xs
xsm
sm
md
lg

ถามหา ‘มาตรฐานสากล’ รถบรรทุกแก๊สฯ คว่ำ อุบัติเหตุไม่คาดฝัน ‘สินค้าอันตราย’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม้ในปัจจุบัน ธุรกิจการขนส่งพลังงานจะค่อนข้างมีมาตรฐานความปลอดภัยเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น แต่การสัญจรร่วมบนท้องถนนกับรถบรรทุกพลังงานขนาดใหญ่จำพวกสารไวไฟต่างๆ อย่าง รถบรรทุกแก๊สแอลพีจี ฯลฯ ก็ยังสร้างความรู้สึกหวาดหวั่นแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนอยู่ไม่น้อย ซึ่งในอดีตเองก็มีตัวอย่างให้ได้เห็นกันแล้วว่าเหตุรถบรรทุกแก๊สระเบิดนั้น มีความน่าสะพรึงกลัวและก่อความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก

อีกอย่างไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่า ‘อุบัติเหตุไม่คาดฝัน’ จากรถบรรทุกพลังงานเหล่านี้จะเกิดระเบิดขึ้นมาตอกย้ำโศกนาฏกรรมครั้งเก่าก่อนอีกเมื่อไหร่

ล่าสุดก็ปรากฏเป็นข่าวหน้าหนึ่งบนหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ สำหรับเหตุการณ์รถบรรทุกแก๊สแอลพีจีพลิกคว่ำบริเวณถนนลำลูกกา แยกวงแหวนตะวันออก เป็นรถบรรทุกแอลพีจีขนาด 15 ตัน ของ บริษัท เปรมฤทัยปิโตรเลียม ที่ทำการบรรทุกแอลพีจีจากคลังบางจากเพื่อขนส่งไปยังโรงบรรจุก๊าซบริเวณคลอง 7 จ.ปทุมธานี กระทั่งเกิดเหตุลื่นไหลตกถนนจนทำให้แก๊สจำนวนมากรั่วพุ่งออกมาในอากาศ แม้จะเป็นความโชคดีอย่างยิ่งยวดที่เหตุดังกล่าวไม่ได้ก่อความเสียหายเท่าใดนัก

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นบทเรียนที่ภาคเอกชนรวมทั้งภาครัฐต้องนำมาหาแนวทางแก้ไขของมาตรการความปลอดภัยในการขนส่งพลังงานเพื่อจำกัดความเสียหายให้อยู่ในวงแคบที่สุด

ย้อนรอยรถบรรทุกแก๊สระเบิด
ในอดีตนั้น เหตุการณ์รถบรรทุกแก๊สระเบิด ถือเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่ก่อความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินให้หลงเหลือไว้เพียงซากความเจ็บปวด

อย่างเหตุรถบรรทุกแก๊สระเบิดครั้งร้ายแรงในประเทศไทยก็คงเป็นเมื่อราวปี 2533 บริเวณถนนเพชรบุรีตัดใหม่ รถแก๊สบริษัทสยามแก๊ส ที่ผ่านการดัดแปลงสภาพรถเพื่อนำมาบรรทุกแก๊สแอลพีจีโดยผิดกฎหมาย ขับฝ่าไฟแดงบริเวณจากทางด่วนเพชรบุรีตัดใหม่ด้วยความเร็ว และเกิดอุบัติเหตุจนพลิกคว่ำ ทำให้ถังบรรจุแก๊สขนาด 20,000 ลิตร จำนวน 2 ถัง หลุดออกจากตัวรถกระทั่งแก๊สพวยพุงไปทั่วถนนไหลไปเจอประกายไฟก็เกิดการระเบิดที่ลุกลามเป็นวงกว้าง ซึ่งมีเสียชีวิตทั้งสิ้น 59 ราย บาดเจ็บ 89 ราย สำหรับโศกนาฏกรรมครั้งนี้ยังได้ถูกนำมาเป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง ‘คนเห็นผี’ ของ ออกไซด์ แปง ด้วย

ถึงเหตุการณ์รถบรรทุกแก๊สระเบิดในช่วงหลังๆ มานี้จะสร้างความเสียหายค่อนข้างน้อยแต่ลองสำรวจในช่วง 5 ปีมานี้ก็เกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับการขนส่งพลังงานอย่างต่อเนื่อง

อย่างปี 2550 เกิดเหตุรถบรรทุกถังก๊าชเอ็นจีวีระเบิด บริเวณกลางสี่แยกสวนสมเด็จ ถนนรัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี จากเหตุเฉี่ยวชนทำให้รถบรรทุกเสียหลักพลิกคว่ำถังก๊าซระเบิดไฟลุกท่วมมีผู้เสียชีวิต 1 ราย

ปี 2551 เกิดเหตุรถบรรทุกแก๊สแอลพีจีขนาด 8 ตัน พลิกคว่ำ หน้าหมู่บ้านลัดดารมย์ บริเวณถนนพระราม 2 ขาออก เนื่องจากอุบัติเหตุฝนตกถนนลื่นจึงสูญเสียการควบคุม ทำให้มีแก๊สรั่วส่งกลิ่นคลุ้งกระจาย แต่ในเวลาถัดมาเจ้าหน้าก็ควบคุมสถานการณ์ไว้ได้

ปี 2553 เหตุการณ์รถบรรทุกแก๊สแอลพีจี ขนาด 17,800 ลิตร พลิกคว่ำกลางหุบเขา อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา แต่ทางเจ้าหน้าที่กู้ภัยระดมกำลังเร่งปิดวาล์วถังแก๊สและทำการฉีดน้ำยาควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ในที่สุด ในปีเดียวกันก็เกิดเหตุรถบรรทุกแก๊ส พุงชนรถ 18 ล้อ เพราะวิ่งมาด้วยความเร็วสูง บริเวณสะพานกลับรถถนนบางนา ถึงคราวนี้ไม่มีแก๊สรั่วไหลออกมาแต่ก็มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย

ปี 2554 เหตุรถบรรทุกเอทานอล จำนวน 15,000 ลิตร พลิกคว่ำ บนถนนสาย 304 กบินทร์บุรี-ปักธงชัย จ.ปราจีนบุรี ซึ่งรถบรรทุกที่แล่นตามมานั้นเบรกไม่ทัน พุ่งเข้าชนซ้ำจึงเกิดเหตุสลดมีผู้เสียชีวิต 3 ราย
ฯลฯ

ความปลอดภัยเทียบเคียงสากล
อย่างในต่างประเทศเองนั้นแทบจะไม่มีรถแก๊สออกมาวิ่งเพ่นพ่านกันบนถนนเลย เพราะส่วนมากแล้วเขาจะส่งผ่านระบบท่อใต้ดินกันหมด ซึ่งถ้าเปรียบเทียบดูแล้วก็น่าสงสัยไม่น้อยว่ามาตรฐานของการขนส่งพวกพลังงาน, สารเคมี ที่เป็นวัตถุไวไฟ ของประเทศไทยนั้นเป็นอย่างไร

“ในบ้านเรา ถ้ามองในเรื่องของการลงทุนวางท่อทั้งระบบมันไม่คุ้ม แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีนะ เรามีสถานีส่งแก๊สตามท่อไปในจุดใหญ่ๆ อย่างเช่นตรงลำลูกกาเนี่ยเป็นสถานีหนึ่ง ซึ่งเราส่งแก๊สมาจากมาบตาพุดผ่านท่อ แต่มันก็มีไม่ทั่วถึงทุกจุดไง มันจะเป็นสถานีใหญ่ๆ แล้วก็มีท่อไปที่สระบุรี ไปไกลสุดตอนนี้ก็อยู่ที่ลำปาง จากสถานีเขาก็ถ่ายลงรถเพื่อกระจายออกไปอีกที คือสรุปว่ามีแต่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นเหมือนเมืองนอกไง”

ผศ.สมชาย พรชัยวิวัฒน์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เล่าให้เราฟังถึงระบบการขนส่งแก๊สในเมืองไทย แต่กระนั้นเขาก็มองว่าระบบขนส่งทางรถที่ใช้กันในทุกวันนี้มันก็มีมาตรฐานอยู่พอสมควร

“ถ้าเราไล่ตั้งแต่มาตรฐานการส่งแก๊ส การเติมแก๊ส การถ่ายแก๊ส มันก็มั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่ามีความปลอดภัยเพียงพอ เพราะสถานีส่วนใหญ่เป็นของปตท. และระบบความปลอดภัยเขาเชื่อถือได้ ปัจจุบันรถขนส่งก็มีมาตรฐานดีขึ้น ถ้าเหตุที่เพิ่งเกิด จริงๆ แล้วมันเกิดพลิกคว่ำ แล้วมันทำให้ตัววาล์วหลุดออกเท่านั้นเอง และการที่วาล์วหลุดออกนั้นก็เพื่อป้องกันถังแก๊สมันระเบิด มันเป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยที่เขาใส่ไว้ในตัวรถ ลองเปรียบกับเหตุการณ์ในอดีตที่เพชรบุรีตัดใหม่ดู ตอนนั้นถังกับรถมันแยกจากกันเลย แต่คราวนี้มันยึดแน่นไม่ได้แยกจากกัน”

แต่ถึงตัวอุปกรณ์รถจะเซฟพอสมควร แต่ถนนที่ไม่ได้มาตรฐานในไทย ก็เป็นอีกตัวเร่งหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุอยู่เนืองๆ แต่ถึงอย่างไรก็เป็นไปได้ยากที่บ้านเราจะหันมาใช้ระบบส่งแก๊สด้วยท่อ 100 เปอร์เซ็นต์

“บางประเทศนั้นเขาส่งกันถึงในครัวเรือนเลย แทนที่จะมีถังแก๊ส 15 กิโลฯ ตั้งอยู่ เขาก็ต่อท่อเข้ามา เขามองว่าเรื่องของการขนส่งมันมีอันตราย มีความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ ขนาดรถธรรมดายังมีการชนกันอยู่เรื่อย ยิ่งมีแก๊สด้วย มันก็อันตรายมากขึ้น”

ปรับเปลี่ยนสู่มาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล
เรื่องความปลอดภัยในการขนส่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ในขณะที่รถทั่วไปหากเกิดอุบัติเหตุก็จะเสียหายในแง่ของชีวิต แต่ในเรื่องของการขนส่งพลังงานนั้น จะมีผลกระทบทางสังคมเข้ามาด้วย ดร. พงษ์ธนา วณิชย์กอบจินดา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมลอจิสติกส์ ผู้อำนวยการหลักสูตร CEO-MBA in Logistics Management คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวกว่าภาครัฐภาคเอกชนนั้น ต้องร่วมตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยในการขนส่งประเภทนี้อย่างรอบคอบ

“ในการตรวจสอบในเรื่องของกฎหมาย ในกรณีที่รถคว่ำและเกิดระเบิด มันไม่ควรจะเกิดขึ้น ถ้าระบบความปลอดภัยของถังแก๊สนั้นสูงมากๆ แต่กรณีที่รถคว่ำแล้วเกิดแก๊สรั่วกระจาย ภาครัฐและเอกชนต้องลงมาดูในเรื่องระบบการตรวจสอบ ว่าทุกครั้งที่ตรวจสอบนั้น มันถูกต้องหรือไม่ เพราะต้นทุนการขนส่งในประเทศมันค่อนข้างสูง ทำให้ผู้ประกอบการหลายๆ ราย พยายามจะลดค่าใช้จ่ายตัวเองโดยไปลดในเรื่องของระบบความปลอดภัยแทน”

และสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีหน่วยงานของรัฐมีการตรวจสอบอย่างละเอียด ตามกระบวนการความปลอดภัยของการขนส่งสินค้า ให้เป็นไปตามมาตรฐานการขนส่งสินค้าอันตรายของสากล ดร. พงษ์ธนา อธิบายเพิ่มเติมว่า คนขับเองต้องปฎิบัติตามระเบียบต้องควบคุมความเร็ว หากเป็นไปได้ไม่ควรจะแซงเลย ซึ่งตรงนี้สามารถลดอุบัติเหตุได้ 80-90 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียวเพราะรถจะไม่คว่ำ เกิดระเบิดก็น้อย และต้องมีการตรวจสอบในส่วนของถัง และระบบความปลอดภัยของตัวรถ ตัวแทงค์ให้ได้ตามมาตรฐานก็จะลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุเช่นกัน

“จริงๆ ควรจะมีการอบรมคนขับรถประเภทนี้โดยเฉพาะ และควรอย่างยิ่งที่ต้องได้รับใบอนุญาตด้วย เพราะในต่างประเทศส่วนใหญ่จะมีใบอนุญาต การขับรถทั่วไป รถคอนเทนเนอร์ สินค้าอันตราย พวกไวไฟเนี่ย คนขับต้องสำนึกรู้ว่าตัวเองกำลังบรรทุกอะไรอยู่ และผลกระทบเนี่ย มันมีอะไรบ้าง ควรมีการอบรม สินค้าอันตราย เพราะความจริง สินค้าอันตรายเหล่านี้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นของอุตสาหกรรมมากมาย ทั้งอุตสาหกรรมเคมี ทอผ้า เพราะประเทศเรามีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเคมีอยู่มาก ที่ต้องมีวัตถุไวไฟเป็นแหล่งพลังงาน กว่า ได้ 80-90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งความจริงการขนส่งทางท่อเราก็มีแต่ไม่ได้ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม ยังต้องพึ่งพาการขนส่งทางรถมาก ก็ควรให้ความสำคัญมาก”

ฉะนั้น สิ่งสำคัญของการดำเนินธุรกิจขนส่งพลังงานนั้น ต้องมีให้ความรู้กับผู้ขับขี่เนื่องจากการขนส่งสินค้าอันตรายแก่วงกว้าง เหมือนกับประเทศญี่ปุ่นและในประเทศแถบยุโรป ซึ่งภาครัฐเองต้องตรวจสอบในเรื่องมาตรฐานรถ ฯลฯ ส่วนเอกชนเองก็ต้องออกระเบียบภายในบริษัทให้ความตระหนักรู้ว่าสิ่งที่เขาบรรทุกอยู่คือ สินค้าอันตราย
..........

อย่างไรก็ดี ถึงจะมีกฎเกณฑ์ควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยในเรื่องการขนส่งพลังงานที่รัดกุมรอบคอบสักเพียงใด ก็อาจช่วยจำกัดความเสียหายได้บางส่วน ซึ่งเหล่านี้ก็คงให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ขับขี่ที่ต้องมีพึงระลึกถึงความรับผิดชอบต่อส่วนรวมอยู่ตลอดเวลา เพราะพลังงานที่กำลังถูกลำเลียงถึงแม้จะมีประโยชน์สักเพียงไร แต่ก็แฝงไว้ด้วยฤทธิ์การทำลายล้างที่สูงอยู่เช่นกัน ซึ่งในส่วนผู้มีอำนาจในการจัดการกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายก็คงต้องเข็นมาตรการออกมาดูแลพวกเขาเช่นกัน…
>>>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK

กำลังโหลดความคิดเห็น