xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากคันไซ ตอนที่ 20

เผยแพร่:   โดย: ชวินทร์ ลีนะบรรจง1

โดย...ชวินทร์ ลีนะบรรจง1

พฤติกรรมเลือก “ทางมาร” หรือ adverse selection
ก็เนื่องมาจากการปกปิดข้อมูลเป็นสำคัญ มิได้เกี่ยวกับศีลธรรมแต่อย่างใด

โอลิมปัส (Olypus) นอกจากจะเป็นชื่อภูเขาในประเทศกรีซที่ตามตำนานเป็นที่สถิตของเทพเจ้าแล้วยังเป็นชื่อบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นที่ผลิตสินค้าหลักที่เป็นกล้องถ่ายรูปและกล้องจุลทรรศน์ในชื่อยี่ห้อเดียวกันส่งออกจำหน่ายไปทั่วโลก

บริษัทโอลิมปัสตกเป็นข่าวใหญ่เมื่อช่วงเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา จากการที่ประธานบริษัท นายคิคุคาวาไล่ผู้บริหารสูงสุดชาวอังกฤษนายไมเคิล วูดฟอร์ดที่นายคิคุคาวาเป็นคนรับเข้ามาเองไม่ถึง 6 เดือนออกจากตำแหน่งด้วยเหตุผลของแนวทางการทำงานที่ไปด้วยกันไม่ได้

ดูไปแล้วก็ไม่น่าแปลกประหลาดอันใด แต่ที่เป็นข้อเท็จจริงที่เผยออกมาในภายหลังก็คือ สาเหตุที่แท้จริงของการไล่ออกนายวูดฟอร์ดนั้น มาจากการไม่ยอมรับการหมกเม็ดในข้อมูลที่บริษัทโอลิมปัสพยายามปกปิดมาตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษ นั่นคือ “ซุกการขาดทุน”

จดหมายของนายวูดฟอร์ดลงวันที่ 11 ต.ค. ถึงกรรมการบริษัทและผู้ที่เกี่ยวข้องมีประเด็นสำคัญอยู่ที่การขาดทุนของบริษัทจากการเข้าไปลงทุนซื้อกิจการของบริษัทอื่น 2 รายการสำคัญในช่วงที่นายคิคุคาวาเป็นผู้บริหารสูงสุดระหว่างปี 2001 ถึง 2010 คือ (1) การเข้าซื้อกิจการของบริษัทผลิตเครื่องมือแพทย์กีรัส (Gyrus) ในราคาประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์แต่จ่ายค่าที่ปรึกษาทางการเงินไปถึง 687 ล้านดอลลาร์หรือกว่าร้อยละ 35 ของราคาที่ซื้อ ทั้งๆ ที่ราคาตลาดของค่าที่ปรึกษาฯ อยู่ในระดับร้อยละ 1 ถึง 2 และ (2) การเข้าซื้อกิจการ 3 บริษัท คือ อัลติส ฮัมมาลาโบและนิวเชฟ ที่จ่ายเงินไป 773 ล้านดอลลาร์แต่กลับมีการบันทึกบัญชีลดมูลค่า (write down) การลงทุนไป 586 ล้านดอลลาร์ในปีเดียวกันที่ลงทุนซื้อมา

หากคิดบวกลบง่ายๆ ผู้ถือหุ้นของโอลิมปัสน่าจะมีค่าใช้จ่ายที่เป็นเสมือนขาดทุนจากการลงทุนทั้ง 2 รายการไปเกือบ 1,300 ล้านดอลลาร์ (687+586) ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่ผู้ถือหุ้นควรทราบแต่กลับถูกปกปิด “ซุกการขาดทุน” เอาไว้ ทั้งๆ ที่โอลิมปัสเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียวและมีระบบกรรมการอิสระจากภายนอกเช่นเดียวกับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยเพื่อเป็น “คนเป่านกหวีด” เมื่อมีเหตุควรสงสัยให้ผู้ถือหุ้นหรือสาธารณชนได้ทราบ แต่กลับกลายเป็นว่าเรื่องถูกแฉมาจากคนนอกคือนายวูดฟอร์ด โดยทั้งนายคิคุคาวาอ้างว่าเพิ่งทราบจากสื่อขณะที่กรรมการคนอื่นๆ ยังเงียบ

ผลจากการแข็งค่าของเงินเยนตั้งแต่ปี 1985 วิกฤตทางการเงินและเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นประสบตั้งแต่ปี 1989 เป็นต้นมา ทำให้รายได้จากการประกอบการหรือ operating income จากการขายสินค้าหลักไม่สามารถนำมาจุนเจือกิจการให้สามารถจ่ายเงินปันผลตอบแทนผู้ถือหุ้นได้ ผู้บริหารที่หน้าบางกับตนเองไม่ยอมรับว่าตนเองไม่มีความสามารถแต่หน้าหนาผู้ถือหุ้นโดยยอมปกปิดข้อมูลจึงเลือก “ทางมาร” หันไปหารายได้ที่นอกเหนือจากการประกอบการตามปกติวิสัยหรือ non-operating income จากการเข้าลงทุนในลักษณะของ adverse selectionโดยหวังผลตอบแทนจากส่วนต่างของทุนสูงหรือ high capital gain เป็นสำคัญ โดยยอมรับความเสี่ยงสูงจากการลงทุนนั้นเป็นการตัดสินใจโดยพลการที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากเจ้าของ หากสำเร็จตนเองก็ได้ดีไปแต่หากไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไรเพราะไม่ใช่เงินของตนเอง

การตัดสินใจดำเนินการลงทุนในลักษณะดังกล่าวได้ถูกเปิดเผยจากเจ้าหน้าที่บริหารสูงสุดที่มาแทนนายวูดฟอร์ด และจากผู้ที่ร่วมกระทำเองในภายหลังว่ากระทำกัน 3 คนโดยมีนายคิคุคาวาเป็นผู้นำเพื่อเอาส่วนต่าง 1,300 ล้านดอลลาร์ดังกล่าวไปกลบขาดทุนจากการดำเนินงาน

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ธนาคารของไทยแห่งหนึ่งในสมัยที่มีนาย “โกร่ง” กูรู้ทางเศรษฐกิจและตัวเก็งรัฐมนตรีเศรษฐกิจตลอดกาลของสื่อฯ เป็นประธานฯ โดยมีนายเกริกเกียรติเป็นผู้บริหารสูงสุดก็กระทำเช่นกัน เป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีประเทศไทยในการเลือก “ทางมาร” เพราะหากต้องเข้าไปแข่งปล่อยกู้กับธนาคารอื่นๆ ก็ขาดความสามารถจึงหันไปทำการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงโดยมีแขกราเกซอยู่เบื้องหลัง

การขาดวิสัยทัศน์และความสามารถในการบริหารจึงเป็นคำสำคัญหรือ key word ในเรื่องนี้ การเข้าซื้อกิจการอื่นๆ จำนวนมากของโอลิมปัสในสมัยนายคิคุคาวาเป็นผู้บริการสูงสุดเป็นหลักฐานเครื่องบ่งชี้ว่าโอลิมปัสขาดแนวทางในการดำเนินกิจการภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง

การเข้าซื้อกิจการโดยข้ออ้างของการหวังว่าจะได้วิทยาการใหม่ที่ตนเองไม่มีเพื่อเอาไปต่อยอดทำธุรกิจต่อไปนั้น ดูจะเป็นความสิ้นหวังอย่างแท้จริง

ความสำเร็จที่มั่นคงถาวรไม่สามารถมาทางลัดโดยการซื้อหาหรือผูกขาดเหมือนอย่างที่หลายๆ ผู้ประกอบการพยายามฝืนกระทำอยู่ การพัฒนาองค์ความรู้จึงเป็นรากฐานที่สำคัญที่ก่อให้เกิดวิทยาการใหม่ๆ ขึ้นมาและความรู้นั้นจะเกิดขึ้นมาได้ก็ด้วยการลงทุนในการศึกษาค้นคว้า แต่ผู้ประกอบการมักเลือก “ทางมาร” ไม่เริ่มต้นที่ฐานรากหากแต่ชอบต่อยอดโดยลืมความจริงว่า ความรู้นั้นเกิดจากการสั่งสมบ่มเพาะดุจดั่งการปลูกพืชหวังผล ความรู้จึงกิน (ขาย) ไม่หมดขโมยไม่ได้

ฟุตบอลไทยก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เข้าข่ายเพราะมุ่งแต่จะต่อยอดทำฟุตบอลอาชีพซึ่งเป็นขั้นสูงสุดสำหรับนักฟุตบอลโดยลืมไปว่าจะได้นักฟุตบอลที่ดีมีความสามารถที่จะพัฒนาไปถึงขั้นนั้นได้ก็ต้องมาจากพื้นฐานที่โรงเรียนหรือในวัยเด็ก ความแตกต่างระหว่างสมาคมฟุตบอลไทยกับสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นหรือเกาหลีที่ประสบความสำเร็จจนอาจกล่าวได้ว่าทีมฟุตบอลไทยไม่สามารถเอาชนะได้แล้วในปัจจุบันก็เพราะดำเนินการลงทุนพัฒนาในแนวทางที่ต่างกัน ยิ่งมีการอนุญาตให้ทีมอาชีพสามารถมีผู้เล่นต่างชาติได้มากขึ้นก็ยิ่งจะเป็นการเรียนลัดมากขึ้น

ความสามารถในการปกปิดข้อมูลหรือการขาดความโปร่งใสในการตัดสินใจดูจะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้การขาดวิสัยทัศน์ และความสามารถในการบริหารของกิจการสามารถดำรงคงอยู่ต่อไปได้ นายวูดฟอร์ดเข้ารับงานเพียง 6 เดือนเท่านั้น ก็สามารถทราบถึงความผิดปกติของการลงทุนของผู้บริหารก่อนหน้านี้และไม่อยู่นิ่งเฉย แต่กรรมการบริษัทที่เป็นตัวแทนของเจ้าของที่อยู่ในตำแหน่งนานกว่าเขากลับนิ่งเฉยไม่สนใจที่จะปกป้องเจ้าของผู้ถือหุ้นด้วยการตรวจสอบ และเปิดเผยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงที่โอลิมปัสดำเนินการมากว่า 10 ปีได้ แถมยังไม่แสดงความรับผิดชอบแต่อย่างใด นายคิคุคาวาแม้ลาออกจากการเป็นประธานแต่มิได้ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท ขณะที่นายวูดฟอร์ดซึ่งเป็นกรรมการด้วยได้ลาออกจากตำแหน่งไปเมื่อเร็วๆ นี้ทั้งที่ตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

อนาคตของโอลิมปัสจึงขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ ประการ การปรับบัญชีใหม่ที่ต้องนำส่งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ เพื่อให้สอดคล้องกับมูลค่าการลงทุนที่หายไปจำนวนมากอาจไม่ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบเพราะหนี้สินมีมากกว่าทรัพย์สินอันเป็นเงื่อนไขของการถูกถอดออกจากบริษัทจดทะเบียน แต่หากอดีตผู้บริหารเช่นนายคิคุคาวาและกรรมการอีก 2 คนที่มีส่วนร่วมถูกทางการแจ้งข้อหาดำเนินคดีจากการปกปิดแจ้งข้อมูลทางการเงินอันเป็นเท็จหรือฉ้อโกง พฤติกรรมดังกล่าวก็มีตัวอย่างหลายกรณีเป็นบรรทัดฐานว่าจะถูกถอนการจดทะเบียน ขึ้นอยู่กับว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพิจารณายึดหลักเกณฑ์ใดเป็นสำคัญ

ผู้ลงทุนอาจรับรู้ความเสี่ยงจากข้อมูลไปแล้วบางส่วนจากราคาหุ้นที่ลดลงไปครึ่งในปัจจุบันเมื่อเทียบกับเมื่อช่วง 2 เดือนก่อนหน้านี้ แม้หลายฝ่ายจะคาดการณ์ว่าโอลิมปัสไม่น่าจะถูกถอดออกจากการเป็นหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ก็อาจเป็นฝ่ายถูกซื้อกิจการในคราวนี้ได้โดยง่ายเพราะมีทุนจดทะเบียนไม่สูงนัก ยิ่งมีขาดทุนมากเท่าใดก็ทำให้เหลือมูลค่าทุนน้อยลงเท่านั้น และที่สำคัญโอลิมปัสต้องการวิสัยทัศน์ใหม่ๆ เพื่อเข้ามาทำธุรกิจต่อไปซึ่งไม่สามารถหาได้จากภายในโอลิมปัสเอง

เรื่องนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้นกับรัฐบาล “หุ่นโชว์” ตลาดหลักทรัพย์ไทย ก.ล.ต.ผู้ที่เรียกตนเองว่านักอุตสาหกรรมไทย

ระหว่างการสัมภาษณ์งาน อย่าถามว่ากิจการใดประเทศใด ไม่บอกเด็ดขาด

“1+1 ต้องเป็น 2” นักวิทยาศาสตร์ตอบด้วยความมั่นใจ

ขณะที่นักคณิตศาสตร์ตอบว่า “2 เป็นอื่นไม่ได้” แต่ทั้งสองไม่ได้งาน

หากแต่เป็นว่านักบัญชีที่ได้งานไปด้วยคำตอบว่า “จะเอาเท่าใด”
เขาโอลิมปัสในประเทศกรีซ (ภาพจาก google)
นายคิคุคาวาและนายวูดฟอร์ดเมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่ง (ภาพจาก 43 rumors.com)
*******************

*1 The Japan Foundation Fellow บทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน Japan Foundation ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น