xs
xsm
sm
md
lg

แก้รัฐธรรมนูญ & ม.112 : “ปัญหาของไก่ในเข่ง”

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

ในวิชาว่าด้วย “การสร้างตัวแบบทางคณิตศาสตร์” หากมีหลายปัจจัยมากระทำกับระบบที่เราสนใจศึกษาพร้อมๆ กัน นักคณิตศาสตร์มักจะใช้เทคนิคที่สามารถจำแนกได้ว่า ปัจจัยใดมีความสำคัญมากน้อยกว่ากัน

ตัวอย่าง เช่น ถ้าเราศึกษาการไหลของน้ำในทะเลสาบสงขลาที่มีช่องแคบๆ ติดต่อกับทะเลอ่าวไทย ขั้นแรกที่ต้องทำคือการครุ่นคิดอย่างละเอียดพร้อมด้วยข้อมูลว่ามีปัจจัยหรือแรงใดบ้างมากระทำกับระบบทะเลสาบ พบว่ามี น้ำขึ้น-น้ำลง น้ำจืดจากแม่น้ำ กระแสลม แรงเสียดทาน ลักษณะทางเรขาคณิตและความตื้นลึกของทะเลสาบ ตลอดจนแรงเหวี่ยงจากการหมุนของโลก ขั้นที่สองนักคณิตศาสตร์มีเครื่องมือหรือกระบวนการที่สามารถจำแนกได้ว่า ปัจจัยใดเป็นปัจจัยหลัก ปัจจัยรองที่บริเวณใดบ้าง เทคนิคนี้คล้ายกับวิภาษวิธีใดลัทธิมากซ์ที่เป็นเชิงคุณภาพ แต่คณิตศาสตร์เป็นทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณชัดเจน

เมื่อได้คำตอบดังกล่าวข้างต้นแล้ว ขั้นที่สามนักคณิตศาสตร์ก็จะนำปัจจัยหลักมาพิจารณาเพื่อหาคำตอบโดยตัดปัจจัยที่มีความสำคัญน้อยทิ้งไปก่อน ถ้าถามว่าทำไมจึงทำเช่นนี้ ก็ขอตอบว่า ถ้าไม่ทำอย่างนี้แล้วปัญหาที่เราศึกษามันซับซ้อนเกินไป จนความรู้ทางคณิตศาสตร์ที่มีอยู่ไม่สามารถหาคำตอบให้เราได้ เมื่อหาคำตอบไม่ได้เราก็ไม่สามารถเข้าใจปัญหาอย่างเป็นระบบได้ เมื่อไม่เข้าใจก็แก้ไขปัญหาไม่ได้ ขืนแก้ไขไปก็อาจจะสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาอีกไม่สิ้นสุดและอาจรุนแรงกว่าเดิมด้วย

เทคนิคที่ว่านี้ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้กันอย่างกว้างขวางทั้งในวงการวิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รวมทั้งทางสังคมศาสตร์ซึ่งผมเคยเห็นมาบ้างแต่ก็จำไม่ได้แล้วว่าเป็นการศึกษาเรื่องอะไร

คราวนี้ ถ้าเราจะทำความเข้าใจแรงกระทำในระบบของประเทศไทย เราก็ต้องเริ่มขึ้นตามขั้นตอน หนึ่ง สอง สาม ตามที่กล่าวมาแล้ว แน่นอนละครับว่า ปัญหาของระบบในประเทศไทยมีความซับซ้อนกว่าในทะเลสาบสงขลาเยอะมาก นอกจากจะมีจำนวนตัวแปรมากกว่าแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงมากๆ คือ

คนไทยเรายังไม่มีฉันทามติหรือความเห็นร่วมกันเลยว่า เราจะพัฒนาประเทศไปสู่สิ่งใด การเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่หรูหราสะดวกสบายและฟุ่มเฟือยเป็นเป้าหมาย(แต่มักจะขาดความสุขและก่อปัญหาสังคม) หรือเอาความสุขของประชากรเป็นหลัก ความสะดวกสบายเป็นรอง ใช้สอยทรัพยากรอย่างประหยัด เราไม่มีแม้แต่บุคลิกภาพร่วมกันของคนรุ่นหลังที่เราคาดหวังให้เขาเป็น

เมื่อเป้าหมายของคนในชาติไปกันคนละทิศคนละทาง ไม่มีอะไรร่วมกันเลย วิธีการไปสู่เป้าหมายของเราก็สะเปะสะปะ ทำไปวันๆ แล้วในที่สุดวิธีการไปสู่เป้าหมายของแต่ละกลุ่มก็กลายเป็นตัวปัญหาเสียเอง คือขัดแย้งกัน

กลับมาที่คำถามที่เราควรค้นหาเป็นขั้นแรกว่าเรามีปัญหาอะไรบ้างและขั้นที่สองปัญหาใดเป็นปัญหาหลักของประเทศไทยในขณะนี้

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่กลุ่มคณะนิติราษฎร์เห็นว่า ม.112 เป็นปัญหาสำคัญเพราะคนกลุ่มนี้ให้ความสนใจในเรื่องของกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องแปลกที่รัฐบาลนี้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญถ้าไม่มีผลประโยชน์เฉพาะของตนอยู่เบื้องหลัง (แต่ นพ.เหวง โตจิราการ ได้เผยออกมาแล้วว่า “หลังจากร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะกลับมาอย่างสง่างาม” (นสพ.ไทยโพสต์ 16 ก.พ.55))

แต่ที่แปลกก็คือ สังคมนี้ซึ่งอ้างว่าเป็นสังคมประชาธิปไตยกลับไม่มีกระบวนการที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ตามขั้นที่สอง คือ อะไรเป็นปัญหาหลักที่น่าแปลกใจกว่านั้นก็คือ ทำไมกลุ่มอื่นๆ จึงไม่เสนอประเด็นที่น่าจะสำคัญกว่าสองเรื่องที่กำลังเป็นปัญหาบ้าง

ในเรื่องรัฐธรรมนูญ ถ้ามีใครเสนอแก้ไขเพียงประเด็นเดียวคือ “ส.ส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค” ซึ่งนักวิชาการมีข้อมูลพร้อมว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพและมีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่มีข้อกำหนดแผลงๆ อย่างนี้ แม้ว่าประเด็นที่ผมเสนอนี้อาจจะไม่ใช่ปัญหาสำคัญมากของประเทศ แต่ถ้ามีขั้นตอนและวิธีการนำเสนอที่ดีก็น่าจะได้รับการสนับสนุนจากสังคม และผลลัพธ์ที่ได้ก็น่าจะทำลายช่องทางที่ตีบตันของคนเล็กคนน้อยลง (ที่จำใจต้องสังกัดบริษัทพรรคการเมือง) ได้บ้าง เพราะเทคโนโลยีทันสมัยนี้มีส่วนช่วยให้ความคิดดีๆ ที่ออกมาจากคนเล็กๆ สามารถแพร่กระจายออกไปในวงกว้างได้และรวดเร็วมาก

แล้วอะไรคือปัญหาหลักของสังคมไทย?

คำถามนี้สังคมไทยต้องร่วมกันตอบตามขั้นตอนที่สองด้วยกระบวนการที่เป็นที่ยอมรับกัน นั่นคือกระบวนการที่ให้ทุกภาคส่วนได้ถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผลซึ่งเป็นแก่นเนื้อในของระบอบประชาธิปไตย แต่น่าเสียดายที่สังคมไทยได้ยึดถือเอาแต่เปลือกของประชาธิปไตยคือการหย่อนบัตรเลือกตั้งเท่านั้น

ตัวผมเห็นว่าปัญหาหลักของประเทศไทยคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ (economic inequality) ซึ่งนักวิชาการระดับโลกถึงกับกล่าวว่าเป็นต้นตอความชั่วร้ายทั้งปวง รวมถึงปัญหาความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน จนถึงสิ่งที่เราคิดไม่ถึงคือจำนวนนักโทษในคุกก็มากตามระดับความเหลื่อมล้ำด้วย

ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยสูง(แย่)ที่สุดในเอเชีย ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นอยู่ที่ 3-4 เท่า (ดีที่สุดในโลก) แต่ประเทศไทยเราอยู่ที่ 13-15 เท่า ในขณะที่เมื่อเริ่มต้นพัฒนาประเทศใหม่ๆ ความเหลื่อมล้ำของเราน้อยกว่านี้เยอะ ความจริงนี้พิสูจน์ว่าทิศทางการพัฒนาของเรามีปัญหามานานแล้ว และเป็นปัญหาใหญ่เสียด้วย เพราะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่เป็นต้นตอของความชั่วร้ายทั้งปวง

อะไรเป็นต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ?

ผมเองได้ให้ความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมและนโยบายพลังงานมานานโดยมีข้อมูลพร้อม ทั้งเชิงตัวเลขกลุ่มองค์กรและบุคคลอ้างอิง ผมเห็นว่านโยบายพลังงานที่รวมศูนย์และผูกขาดด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลคือต้นเหตุครับ เหตุผลก็เพราะคนไทยใช้พลังงานมากคิดเป็นตัวเงินประมาณ 19-20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ทั้งๆ ที่เมื่อ 16 ปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 10% เท่านั้น

การผูกขาดเป็นการปิดกั้นโอกาสของพ่อค้ารายย่อยรวมทั้งกลุ่มองค์กรที่ใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งก็คือการเพิ่มความเหลื่อมล้ำ (คนตกงาน คอร์รัปชัน) ให้มากขึ้นนั่นเอง ขณะเดียวกันการใช้พลังงานฟอสซิลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (หรือปัญหาโลกร้อนซึ่งเกิดจากเชื้อเพลิงฟอสซิลประมาณ 70%)

ปัญหาโลกร้อนทำให้เกิดภัยพิบัติ ทั้งพายุ น้ำท่วม ภัยแล้งและแผ่นดินไหว ผลผลิตทางอาหารตกต่ำเฉพาะช่วงอุทกภัยภาคกลางเมื่อปีกลาย ธนาคารโลกประเมินว่าเกิดความเสียหายถึง 14% ของจีดีพี บริษัทประกันภัยที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษประเมินว่า อีกประมาณ 50 ปีความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติทั่วทั้งโลกจะสูงกว่ารายได้ของคนทั้งโลกทั้งปีรวมกัน นี่ยังไม่เป็นปัญหาหลักอีกหรือ!

ด้วยเหตุผลและข้อมูลที่กล่าวมาแล้ว ผมเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายอาญา ม.112 เป็นแค่การจิกตีกันของไก่ในเข่งที่รอวันถูกเชือด แต่ไม่ได้พยายามแก้ปัญหาหลักร่วมกันของประเทศตนเองและของโลกเลย จากสถานการณ์และเหตุผลที่กล่าวมานี้ ผมอยากจะเรียกร้องว่าสังคมไทยควรคิดใหม่ทั้งระบบครับ.
กำลังโหลดความคิดเห็น