกศล ประธานชมรมนักอ่านสามเกลอ
“แรกที่ได้ยินข่าว ผมก็รู้สึกนึกถึงกิมหงวน ในเรื่องสามเกลอขึ้นมาเลยนะเพราะอุปนิสัยของกิมหงวนนั้นเขาชอบฉีกแบงก์โชว์ เพื่อแสดงให้คนอื่นเห็นว่าตนเองนั้นรวย แล้วก็ไม่ได้ฉีกอย่างเดียวนะเอามามวนบุหรี่ก็มี ทีแรกผมนึกว่าคนไทยจะบ้ากันก็แต่ในนิยายเท่านั้นนะ แต่ในชีวิตจริงก็มีคนบ้าแบบนี้เหมือนกัน
“แต่จริงๆ แล้ว เรื่องของการฉีกเงินนี่ ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องที่สมควรทำหรอก แต่คนทำเขาอาจจะอยากแสดงถึงอำนาจก็ได้ ประมาณว่ามีเหลือเฟือก็เลยเอามาฉีกเล่น แต่ในกรณีนี้จุดมุ่งหมายของคนฉีกเขาไม่ได้เหมือนกิมหงวนเสียทีเดียวนะ”
นักดนตรีร็อค
จักรรินทร์ ดวงมณีรัตนชัย (ป๊อป เดอะ ซัน) มือกีตาร์ชั้นแนวหน้าของเมืองไทย
“มันเป็นเรื่องน่าเสียดายนะที่จะเอาเงินมากขนาดนั้นไปฉีกทิ้ง ถ้าไม่ต้องการเงินหรือจะประชดอะไรก็น่าจะเอาไปบริจาคให้คนที่ด้อยโอกาสยังดีเสียกว่า เพราะคนที่ขาดแคลนเขายังมีอีกมาก แล้วสำหรับในมุมของคนเล่นดนตรีคนชอบกีตาร์แล้ว ผมว่าเงินมากขนาดนี้เอาไปซื้อกีตาร์ที่อยากได้จะดีกว่าไหม ของใหม่ๆ นี่ได้ทุกยี่ห้อเลย หรือจะเอาไปซื้อเฟนเดอร์ วินเทจ ปี ‘60 ยังได้เลย”
ข้าราชการ
สุดธิดา พวงชัยภูมิ ข้าราชการกรมธนารักษ์
“สำหรับเราแล้วทำงานเกี่ยวกับเงินมาโดยตลอด แต่ก็ไม่เคยมองว่าเงินไม่มีค่า ถึงอย่างไรการเอาแบงก์มาฉีกนี่เป็นเรื่องที่ไม่สมควรนะ เพราะนอกจากเรื่องของค่าเงินแล้วการฉีกแบงก์ที่มีรูปในหลวงอยู่บนนั้น มันเป็นเหมือนกับการทำร้ายในหลวง คือเราเป็นข้าราชการไง เราถูกปลูกฝังมาอย่างนี้”
แพทย์
ศ.นพ. ประกิต วาทีสาธกกิจ อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และเลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
“จริงๆ แล้ว การจะเอาเงินจำนวนนี้ไปทำประโยชน์อย่างอื่นนั้นมันก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่มันน่าสนใจตรงที่การแสดงออกของคนที่ฉีกมากกว่า คือคนอื่นๆ นั้น ถ้าเขามีความเครียดหรือต้องการประชดประชัน เขาก็จะมีวิธีการแสดงออกแตกต่างออกไป อาจจะเป็นการทุบรถ ทำลายข้าวของ ทำร้ายคนอื่น ซึ่งผลมันเหมือนกันคือเพื่อระบายความอัดอั้นตันใจที่มี บังเอิญเขามาทำร้ายเงินทองมันเลยเป็นข่าวเท่านั้นเอง”
ผู้กำกับฯ ภาพยนตร์
โอ๊ค-ทศพล ศรีสุคนธรัตน์ ผู้กำกับภาพยนตร์หน้าใหม่
“ เป็นผมเจอ ก็เอาไปให้ตำรวจแหละครับ เพราะมันไม่ใช่ของเรา เวรกรรมมันมีจริง ผมมองว่าเป็นการกระทำของเด็กที่สิ้นคิดไปหน่อย อารมณ์โกรธชั่ววูบ คนธรรมดามันไม่มีใครเผาเงินหรอก เงินตั้งเป็นล้าน”
เอ็นจีโอ
รุจ เหลี่ยวรุ่งเรือง เอ็นจีโอกลุ่มคนรักอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
“เงินเป็นของสูง เอามาเผา มาฉีก ผมมองว่าไม่ถูกต้อง เอาไปบริจาคมูลนิธิเอกชน ช่วยเด็ก ช่วยคนแก่ หรือทำอย่างอื่น มันยังจะดีกว่า ถ้าเราเจอ อาจจะแจ้งความไว้ก่อน อยากจะขอให้บริจาคเข้ามูลนิธิ แต่ว่ากระบวนการทางกฎหมาย เดี๋ยวก็จะมาติดว่าเป็นของกลางเอาไปไม่ได้ ในที่สุดก็ถูกริบ เอาง่ายๆ เงินจะสูญไปเปล่าๆ เพื่อความบริสุทธิ์ใจ ผมจะเรียกคนในองค์กรผมมาหลายๆ คน แล้วช่วยกันคิดว่าจะจัดการอย่างไรดี เงินที่คนเอาทิ้งแล้ว ถึงแม้จะคิดนอกกรอบ แต่เงินมันยังเอาไปใช้ประโยชน์ได้ มันก็ดีกว่า คนที่เลวที่สุดคือคนที่เอาไปฉีกทิ้ง เงินยังเอาไปช่วยคนอื่นที่เขาทุกข์ยากได้อีกมากมาย เด็กนักเรียนที่ไม่มีเงินกินข้าว”
แม่ค้าแม่ขาย
ผุดศิริ โกพลรัตน์ แม่ค้าขายเสื้อผ้า
“มันแล้วแต่นิสัยด้วยนะ ถ้าเป็นเราก็ไม่ชอบเอาเงินคนอื่นอยู่เล้ว ก็คงเอาไปบริจาค ส่วนตัวเคยไปเก็บเงินมามันตก กรรมตามสนอง มันเสียเยอะไปกว่านั้น อาจเอาไปถวายวัด เพราะยังไงก็ไม่ใช่ของเรา แล้วอีกอย่าง เงินจำนวนมันเยอะด้วย ก็น่าจะบอกตำรวจก่อน ถ้าสภาพใช้ได้ก็เอาไปบริจาค อาจจะแจ้งความ มีสองอย่าง ต้องดูอีกที เห็นครั้งแรก คิดได้หลายอย่าง ตกใจ...งง ไม่ใช่เงินตัวเอง อาจโกรธแล้วเอามาฉีกเอามาเผา”
.........
นี่อาจจะเป็นส่วนน้อยในการสะท้อนความคิดเห็นที่ต่างกัน แต่ก็ทำให้ได้เห็นว่า สังคมมีทัศนคติอย่างไร กับการเจอเหตุการณ์ที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นจริงแบบนี้ ซึ่งน่าจะเป็นอีกคดีหนึ่งที่อยู่ในใจคนไทยไปอีกนาน
>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK