xs
xsm
sm
md
lg

ปิด ‘วิกิพีเดีย’ 24 ชั่วโมง แค่ 1 วัน ก็สะเทือนไปทั้งโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ต้องเรียกว่าเป็นการชิมลางที่ทำเอาทั้งโลกหวั่นไหวกันไปตามๆ กัน สำหรับการปิดเว็บไซต์ ‘วิกิพีเดีย’ ภาคภาษาอังกฤษ เป็นเวลา 24 ชั่วโมง เมื่อวันพุธที่ 18 มกราคม 2555

เพื่อเป็นการประท้วงการพิจารณาร่างกฎหมายหยุดการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ (SOPA) ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา และกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (PIPA) ที่กำลังเข้าสู่ชั้นพิจารณาของวุฒิสภาในลำดับต่อไป

ถึงแม้เรื่องนี้จะเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาแห่งเดียวเท่านั้น แต่สำหรับวิกิพีเดียนั้นถือเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นมาก เพราะนอกจากมันจะเป็นห้องสมุดและสารานุกรมออนไลน์ที่บรรจุความรู้มากกว่า 20 ล้านเรื่อง จนรัฐบาลที่แล้วต้องจ้างเอกชนมาแปลให้คนอ่านกันแล้ว วิกิพีเดียยังมีเครือข่ายทางภาษามากถึง 282 ภาษา ซึ่งรวมไปถึงภาษาไทยด้วย แถมผู้ใช้ก็ยังมีกันเต็มไปหมด ตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา พนักงานออฟฟิศ นักข่าว นักธุรกิจ นักบริหาร ข้าราชการ รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี ฯลฯ สังเกตได้ง่ายๆ จากคำพูดของ จิมมี เวลส์ ผู้ก่อตั้งวิกิพีเดีย ที่ฝากไปถึงบรรดานักเรียนว่า จงรีบทำการบ้านซะตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนเว็บจะปิด แค่นี้ก็สะท้อนให้เห็นได้แล้ว เว็บไซต์แห่งนี้มีอิทธิพลต่อคนทุกเพศทุกวัยแค่ไหน

เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลังจากวิกิพีเดียส่งข้อความไปยังผู้ชมกว่า 162 ล้านคน ก็ยังได้รับคำตอบกลับในเชิงให้กำลังใจและต่อต้านกฎหมายมากถึง 12,891 ข้อความ ก่อนที่จะตามด้วยการถอนร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับออกไป ทั้งๆ ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างอุ่นหนาฝาคั่งจาก บรรดาอุตสาหกรรมภาพยนตร์และดนตรีมากมาย ซึ่งมีทุนทรัพย์มหาศาลก็ตาม

แม้คราวนี้จะปิดแค่ 24 ชั่วโมง แต่เชื่อเถอะว่า มีผลกระทบไม่มากไม่น้อยแน่นอน คราวนี้ก็เลยมาสำรวจความคิดเห็นกันสักหน่อยว่า คนใน 6 ทวีป บวกกับสาวไทยชื่อดังอีกหนึ่ง เขาจะคิดถึงยังไงกันบ้าง
...........

ไทย
ซี-ฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์
พิธีกรรายการไอทีชื่อดัง

"ถ้าบอกว่าตกใจมากคงไม่ใช่เพราะเราไม่ได้ใช้วิกิฯ ทุกวัน แต่ตอนแรกที่รู้ก็สงสัยมากว่าเป็นเพราะอะไร เลยไปหาอ่านจนเข้าใจ ก็รู้สึกว่าเป็นข่าวที่ทำให้เรามีความรู้สึกร่วมจริงๆ เพราะกฎหมายเรื่องลิขสิทธิ์ที่ออกมาโทษมารุนแรงเกินไป และคงมีผลกับเราแน่นอน เพราะแม้เรื่องนี้จะเกิดไกลบ้าน แต่สำหรับโลกออนไลน์แล้วอยู่ที่ไหนก็เป็นโลกใบสี่เหลี่ยมๆ ที่ใกล้กันกว่าที่คิด เพราะฉะนั้นในฐานะคนผลิตรายการออนไลน์คิดว่า ต่อไปโลกออนไลน์อาจถูกจำกัดเสรีภาพจนไร้สีสัน คงไม่มีคนไม่มานั่งคัฟเวอร์เพลงดังของศิลปินเพราะกลัวเจ้าของเว็บโดนปิดเว็บ พูดง่ายๆ มันก็เหมือนกับการเซ็นเซอร์หนักๆ แบบหนึ่งนั่นแหละ”

ทวีปเอเชีย
ราฮิซา ฮัสฮิดี
ชาวมาเลเซีย

"ปิด 24 ชั่วโมงก็ไม่ค่อยรู้สึกยังไง เหมือนแค่ไม่มีผู้ช่วยหาข้อมูลไป 1 วัน ถ้าปิด 2-3 วันอาจจะเป็นผลกระทบต่อนักศึกษา และผู้ที่ใช้เว็บไซต์วิกิพีเดียหาข้อมูลครับผม"

ทวีปยุโรป
โทมัส ชลาตเตอร์
ชาวสวิตเซอร์แลนด์

"ถ้าเว็บไซต์วิกิพีเดียปิดแค่ 24 ชั่วโมงก็คงไม่ค่อยมีผลอะไรเท่าไหร่ เพราะก็มีเว็บไซต์อื่นๆ ที่หาข้อมูลได้เหมือนกัน ที่คล้ายๆกับวิกิพีเดียว ต้องปิดสักเดือนหนึ่ง ถึงจะมีผลกระทบ เพราะแหล่งข้อมูลที่สำคัญได้หายไป"

ทวีปแอฟริกา
บาบาร่า อาลี มูฮัมหมัด
ชาวซูดาน

“ไม่เข้าใจว่าทำไมจะต้องปิดนะคะ รู้สึกงงๆ มากกว่า เพราะปกติก็หาข้อมูลจากวิกิพีเดียบ้าง ไม่ถึงกับบ่อย ใช้เกี่ยวกับการทำงาน ข่าวหรือบุคคลที่เราไม่รู้จัก เพราะมันก็มีรายละเอียดบอก แต่ตอนที่วิกิพีเดียปิด ก็คงไม่ได้มีผลกระทบอะไรเพราะหยุดงาน แต่ถ้าในระยะยาว มันคงต้องมีอย่างอื่นมาแทน เพราะยังไงก็ต้องมีแหล่งข้อมูลเพื่อใช้ในการทำงาน หรืออาจจะต้องกลับไปที่ห้องสมุดเหมือนก่อน”

ทวีปอเมริกาเหนือ
จาเรน ดรูว์ โอร์สลีย์
ชาวแคนาดา

“จริงๆ ตัวเองใช้มันบ่อยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นช่วงที่มันปิดไป ก็รู้สึกผิดหวังมาก แต่ถึงอย่างไร มันก็เป็นแค่การรวบรวมข้อมูลจากเหล่งอื่นๆ ที่ดีเท่านั้น เพราะเว็บกูเกิ้ลเองก็สามารถหาข้อมูลเหล่านั้นได้เช่นกัน แต่อาจจะใช้ได้ไม่ง่ายเท่า หรือรวบรวมข้อเท็จจริงไว้น้อยกว่าเท่านั้นเอง”

ทวีปอเมริกาใต้
ลิน่า ดิแอซ บาโบ
ชาวชิลี

“รู้สึกแย่มากเลย เพราะธรรมดาเราอ่านวิกิพีเดียบ่อยมาก โดยเฉพาะในแง่ความบันเทิง คือเราก็ชอบเข้าไปอ่านเรื่องเกี่ยวกับซีรีส์ มันจะมีประวัติความเป็นมาหมดเลย เนื้อเรื่อง มีรายละเอียดสถานที่ถ่ายทำที่ไหน เป็นอย่างไร หรือเรื่องของประเทศต่างๆ พอเสิร์ชขึ้นก็ขึ้นมาหมดเลย ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวประเทศ ข้อมูลประชากร อยากไปเที่ยวไหนก็หาข้อมูลได้ทั้งนั้น”

ทวีปออสเตรเลีย
แดเนียล แซสซูน
ชาวออสเตรเลีย

“วิกิพีเดียเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีของโลกอินเทอร์เน็ต แต่ก็ไม่ใช่ว่าควรจะถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางวิชาการใด ๆ ที่ยังไม่มีนำการข้อมูลอื่นๆ มายืนยัน เพราะใคร ๆ ก็สามารถเพิ่มความรู้ในสิ่งที่ตัวเองรู้ลงไปในนี้ร่วมกันได้ แต่ผมชอบใช้มันนะ เพราะว่าเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ หรือข้อมูลเบื้องต้นในสิ่งใหม่ๆได้ แต่ก็ยอมรับว่า ไม่เคยหาข้อมูลจากวิกิฯ โดยตรง เพราะฉะนั้นการที่มันปิดไป การหาข้อมูลเริ่มแรกก็อาจจะลำบากขึ้น แต่คงไม่ได้เป็นปัญหามาก เพราะเว็บตัวก็อาจจะตอบโจทย์ได้มากกว่า แต่อาจจะไม่สะดวกเท่า”
........

สัญลักษณ์ของการลิดรอนสิทธิข้อมูล

แม้การปิดวิกิพีเดีย รวมไปถึงเว็บไซต์ในสหรัฐอเมริกานับพันหน้าในครั้งนี้ จะทำกันเป็นเพียงแค่วันเดียวเท่านั้น แต่ถ้ามองอะไรลงไปลึกๆ จะพบว่าแท้จริงแล้ว เรื่องนี้มีความหมายอะไรซุกซ่อนอยู่ไม่น้อย

รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย สะท้อนว่า นี่คือการแสดงในเชิงสัญลักษณ์ที่วิกิพีเดียสะท้อนไปรัฐสภาของสหรัฐอเมริกาว่ากำลังจะปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่ ซึ่งจะนำไปสู่อุปสรรคต่อการแสดงความคิดเห็นในอนาคตได้ เพราะฉะนั้นประเด็นที่สำคัญของเรื่องนี้จึงไม่ได้อยู่ที่วิกิพีเดียจะปิดหรือไม่ แต่อยู่ที่การจะมีกฎหมายฉบับนี้ออกมาต่างหาก

“ตอนนี้เรากำลังตั้งคำถามว่า ถ้าวิกิพีเดียปิดไปแล้วจะเป็นอย่างไร ซึ่งผมบอกได้เลยว่า มีผลกระทบแน่นอน เพราะมันเป็นสารานุกรมออนไลน์ แต่ถ้าเกิดมีกฎหมายออกมาการแสดงความคิดก็จะน้อยลง และตรงนี้คงไม่ได้หมายถึงวิกิฯ อย่างเดียวด้วย แต่มันอาจจะรวมไปถึงพวกกูเกิล หรือเสิร์จเอนจินต่างๆ เพราะถึงแม้กฎหมายนี้จะมีผลเฉพาะในสหรัฐฯ อย่างเดียว แต่ถ้าต่อไปเขาไปเจออะไรที่มีความเสี่ยงที่จะละเมิดกฎหมายนี้ เช่นมีคนไปโพสต์เนื้อหาที่มันละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้สนับสนุนก็อาจจะหยุดจ่ายเงินได้ เพราะฉะนั้นมันคือการประท้วงฟรีดอม (เสรีภาพ) ของอินเทอร์เน็ตมากกว่า

“และถ้าเรามองภาพต่อไป ถ้าเกิดวันหน้าเราไม่มีวิกิฯ ไม่มีกูเกิลขึ้นมา แล้วไม่มีใครเอาเนื้อหามาใส่ สิ่งที่เป็นองค์ความรู้ หรือความร่วมมือก็คงจะหายไป แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมว่าตอนนั้นยังไม่ถึงขั้นนั้น”

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในแง่ดี นี่อาจจะเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้เว็บเหล่านี้มีความระมัดระวังในการนำเสนอและดูแลเนื้อหามากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่า ปัจจุบันนี้เว็บที่เป็นปัญหานั้นมีขนาดใหญ่มาก ดังนั้นโอกาสที่ไม่มีให้มีเนื้อหาประเภทนี้เล็ดลอดได้ 100 เปอร์เซ็นต์ก็คงลำบาก แต่ก็พอเห็นความพยายามอยู่ในระดับหนึ่ง เช่นในวิกิพีเดียเองก็ลบข้อความที่ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือแม้แต่ยูทิวบ์ซึ่งเป็นพันธมิตรในการประท้วงครั้งนี้ เวลาเจอไฟล์วิดีโอที่มีปัญหาลิขสิทธิ์ก็ลบทิ้งทันที

ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดของเรื่องนี้ การหาจุดกึ่งกลางระหว่างผู้ใช้กับเจ้าของสิทธิ ว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไรจึงจะไม่เกิดปัญหา เช่นเดียวกับเรื่องกฎหมายเองก็อาจจะต้องมีความพอดีและเหมาะสม โดยเฉพาะในยุคที่โลกเปลี่ยนไป มีการแบ่งปันข้อมูลกันมากขึ้นเช่นนี้

ไม่เช่นนั้นคำว่า อินเทอร์เน็ตคือผู้ย่อโลกลงทั้งใบมาไว้ในมือคุณ ก็คงเตรียมปิดฉากได้เลย
..............
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
กำลังโหลดความคิดเห็น