ทุกวันนี้ ถ้าลองมองดูรอบๆ ตัว ก็จะพบว่าอาหารที่เคยเป็นที่ฝากท้องของคนรายได้น้อยอย่างข้าวราดแกงนั้น ได้ปรับราคาขึ้นกันถ้วนหน้า เดี๋ยวนี้ร้านข้าวราดแกงราคาต่ำว่า 30 บาทนั้นแทบจะไม่มีให้เห็นแล้ว ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เต็มๆ อย่างกรมการค้าภายในจึงต้องออกโรงมาหาหนทางแก้ไข อย่างเมื่อก่อนก็มีการทำโครงการธงฟ้าราคาประหยัดขึ้นมา แต่มันก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าใดนัก ส่วนวิธีใหม่ล่าสุดที่จะนำมาใช้ก็คือ การเสนอแผน “กำหนดราคาแนะนำอาหารจานด่วน” ทั่วประเทศ ซึ่งว่ากันว่าจะนำมาบังคับใช้ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 ที่จะถึงนี้
โดยกรมการค้าภายในเห็นว่าอาหารในรายการแนะนำที่มีประมาณ 10 รายการนั้น (เช่น ไข่พะโล้, ผัดกะเพรา ฯลฯ) ไม่ควรจะขายเกิน 25 บาท ส่วนข้าวไข่เจียวราคาจะอยู่ที่ 15 บาทเป็นอย่างมาก ทั้งนี้นอกจากการควบคุมราคาแล้ว ทางกรมการค้าภายในก็จะมีมาตรการควบคุมปริมาณด้วย เพื่อไม่ให้ผู้ค้าลดปริมาณอาหารลงตามราคา ส่วนร้านอาหารตามห้างนั้น ก็จะตรึงราคาไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อจาน
แม้ว่าทั้งหมดมันจะดูเป็นข่าวดีสำหรับผู้บริโภค แต่ในความเป็นจริงแล้วหลายคนสงสัยว่ามันจะทำได้จริงๆ หรือเป็นเพียงนโยบายแก้เก้อของรัฐบาลที่เคยประกาศว่าจะเร่งลดค่าครองชีพให้ประชาชน เพราะที่ราคาอาหารทุกวันนี้มันแพง ก็เป็นเพราะวัตถุดิบที่นำมาใช้มันแพงขึ้นมิใช่หรือ และถ้าจะมีการบังคับใช้จริงๆ ผู้ค้าก็อาจจะแบกรับต้นทุนไว้ไม่ไหวจนถึงขั้นต้องปิดกิจการกันไปเลยก็ได้
ข้าวแกงแพงจริงหรือ?
จะว่าไปราคาข้าวแกงในปัจจุบันนั้น มันเป็นราคาที่สะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนของตัวมันเองได้พอสมควร ซึ่งถ้าจะให้ตอบว่าราคามันแพงเกินไปหรือไม่ มันก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยเฉพาะตัวของแต่ละคน อย่าง ศิริพร ศรียันต์ พนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารย่านสยามสแควร์ที่ต้องกินข้าวแกงตามแผงเป็นประจำทุกวัน ก็รู้สึกว่าราคามันสูงไปนิดหนึ่ง
“30 บาทนี่ถ้าเทียบกับปริมานแล้วก็ถือว่าแพงนะ อย่างตามต่างจังหวัดนี่ข้าวแกง 30 บาทก็จริงแต่ได้เยอะกว่านี้มาก ก็อยากจะให้มันถูกลงมาหน่อย เพราะเราต้องกินทุกวัน แต่เราก็เห็นใจคนขายอยู่เหมือนกัน จะให้เขาลดราคาก็คงยาก”
แต่สำหรับบางคนข้าวราดแกงราคา 30 บาทขึ้นไปก็ไม่ได้ถือว่าแพงอะไรมากมายถ้าเอามันไปเทียบกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในชีวิตประจำวันอย่างค่าเดินทาง ค่าเครื่องอุปโภคต่างๆ
“ถ้าสำหรับเรา ข้าวแกงราคา 30 - 35 นี่ยังไม่ถือว่าแพงนะ ถ้าเทียบกับเงินที่เราต้องจ่ายไปกับเรื่องอื่นๆ คือเราเข้าใจว่าต้นทุนวัตถุดิบเขาคงสูง อีกอย่างเขาก็ต้องมีค่าใช้จ่ายๆ อื่นๆ อย่างค่าเช่า ค่าจ้างคนด้วย แต่ถ้าร้านไหนขายข้าวราดแกง ราคา 50 บาทขึ้นไปนี่เราก็ว่าแพงนะ เพราะต้นทุนจริงๆ ไม่น่าสูงขนาดนั้น” กฤติยา เอกรักษาศิลป์ชัย บัณฑิตสาวจากมหาวิทยาลัยศิลปากรให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องราคาข้าวแกงในปัจจุบัน
ส่วนในมุมมองของแม่ค้าเองนั้น วีรนุช ดอกพรหม แม่ค้าข้าวแกง ซึ่งเปิดร้านอยู่ข้างๆ ตลาดสามย่าน บอกว่า
“ราคาทุกวันนี้มันเหมาะสมดีอยู่แล้ว เพราะค้าขายมันก็ต้องมีกำไร ของที่เอามาขายแม่ค้าก็อยากใช้ของดีมีคุณภาพ จะให้ขายถูกก็ทำได้ แต่ของที่เอามาทำก็ต้องลดเกรดลงไปตามราคา ส่วนเรื่องของการควบคุมราคาอะไรนั่นเราเองไม่เคยได้ยินเลยนะ แต่อย่างไรก็เชื่อว่าทำไม่ได้อยู่แล้ว”
ถ้าต้นทุนลดราคาก็ลด
ถ้าตัดเรื่องของความแพงไม่แพงในความรู้สึกเฉพาะตนออกไปแล้วลองมาดูกันในมิติของข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจก็น่าจะเห็นภาพของปัญหาที่ว่าชัดขึ้น
เตือนใจ เลียบสันเทียะ แม่ค้าขายอาหารย่านประชานิเวศน์ 3 บอกว่าไม่ได้ขัดข้องหากภาครัฐจะบังคับใช้มาตรการจริงๆ แต่มีข้อแม้ว่าราคาวัตถุดิบจะต้องถูกลงด้วย ไม่เช่นนั้นผู้ขายก็มีความจำเป็นต้องลดปริมาณลง ซึ่งก็ยังขัดต่อข้อบังคับอยู่ดี ความลำบากทั้งหมดจึงตกมาเป็นของพ่อค้าแม่ค้าอย่างพวกเธอ
“ถ้าจะให้ทำอย่างนั้นจริงๆ เราก็ต้องทำตาม เพราะเราก็ต้องทำมาหากินอยู่ แต่อาจจะลดปริมาณลงบ้าง ไม่งั้นก็อยู่ไม่ได้ ก่อนอื่นถ้าเขาอยากจะกำหนดราคาให้ได้อย่างนั้นจริงๆ ก็ต้องไปควบคุมราคาของสดก่อน”
ซึ่งเมื่อถามถึงประเด็นที่ว่า หากมีข้อกำหนดมากมายอย่างนี้ เป็นไปได้หรือไม่ที่พ่อค้าแม่ค้าหลายคนจะลดปริมาณคุณภาพของวัตถุดิบลง ในเรื่องนี้เตือนใจบอกว่าเป็นไปได้สูง แต่สำหรับเธอ และพ่อค้าแม่ค้าขายอาหารอีกหลายคน ที่อยู่กับอาชีพนี้มานานคงลำบากใจ
“จะให้เราลดคุณภาพของสินค้าลงก็ไม่ได้ คนเคยใช้อย่างไรก็อย่างนั้น ความรู้สึกจะไม่ดีทันทีพอเราไปใช้ของที่แตกต่างออกไป มันก็ยังไงๆ อย่างน้ำปลา ถ้าเอายี่ห้ออื่น รสชาติมันก็เปลี่ยน คือถ้าเปลี่ยนอะไรไปอย่างใดอย่างหนึ่ง มันเริ่มลำบากแม่ค้าแล้ว ซึ่งถ้าเข้มงวดกับแม่ค้าอย่างนี้ มันอาจจะมีคนที่ถึงกับเลิกขายไปได้ เพราะสู้ไม่ไหวบ้างแหละ ก็ทุนมันสูงอยู่แล้ว ทางเดียวก็ต้องลดปริมาณให้มันน้อยลง และเลือกวัตถุดิบที่เราพอขายได้มาปรับเปลี่ยน อย่างถั่วฝักยาวแพง กิโลกรัมละ 40 - 50 ก็เอาอย่างอื่นมาแทน สำหรับอาหารจานหนึ่งนั้น หากคิดกันจริงๆ แม่ค้าจะได้กำไรกันจริงๆ ไม่เกิน 10 บาท เพราะวัตถุดิบมาแพงเป็นทุน และแม่ค้าบางคน ยังต้องเสียค่าเช่าร้านอีก”
ดังนั้น ในมุมของแม่ค้าจึงอยากฝากเรื่องนี้กับภาครัฐว่าอย่างไรก็ดีวัตถุดิบต้องลดราคาลงบ้าง เพราะแม่ค้าก็เป็นประชาชนคนหนึ่งเหมือนกัน
ทางเลือกมีมากกว่าหนึ่ง
เหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่า การเข้ามาใช้คำสั่งแบบเผด็จการเพื่อคุมราคาอาหารนั้นมันไม่น่าจะได้ผล ในประเด็นนี้ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้แสดงทัศนะไว้ว่า
“มันเป็นไปไม่ได้หรอก เหตุผลอย่างแรกคือการจะควบคุมอะไรได้มันเป็นกฎเกณฑ์ มันจะต้องมีคนออกไปควบคุมจริงๆ จังๆ ซึ่งข้อนี้เป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าร้านข้าวแกงในประเทศไทยมีเป็นแสน เป็นล้าน สอง-การควบคุมนั้นทำได้ยาก เพราะต้องดูทั้งราคาและปริมาณ และสาม ขณะนี้ตลาดข้าวแกงมันราคาเกิน 30 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว การจะไปกดราคาให้มันต่ำเป็น 25 บาท มันยาก เพราะว่าราคานี้สินค้าคงมีคุณภาพที่ต่ำกว่าข้าวแกงที่เคยรับประทานกัน”
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าวยังคงมีทางออก แต่ต้องใช้กลไกตลาดเป็นตัวแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ด้วยวิธีการควบคุมที่มันฝืนกลไกการตลาด
“มันต้องควบคุมให้ต้นทุนต่ำ ราคาพลังงานแอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) ต้องอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ รัฐควบคุมราคาน้ำมันให้มันต่ำและแบกรับส่วนต่างเป็นเงินอุดหนุนไป สอง-คือจัดหาสถานที่ขายให้สะดวกโดยที่ไม่มีการใช้อิทธิพลของใครหรือสถานที่ของรัฐ จะได้ไม่ต้องมาควบคุมในส่วนนี้ สาม-คือราคาน้ำมันพืช ราคาส่วนประกอบสำคัญของอาหาร รัฐต้องมีข้อยกเว้นภาษี เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์กับพวกน้ำมัน และสินค้าบางอย่างที่ใช้ในการประกอบอาหาร
“จุดขายข้าวแกง 25 บาทที่มีก็ดีนะ ก็ทำไป แต่อย่าไปคิดว่ามันจะมีผลต่อคนจำนวนมากเลย เพราะคนที่บริโภคข้าวแกงในแต่ละวันน่าจะไม่ต่ำกว่า 25 ล้านคน เพราะฉะนั้นการควบคุม เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทำได้อย่างเดียวคือช่วยทำให้ต้นทุนลดต่ำลง และให้กลไกตลาดมันช่วยตัดสินเอง ใครที่ทำได้ราคาถูกที่สุดคนนั้นก็ขายได้ ใครที่ขายแพงคนก็ไม่ซื้อกิน”
………..
แม้มาตรการดังกล่าวของกรมการค้าภายในยังไม่ได้ประกาศบังคับใช้อย่างจริงจัง แต่จากสภาพความเป็นจริงที่เห็นและเป็นอยู่ ก็เดาได้ไม่ยากว่ามันจะรุ่งหรือร่วง จริงอยู่ที่การพยายามลดค่าครองชีพและลดความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจให้แก่ประชาชน มันเป็นเรื่องดีและสมควรอย่างยิ่งที่จะเริ่มลงมือทำ แต่กระนั้นมันต้องไม่ใช่วิธีการที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์แต่คนอีกกลุ่มต้องมาเดือดร้อน
เพราะเอาเข้าจริงบรรดาพ่อค้าแม่ขาย ก็เป็นประชาชนคนหนึ่งเหมือนกันมิใช่หรือ…
>>>>>>>>>>>
………
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : พงศ์ศักดิ์ ขวัญเนตร