หลายคนตั้งคำถามว่า “ปีนี้ฝนตกมากกว่าปีก่อนๆ 30% จริงหรือเปล่า ถ้าจริง ทำไมน้ำจึงท่วมเยอะอย่างนี้ ถ้าเมื่อก่อนเคยท่วมแค่ตาตุ่ม แล้วทำไมปีนี้มันถึงคอล่ะ มันน่าจะท่วมแค่กลางแข้งเท่านั้น?”
จากคำถามดังกล่าว ผมเชื่อว่าผู้ตั้งคำถามติดอยู่กับวิธีคิดแบบหลัก “บัญญัติไตรยางศ์ (The Rule of Three)” ในวิชาเลขคณิตที่เราเคยเรียนในชั้นมัธยมต้น บางท่านอาจจะลืมหลักการนี้ไปแล้ว แต่ถ้ายกตัวอย่างโจทย์เลขว่า “สมชายซื้อดินสอ 3 ด้ามราคา 18 บาท ถามว่าถ้าสมชายซื้อดินสอ 7 ด้ามราคาจะเป็นเท่าใด” ผมเชื่อท่านผู้อ่านคงจะร้อง “อ๋อ” ในหลักการดังกล่าวอย่างแน่นอน
ในบทความนี้จะแสดงหลักฐานที่เป็นจริงเพื่อยืนยันว่าหลักการดังกล่าวใช้อธิบายเรื่องน้ำฝนกับน้ำท่วมไม่ได้ รวมทั้งจะวิพากษ์วิจารณ์ว่าวิธีการนำเสนอข้อมูลของทางราชการก็ไม่น่าจะช่วยอธิบายอะไรได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้เพื่อสร้างความเข้าใจ เพื่อการตัดใจในการบริหารจัดการน้ำครับ
ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่สังคมรับทราบโดยผ่านทางสื่อต่างๆ จนถึงเอกสารที่กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นประจำ ต่างก็มีลักษณะเดียวกัน ซึ่งผมคิดว่าไม่น่าจะนำไปสู่ความเข้าใจต่อธรรมชาติได้เลย ข้อมูลที่ว่านี้ได้แก่
สถานการณ์ฝน มีการนำเสนอปริมาณฝนสะสมรายสัปดาห์และปริมาณฝนสะสมรายปีในทุกภาคของประเทศ รวมทั้งมีการเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาด้วย ผมจะเรียนว่าข้อมูลดังกล่าวมีปัญหาอะไร และการเสนอที่เหมาะสมกว่าควรจะเสนออย่างไร
ทั้งๆ ที่ในช่วงที่มีการนำเสนอข้อมูลนี้เป็นเวลาที่ต้อง “เฝ้าระวัง” ว่าจะเกิดน้ำท่วมหรือไม่ แต่การนำเสนอข้อมูลแบบที่เป็นอยู่ก็ไม่สามารถทำให้ผู้เฝ้าระวังตื่นตัว รู้ปัญหาล่วงหน้าก่อนได้ เพราะ
(1) ปริมาณฝนเฉลี่ยรายปี รายเดือน รวมทั้งรายสัปดาห์เป็นข้อมูลที่มีความหยาบเกินไป จะมีประโยชน์ก็แค่ทำให้เห็นภาพคร่าวๆ เท่านั้น แต่ไม่สามารถทำให้เราตื่นตัวเพื่อเฝ้าระวังในช่วงที่จะเกิดวิกฤตได้เลย
เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ ผมขอเปรียบกับปัญหาข้อมูลระดับความเข้มข้นของสารพิษในอากาศซึ่งทางหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องก็นิยมใช้ค่าเฉลี่ยตลอด 24 ชั่วโมง แต่ในความเป็นจริงในช่วงเพียง 5-10 นาทีสารพิษในอากาศที่มีความเข้มข้นสูงอาจจะทำให้คนตายไปแล้วก็เป็นได้ แต่ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงไม่เกินมาตรฐาน
ผมเคยแย้งคนที่ยึดในเรื่องค่าเฉลี่ยเป็นสรณะว่า “ถ้าเอาเท้าข้างหนึ่งแช่ในอ่างน้ำแข็ง แล้วเอาอีกข้างหนึ่งแช่ในอ่างน้ำเดือด พบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของคนยังเท่าเดิม แล้วเราจะสรุปว่าเขายังคงปกติดีอยู่กระนั้นหรือ”
(2) ปริมาณน้ำฝนรายภาค (เช่น ภาคเหนือ ภาคใต้ ฯลฯ) หรือค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ ไม่สามารถทำให้เราตื่นตัวเพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมได้ดังที่กล่าวแล้ว สิ่งที่ควรจะนำเสนอคือปริมาณฝนรายลุ่มน้ำซึ่งทั่วประเทศเรามีอยู่ 25 ลุ่มน้ำ เพราะปัจจัยสำคัญที่จะทำให้น้ำท่วมหรือไม่ท่วมก็คือปริมาณฝนในลุ่มน้ำนั้นๆ เอง ปริมาณฝนในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาไม่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมในลุ่มน้ำปากพนัง (จังหวัดนครศรีธรรมราช) ได้ แม้ว่าสองลุ่มน้ำนี้อยู่ติดกันก็ตาม ดังนั้นการนำเสนอปริมาณฝนรวมในภาคใต้ (และภาคอื่นๆ ด้วย) จึงไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อการเฝ้าระวังน้ำท่วมเลย
ข้อมูลที่ควรนำเสนอ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณฝนรายวันกับปริมาตรน้ำในเขื่อนหรือปริมาณน้ำท่าในแต่ละวันตลอดทั้งปี (น้ำท่าคือน้ำที่ไหลบ่าลงบนดินแล้วไหลไปรวมกันในคลองหรือแม่น้ำในแต่ละลุ่มน้ำ เราอาจคิดว่าแต่ละลุ่มน้ำก็คือกะละมังแต่ละใบ เมื่อน้ำฝนตกลงมาก็จะไหลไปรวมกันในแต่ละกะละมัง)
กราฟข้างล่างเป็นข้อมูลที่นักศึกษาของผมเคยทำเป็นโครงงานพิเศษ เป็นข้อมูลปริมาณฝนรายวันที่ศูนย์วิจัยการยาง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลากับระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีตรวจวัดปริมาณฝนไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตร) เมื่อปี 2542 โดยมีสัดส่วนระหว่างพื้นที่รับน้ำกับพื้นที่อ่างประมาณ 25 ต่อ 1
จากกราฟเราพบว่า ในช่วงฤดูร้อน (มิถุนายน) เมื่อมีฝนตกลงมาในระดับ 90 ถึง 100 มิลลิเมตรติดต่อกันประมาณ 2-3 วัน ส่งผลให้ระดับน้ำในอ่างสูงขึ้นกว่าเดิมประมาณ 40 ซม. ที่เป็นเช่นนี้เพราะดินและป่าไม้เหนืออ่างเก็บน้ำยังคงแห้งอยู่จึงสามารถดูดซับน้ำไว้ได้มาก แต่ในช่วงฤดูฝน (พฤศจิกายน) เมื่อฝนตกมา 150 มิลลิเมตรติดต่อกันประมาณ 2-3 วัน แต่ทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นถึง 3 เมตร ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะดินและป่าไม้ได้อุ้มน้ำไว้เต็มที่แล้ว จึงปล่อยน้ำออกมาไหลลงอ่างเป็นจำนวนมาก ในบางวันแม้ฝนหยุดตกแล้ว แต่น้ำก็ยังคงไหลลงอ่างอย่างต่อเนื่อง บางช่วงเวลาอาจจะมีจำนวนมากกว่าปริมาณน้ำฝน (สังเกตในช่วงวันที่ 326 ถึง 339 ในกราฟ)
ความจริงดังกล่าวนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณฝนกับปริมาณน้ำท่วม (น้ำท่า) ไม่ได้เป็นสัดส่วนโดยตรงต่อกันตามหลัก “บัญญัติไตรยางศ์” ถ้าคิดแบบบัญญัติไตรยางศ์เมื่อฝนตก 150 มิลลิเมตร ระดับน้ำในอ่างจะเพิ่มขึ้นแค่ 67 ซม. (หรือเท่ากับ (40/90)X150) แต่ความจริงที่พิสูจน์แล้วคือ 300 ซม.
ธรรมชาติของเรื่องนี้มี “ความซับซ้อน” ที่เราคิดไม่ถึง อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามีการจัดการข้อมูลในลักษณะนี้แล้วประกอบกับข้อมูล “ลักษณะพิเศษในอดีต” ของแต่ละลุ่มน้ำ จะทำให้เราสามารถเข้าใจสภาพของแต่ละลุ่มน้ำได้ เมื่อเข้าใจแล้วเราจะตื่นตัว ไม่ประมาท จึงต้องมีการพร่องน้ำในปริมาณที่เหมาะสมก่อนที่ฤดูฝนจะมาถึง
ในช่วงนี้คนภาคใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวหาดใหญ่ที่เพิ่งโดนท่วมหนักเมื่อปี 2553 กำลังวิตกกันว่าปีนี้จะท่วมอีกไหม? ผมได้ติดตามการบริหารน้ำในเขื่อนรัชชประภาจังหวัดสุราษฎร์ธานี พบว่าได้มีการพร่องน้ำเกือบหนึ่งเดือนเต็มแล้ว แต่ก็พบว่ายังไม่มีการเชื่อมโยงกับข้อมูลปริมาณฝนแต่อย่างใด
ผมเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำครับ แต่เป็นนักคณิตศาสตร์ที่สนใจเรื่องความซับซ้อนทั้งในธรรมชาติและสังคมมนุษย์ จึงได้เสนอเรื่องนี้มาเพื่อให้ท่านผู้อ่านและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องพิจารณาครับ ผมเชื่อในพลังของเหตุผล เชื่อในพลังของการเรียนรู้ร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาสังคมที่มีความอิสระและไวต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า.
จากคำถามดังกล่าว ผมเชื่อว่าผู้ตั้งคำถามติดอยู่กับวิธีคิดแบบหลัก “บัญญัติไตรยางศ์ (The Rule of Three)” ในวิชาเลขคณิตที่เราเคยเรียนในชั้นมัธยมต้น บางท่านอาจจะลืมหลักการนี้ไปแล้ว แต่ถ้ายกตัวอย่างโจทย์เลขว่า “สมชายซื้อดินสอ 3 ด้ามราคา 18 บาท ถามว่าถ้าสมชายซื้อดินสอ 7 ด้ามราคาจะเป็นเท่าใด” ผมเชื่อท่านผู้อ่านคงจะร้อง “อ๋อ” ในหลักการดังกล่าวอย่างแน่นอน
ในบทความนี้จะแสดงหลักฐานที่เป็นจริงเพื่อยืนยันว่าหลักการดังกล่าวใช้อธิบายเรื่องน้ำฝนกับน้ำท่วมไม่ได้ รวมทั้งจะวิพากษ์วิจารณ์ว่าวิธีการนำเสนอข้อมูลของทางราชการก็ไม่น่าจะช่วยอธิบายอะไรได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้เพื่อสร้างความเข้าใจ เพื่อการตัดใจในการบริหารจัดการน้ำครับ
ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่สังคมรับทราบโดยผ่านทางสื่อต่างๆ จนถึงเอกสารที่กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นประจำ ต่างก็มีลักษณะเดียวกัน ซึ่งผมคิดว่าไม่น่าจะนำไปสู่ความเข้าใจต่อธรรมชาติได้เลย ข้อมูลที่ว่านี้ได้แก่
สถานการณ์ฝน มีการนำเสนอปริมาณฝนสะสมรายสัปดาห์และปริมาณฝนสะสมรายปีในทุกภาคของประเทศ รวมทั้งมีการเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาด้วย ผมจะเรียนว่าข้อมูลดังกล่าวมีปัญหาอะไร และการเสนอที่เหมาะสมกว่าควรจะเสนออย่างไร
ทั้งๆ ที่ในช่วงที่มีการนำเสนอข้อมูลนี้เป็นเวลาที่ต้อง “เฝ้าระวัง” ว่าจะเกิดน้ำท่วมหรือไม่ แต่การนำเสนอข้อมูลแบบที่เป็นอยู่ก็ไม่สามารถทำให้ผู้เฝ้าระวังตื่นตัว รู้ปัญหาล่วงหน้าก่อนได้ เพราะ
(1) ปริมาณฝนเฉลี่ยรายปี รายเดือน รวมทั้งรายสัปดาห์เป็นข้อมูลที่มีความหยาบเกินไป จะมีประโยชน์ก็แค่ทำให้เห็นภาพคร่าวๆ เท่านั้น แต่ไม่สามารถทำให้เราตื่นตัวเพื่อเฝ้าระวังในช่วงที่จะเกิดวิกฤตได้เลย
เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ ผมขอเปรียบกับปัญหาข้อมูลระดับความเข้มข้นของสารพิษในอากาศซึ่งทางหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องก็นิยมใช้ค่าเฉลี่ยตลอด 24 ชั่วโมง แต่ในความเป็นจริงในช่วงเพียง 5-10 นาทีสารพิษในอากาศที่มีความเข้มข้นสูงอาจจะทำให้คนตายไปแล้วก็เป็นได้ แต่ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงไม่เกินมาตรฐาน
ผมเคยแย้งคนที่ยึดในเรื่องค่าเฉลี่ยเป็นสรณะว่า “ถ้าเอาเท้าข้างหนึ่งแช่ในอ่างน้ำแข็ง แล้วเอาอีกข้างหนึ่งแช่ในอ่างน้ำเดือด พบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของคนยังเท่าเดิม แล้วเราจะสรุปว่าเขายังคงปกติดีอยู่กระนั้นหรือ”
(2) ปริมาณน้ำฝนรายภาค (เช่น ภาคเหนือ ภาคใต้ ฯลฯ) หรือค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ ไม่สามารถทำให้เราตื่นตัวเพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมได้ดังที่กล่าวแล้ว สิ่งที่ควรจะนำเสนอคือปริมาณฝนรายลุ่มน้ำซึ่งทั่วประเทศเรามีอยู่ 25 ลุ่มน้ำ เพราะปัจจัยสำคัญที่จะทำให้น้ำท่วมหรือไม่ท่วมก็คือปริมาณฝนในลุ่มน้ำนั้นๆ เอง ปริมาณฝนในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาไม่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมในลุ่มน้ำปากพนัง (จังหวัดนครศรีธรรมราช) ได้ แม้ว่าสองลุ่มน้ำนี้อยู่ติดกันก็ตาม ดังนั้นการนำเสนอปริมาณฝนรวมในภาคใต้ (และภาคอื่นๆ ด้วย) จึงไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อการเฝ้าระวังน้ำท่วมเลย
ข้อมูลที่ควรนำเสนอ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณฝนรายวันกับปริมาตรน้ำในเขื่อนหรือปริมาณน้ำท่าในแต่ละวันตลอดทั้งปี (น้ำท่าคือน้ำที่ไหลบ่าลงบนดินแล้วไหลไปรวมกันในคลองหรือแม่น้ำในแต่ละลุ่มน้ำ เราอาจคิดว่าแต่ละลุ่มน้ำก็คือกะละมังแต่ละใบ เมื่อน้ำฝนตกลงมาก็จะไหลไปรวมกันในแต่ละกะละมัง)
กราฟข้างล่างเป็นข้อมูลที่นักศึกษาของผมเคยทำเป็นโครงงานพิเศษ เป็นข้อมูลปริมาณฝนรายวันที่ศูนย์วิจัยการยาง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลากับระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีตรวจวัดปริมาณฝนไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตร) เมื่อปี 2542 โดยมีสัดส่วนระหว่างพื้นที่รับน้ำกับพื้นที่อ่างประมาณ 25 ต่อ 1
จากกราฟเราพบว่า ในช่วงฤดูร้อน (มิถุนายน) เมื่อมีฝนตกลงมาในระดับ 90 ถึง 100 มิลลิเมตรติดต่อกันประมาณ 2-3 วัน ส่งผลให้ระดับน้ำในอ่างสูงขึ้นกว่าเดิมประมาณ 40 ซม. ที่เป็นเช่นนี้เพราะดินและป่าไม้เหนืออ่างเก็บน้ำยังคงแห้งอยู่จึงสามารถดูดซับน้ำไว้ได้มาก แต่ในช่วงฤดูฝน (พฤศจิกายน) เมื่อฝนตกมา 150 มิลลิเมตรติดต่อกันประมาณ 2-3 วัน แต่ทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นถึง 3 เมตร ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะดินและป่าไม้ได้อุ้มน้ำไว้เต็มที่แล้ว จึงปล่อยน้ำออกมาไหลลงอ่างเป็นจำนวนมาก ในบางวันแม้ฝนหยุดตกแล้ว แต่น้ำก็ยังคงไหลลงอ่างอย่างต่อเนื่อง บางช่วงเวลาอาจจะมีจำนวนมากกว่าปริมาณน้ำฝน (สังเกตในช่วงวันที่ 326 ถึง 339 ในกราฟ)
ความจริงดังกล่าวนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณฝนกับปริมาณน้ำท่วม (น้ำท่า) ไม่ได้เป็นสัดส่วนโดยตรงต่อกันตามหลัก “บัญญัติไตรยางศ์” ถ้าคิดแบบบัญญัติไตรยางศ์เมื่อฝนตก 150 มิลลิเมตร ระดับน้ำในอ่างจะเพิ่มขึ้นแค่ 67 ซม. (หรือเท่ากับ (40/90)X150) แต่ความจริงที่พิสูจน์แล้วคือ 300 ซม.
ธรรมชาติของเรื่องนี้มี “ความซับซ้อน” ที่เราคิดไม่ถึง อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามีการจัดการข้อมูลในลักษณะนี้แล้วประกอบกับข้อมูล “ลักษณะพิเศษในอดีต” ของแต่ละลุ่มน้ำ จะทำให้เราสามารถเข้าใจสภาพของแต่ละลุ่มน้ำได้ เมื่อเข้าใจแล้วเราจะตื่นตัว ไม่ประมาท จึงต้องมีการพร่องน้ำในปริมาณที่เหมาะสมก่อนที่ฤดูฝนจะมาถึง
ในช่วงนี้คนภาคใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวหาดใหญ่ที่เพิ่งโดนท่วมหนักเมื่อปี 2553 กำลังวิตกกันว่าปีนี้จะท่วมอีกไหม? ผมได้ติดตามการบริหารน้ำในเขื่อนรัชชประภาจังหวัดสุราษฎร์ธานี พบว่าได้มีการพร่องน้ำเกือบหนึ่งเดือนเต็มแล้ว แต่ก็พบว่ายังไม่มีการเชื่อมโยงกับข้อมูลปริมาณฝนแต่อย่างใด
ผมเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำครับ แต่เป็นนักคณิตศาสตร์ที่สนใจเรื่องความซับซ้อนทั้งในธรรมชาติและสังคมมนุษย์ จึงได้เสนอเรื่องนี้มาเพื่อให้ท่านผู้อ่านและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องพิจารณาครับ ผมเชื่อในพลังของเหตุผล เชื่อในพลังของการเรียนรู้ร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาสังคมที่มีความอิสระและไวต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า.